Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/a9278a1e64570c7f8b412c36cb808fae/e9a79/cover.png
6 พฤศจิกายน 2562
20191572998400000

“Inside-Out” โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การปรับโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจากการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากต่างประเทศเปลี่ยนมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากภายในอย่างยั่งยืน
สมประวิณ มันประเสริฐก้องภพ วงศ์แก้ว
“Inside-Out” โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
excerpt

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตโดยพึ่งบริษัทต่างชาติให้เข้ามาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะต้องหันมาเติบโตแบบ “ระเบิดจากข้างใน” กล่าวคือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยตนเอง การปฏิรูปโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องปรับโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และสร้างระบบการเงินที่ inclusive

“… [พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร] ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัว …”

จากหนังสือการทรงงานพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล (ปี 2554, หน้า 52–53)

ระบบเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อไปได้อย่างไรในระยะยาว? คำถามดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่การใช้ปัจจัยทุนได้ถึงจุดอิ่มตัวและกำลังแรงงานจะมีน้อยลงจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจไทยจึงไม่สามารถเติบโตได้จากการสะสม ‘จำนวน’ ปัจจัยการผลิตเหมือนในอดีต แต่จะต้องเป็นการเติบโตจาก ‘คุณภาพ’ ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ สิ่งดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอแนะใหม่ แต่เหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถใช้การเพิ่มผลิตภาพการผลิตมาเป็นตัวนำการพัฒนาได้เสียที?

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาเป็นแบบ Outside-in (ซึ่งเกิดจากการนำเข้ากิจกรรมการผลิตผ่านการเข้าร่วมสายพานการผลิตโลก) แต่ในระยะต่อไป การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะต้องเป็นแบบ Inside-out หรือ “ระเบิดจากข้างใน” ที่เกิดจากการเพิ่มผลิตภาพปัจจัยการผลิตภายในประเทศเอง รวมถึงการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากทุกภาคส่วนของหน่วยเศรษฐกิจไทย

งานวิจัยของ Apaitan, Ananchotikul and Disyatat (2017) ได้ใช้แนวคิดของ Hausman and Hidalgo (2011) มาศึกษาปัจจัยที่มีส่วนกำหนดการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยมีความเชื่อว่าผลิตภาพเกิดมาจาก ‘การสร้าง’ และ ‘การกระจาย’ องค์ความรู้ในกระบวนการผลิตจากหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งไปยังอีกหน่วยเศรษฐกิจ ผ่านการแบ่งปันปัจจัยการผลิตและการถ่ายโอนความรู้ ซึ่งจะเกื้อกูลให้ผลิตภาพของประเทศเพิ่มสูงขึ้นและจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว จากแนวคิดดังกล่าว ระดับขององค์ความรู้ในระบบเศรษฐกิจจะถูกวัดทางอ้อมจากระดับความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้มีการเผยแพร่ดัชนีระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจหรือ Economic Complexity Index (ECI) ที่วัดความซับซ้อนของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี 1995 ถึงปี 2017 จากข้อมูลชุดดังกล่าวเราพบว่าค่า ECI ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนั้น ไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าไทยส่งออกสินค้าที่ใช้องค์ความรู้ที่ซับซ้อนขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจไทย

ระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจไทย

ที่มา: The Atlas of Economic Complexity Harvard University, วิจัยกรุงศรี

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะส่งออกสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่กลับไม่สามารถตักตวงประโยชน์จากความซับซ้อนเหล่านั้นได้มากเท่าที่ควร ในปี 2017 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศที่มีค่า ECI ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าประเทศอื่นส่วนใหญ่สามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ (High income) ในขณะที่ไทยยังตกอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper middle income) (รูปที่ 2) สิ่งดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามสำคัญ ‘อะไรคือสาเหตุที่ไทยไม่สามารถเปลี่ยนความเก่งเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้?’

