Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/8bd8b326e70fad8cee88665272ffc8fd/e9a79/cover.png
19 กุมภาพันธ์ 2563
20201582070400000

ความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงานไทย: ภาพจากข้อมูล Labor Force Survey และประกันสังคม

“All of us do not have equal talent, but all of us should have an equal opportunity to develop our talent.” – John F. Kennedy
นฎา วะสีศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยาพรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ชมนาถ นิตตะโย
ความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงานไทย: ภาพจากข้อมูล Labor Force Survey และประกันสังคม
excerpt

งานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศไทย ได้มีข้อสรุปตรงกันว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (World Bank 2016; Kilenthong 2016; UN-ESCAP 2018) ดังแสดงในรูปที่ 1 อย่างไรก็ตามข้อสรุปนี้ค่อนข้างขัดกับความรู้สึกของหลายฝ่าย เนื่องจากประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้างคือ ประเทศไทยนั้น ยัง “รวยกระจุก จนกระจาย” บทความ aBRIDGEd ชิ้นนี้ สรุปจากบทความฉบับเต็มเรื่อง “Labor Income Inequality in Thailand: the Roles of Education, Occupation and Employment History” (Wasi et al., 2019) ซึ่งนำเสนออีกมิติของความแตกต่างด้านรายได้ โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการกระจายตัวของค่าจ้างในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และบทบาทของการศึกษา อาชีพ และประวัติการทำงานต่อค่าจ้าง

รูปที่ 1 แนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศไทย

แนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศไทย

ที่มา: ภาพด้านซ้ายจาก UN-ESCAP (2018) ซึ่งเปรียบเทียบ Gini index ของประเทศต่าง ๆ ในปี 1990 และ 2014 ภาพด้านขวาจาก Kilenthong (2016)

งานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลค่าจ้างรายบุคคลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Labor Force Survey) และข้อมูลของผู้ประกันตนภาคบังคับจากสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ แม้ว่าค่าจ้างจะไม่ใช่รายได้ของครัวเรือนทั้งหมด แต่ค่าจ้างถือเป็นรายได้หลักของครอบครัวส่วนใหญ่และสะท้อนถึงทุนมนุษย์ (human capital) ของแต่ละครัวเรือน การวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างโดยรวมดูมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับงานศึกษาที่ผ่านมาซึ่งใช้รายได้ต่อหัวของครัวเรือนเป็นตัววัด อย่างไรก็ตาม การดูภาพรวมอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอในการเข้าใจโครงสร้างตลาดแรงงานไทยที่เปลี่ยนไป บทความนี้ดูกลไกที่ขับเคลื่อนการกระจายตัวของค่าจ้าง โดยวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างค่าจ้างกับระดับการศึกษาที่เปลี่ยนไป บทบาทของอาชีพต่อค่าจ้าง รวมถึงการเติบโตของค่าจ้างที่ต่างกันของลูกจ้างกลุ่มต่าง ๆ โดยบทความมีข้อสรุปหลัก 4 ข้อ ดังนี้

1. ความเหลื่อมล้ำที่ดูเหมือนจะลดลงนั้น มาจากการที่คนกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีค่าจ้างใกล้กันมากขึ้น

ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานที่จบมัธยมศึกษา (secondary) เข้าใกล้คนที่จบประถมศึกษา (primary) มากขึ้นขณะที่ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างของกลุ่มแรงงานที่สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา (vocational) และปริญญาตรี (college) นั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 2 หากดูที่สัดส่วนของแรงงานตามระดับการศึกษาทางขวา จะเห็นว่าคนที่จบปริญญาตรีนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 17 ของแรงงานทั้งหมด แปลว่ากลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศไทยนั้น ยังมีไม่มากนัก ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ซึ่งมีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีนั้นยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงตามระดับการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงของค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงตามระดับการศึกษา

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจาก Labor Force Survey และคำนวณค่าจ้างเป็นบาทต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จบปริญญาตรีจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ภาพการกระจายตัวของค่าจ้างตามระดับการศึกษาในรูปที่ 3 ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเทียบภาพปัจจุบันทางขวา (ปี 2015–2017) กับภาพเมื่อ 30 ปีที่แล้วทางซ้าย (ปี 1988–1990) การกระจายตัวของค่าจ้างของกลุ่มคนจบปริญญาตรีนั้นมีฐานที่กว้างขึ้น นั่นคือ คนที่จบปริญญาตรีส่วนหนึ่งไม่ได้มีค่าจ้างสูงกว่าคนจบอาชีวศึกษาหรือจบมัธยมศึกษามากนัก ขณะเดียวกัน กลุ่มคนจำนวนน้อย ที่อยู่ตรงหางของการกระจายตัวด้านขวามีค่าจ้างสูงกว่าคนอื่นมาก

รูปที่ 3 การกระจายตัวของค่าจ้างที่แท้จริงตามระดับการศึกษาของแรงงานชาย

การกระจายตัวของค่าจ้างที่แท้จริงตามระดับการศึกษาของแรงงานชาย

หมายเหตุ: แสดงภาพของแรงงานชาย สามารถดูภาพของแรงงานหญิงได้ในบทความวิจัยฉบับเต็มที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจาก Labor Force Survey และคำนวณค่าจ้างเป็นบาทต่อชั่วโมง

2. อาชีพของคนในปัจจุบันดูจะไม่ได้ตรงกับระดับการศึกษานัก หากเทียบกับในอดีต เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การกระจายตัวของค่าจ้างเปลี่ยนไป

รูปที่ 4 แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ภาพซ้าย) คนที่จบปริญญาตรีร้อยละ 80 ทำงานในอาชีพที่ถือว่าเป็นอาชีพทักษะสูง (high skill) เช่น ผู้บริหาร ข้าราชการระดับสูง วิศวกร แพทย์ หรือวิชาชีพต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรี เข้าไปทำงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะระดับกลาง (middle skill) เช่น พนักงานขายสินค้า เลขานุการ พนักงานบริการ มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นฐานการกระจายตัวของค่าจ้างของคนกลุ่มนี้กว้างขึ้น ขณะที่กลุ่มที่จบอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษา เดิมส่วนหนึ่งเคยได้ทำงานกลุ่มทักษะกลางและสูง ปัจจุบันก็ถูกผลักไปทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะ (low skill) เป็นส่วนใหญ่ เช่น งานช่าง แรงงานในโรงงาน หรือภาคเกษตร ค่าจ้างของคนกลุ่มนี้จึงใกล้กับคนจบประถมศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ อีกเหตุผลที่น่าจะทำให้ค่าจ้างของคนจบประถมศึกษา จบมัธยมต้น หรือมัธยมปลายใกล้เคียงกันมากขึ้นน่าจะมาจากการแทรกแซงของรัฐ เช่น นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ

รูปที่ 4 สัดส่วนอาชีพที่ใช้ทักษะระดับต่าง ๆ ตามระดับการศึกษาของแรงงานชาย

สัดส่วนอาชีพที่ใช้ทักษะระดับต่าง ๆ ตามระดับการศึกษาของแรงงานชาย

หมายเหตุ: แสดงภาพของแรงงานชาย สามารถดูภาพของแรงงานหญิงได้ในบทความวิจัยฉบับเต็มที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจาก Labor Force Survey จากแรงงานชายอายุ 25–54 ปี

ทำไมแรงงานไทยถึงไปทำงานในอาชีพที่ดูจะใช้ทักษะต่ำกว่าระดับการศึกษา งานชิ้นนี้ยังไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่เรามีสมมติฐานสามข้อ

  1. อุปสงค์แรงงานไม่ตรงกับอุปทาน ระดับการศึกษาของแรงงานรุ่นหลังสูงขึ้นมาก แต่ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่เติบโตของไทยเป็นภาคการค้า และบริการ ซึ่งไม่ได้ต้องการแรงงานทักษะสูงนัก ประเทศไทยมีการลงทุนทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง การศึกษาภาคบังคับขยายเป็น 6 ปี ในปี 1978 และเพิ่มเป็น 9 ปี ในปี 1999 รวมถึงรัฐสนับสนุนให้เรียนฟรี 12 ปี ส่งผลให้สัดส่วนคนไทยอายุ 25–54 ปีที่จบมัธยมศึกษาและปริญญาตรีนั้นเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ดังแสดงในรูปที่ 5
  2. ระดับการศึกษาไม่ได้สะท้อนถึงทักษะที่แท้จริง คนที่ระดับการศึกษาเท่ากันก็ยังมีทักษะที่หลากหลาย คุณภาพของโรงเรียนไทยหลาย ๆ แห่งอาจจะยังไม่ดีนัก
  3. อาชีพต่าง ๆ ในปัจจุบันอาจต้องการทักษะที่สูงขึ้น เช่น งานเลขานุการ ในอดีตอาจจะต้องการคนที่จดบันทึกและพิมพ์ดีดได้ ในปัจจุบันต้องการคนที่พูดภาษาอังกฤษและใช้คอมพิวเตอร์ได้ จึงต้องไปจ้างคนจบปริญญาตรีมากขึ้น
รูปที่ 5 สัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงอายุ 25–54 ปีตามระดับการศึกษา

