สถานการณ์สูงวัยกับผลิตภาพและการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทย
excerpt
บทความตอนแรกใน mini series ที่มุ่งเข้าใจภาคเกษตรไทยผ่านฐานข้อมูลเกษตรหลายชุด ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของการเข้าสู่สังคมสูงวัยของแรงงานในภาคเกษตรไทย บทความตอนที่สองนี้พยายามเข้าใจถึงความรุนแรงและผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตร โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดของสมาชิกในทุกครัวเรือนเกษตรไทยมาฉายภาพสถานการณ์สูงวัยของครัวเรือนจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในระดับครัวเรือน และความสัมพันธ์ของสถานการณ์สูงวัยในครัวเรือนต่อวิถีการทำเกษตรและระดับผลิตภาพของครัวเรือนเกษตร ผลการศึกษานี้อาจมีนัยต่อการมุ่งเป้าและออกแบบนโยบายภาคเกษตรไทย
การเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย UN World Population Prospects (2015)1 แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรในวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน งานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (2561) ยังแสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งจากการลดลงของคุณภาพและปริมาณของแรงงาน การชะลอลงของการบริโภคของภาคครัวเรือนในอนาคต ตลอดถึงการถดถอยของเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนไทย
สำหรับในภาคเกษตร การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ที่ผู้วางนโยบายต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ โดยจากผลสำรวจภาวะการทำงานของไทยปีล่าสุดพบว่า กำลังแรงงานในภาคเกษตรมีสูงถึง 13.36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34 ของกำลังแรงงานในระบบทั้งหมด แต่สัดส่วนของรายได้จากภาคเกษตรต่อ GDP มีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพแรงงานและผลิตภาพ จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูง (high labor intensive) แรงงานไม่สามารถทดแทนโดยเทคโนโลยีหรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้ง่ายนัก และยังคงมีระดับผลิตภาพต่ำ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของประชากรไทยอีกด้วย
งานวิจัยนี้พยายามฉายภาพให้เห็นว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยในภาคเกษตรไทยรุนแรงแค่ไหน และจะมีนัยต่อการพัฒนาผลิตภาพของครัวเรือนเกษตรอย่างไร โดยในบทความตอนที่แล้ว เราได้แสดงให้เห็นในภาพรวมว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยของแรงงานในภาคเกษตรไทยมีความรุนแรงมากกว่าภาพรวมของประเทศ โดยเราพบว่าสัดส่วนของแรงงานเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2546 เป็น 19% ในปี 2556ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในปี 2560 ที่ 14%ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนของแรงงานอายุน้อย (15–40 ปี) ที่ลดลงอย่างมากจาก 48% เป็น 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน และสัดส่วนแรงงานสูงอายุได้ปรับเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ และทุกกิจกรรมการผลิตด้วย
แรงงานเกษตรในหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน งานวิจัยของ Zagata and Sutherland (2015) พบว่า ในกลุ่มประเทศ EU สัดส่วนของแรงงานอายุน้อยในภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 7.6 ในปี ค.ศ. 2003 เหลือเพียงร้อยละ 5.6 ในปี ค.ศ. 2017 ในเอเชียเอง MAFF (2017) พบว่าสัดส่วนของแรงงานสูงอายุในประเทศญี่ปุ่นมีสูงถึงร้อยละ 63.5 ในปี ค.ศ. 2015 Lee (2015) พบว่าเกษตรกรในประเทศเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 70–75 ปี และมีหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยในปี ค.ศ. 2008 เกาหลีใต้มีแรงงานสูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35 และประสบปัญหาการลดลงของแรงงานอายุน้อยอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสูงวัยในต่างประเทศข้างต้นดูจะรุนแรงกว่าประเทศเรา
งานวิจัยในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอาจมีนัยต่อการทำการเกษตรและผลิตภาพของภาคเกษตร ในด้านหนึ่ง มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงผลิตภาพที่ถดถอยลงของแรงงานเกษตรสูงอายุ (Lee, 2015; MAFF, 2017) และในอีกด้านหนึ่ง อายุของเกษตรกรอาจมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจและเรียนรู้ในกระบวนการทำการเกษตร ซึ่งอาจส่งโดยตรงต่อผลิตภาพ โดยงานวิจัยหลายชิ้น เช่น Feyrer (2007), Poungchompu et al. (2012), Guo et al. (2015), และ Ozimek et al. (2017) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานสูงอายุมักมีอัตราการตอบรับ เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ และเกษตรกรอายุน้อยส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อเพิ่มระดับผลิตภาพได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันแรงงานสูงอายุก็อาจมีประสบการณ์และสินทรัพย์มากกว่า ซึ่งในพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถผลันตัวเป็นผู้จัดการและมีการจ้างทำการเกษตรอย่างกว้างขวาง การเข้าสู่สังคมสูงวัยก็อาจไม่ได้ก่อให้เกิดการถดถอยของผลิตภาพเสมอไป ดังนั้น หลักฐานเชิงประจักษ์จากอดีตจนถึงปัจจุบันในหลายประเทศบอกเราว่านัยของการเข้าสู่สังคมสูงวัยต่อการพัฒนาภาคเกษตรอาจแตกต่างกันไปตามบริบทต่าง ๆ
เข้าใจความรุนแรงและผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยในภาคเกษตรไทย: ทำไมควรศึกษาลึกลงไปในระดับครัวเรือน?
“ภาพใหญ่” ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานเกษตรอาจจะยังไม่สามารถทำให้เข้าใจนัยของการเข้าสู่สังคมสูงวัยต่อการพัฒนาภาคเกษตรได้ดีนัก เพราะยังไม่สามารถตอบสามคำถามที่สำคัญ
หนึ่งคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยเกิดขึ้นกับครัวเรือนเกษตรไทยมากขนาดไหนและรุนแรงขนาดไหน? แรงงานสูงวัยที่เพิ่มขึ้นไปกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนเพียงไม่กี่ครัวเรือนหรือกระจายอยู่ในครัวเรือนจำนวนมาก?
สองคือ สถานการณ์สูงวัยเกิดขึ้นในครัวเรือนแบบใด? และส่งผลต่อความสัมพันธ์ของแรงงานในครัวเรือนอย่างไร? เพราะผลกระทบที่แท้จริงของการเข้าสู่สังคมสูงวัยก็อาจขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากรในครัวเรือนเกษตรด้วย และงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือน (หรือ intra-household allocation) หลายงานได้แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของครัวเรือนมักขึ้นอยู่กับหัวหน้าครัวเรือนเป็นหลัก ดังนั้นหากแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่ยังอยู่ในครัวเรือนที่มีแรงงานวัยทำงานและอายุน้อยอยู่ด้วย หรือมีแรงงานอายุน้อยเป็นหัวหน้าครัวเรือน และมีจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนเหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดการผสมผสานของประสบการณ์ ภูมิปัญญาและสินทรัพย์ที่สำคัญจากแรงงานสูงอายุ เข้ากับความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวและตัดสินใจยอมรับเทคโนโลยีของหัวหน้าครัวเรือนที่อายุน้อยกว่า และอาจส่งผลดีต่อผลิตภาพ แตกต่างจากกรณีที่แรงงานสูงวัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นต้น
และสามคือ สถานการณ์สูงวัยที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนเกษตรไทยสุดท้ายแล้วส่งผลอย่างไรกับการทำเกษตรและผลิตภาพ? งานวิจัยนี้จึงพยายามตอบสามคำถามนี้ โดยใช้ข้อมูลสำมะโนเกษตร 2 ปีล่าสุด (พ.ศ. 2546 และ 2556)2 ที่มีรายละเอียดของสมาชิกในทุกครัวเรือนเกษตรไทยกว่า 5.9 ล้านครัวเรือนมาฉายภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในระดับครัวเรือน และความสัมพันธ์ของสถานการณ์สูงวัยในครัวเรือนต่อวิถีการทำเกษตรและระดับผลิตภาพของครัวเรือนเกษตรไทย