รูปที่ 2 ระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจกับรายได้ต่อหัว (2017)

ระดับความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจกับรายได้ต่อหัว (2017)

ที่มา: The Atlas of Economic Complexity Harvard University, ธนาคารโลก, วิจัยกรุงศรี

ที่ผ่านมา…การพัฒนาเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนแบบ Outside-in

พัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลผู้ถือหุ้นนี้ประกอบด้วยปัจจุบันกิจกรรมการผลิตส่วนใหญ่ของไทยผูกโยงกับสายพานการผลิตโลก โดยเป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศเพื่อมาประกอบและส่งออก ดังนั้น มูลค่าการส่งออกรวม (Gross export) จึงไม่ได้สะท้อนมูลค่าของกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้แฝงมูลค่าเพิ่มที่ติดมากับสินค้าขั้นกลางซึ่งนำเข้าจากประเทศต้นทางอีกด้วย ดังนั้น การที่ดัชนี ECI วัดความซับซ้อนขององค์ความรู้จาก Gross export จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าค่าดัชนี ECI ของไทยที่ปรับสูงขึ้นนั้นสะท้อนองค์ความรู้ของผู้ผลิตภายในประเทศไทยเองหรือเป็นองค์ความรู้ของประเทศต้นทางบนสายพานการผลิต

เพื่อหาคำตอบ เราใช้ข้อมูลโครงสร้างการผลิตโลกจาก World Input-Output Data (WIOD) มาคำนวณหาการส่งออกในรูปของมูลค่าเพิ่ม (Value added exports) และจำแนกออกเป็นมูลค่าเพิ่มจากผู้ผลิตภายในประเทศ (Domestic value added) และมูลค่าเพิ่มจากประเทศต้นน้ำ (Foreign value added) จากนั้นเรานำข้อมูล Domestic value added มาคำนวณดัชนี Revealed Comparative Advantage (RCA) ของไทยซึ่งสะท้อน ‘ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ หรือความสามารถในการแข่งขันในตลาดสินค้าส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น1 ดังนั้น ดัชนี RCA ดังกล่าวจึงสะท้อน ‘ความเก่ง’ ของผู้ผลิตไทยเทียบเคียงได้กับดัชนี ECI

หากเปรียบเทียบดัชนี RCA ที่คำนวณจาก Gross export กับ Domestic value added in exports จะพบว่า RCA ของสินค้าส่งออกสำคัญมีค่าลดลง (รูปที่ 3) สินค้าบางกลุ่มที่ได้เปรียบเชิงเทียบกลับมีระดับของความได้เปรียบลดลง อาทิ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มยางและพลาสติก ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้เปรียบหากคำนวณจาก Gross exports แต่กลายเป็นเสียเปรียบหากคำนวณจาก Domestic value added นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน และกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งเสียเปรียบอยู่แล้วที่เสียเปรียบมากยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนว่า สินค้าส่งออกของไทยได้รับองค์ความรู้ที่ซับซ้อนมาจากประเทศต้นน้ำในสินค้าสำคัญหลายกลุ่ม

รูปที่ 3 Revealed Comparative Advantage (RCA) ของไทย (2015)

Revealed Comparative Advantage (RCA) ของไทย (2015)

หมายเหตุ: ตัวเลขแสดงค่าดัชนี RCARCA ความสูงแสดงของแผนภูมิแท่งแสดงค่า RCA RCA – 1แท่งสีเขียวแสดงสินค้าที่ได้เปรียบ ขณะที่แท่งสีแดงแสดงสินค้าที่เสียเปรียบ ที่มา: Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), วิจัยกรุงศรี

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของ Foreign value added in exports จะพบว่าการส่งออกของไทยขับเคลื่อนด้วยมูลค่าเพิ่มจากประเทศต้นน้ำ จากรูปที่ 4 สินค้าส่งออกในกลุ่มถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม กลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์มีสัดส่วนของ Foreign value added สูงกว่าครึ่งหนึ่งของ Value added exports แม้ในช่วงหลังสัดส่วนมีแนวโน้มลดลงแต่เป็นผลจากมูลค่าของ Foreign value added ที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ Domestic value added มีค่าเท่าเดิมหรือลดลงในอัตราที่ช้ากว่า ดังนั้น การปรับลดลงของสัดส่วน Foreign value added ในสินค้าส่งออกจึงอาจไม่ได้สะท้อนว่าภาคการผลิตไทยเก่งขึ้น

แม้ภาคการผลิตไทยจะนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่มีองค์ความรู้ซับซ้อน แต่กลับไม่สามารถต่อยอดและแพร่กระจายองค์ความรู้ดังกล่าวไปสู่ภาคส่วนอื่นในประเทศ ส่งผลให้ไทยไม่สามารถก้าวขึ้นไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ เราสามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของภาคการผลิตไทยบนห่วงโซ่การผลิตโลกได้โดยการคำนวณดัชนี Global Value Chain (GVC) Position Index (Koopman Powers Wang and Wei, 2013) ทั้งนี้ ภาคการผลิตที่อยู่ต้นน้ำ (ปลายน้ำ) จะมีค่าดัชนีเป็นบวก (ลบ)

