มองบทบาทของสภาวะครัวเรือนแหว่งกลางต่อการพัฒนาคนผ่านฐานข้อมูล Longitudinal ของไทย
excerpt
บทความชิ้นนี้สรุปจากงานวิจัยของ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ธัญมัชฌ สรุงบุญมี (2018) ซึ่งทำการประเมินขนาดและรูปแบบของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของครัวเรือนที่แตกต่างกันต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะในประเด็นสภาวะครัวเรือนแหว่งกลางที่พ่อแม่ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายเพื่อหาโอกาสทางการงานต่างถิ่นฐาน เราวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวด้วย Townsend Thai Data ที่เป็นลักษณะข้อมูล Longitudinal ที่ช่วยให้สามารถติดตามผลของการอยู่ในครัวเรือนแหว่งกลางในช่วงวัยเด็กต่อผลลัพธ์ของทุนมนุษย์ของเขาเองในปีต่อ ๆ ไป เราพบว่า ครัวเรือนแหว่งกลางมีผลเชิงลบต่อการลงทุนทางการศึกษาและการเรียนในโรงเรียนในปีต่อ ๆ ไป ถึงแม้ว่าครัวเรือนแหว่งกลางจะได้รับเงินส่งกลับมากกว่าครัวเรือนแบบอื่นก็ตาม
ในประเทศไทยนั้นสัดส่วนของครัวเรือนที่จัดว่าอยู่ในสภาวะครัวเรือนแหว่งกลาง (ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงฝากบุตรหลานไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง ผลการสำรวจเด็กและเยาวชน ปี พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ไว้ว่า ร้อยละ 16 ของเด็กอายุ 0–4 ปี อาศัยอยู่ในครัวเรือนแหว่งกลาง และคิดเป็นร้อยละ 21 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของครัวเรือนแหว่งกลางตามช่วงอายุของเด็กที่อยู่ในฐานข้อมูล Townsend Thai Annual Survey ที่เป็นข้อมูลแบบติดตามบุคคลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540–2558 พบว่า โอกาสที่เด็กในชนบทช่วงอายุก่อน 5 ปี จะอาศัยอยู่ในครัวเรือนแบบแหว่งกลางคิดเป็นร้อยละ 11 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 ในช่วงประถมศึกษา ซึ่งมีระดับที่สูงกว่าเด็กในสังคมเมือง (จากรูปภาพที่ 1)
มีงานวิจัยหลายงานชี้ว่า เด็กที่เติบโตในครัวเรือนที่มีสมาชิกวัยทำงานอาศัยอยู่นอกครัวเรือนน่าจะได้รับประโยชน์จากการได้รับเงินส่งกลับ (remittances) เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนในทุนมนุษย์ของครัวเรือน ในทางกลับกัน งานวิจัยอีกกลุ่มกลับพบว่า การส่งเงินกลับช่วยเพิ่มระดับการบริโภค แต่ไม่ได้เพิ่มขนาดของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสักเท่าไร ทั้งนี้ บทความเชิงทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดการภายในครัวเรือน (intrahousehold economics) ได้ให้แนวคิดไว้ว่า หากครัวเรือนไม่ได้ประกอบไปด้วยสมาชิกครัวเรือนที่มีแนวคิดและรสนิยมเหมือนกันทุกเรื่อง (เราเรียกครัวเรือนแบบนี้ว่า collective household) การเลือกใช้จ่าย รวมทั้งการตัดสินใจด้านการลงทุนของครัวเรือน จึงขึ้นอยู่กับผู้ที่ถือเงินก้อนนั้น ๆ (Chiaporri, 1988, 1992) ดังนั้น การตัดสินใจใช้เงินของปู่ย่าตายายอาจไม่ตรงตามที่พ่อแม่ของเด็กตั้งใจไว้ ทำให้เกิดเป็นข้อสมมุติฐาน (hypothesis) ว่า การลงทุนกับเด็กโดยพ่อแม่น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนกับเด็กที่จัดการโดยบุคคลอื่น
การมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ทำให้การหารูปแบบการเลี้ยงดูบุตร ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกเพื่อค้นพบวิธีที่ดีที่สุด และพบว่าการปรับตัว และการรับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอย่างแท้จริง (Cunha, 2015; Cunha, Culhane, & Elo, 2013) ณ ปัจจุบันในโลกที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว พ่อแม่จะมีความสามารถในการปรับวิธีการลงทุนในเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และถูกต้องกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และอาจทำให้มูลค่าการลงทุนของพ่อแม่สูงกว่าการลงทุนของปู่ย่าตายาย
