รูปแบบการผลิตเกษตรของครัวเรือนไทยในชนบท จากข้อมูล Townsend Thai Data

excerpt
ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อสังคมไทยในชนบทมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาด้านการผลิต ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความรู้น้อยและยากจน ส่งผลให้การเกษตรไทยยังเป็นการผลิตแบบรายย่อย มีที่ดินขนาดเล็กเพื่อทำกิน ขาดการวางแผนและจัดการที่เป็นระบบ รูปแบบการผลิตเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรเพื่อช่วยลดความแปรผันของรายได้ บทความนี้นำเสนอการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตเกษตรของครัวเรือนไทยในชนบทจากข้อมูล Townsend Thai Data ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลให้ครัวเรือนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น
เกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประชากรไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน กำลังแรงงานของประเทศที่มีงานทำร้อยละ 35 อยู่ในภาคการเกษตร (12.37 ล้านคน จาก 38.26 ล้านคน) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) โดยเฉพาะในชนบทของประเทศ ครัวเรือนมีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รับจ้างในภาคเกษตร หรือจำหน่ายผลผลิตเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อหารายได้ยังชีพและเลี้ยงครอบครัว ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีครัวเรือนประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมมากที่สุด คือ 2,744,457 ราย การผลิตสำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา รองลงมา คือ ภาคเหนือ มีครัวเรือนในภาคเกษตร 1,298,468 ราย การผลิตสำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว ลำไย และยางพารา ภาคใต้มีครัวเรือนทำเกษตรกรรม 1,021,479 ราย โดยการผลิตสำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว และยางพารา ขณะที่ภาคกลางมีครัวเรือน 847,163 ราย ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งการผลิตสำคัญ ได้แก่ ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา (สำมะโนการเกษตร, 2556)
การทำเกษตรของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบรายย่อย ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากถือครองที่ดินขนาดเล็กเพื่อทำกิน เน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูกสั้นเพื่อหารายได้ สำหรับเกษตรรายใหญ่ที่เน้นทำการผลิตแบบเฉพาะอย่าง ปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก เกษตรกรจำนวนมากยังคงมีปัญหาในการผลิตด้วยข้อจำกัดด้านที่ดิน ทุน และความรู้ทางการตลาด ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้น้อย คือ เฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้แรงงานที่ทำงานนอกภาคเกษตร (เฉลี่ยประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน) อันสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของแรงงานไทย (เสาวณี และพรชนก, 2561)
ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรไทยพยายามปรับเปลี่ยนการผลิตของตนอยู่เสมอ มีพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบหลากหลายชนิด (output mix) และการผลิตแบบเฉพาะอย่าง (single output) ขึ้นกับความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตและความเหมาะสมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมด้านการผลิตจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ซึ่งการพัฒนาความชำนาญในการผลิตสินค้าเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่งจะช่วยเพิ่มความชำนาญให้แก่เกษตรกร (farm specialization) ด้วยทักษะความชำนาญและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ เกษตรกรสามารถขยายขนาดการผลิต ส่งผลต่อการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) จากประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตที่ลดลง ครัวเรือนเกษตรจะมีโอกาสได้รับรายได้ที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม ความไม่แน่นอนของราคาผลผลิต ปัจจัยการผลิต สภาพภูมิอากาศ และนโยบายส่งเสริมการผลิตจากหน่วยงานภายนอก ได้สร้างแรงจูงใจให้บางครัวเรือนปรับเปลี่ยนการผลิตจากการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งไปทำการเกษตรหลายประเภท/ชนิดพร้อมกัน (farm diversification) ด้วยความคาดหวังให้มีรายได้มากขึ้นหรือเพียงพอต่อการดำรงชีพ ครัวเรือนจะจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บทความนี้ได้ใช้ข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำรายเดือนของครัวเรือนใน 4 จังหวัด (ลพบุรี ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ) จากฐานข้อมูล Townsend Thai Data1 เพื่อศึกษารูปแบบการผลิตเกษตรของครัวเรือนไทยในชนบทระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2555
จากข้อมูลครัวเรือน 4 จังหวัด (จำนวน 799 ราย) พบว่า ครัวเรือนมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญทั้งด้านการเกษตร รับจ้าง ประกอบธุรกิจและค้าขาย ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษมีครัวเรือนทำเกษตรกรรมมากที่สุด เฉลี่ยร้อยละ 88.39 รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์ ร้อยละ 84.23 จังหวัดลพบุรี ร้อยละ 82.62 และจังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยละ 63.95 ตามลำดับ โดยเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ และเลี้ยงสัตว์น้ำ (แผนภาพที่ 1)
จากการพิจารณารูปแบบการผลิตเกษตรของครัวเรือน ด้วยค่าดัชนีการกระจายของชนิดผลผลิต (Diversification Index; DI) ที่คำนวณภายใต้เงื่อนไขสัดส่วนรายได้ผลผลิต พบว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2541–2555 ครัวเรือนใน 4 จังหวัด มีรูปแบบการผลิตคล้ายคลึงกัน คือ เน้นทำการผลิตแบบเฉพาะอย่าง โดยครัวเรือนมีค่า DI อยู่ในระดับต่ำกว่า 0.6 ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2550–2555 (ค.ศ. 2007–2012) ครัวเรือนมีค่าดัชนีความหลากหลายในการผลิต (DI) อยู่ระหว่าง 0.0–0.4 น้อยกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2541–2549 (ค.ศ. 1998–2006) ที่ค่า DI อยู่ระหว่าง 0.0–0.6 (แผนภาพที่ 2)
ทั้งนี้ ค่า DI มีค่าได้ตั้งแต่ 0 ถึง 1 กรณีที่ DI มีค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่า ครัวเรือนมีการกระจายความหลากหลายในการผลิตสูง (diversified farming) และกรณีที่ DI มีค่าเข้าใกล้ 0 แสดงว่า ครัวเรือนมีการกระจายความหลากหลายในการผลิตต่ำ (Li, Bellotti, and Komarek, 2016)
เมื่อแบ่งระดับความหลากหลายในการผลิตของครัวเรือน (ค่า DI) ออกเป็น 4 ช่วง คือ 0.00–0.24 (มีความหลากหลายต่ำมาก) 0.25–0.49 (ความหลากหลายต่ำ) 0.50–0.74 (ความหลากหลายกลาง) และ 0.75–1.00 (ความหลากหลายสูง) จะสังเกตได้ว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2541–2555) ครัวเรือนโดยเฉลี่ยร้อยละ 58.11 มีค่าดัชนีความหลากหลายในการผลิต (DI) อยู่ในช่วง 0.00–0.24 คือ มีความหลากหลายในการผลิตต่ำมาก รองลงมาคือ ครัวเรือนร้อยละ 24.81 มีความหลากหลายในการผลิตระดับกลาง (ค่า DI อยู่ในช่วง 0.50–0.74) ครัวเรือนร้อยละ 16.64 มีความหลากหลายในการผลิตระดับต่ำ (ค่า DI อยู่ในช่วง 0.25–0.49) และครัวเรือนร้อยละ 0.43 มีค่า DI อยู่ในช่วง 0.75–1.00 คือ มีการกระจายความหลากหลายในการผลิตมาก (แผนภาพที่ 3)
สำหรับรายจังหวัดเช่นกันครัวเรือนมีรูปแบบการผลิตเกษตรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 50 มีการกระจายความหลากหลายของชนิดผลผลิตต่ำมาก คือ มีค่า DI อยู่ระหว่าง 0.00–0.24 (แผนภาพที่ 4)
ระหว่างปี พ.ศ. 2541–2555 ครัวเรือนเกษตรกร 4 จังหวัด มีการทำเกษตรกรรมทั้งแบบเฉพาะอย่างและแบบหลากหลาย โดยในปี พ.ศ. 2541 ครัวเรือนส่วนใหญ่มีการกระจายชนิดผลผลิตน้อย มุ่งผลิตแบบเจาะจงประเภท/ชนิดผลผลิต ทำให้เส้นแจกแจงปกติมีลักษณะเบ้ขวา (a right-skewed distribution) ณ ระดับค่า DI น้อยกว่า 0.25 (แผนภาพที่ 5)
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2542–2549 (ค.ศ. 1999–2006) ครัวเรือนมีการกระจายชนิดการผลิตมากขึ้นบ้างแต่ยังคงอยู่ในช่วงของระดับความหลากหลายต่ำ (ค่า DI อยู่ระหว่าง 0.25–0.49) และในช่วงปี พ.ศ. 2550–2555 (ค.ศ. 2007–2012) ครัวเรือนเกษตรกรจำนวนมากได้ปรับรูปแบบการผลิตจากการผลิตแบบกระจายประเภท/ชนิดผลผลิตกลับมาเป็นการผลิตแบบเน้นเฉพาะอย่างมากขึ้นอีกครั้ง โดยเส้นแจกแจงปกติได้กลับมาสูงในลักษณะเบ้ขวา (a right-skewed distribution) ที่ค่า DI ระดับต่ำมาก (0.00–0.24) อีกครั้ง (แผนภาพที่ 5)