รูปที่ 4 สัดส่วน Foreign value added ต่อ Value added exports ของไทย

สัดส่วน Foreign value added ต่อ Value added exports ของไทย

ที่มา: OECD, วิจัยกรุงศรี

เราพบว่าภาคการผลิตสำคัญของไทยยังอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งได้ช้าจึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ตำแหน่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าได้ จากรูปที่ 5 จะเห็นได้ว่าภาคการผลิตไทยที่อยู่ปลายน้ำ เช่น กลุ่มสินค้าที่เน้นการประกอบและส่งต่อ อาทิ กลุ่มยานยนต์ ไม่สามารถเคลื่อนขึ้นไปเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบและการคิดค้นนวัตกรรม ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อค้นพบของ Asian Development Bank (ADB, 2015) ที่ชี้ว่าผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับ Tier 2 และ Tier 3 ซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าสินค้าจากผู้ผลิต Tier 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ในทางตรงข้ามอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารก็ไม่สามารถเคลื่อนลงไปเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า เช่น การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป และการผลิตอาหารแปรรูป เป็นต้น

รูปที่ 5 GVC Position Index

img 5

ที่มา: OECD, วิจัยกรุงศรี

ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้นสะท้อนว่ากิจกรรมการส่งออกของไทยไม่ได้เติบโตแบบ Inside-out หรือเติบโตจากการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ แต่มีลักษณะแบบ Outside-in ที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเชื่อมไทยเข้าสู่สายพานการผลิตของโลก เนื่องจากบริษัทต่างชาติเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกของไทย ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและองค์ความรู้ที่ตกผลึกได้จากการผลิตจึงกระจายออกไปนอกประเทศ แทนที่จะกระจายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นภายในประเทศ

การกระจุกตัวในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจไทย

การเติบโตแบบ Outside-in ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตกระจุกตัวอยู่กับผู้ส่งออกบางกลุ่ม Apaitan, Ananchotikul and Disyatat (2017) ศึกษาข้อมูลการผลิตของไทยในระดับจุลภาคโดยผู้วิจัยพบการกระจุกตัวของกิจกรรมการผลิตใน 3 มิติ ได้แก่ การกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ การกระจุกตัวในบางพื้นที่ และการกระจุกตัวของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะในบางกิจกรรมการผลิต โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้มักถือครองโดยกลุ่มทุนต่างชาติ

อันที่จริงแล้ว การกระจุกตัวของกิจกรรมการผลิตนั้นส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะเริ่มต้น เพราะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้ได้สะดวก ณ ต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งงานศึกษาของ Thawornkraiwong, Civilize, and Khatphitthaya (2011) ชี้ว่ากิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้รับผลตอบแทนจากขนาดการผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวสู่ระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีกลไกที่เอื้อให้เกิดการโอนย้ายทรัพยากรจากภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำไปยังภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงกลไกที่กระจายทรัพยากรและองค์ความรู้ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นทั้งในมิติพื้นที่ ขนาดของผู้ประกอบการ และภาคการผลิตที่แตกต่างกัน…กลไกดังกล่าวคือสิ่งที่ขาดหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทย

มองไปข้างหน้ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ Inside-out หรือ “ระเบิดจากข้างใน”

ทำไมกลไกที่เอื้อให้เกิดการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงไม่เกิดขึ้นตามไปกับระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น? สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจไทยมีลักษณะบิดเบี้ยวและมีความไม่สมบูรณ์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความผิดปกตินี้ตั้งคำถามถึงโครงสร้างของสถาบันทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น

งานของ ADB (2015) พบว่าสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่สามารถยกระดับขึ้นไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้เป็นเพราะผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตไม่ทันกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมซึ่งมักพึ่งพิงเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากภาคธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาผ่านการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น (จากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น แทนที่จะเป็นเพราะความสามารถของแรงงานเอง) จนถึงระดับหนึ่ง ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นใช้แรงงานจึงปรับลดลงส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ADB (2015) ยังชี้อีกด้วยว่าการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ซึ่งแนวนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถยกระดับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 5 มิติต่อไปนี้