เราใช้ตัวแบบเชิงเศรษฐมิติของ Longitudinal data analysis เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการลงทุนกับเด็กจากการใช้ฐานข้อมูล Townsend Thai Annual Survey ที่มีการติดตามข้อมูลรายบุคคล ทำให้งานศึกษานี้เป็นงานชิ้นแรกที่สามารถตอบคำถามได้ว่า ผลลัพธ์ของการลงทุนในเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนแบบแหว่งกลางส่งผลต่อการสะสมทักษะในระยะยาวอย่างไร
ในแต่ละปี ข้อมูลชุดนี้จะทำการสำรวจเด็กรายบุคคล ซึ่งทำให้เราทราบว่า
- พวกเขาอาศัยอยู่ในครัวเรือนลักษณะแบบใด
- พวกเขากำลังศึกษาอยู่หรือไม่
- ครัวเรือนได้รับเงินส่งกลับเท่าไร
- มูลค่าที่ครัวเรือนได้ใช้จ่ายเพื่อการเรียนของเด็ก
- รายรับและรายจ่ายอื่น ๆ ของครัวเรือน และ
- ลักษณะสำคัญอื่น ๆ ของครัวเรือน เช่น หัวหน้าครัวเรือน อาชีพ เป็นต้น
ในท้ายที่สุดจะทำให้ทราบว่า เด็กคนดังกล่าว (จากการติดตามตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปี พ.ศ. 2558) มีระดับการศึกษาสูงสุดเท่าไร ทำอาชีพใด และมีเงินเดือนเท่าไร ซึ่งจะนำมาเป็นมาตรวัดเพื่อเปรียบเทียบระดับทุนมนุษย์ระหว่างเด็ก (ในช่วงก่อน 5 ปี) ที่เติบโตมาในครอบครัวแบบสมบูรณ์ และเด็ก (ในช่วงก่อน 5 ปี) ที่เติบโตมาในครอบครัวแบบแหว่งกลาง
เราพบว่า เด็กที่โตมาในครัวเรือนแหว่งกลางในช่วงวัยก่อนอายุ 5 ปี มีระดับการศึกษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณ 1.27 ปี สำหรับเด็กในชนบท และประมาณ 1.05 ปี สำหรับเด็กในเมือง เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุของเด็กที่อยู่ในครัวเรือนแหว่งกลางพบว่า เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 0–5 ปี จะได้รับผลกระทบต่อจำนวนปีที่เรียนสูงสุดในเชิงลบมากกว่าเด็กในช่วงอายุ 6–12 ปี ดังรูปภาพที่ 2 ในขณะเดียวกันการศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ว่า ครัวเรือนแหว่งกลางจะได้รับเงินส่งกลับที่มีมูลค่ามากกว่าครัวเรือนอื่น ๆ จากการที่พ่อแม่ออกจากบ้านเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจึงต้องฝากลูกโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี ไว้กับปู่ย่าตายาย ก่อให้เกิดการเสียโอกาสในด้านการสะสมทุนมนุษย์ของลูก แม้เงินที่ส่งกลับจะมีมูลค่าสูง แต่กลับไม่เพียงพอที่จะชดเชยช่องว่างทางการสะสมทุนมนุษย์ที่เกิดขึ้น
ผลงานวิจัยชิ้นนี้นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและทางเศรษฐกิจได้ ดังนี้ (1) การวางนโยบายที่ช่วยลดสภาวะของเด็กที่ต้องเติบโตในครัวเรือนแบบแหว่งกลาง และ (2) นโยบายที่ช่วยลดช่องว่างของการลงทุนทางการศึกษาในเด็กที่จำเป็นต้องเติบโตในครัวเรือนแบบแหว่งกลาง
การวางนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมนั้น ควรพิจารณาถึงผลต่อการสะสมทุนมนุษย์ในระยะยาว และการจัดการของครัวเรือนที่ลดปัญหาการเกิดครัวเรือนแบบแหว่งกลางอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ การวางนโยบายต้องคำนึงถึงโครงสร้างของตลาดแรงงานในท้องถิ่น การสร้างเขตเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการย้ายออกของแรงงานไปยังเขตเศรษฐกิจ หากการคมนาคมไม่เอื้ออำนวยจะกระตุ้นให้แรงงานย้ายออกแบบกึ่งถาวร ก่อให้เกิดครัวเรือนแบบแหว่งกลางเพิ่มขึ้นและอาจมีผลเชิงลบในระยะยาว นอกจากนี้ นโยบายที่ส่งเสริมให้สถานประกอบมีสถานที่รับดูแลเด็ก ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสที่พ่อแม่และลูกจะได้อยู่ร่วมกัน
