E-Commerce กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

excerpt
บทความนี้สรุปงานวิจัยโดย Sathirathai and Nakavachara (2019) ซึ่งได้ทำการศึกษาข้อมูลผู้ประกอบการที่ใช้ E-Commerce เกือบ 7,000 รายในประเทศไทย พบว่าผู้ประกอบการที่ใช้ E-Commerce มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจาก E-Commerce ช่วยเพิ่มยอดขาย การเติบโตของกำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าการใช้ E-Commerce ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าออกไปนอกภูมิภาคที่ธุรกิจตั้งอยู่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศ
เศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา Google and Temasek (2019) รายงานว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ในปี 2019 มีค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 20251 สำหรับ E-Commerce ปัจจุบันมีผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนในภูมิภาคอาเซียน (เพิ่มขึ้นจากเพียง 49 ล้านคนในปี 2015)
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของ E-Commerce จะเติบโตและมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับภูมิภาคอาเซียน งานศึกษาวิจัยเชิงลึกในด้านนี้ยังมีไม่มากนักเนื่องจากข้อจำกัดทางข้อมูล งานวิจัยชิ้นนี้ได้ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดนี้ โดยคณะผู้วิจัยได้ร่วมมือกับ SEA Group และ Shopee เพื่อเก็บข้อมูลแบบสอบถามเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจและผลกระทบทางเศรษฐกิจของ E-Commerce ในระดับรายผู้ประกอบการของประเทศไทย โดยสามารถเก็บข้อมูลได้ถึงเกือบ 7,000 ราย
คณะผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวนี้ โดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ เพื่อหาผลกระทบของ E-Commerce ต่อรายได้ การเติบโตของกำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศอันเนื่องมาจาก E-Commerce
เนื่องด้วยผู้ประกอบการแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ผู้ประกอบการที่เคยมีธุรกิจแบบ offline มาก่อน แล้วมาเริ่มใช้ E-Commerce ในภายหลัง (Group A – existing SMEs) กับผู้ประกอบการที่เริ่มประกอบธุรกิจแบบ E-Commerce เลย โดยไม่เคยมีธุรกิจแบบ offline มาก่อน (Group B – new entrepreneurs) คณะผู้วิจัยจึงแบ่งแบบสอบถามออกเป็นสองชุด สำหรับชุดแรก (Group A) จะถามถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการ (รายได้ กำไรเติบโต การจ้างงาน ภูมิภาคที่ขายของไปถึง ฯลฯ) ช่วงก่อนและหลังการใช้ E-Commerce เพื่อจะได้เปรียบเทียบได้ว่าการใช้ E-Commerce มีผลกระทบทางเศรษฐกิจกับผู้ประกอบการอย่างไร สำหรับชุดที่สอง (Group B) จะถามถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการช่วงเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยแบบสอบถามทั้งสองชุดจะถามถึงข้อมูลทั่วไปของผู้ประกอบการ เช่น อายุ เพศ การศึกษา การทำงาน ภูมิภาคที่ธุรกิจตั้งอยู่ การเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือน ฯลฯ ด้วย
ตารางที่ 1 แสดงผล summary statistics ของข้อมูลผู้ประกอบการ E-Commerce (Group A vs. Group B) จะเห็นได้ว่า อายุเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้งหมดอยู่ที่ 32.46 ปี โดย 27.9% ของทั้งหมดเป็นผู้ชาย; 45.3% ของทั้งหมดเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว; และ 68.3% มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ผู้ประกอบการ Group A มีอายุมากกว่า Group B นอกจากนี้ Group A ส่วนใหญ่เป็น self-employed ในขณะที่ Group B ทำงานประจำ
คณะผู้วิจัยได้พยายามวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขายของโดยใช้ E-Commerce โดยได้เริ่มจากการรวบรวมคำตอบของผู้ประกอบการว่า ความเปลี่ยนแปลงของรายได้ครัวเรือนเป็นอย่างไรหลังจากเริ่มขายของบน E-Commerce รูปที่ 1 สรุปผลที่ได้ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็น 82.4% ของทั้งประเทศ โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือภาคเหนือ คิดเป็น 86.1% ของผู้ประกอบการในภูมิภาคนั้น
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ เพื่อหาผลกระทบของ E-Commerce ต่อรายได้ การเติบโตของกำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ (คำนวณจากรายได้หารด้วยจำนวนพนักงาน) สำหรับผู้ประกอบการ Group A โดยแยกเป็นกลุ่มตามสัดส่วนของธุรกิจ online เทียบกับธุรกิจทั้งหมด คือ
- กลุ่มที่มีธุรกิจ Online ไม่เกิน 20%
- กลุ่มที่มีธุรกิจ online มากกว่า 20% แต่ไม่เกิน 40%
- กลุ่มที่มีธุรกิจ online มากกว่า 40% แต่ไม่เกิน 60%
- กลุ่มที่มีธุรกิจ online มากกว่า 60% แต่ไม่เกิน 80% และ
- กลุ่มที่มีธุรกิจ online มากกว่า 80%
ตามลำดับ การศึกษาพบว่าการเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจ online ของผู้ประกอบการจะทำให้ รายได้ การเติบโตของกำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ มีค่าเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนของธุรกิจ online มากที่สุด (คือ 80%-100%) มีการเพิ่มขึ้นของรายได้สูงกว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนของธุรกิจ online น้อยที่สุด (คือ 0%-20%) ถึง 280 percentage points
คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศอันเนื่องมาจาก E-Commerce โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายที่ผู้ประกอบการขายของไปถึง ตารางที่ 2 แสดงผลของสัดส่วนของผู้ประกอบการ Group A ในภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ขายของไปนอกภูมิภาคที่ธุรกิจตั้งอยู่ ก่อนและหลังใช้ E-Commerce จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ประกอบการใช้ E-Commerce แล้ว มีการขายของออกไปนอกพื้นที่เพิ่มขึ้นจากทุก ๆ พื้นที่ โดยพื้นที่ยากจน เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการขายออกไปนอกพื้นที่ถึง 44.61 และ 47.83 percentage points นอกจากนี้จำนวนเส้นทางการขาย (trade connections) ของผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคยังเพิ่มขึ้นด้วยหลังจากที่ผู้ประกอบการได้เริ่มใช้ E-Commerce ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการขายสินค้าไปยังหลายพื้นที่มากขึ้น เมื่อได้เข้ามาใช้ E-Commerce
ผลการศึกษาของงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า E-Commerce ช่วยทำให้รายได้ครัวเรือนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น โดยการที่ผู้ประกอบการใช้ E-Commerce มากขึ้นจะทำให้ รายได้ การเติบโตของกำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ มีค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ E-Commerce ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของตลาดภายในประเทศอีกด้วย
ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของงานวิจัยนี้ คือการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จาก E-Commerce มากขึ้น โดยการช่วยลดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ช่วยให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น และช่วยให้มีความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากขึ้น (digital literacy) นอกจากนี้ภาครัฐยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce เช่น การขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ และการจ่ายเงินแบบ online
Google and Temasek. 2019. “E-Conomy SEA 2019 Swipe up and to the right: Southeast Asia’s $100 billion Internet Economy.”
Santitarn Sathirathai and Voraprapa Nakavachara. 2019. “Connecting Locals to Locals: Market Discovery through E-Commerce.” PIER Discussion Paper No. 118.
- มูลค่า Gross Merchandise Value (GMV) รวมของ Online Travel, E-Commerce, Online Media, และ Ride Hailing↩