  1. การพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการสร้างนวัตกรรม ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาทางเทคโนโลยีในไทยมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น คุณภาพการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในไทยส่งผลให้จำนวนการจดสิทธิบัตรอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น ไทยยังขาดความร่วมมือที่เป็นระบบระหว่างสถาบันการศึกษาระดับสูงและภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม อนึ่ง ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าในปี 2016 สัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 0.78) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ร้อยละ 1.62) โดยเฉพาะประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน อาทิ เกาหลีใต้ (ร้อยละ 4.23)

  2. การยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำและมีทักษะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การศึกษาของแรงงานไทยมักไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2014 พบว่าอุปสรรคสำคัญต่อการทำธุรกิจในไทยคือการที่แรงงานมีระดับการศึกษาไม่สูงพอและไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากเท่าที่ควร แนวนโยบายที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของไทยจึงเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณทางด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคการผลิตมากขึ้น จะช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถผลิตกำลังแรงงานได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น

  3. การส่งเสริมการแข่งขันและแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการปกป้องกิจกรรมทางการผลิตบางประเภทมากเกินไปส่งผลให้การแข่งขันมีจำกัดโดยเฉพาะในภาคบริการ ปัจจุบันไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการปรับแก้กฎหมายให้ใช้งานได้จริง และบัญญัติให้ผู้กำกับดูแลแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจะเอื้อให้การบังคับใช้กฎหมายสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

  4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ โดยไทยควรพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งระหว่างจังหวัดและภายในตัวเมือง การเชื่อมต่อระบบขนส่งด้วยรถไฟกับรถบัส นอกจากนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ การจัดการงานด้านเอกสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการส่งออกสูงกว่าเกาหลีใต้มากเนื่องจากการขนส่งทางบกมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และมีค่าใช้จ่ายด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนั้น ยังควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับภาคธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง

  5. การเข้าถึงเงินทุนและบริการทางเงินที่มีประสิทธิภาพของผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือกลุ่ม MSME (Micro, Small and Medium-sized Enterprises) จากสถิติพบว่าไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจำนวนบริษัทขนาดเล็กคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99 ของจำนวนบริษัททั้งหมดและมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีมูลค่ากิจกรรมการผลิตเพียงร้อยละ 36 ของ GDP ปัญหาหลักเกิดจากข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการลงทุนในระยะยาว การพัฒนาระบบการเงินที่เอื้อให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึง

ระบบการเงินที่ inclusive ต้องเข้าถึงได้ทุกระดับความเสี่ยง

การพัฒนาข้อสุดท้ายชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการเงินในฐานะกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินที่ดีควรทำหน้าที่เคลื่อนย้ายทรัพยากรจากคนที่มีเงินเหลือแต่ไม่เห็นโอกาส ไปยังคนที่เห็นโอกาสแต่ไม่มีเงินทุน บทบาทสำคัญของภาคการเงินคือต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสให้หน่วยเศรษฐกิจ ‘ทุกระดับของความเสี่ยง’ สามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้ ‘ราคา’ ‘เครื่องมือทางการเงิน’ และ ‘ระบบกลไก’ ที่แตกต่างกัน โดยคนที่มีความเสี่ยงต่ำอาจเข้าถึงด้วยต้นทุนที่ต่ำผ่านกลไกประเภทหนึ่ง ในขณะที่คนที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องสามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านช่องทางอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่า การสร้างระบบที่ทำให้หน่วยเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เท่าเทียมกันจะสร้าง ‘ความเท่าเทียมกันในโอกาส’ ของหน่วยเศรษฐกิจและส่งผลให้หน่วยเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตอย่างเท่าเทียมขึ้น

ระบบการเงินที่ Inclusive จะต้องสนับสนุนการระดมทุนในทุกลำดับขั้นของธุรกิจ งานของ Berger and Udell (1998) ระบุถึงช่องทางการเข้าถึงเงินทุนตามลำดับขั้นของธุรกิจ (รูปที่ 6) นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งธุรกิจซึ่งไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือประวัติการระดมทุนมาก่อนจึงต้องได้รับการสนับสนุนจาก Business angels จากนั้นเมื่อธุรกิจเริ่มแสดงศักยภาพในการเติบโตแล้วจึงจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก Venture capital หรือสามารถเข้าถึงสินเชื่อระยะสั้นได้ ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้น ธุรกิจจะเริ่มสะสมสินทรัพย์และข้อมูลการดำเนินงานซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้มากขึ้น และในลำดับขั้นสุดท้าย ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจะสามารถระดมทุนในตลาดการเงิน เช่น การออกหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนในวงจำกัด เป็นต้น