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากช่วงแรกที่เน้นผลิตแบบเฉพาะอย่าง มาทำการผลิตแบบหลากหลาย และได้ลดความหลากหลายของการผลิตลงอีกครั้งในปีหลัง ๆ
โดยภาพรวมครัวเรือนมีรูปแบบการผลิตเกษตรคล้ายคลึงกัน คือ ครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 75 มีความหลากหลายในการผลิตอยู่ในระดับต่ำถึงกลาง (ค่า DI ไม่เกินจาก 0.6) ซึ่งกล่าวได้ว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีการกระจายความหลากหลายในการผลิตน้อย เน้นทำการเกษตรแบบเฉพาะอย่าง (single output) มากกว่าการผลิตแบบหลากหลาย (diversification) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 7 ปีหลังของระยะเวลาการศึกษา (ปี พ.ศ. 2549–2555) ครัวเรือน 4 จังหวัด มีการกระจายชนิดการผลิตลดลง หรือได้ลดความหลากหลายของประเภท/ชนิดผลผลิตลง หันไปทำการผลิตแบบเฉพาะอย่างมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากปัจจัยได้หลายด้าน เช่น ความรู้และอายุของสมาชิกครัวเรือน ความพร้อมด้านการเงินและปัจจัยการผลิตของครัวเรือน และการดำเนินนโยบายของภาครัฐ/เอกชน รวมถึงความเหมาะสมของสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศ
แม้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2541–2555) เกษตรกรไทยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอยู่เสมอ ทั้งการผลิตแบบหลากหลายและแบบเน้นเฉพาะอย่าง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาด้านการผลิตและรายได้ต่ำ ขณะที่การกระจายความหลากหลายของชนิดผลผลิตเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้เพื่อลดความไม่แน่นอน/การแปรผันของรายได้ที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศที่ส่งต่อปริมาณผลผลิต รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ/เอกชน ทั้งนี้การทราบถึงรูปแบบการผลิตของครัวเรือน และประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากการผลิตในรูปแบบต่าง ๆ นั้นจะช่วยให้การดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริม/ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กิตติกรรมประกาศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยภายใต้โครงการเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตด้านการเกษตรของครัวเรือนในชนบท: บทเรียนจากข้อมูล Townsend Thai Data” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้เขียนขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนทุนวิจัยเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้
ชุดโครงการพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำ (Townsend Thai Monthly Survey), 1997–2012.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2561). “ภาวะการทำงานของประชากร”. บทสรุปสำหรับผู้บริหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561
เสาวณี จันทะพงษ์ และ พรชนก เทพขาม. ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2561). “นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1”. บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจสายนโยบายการเงิน 10 เมษายน 2561
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2556). “สำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556”. บทสรุปผู้บริหารสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556
Lihua Li, Bill Bellotti, and Adam M. Komarek. 2016. “Structural change and agricultural diversification since China’s reforms”. Bio-based and Applied Economics, 5(2): 113–130
- สามารถศึกษาที่มาและข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ Townsend Thai Project ได้ใน PIER aBRIDGEd Issue 14/2015 ของ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ วีระชาติ กิเลนทอง (2558) เรื่อง “ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data”↩