การศึกษานี้ได้สะท้อนสถานการณ์สูงวัยในครัวเรือนในสองมิติ โดยมิติแรกจะสะท้อนถึงการกระจายตัวของอายุของสมาชิกในครัวเรือนด้วยสัดส่วนแรงงานสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และแรงงานอายุน้อย (อายุ 25–40 ปี) ต่อแรงงานในครัวเรือนทั้งหมดและมิติที่สองจะสะท้อนถึงอายุของหัวหน้าครัวเรือนซึ่งในทางทฤษฎีจะมีนัยโดยตรงต่อการตัดสินใจทำเกษตรของครัวเรือน โดยรูปที่ 1 แสดงถึง cumulative distribution ของสามตัวแปรข้างต้นจากข้อมูลสำมะโนเกษตรในปี 2546 และ 2556
หนึ่งในสามของครัวเรือนเกษตรในปี 2556 มีแรงงานสูงวัย ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2546 และสถานการณ์สูงวัยก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นสำหรับครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยอยู่แล้ว โดยรูปที่ 1a แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 37 ของครัวเรือนเกษตรในปี 2556 มีแรงงานสูงวัย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2546 และสำหรับครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยอยู่แล้ว เราพบว่าสถานการณ์สูงวัยก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยสัดส่วนของแรงงานสูงวัยต่อแรงงานในครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุก percentile rank และจำนวนครัวเรือนที่มีเพียงแต่แรงงานสูงวัยเท่านั้นยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 10 ในปี 2556
ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนเกษตรที่มีแรงงานอายุน้อยกลับมีสัดส่วนลดลงอย่างมากเช่นกัน รูปที่ 1b แสดงให้เห็นว่า จำนวนครัวเรือนที่มีแรงงานอายุน้อยลดลงจากร้อยละ 60 ในปี 2546 มาเป็นร้อยละ 40 ในปี 2556 และสัดส่วนของแรงงานอายุน้อยต่อแรงงานในครัวเรือนก็มีแนวโน้มลดลงในทุก percentile rank ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานอายุน้อยในภาคเกษตรไทย
ครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยเกือบทั้งหมด (หนึ่งในสามของครัวเรือนเกษตรในปี 2556) ก็จะมีแรงงานสูงอายุเป็นหัวหน้าครัวเรือนด้วย จากรูปที่ 1c พบว่าร้อยละ 30 ของครัวเรือนมีหัวหน้าครัวเรือนอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเพิ่มจากร้อยละ 20 ในปี 2546 จำนวนครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุน้อยกว่า 40 ปีลดลงจากร้อยละ 25 ในปี 2546 มาเหลือแค่ร้อยละ 12 ในปี 2556
นอกจากนี้ เรายังพบว่าหัวหน้าครัวเรือนก็มีอายุมากขึ้นในทุก ๆ percentile rank อีกด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่าสถานการณ์ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น พม่าที่ร้อยละ 25 ของครัวเรือนเกษตรมีหัวหน้าครัวเรือนสูงวัย (Harper et al., 2017) และยังไม่รุนแรงเท่ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่จำนวนครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุน้อยมีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น (Lee, 2015)
ความรุนแรงของการเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตรไทยมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ โดยในรูปที่ 2a พบว่าหลายพื้นที่ในภาคกลางและปริมณฑลมีสัดส่วนของแรงงานสูงวัยในครัวเรือนในระดับที่สูงกว่าพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศ และอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนสูงในหลายจังหวัดในภาคกลาง อีสาน และเหนือตอนบน โดยจังหวัดที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุมากสุดใน 7 อันดับแรกของประเทศคือ สมุทรสงคราม สิงห์บุรี นครนายก อ่างทอง ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น (รูป 2c)