การให้ความช่วยเหลือแก่เด็กในครัวเรือนที่ด้อยโอกาสจากสภาวะครัวเรือนแหว่งกลางนั้น ไม่ควรจำกัดเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่ควรส่งเสริมความรู้เรื่องการเลี้ยงดูเด็ก งานวิจัยอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ปกครองที่มีอายุน้อยจะสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดีกว่า ส่วนปู่ย่าตายายที่ช่วยดูแลเด็กเล็กนั้นจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู เช่น การให้ข้อมูล การเยี่ยมบ้าน หรือ การฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการดูแลเด็ก เป็นต้น
การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจนับเป็นช่องทางสำคัญในการยกฐานะทางเศรษฐกิจของประชากรทั้งในชนบทและในเมือง การวิจัยครั้งนี้ได้พบว่า การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจช่วยให้ครัวเรือนดังกล่าวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินส่งกลับที่มาจากสมาชิกในครัวเรือนที่ออกไปทำงานต่างพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน เราพบว่าการย้ายถิ่นของสมาชิกครัวเรือนที่อยู่ในวัยสร้างครอบครัวโดยที่ต้องฝากบุตรไว้ให้ญาติผู้ใหญ่เลี้ยงดู กลับมีผลในทางลบต่อการสร้างทุนมนุษย์ของเด็กในครัวเรือนนั้น ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว นั่นคือ จากการศึกษาผ่านข้อมูลที่ผู้วิจัยสามารถติดตามบุคคลหนึ่ง ๆ ในหลายช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนโต เราพบว่าการได้รับการศึกษาของเด็กเหล่านี้อยู่ในระดับที่ด้อยกว่าเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับพ่อและแม่ที่อยู่ครบหน้า ส่วนเงินรายได้ที่ส่งกลับมาช่วยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนบทบาทของพ่อแม่ที่อยู่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
ผู้วิจัยจึงมองว่าผลการศึกษานี้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสองข้อ ข้อแรกคือนโยบายควรให้การสนับสนุนผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็ก เช่น ปู่ย่าตายาย ให้พวกเขาได้รับความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็ก พร้อมทั้งเสริมกำลังสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การเข้าถึงศูนย์เลี้ยงดูเด็ก ที่เป็นการป้องกันและเสริมสร้างการสร้างสะสมทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างดี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังสามารถลดผลเสียของการย้ายถิ่นของพ่อแม่ต่อการศึกษาของเด็ก และข้อสองคือนโยบายสร้างการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ที่ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อให้มีความจำเป็นน้อยลงในการย้ายถิ่นสำหรับประชากรที่อยู่ในวัยสร้างครอบครัว
เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ธัญมัชฌ สรุงบุญมี (2018), บทบาทของสภาพครัวเรือนต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังแรงงานในอนาคต ในชุดโครงการ พัฒนาองค์ความรู้และนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
Chiappori, P. A. (1988). Rational household labor supply. Econometrica: Journal of the Econometric Society, 63–90.
Chiappori, P. A. (1992). Collective labor supply and welfare. Journal of political Economy, 100(3), 437–467.
Cunha, F. (2015). Subjective rationality, parenting styles, and investments in children. In Families in an Era of Increasing Inequality (pp. 83–94). Springer International Publishing.
Cunha, F., Elo, I., & Culhane, J. (2013). Eliciting maternal expectations about the technology of cognitive skill formation (No. w19144). National Bureau of Economic Research.