สัดส่วนผู้ชายและผู้หญิงอายุ 25–54 ปีตามระดับการศึกษา

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจาก Labor Force Survey สำหรับแรงงานอายุ 25–54 ปี

3. หากดูความสัมพันธ์ระหว่างค่าจ้างและประวัติการทำงาน พบว่าลูกจ้างที่มีค่าจ้างสูงตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดแรงงาน มีการเติบโตของค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นตามประสบการณ์ทำงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกจ้างที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยค่าจ้างที่ต่ำ มักมีลักษณะการเข้าและออกตลาดแรงงานบ่อยครั้ง และค่าจ้างไม่มีการเติบโตมากนักตลอดช่วงชีวิตการทำงาน

คณะผู้วิจัยได้ใช้เทคนิค k-mean clustering มาจัดกลุ่มลูกจ้างในข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมกว่า 5 ล้านราย ตารางที่ 1 แสดงผลจากการติดตามดูกลุ่มลูกจ้างที่อายุ 15–44 ปี ในปี 2002 เป็นระยะเวลา 96 เดือน (8 ปี) ข้อมูลที่นำมาใช้จัดกลุ่มเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงาน เช่น ระยะเวลาที่ลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมภาคบังคับ ระยะเวลาในการทำงานแต่ละงาน พบว่าเราสามารถจัดกลุ่มลูกจ้างเป็น 4 กลุ่ม (cluster) โดยแต่ละกลุ่มถูกตั้งชื่อตามพฤติกรรมที่สังเกตได้

ตารางที่ 1 ลักษณะของแรงงานในแต่ละ cluster จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงาน

ลักษณะของแรงงานในแต่ละ cluster จากข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงาน

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม

กลุ่มแรก Stayers มักจะอยู่ในงานเดิมเป็นระยะเวลานาน โดยมากจะเปลี่ยนงานไม่เกิน 1 ครั้งภายในระยะเวลา 8 ปีและไม่มีช่วงที่ว่างงาน ขณะที่ Movers นั้นมักจะเปลี่ยนงาน 1–3 ครั้งภายใน 8 ปีและมีระยะเวลาการทำงานโดยเฉลี่ยที่ 5 เดือนต่องาน นอกจากนั้น Movers จะมีช่วงที่ว่างงานหรือช่วงที่ออกจากระบบประกันสังคม ส่วนกลุ่ม Seasonal นั้นเป็นแรงงานที่ทำงานเป็นฤดูกาล มักจะมีระยะเวลาการทำงาน 3–7 เดือนแล้วตามด้วยช่วงเวลาที่ว่างงาน 2–8 เดือน และกลุ่มสุดท้าย Shortly Observed เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ปี แม้ว่าแรงงานทั้ง 4 กลุ่มนี้จะนับเป็นแรงงานในระบบ แต่มีเพียงแรงงานกลุ่ม Stayer ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น ที่น่าจะนับเป็นแรงงานในระบบจริง ๆ เนื่องจากกลุ่มอื่นจะมีรูปแบบการทำงานที่เป็นแบบผสมระหว่างภาคเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบ

รูปที่ 6 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่ามัธยฐานของค่าจ้างและอายุของลูกจ้างในแต่ละกลุ่ม สังเกตได้ว่าลูกจ้างกลุ่ม Stayers นั้นมีค่าจ้างที่สูงกว่าอีก 3 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มนั้นยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ เพราะกลุ่ม Stayers นั้นมีค่าจ้างสูงขึ้นเมื่อมีประสบการณ์ในตลาดแรงงานมากขึ้น ขณะที่แรงงานอีก 3 กลุ่ม ซึ่งเริ่มทำงานด้วยค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ และเข้า ๆ ออก ๆ ตลาดแรงงาน แทบจะไม่มีการเติบโตของค่าจ้างหลังจากอายุ 32 ปี