ที่น่าสนใจก็คือเราพบว่าสัดส่วนของแรงงานอายุน้อยในครัวเรือนในภาคใต้และพื้นที่ชายขอบของภาคเหนือและอีสานยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น พื้นที่ดังกล่าวอาจแสดงถึงพื้นที่ศักยภาพในการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพ
สถานการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตรไทยมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรูปที่ 3 ใช้ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมและแรงงานเกษตร 10 ปี ย้อนหลังของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จากกลุ่มครัวเรือนตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรทั่วประเทศหลายพันครัวเรือนต่อปี เพื่อเติมเต็มข้อมูลสำมะโนเกษตรที่มีถึงปี 2556 และฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนแรงงานสูงวัยในครัวเรือนและอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนในทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนแรงงานสูงวัยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 36 ในปี 2551 มาเป็นร้อยละ 46 ในปี 2561 เช่นเดียวกับอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนที่สูงขึ้นจาก 54 ปี ในปี 2551 เป็น 58 ปี ในปี 2561 และสูงขึ้นทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตรยังมีความต่างในเชิงกิจกรรมการเกษตร หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนแรงงานในรายกิจกรรมเกษตรระหว่างปี 2546 และ 2556 ในรูปที่ 4 จะพบว่าสัดส่วนแรงงานสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกกิจกรรมเกษตร ซึ่งสวนทางกับแรงงานอายุน้อยที่มีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อพิจารณาสัดส่วนแรงงานสูงวัยแยกตามรายกิจกรรมเกษตรในปี 2556 จะพบว่าแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่มีสัดส่วนสูงในกิจกรรมประเภทไม้ผล ประมง และปศุสัตว์ ในขณะที่แรงงานอายุน้อยกลับมีสัดส่วนสูงในกิจกรรมประเภทการปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวก ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย ดังนั้น การส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากจะต้องพิจารณาในเชิงพื้นที่แล้ว (จากรูปที่ 2) อาจจะต้องพิจารณาถึงกิจกรรมทางเกษตรควบคู่กันไปด้วย
ความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในภาคเกษตรอาจขึ้นอยู่กับว่าแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่อยู่อาศัยในครัวเรือนที่มีลักษณะหรือโครงสร้างของครอบครัวแบบใด รูปที่ 5 จึงพยายามฉายภาพโครงสร้างครัวเรือนเกษตรโดยแยกโครงสร้างครอบครัวออกเป็น 6 ประเภท คือ ครัวเรือน 1 รุ่นที่สูงวัย ครัวเรือน 1 รุ่นในวัยทำงานและอายุน้อย ครัวเรือน 2, 3, 4 รุ่น และครัวเรือนฟันหลอ3 (skipped generation) โดยรูป 5a แสดงถึงการกระจายตัวของครัวเรือนเกษตรประเภทต่าง ๆ รายจังหวัด และรูป 5b แสดงการกระจายตัวเฉพาะครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัย ซึ่งพบว่า
ครัวเรือนเกษตรที่มีแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่จะเป็นครัวเรือนหลายรุ่น มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่จะมีแรงงานสูงอายุอยู่ตามลำพังหรืออยู่ในครัวเรือนฟันหลอ โดยรูป 5 แสดงให้เห็นว่าในภาพรวมครัวเรือนเกษตรทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 70 เป็นครัวเรือนหลายรุ่น และจากร้อยละ 37 ของครัวเรือนทั้งหมดที่มีแรงงานสูงวัย ร้อยละ 13 จะเป็นครัวเรือนที่มีแรงงานสูงอายุอยู่ตามลำพังหรืออยู่ในครัวเรือนฟันหลอ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 24 จะเป็นครัวเรือนที่แรงงานสูงวัยอยู่กับแรงงานรุ่นอื่น ๆ หลักฐานเชิงประจักษ์นี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์สูงวัยของครัวเรือนเกษตรไทยอาจไม่ได้รุนแรงนัก?