รูปที่ 6 ช่องทางการเข้าถึงเงินทุนตามลาดับขั้นของธุรกิจ

ช่องทางการเข้าถึงเงินทุนตามลาดับขั้นของธุรกิจ

ที่มา: Berger and Berger and Udell (1998 ), วิจัยกรุงศรี

นอกจากนั้น ระบบการเงินที่ Inclusive จะต้องสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจทุกระดับความเสี่ยง งานของ OECD (2013) จับคู่ธุรกิจกับเครื่องมือในการระดมทุนตามระดับความเสี่ยง (รูปที่ 7) โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำควรระดมทุนผ่านตลาดการเงินในรูปแบบของการกู้โดยมีหลักทรัพย์อ้างอิงและการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน ขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางควรระดมทุนผ่านสถาบันการเงินหรือใช้เครื่องมือทางการเงินกึ่งหนี้กึ่งทุน (Mezzanine) เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีประวัติทางการเงินที่ยาวนานพอควรได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Business angles หรือ Venture capital ซึ่งยอมรับความเสี่ยงได้สูงกว่าและ/หรือมีโครงสร้างในการบริหารและกระจายความเสี่ยงที่ดี

รูปที่ 7 เครื่องมือการระดมทุนตามระดับความเสี่ยง

เครื่องมือการระดมทุนตามระดับความเสี่ยง

ที่มา: OECD ( OECD ( 2003 ), วิจัยกรุงศรี

ปัจจุบันระบบการเงินไทยมีเพียงสถาบันทางการเงินและตลาดการเงินที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนไปทางสูงถูก ‘คัดออก’ จากการเข้าถึงเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บริษัทขนาดเล็กและธุรกิจใหม่จึงไม่สามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ระบบการเงินที่ดีนอกจากจะมีเสถียรภาพแล้วยังต้องทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น ทางออกของเศรษฐกิจไทยจึงไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงแต่เป็นการบริหารความเสี่ยงซึ่งต้องการการปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบัน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เล่นในระบบการเงิน และการสร้างกลไกการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม

บทสรุป

ระบบการเงินที่ inclusive จะสร้างความเท่าเทียมใน 3 มิติ เริ่มจากความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความเท่าเทียมในการเข้าถึงตลาด และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ซึ่งความเท่าเทียมกันของโอกาสใน 3 มิตินี้จะเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ‘ระเบิดจากข้างใน’ ซึ่งทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

Apaitan, T., Ananchotikul, N., & Disyatat, P. (2017). Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation. PIER Discussion Papers 72, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Asian Development Bank. (2015). Thailand: Industrialization and Economic Catch-Up. Mandaluyong City, Philippines: Asian Development Bank.

Berger, A., & Gregory, U. (1998). The Economics of Small Business Finance: The Roles of Private Equity and Debt Markets in the Financial Growth Cycle. Journal of Banking & Finance 22(6–8), 613–673.

Hausmann, R., & Hidalgo, C. (2011). The Network Structure of Economic Output. Journal of Economic Growth 16(4), 309–342.

Koopman, R., Powers, W., Wang, Z., & Wei, S.-J. (2010). Give Credit Where Credit Is Due: Tracing Value Added in Global Production Chains. National Bureau of Economic Research.

Thawornkaiwong, S., Civilize, B., & Khatphitthaya, T. (2011). Growth Management for Thailand: the Role of Infratructure. Working Papers 2011-05, Monetary Policy Group, Bank of Thailand.

The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). (2015). New Approaches to SME and Entrepreneurship Financing: Broadening the Range of Instruments. OECD Publishing.

World Economic Forum. (2014). The Global Competitiveness Report 2014–2015. Geneva: World Economic Forum.


  1. ดัชนี RCA สะท้อนการเปรียบเทียบโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยกับโครงสร้างการส่งออกสินค้าโลก หากดัชนี RCA ของไทยในสินค้ากลุ่มใดมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นต่อการส่งออกรวมสูงกว่าสัดส่วนการค้าสินค้ากลุ่มนั้นต่อมูลค่าการส่งออกรวมของโลก กล่าวคือ ไทย ‘ได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ ในการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว↩
สมประวิณ มันประเสริฐ
สมประวิณ มันประเสริฐ
ธนาคารไทยพาณิขย์
ก้องภพ วงศ์แก้ว
ก้องภพ วงศ์แก้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
Topics: MacroeconomicsInternational Trade
Tags: institutional economicsinternational economicsmacroeconomics
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email