รูปที่ 6 ค่ามัธยฐานของค่าจ้างรายเดือนที่แท้จริงตามอายุและ cluster

ค่ามัธยฐานของค่าจ้างรายเดือนที่แท้จริงตามอายุและ cluster

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม

4. กลไกตลาดแรงงานในปัจจุบันนั้น ช่วยให้คนเก่ง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ คนที่ค่าจ้างสูงเมื่อเปลี่ยนงานก็มักจะได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น หรือสามารถเลือกไปทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าได้ ขณะที่กลุ่มแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำและเข้า ๆ ออก ๆ ตลาดแรงงาน การเปลี่ยนงานหรือขนาดของบริษัทก็ดูจะไม่มีผลต่อการเติบโตของค่าจ้าง

รูปที่ 7 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของค่าจ้างและจำนวนครั้งที่เปลี่ยนงานของกลุ่ม Stayers และ Movers พบว่ากลุ่ม Stayers ที่เปลี่ยนงานบ่อยนั้นมักจะมีค่าจ้างที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าจ้างของกลุ่ม Movers ซึ่งมีช่วงที่ออกไปนอกตลาดแรงงานนั้น ไม่มีการเติบโตของค่าจ้าง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มทักษะระดับต่ำ-กลาง ซึ่งมีอุปทานแรงงานมาก หรือค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้น เพราะการออกไปนอกระบบบางช่วงทำให้ทักษะล้าหลัง นอกจากนี้ หากดูที่ขนาดของบริษัท ดังแสดงในรูปที่ 8 กลุ่ม Stayers ที่ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีค่าจ้างที่เติบโตสูงกว่าคนที่ทำงานในบริษัทที่มีขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน กลุ่ม Movers ไม่ว่าจะทำงานบริษัทขนาดใด ค่าจ้างก็ไม่มีการเติบโตมากนัก

รูปที่ 7 ค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงของลูกจ้างสองกลุ่มตามจำนวนงานที่ทำ

ค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงของลูกจ้างสองกลุ่มตามจำนวนงานที่ทำ

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม โดยใช้กลุ่มลูกจ้างอายุ 25–34 ปี ณ ปี 2002
รูปที่ 8 ค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงของลูกจ้างสองกลุ่มตามขนาดบริษัท

ค่ามัธยฐานของค่าจ้างที่แท้จริงของลูกจ้างสองกลุ่มตามขนาดบริษัท

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม โดยใช้กลุ่มลูกจ้างอายุ 25–34 ปี ณ ปี 2002 หมายเหตุ: ขนาดบริษัทแบ่งตามจำนวนลูกจ้าง

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

แม้ว่างานวิจัยที่ผ่านมาหลายชิ้นสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาในมิติที่ละเอียดขึ้น จะพบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่ดูจะลดลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มคนที่มีค่าจ้างต่ำมีค่าจ้างที่เข้าใกล้กันมากขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างคนที่มีค่าจ้างสูงกับคนที่มีค่าจ้างกลาง ๆ นั้นดูจะกว้างมากขึ้น

เป้าหมายหลักของรัฐคงจะไม่ใช่การพยายามทำให้ทุกคนมีรายได้เท่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญน่าจะเป็นการขจัดปัญหาความยากจน และการลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสที่จะปรับตัวหรือเพิ่มพูนทักษะตามระดับความต้องการในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ปลายเหตุ เช่น การแจกเงิน นั้น แม้จะช่วยบรรเทาความยากลำบาก แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น การพิจารณาที่ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในมิติต่าง ๆ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างและลูกจ้างทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ดีกว่า

เอกสารอ้างอิง

Kilenthong, W. (2016). Finance and Inequality in Thailand. Thailand and the World Economy, 34(3), September-December 2016.

UN-ESCAP. (2018). Inequality in Asia and the Pacific in the Era of the 2030 Agenda for Sustainable Development. https://www.unescap.org/commission/74/files /Inequality-L.pdf

Wasi, N., Paweenawat, S., Ayudhya, C. D. N., Treeratpituk, P., & Nittayo, C. (2019).“Labor Income Inequality in Thailand: the Roles of Education, Occupation and Employment History” (No. 117). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

World Bank (2016). Getting Back on Track: Reviving Growth and Securing Prosperity for All, Bangkok: World Bank Thailand. http://www.worldbank.org/thailand

นฎา วะสี
นฎา วะสี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ธนาคารแห่งประเทศไทย
พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์
พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ชมนาถ นิตตะโย
ชมนาถ นิตตะโย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Labor and Demographic EconomicsEconomics of EducationWelfare Economics
Tags: educational wage differentialslabor income distributionoccupationthailand
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email