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยเกือบทั้งหมดก็จะมีแรงงานสูงอายุเป็นหัวหน้าครัวเรือนด้วย ซึ่งเราพบว่าหัวหน้าครัวเรือนสูงวัยมักมีการศึกษาต่ำกว่ากลุ่มแรงงานในช่วงอายุอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยรูปที่ 6 แสดงการกระจายตัวของการศึกษาสูงสุดของหัวหน้าครัวเรือนตามกลุ่มอายุ และพบว่ากว่าร้อยละ 83 ของครัวเรือนเกษตรที่มีหัวหน้าครัวเรือนสูงวัยมีการศึกษาต่ำกว่าหรือไม่เกินระดับประถมศึกษา (รูป 6a) ดังนั้นหากการตัดสินใจทำการเกษตรของครัวเรือนมักขึ้นอยู่กับหัวหน้าครัวเรือนเป็นหลัก หลักฐานเชิงประจักษ์ข้างต้นอาจสะท้อนถึงนัยของการเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตรต่อการฉุดรั้งการพัฒนา
ในขณะที่ครัวเรือนเกษตรที่มีหัวหน้าครัวเรือนอายุน้อย (25–40 ปี) เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดีกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยประมาณร้อยละ 50 ของหัวหน้าครัวเรือนกลุ่มนี้มีการศึกษาสูงกว่าประถมศึกษา และเกือบร้อยละ 10 สูงกว่ามัธยมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในภาคกลาง ปริมณฑลและภาคใต้ที่มีการศึกษาสูงกว่าภูมิภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด (รูป 6c) เป็นอีกหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงศักยภาพและพื้นที่มุ่งเป้าในการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพ
รูปที่ 7 แสดงถึงความสัมพันธ์ของอายุหัวหน้าครัวเรือนซึ่งเป็นหนึ่งในมิติที่สะท้อนถึงสถานการณ์สูงวัยของครัวเรือนเกษตรกับ
- ผลิตภาพ รายได้และหนี้สินต่อหัว (รูปที่ 7a-7d) ซึ่งในข้อมูลสำมะโนเกษตรมีเพียงผลิตภาพของข้าวนาปีต่อไร่ และต่อแรงงาน
- สินทรัพย์ทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงขนาดที่ดินทำกินต่อหัวและกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน (รูปที่ 7e-7f) และ
- วิถีการทำเกษตรที่อาจส่งผลต่อผลิตภาพ ซึ่งรวมถึงความน่าจะเป็นในการเช่าที่ดินทำกิน ในการรวมกลุ่ม ในการจ้างแรงงาน ในการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ และจำนวนกิจกรรมเกษตรที่ทำ (รูปที่ 7g-7k) และแสดงให้เห็นดังนี้
หัวหน้าครัวเรือนสูงวัยมักสัมพันธ์กับระดับผลิตภาพที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะผลิตภาพต่อแรงงาน โดยความสัมพันธ์ของอายุกับผลิตภาพและรายได้ต่อหัวมีลักษณะเป็น non-linear เหมือนกันคือ จะมีระดับต่ำและสูงขึ้นสำหรับหัวหน้าครัวเรือนอายุน้อย และลดลงสำหรับหัวหน้าครัวเรือนที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป แต่ความสัมพันธ์ของผลิตภาพและรายได้หัวหน้าครัวเรือนในช่วงอายุน้อยมีความแตกต่างกันในสองปี โดยในปี 2556 พบว่าสำหรับหัวหน้าครัวเรือนในช่วงอายุน้อยจะมีผลิตภาพและรายได้ในระดับที่สูงกว่า ส่วนความสัมพันธ์ของหนี้สินต่อหัวก็สะท้อนความสัมพันธ์ตาม life cycle theory (Modigliani, 1966) ได้เป็นอย่างดี
และหัวหน้าครัวเรือนสูงวัยมักสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่และในการรวมกลุ่มที่ต่ำลง สอดคล้องกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และตอบรับกับเทคโนโลยีของเกษตรกรในหลายประเทศ ซึ่งก็อาจจะช่วยอธิบายกลไกของความสัมพันธ์ของอายุกับผลิตภาพข้างต้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เรายังพบว่าหัวหน้าครัวเรือนสูงวัยมักสัมพันธ์กับขนาดของที่ดินทำกินที่เล็กลง และความเป็นไปได้ที่สูงที่จะจำกัดการทำเกษตรในที่ดินของตนเองและจ้างแรงงาน ซึ่งก็อาจสะท้อนถึงข้อจำกัดในการขยายการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและรายได้สุทธิ นอกจากนี้หัวหน้าครัวเรือนสูงวัยยังมีความสัมพันธ์กับจำนวนกิจกรรมเกษตรที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดของการกระจายความเสี่ยง ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย
เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ กับอายุหัวหน้าครัวเรือนข้างต้นอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถสรุปความเป็นเหตุเป็นผล (หรือ causation) ของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนว่าเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของอายุหัวหน้าครัวเรือนเพียงอย่างเดียว เราจึงได้สร้างสมการถดถอยขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ข้างต้น โดยใช้ข้อมูลทั้งสองปี และมีการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ได้แก่ ตัวแปรในระดับครัวเรือน เช่น เพศของหัวหน้าครัวเรือน ขนาดของที่ดินทำกิน ตัวแปรเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เขตพื้นที่ชลประทาน จังหวัด และตัวแปรในเชิงเวลา คือปีการผลิต รูปที่ 8 แสดงผลของความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพและอายุของหัวหน้าครัวเรือนที่วิเคราะห์ด้วยสมการถดถอยข้างต้น
การศึกษาด้วยสมการถดถอยข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า ความสูงวัยของหัวหน้าครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับผลิตภาพต่อไร่และผลิตภาพต่อแรงงานอย่างเห็นได้ชัด โดยหัวหน้าครัวเรือนในช่วงวัยกลางคน (ในช่วงอายุ 40 ปี) จะเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพสูงสุด จากนั้นระดับของผลิตภาพจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเกษตรกรมีอายุมากขึ้น ซึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาพเดียวกันกับสถานการณ์ในต่างประเทศ เช่น งานศึกษาของ Tauer (1995) ซึ่งพบว่าเกษตรกรอายุน้อยจะค่อย ๆ สะสมประสบการณ์และความสามารถในการทำการเกษตร โดยระดับของผลิตภาพจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น จนถึงช่วงอายุ 35–44 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเกษตรกรมีทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างผลิตภาพ จากนั้นระดับของผลิตภาพจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุเกษตรกรเข้าสู่ช่วงสูงวัย
ความสัมพันธ์อย่างถดถอยของผลิตภาพกับอายุของหัวหน้าครัวเรือนข้างต้นน่าจะสามารถสะท้อนถึงผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยของครัวเรือนเกษตรไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสัมพันธ์ข้างต้นก็อาจเป็นผลมาจากความสามารถและแนวโน้มในการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี และการขยายการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพที่ลดลง
โดยสรุปงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์สูงวัยในครัวเรือนเกษตรอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อการพัฒนาของภาคเกษตรไทย เพราะครัวเรือนเกษตรกว่าหนึ่งในสามมีแรงงานสูงวัย และก็มีแรงงานสูงวัยเป็นหัวหน้าครัวเรือนด้วย ซึ่งผลการศึกษาพบว่าอาจสัมพันธ์อย่างถดถอยกับผลิตภาพ งานวิจัยนี้ยังพบการลดลงของแรงงานอายุน้อยในครัวเรือนเกษตร ซึ่งก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิตนี้ได้
การออกแบบกลไกการยกระดับผลิตภาพในภาวะที่เข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเกษตรไทย จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานการณ์สูงวัยของครัวเรือนซึ่งมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ โครงสร้างครัวเรือน และกิจกรรมทางการเกษตร อย่างไรก็ตามเราพบว่าครัวเรือนที่มีแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่มักเป็นครัวเรือนหลายรุ่น ซึ่งหากมีกระบวนการจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนอย่างเหมาะสม ผสมผสานประสบการณ์ ภูมิปัญญาและสินทรัพย์ที่สำคัญจากแรงงานสูงอายุ เข้ากับความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวและตัดสินใจยอมรับเทคโนโลยีของแรงงานอายุน้อยกว่า ก็อาจสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และบรรเทาผลกระทบจากสังคมสูงวัยไปได้
นโยบายเกษตรในภาวะที่เข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องพยายามตอบสี่คำถาม คือ (1) เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับหรือทดแทนแรงงานสูงวัยเพื่อเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไร? (2) เราจะดึงดูดให้แรงงานอายุน้อยให้เข้ามาในภาคเกษตรมากขึ้นได้อย่างไร? ซึ่งในต่างประเทศได้ใช้การให้แรงจูงใจทางการเงินและโครงการให้ความช่วยเหลือ (set-up assistant program) รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับแรงงานอายุน้อยเพื่อดึงดูดให้แรงงานเหล่านี้สนใจหันมาทำเกษตรมากขึ้น (3) เราจะสนับสนุนการออกนอกภาคเกษตรของแรงงานสูงวัยอย่างไร? และ (4) เราควรมีมาตรการใดบ้างที่จะช่วยเหลือและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครัวเรือนเกษตรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย?
Attavanich, W., Chantarat, S., Chenphuengpawn J., and Sa-ngimnet, B. (2019). Microscopic view of Thailand’s agriculture through the lens of farmer registration and census data. Forthcoming PIER Discussion Paper.
Feyrer, J. (2007). Demographics and productivity. The Review of Economics and Statistics, 89(1), 100–109.
Gale, H. F. (1993). Why did the number of young farm entrants decline?. American Journal of Agricultural Economics, 75(1), 138–146.
Guo, G., Wen, Q., & Zhu, J. (2015). The impact of aging agricultural labor population on farmland output: from the perspective of farmer preferences. Mathematical Problems in Engineering, 2015.
Harper, S., Hamblin, K. A., Howse, K., and Leeson, G. W. (2017). The ageing of Myanmar’s Farmer Population: Implications for Agriculture and Food Security. Oxford Institute of Population Ageing.
Lee, T. (2015). The aging of agriculture and the income instability of young farmers in Korea. In The FFTC-MARDI International Seminar on Cultivating the Young Generation of Farmers with Farmland Policy Implications, May 25–29, MARDI, Serdang, Selangor, Malaysia.
Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF). (2017). 2015 Census of Agriculture and Forestry. Japan.
Modigliani, Franco (1966). “The Life Cycle Hypothesis of Saving, the Demand for Wealth and the Supply of Capital”. Social Research. 33 (2): 160–217.
Ozimek, A., DeAntonio, D., and Zandi, M. (2017). Aging and the productivity puzzle.
Poungchompu, S., Tsuneo, K., & Poungchompu, P. (2012). Aspects of the Aging Farming Population and Food Security in Agriculture for Thailand and Japan. International Journal of Environmental and Rural Development, 3(1), 102–107.
Tauer, L. (1995). Age and farmer productivity. Review of Agricultural Economics, 63–69.
United Nations (2015). World population prospects: The 2015 revision. United Nations Econ Soc Aff, 33(2), 1–66.
Zagata, L., and Sutherland, L. A. (2015). Deconstructing the ‘young farmer problem in Europe’: Towards a research agenda. Journal of Rural Studies, 38, 39–51.
ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย โครงการศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีนัยต่อการดำเนินนโยบาย สายนโยบายการเงิน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (2561). สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (2557). รายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557.
- องค์การสหประชาชาตินิยามสังคมสูงวัย (aging society) ว่าคือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด และสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด↩
- ข้อมูลสำมะโนเกษตรในปี 2556 ครอบคลุมครัวเรือนเกษตรทั้งหมดกว่า 5.9 ล้านครัวเรือน รวมจำนวนสมาชิกในครัวเรือนกว่า 19.7 ล้านคน และข้อมูลระดับแปลงกว่า 10.7 แปลงทั่วประเทศ↩
- ครอบครัวฟันหลอ (skipped generation) คือ ครอบครัวที่มีหัวหน้าครัวเรือนกับทายาทข้ามรุ่นกัน↩
- เนื่องจากข้อมูลการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ในข้อมูลสัมมะโนเกษตรในปี 2556 มีปัญหาในเรื่องคุณภาพ การศึกษานี้จึงจำกัดอยู่ที่ปี 2546 เท่านั้น↩