เข้าใจลำดับการผิดนัดชำระหนี้ครัวเรือนไทยจากข้อมูลเครดิตบูโร
excerpt
การผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ โดยปกติแล้วเรามักจะคิดว่า หากต้องลำดับการผิดนัดชำระหนี้ ลูกหนี้ควรจะรักษาสินเชื่อบ้านและเลือกที่จะผิดนัดสินเชื่ออื่น ๆ ก่อน เนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศกลับพบว่า มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่เลือกจะหยุดชำระสินเชื่อบ้าน ในขณะที่ยังคงชำระสินเชื่อบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยโดย Saengchote and Samphantharak (2020) ได้ศึกษาพฤติกรรมการผิดนัดชำระหนี้ในบริบทของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลตัวอย่างเชิงสถิติรายเดือนในระดับบัญชีจากเครดิตบูโร (National Credit Bureau: NCB) ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2561 โดยเจาะจงไปยังผู้กู้ที่มีทั้งสินเชื่อบ้าน (housing) และสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งรูปแบบเงินก้อนและวงเงิน (non-housing) และวิเคราะห์การลำดับการผิดนัดชำระหนี้ว่าเกิดที่สินเชื่อประเภทใดก่อน ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงและเหตุผลของลำดับในการผิดนัดชำระหนี้ อันมีนัยต่อนโยบายด้านการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
Saengchote and Samphantharak (2020) วิเคราะห์ข้อมูลตัวอย่างเชิงสถิติรายเดือนในระดับบัญชีจาก National Credit Bureau (NCB) ของผู้กู้ที่สุ่มมา 1 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2561 พบว่ามีเพียงร้อยละ 9.4 เท่านั้นที่มีสินเชื่อทั้งสินเชื่อบ้าน (housing) และสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งรูปแบบเงินก้อนและวงเงิน (non-housing) แต่ผู้ที่มีสินเชื่อทั้งสองประเภทนี้คิดเป็นถึงร้อยละ 73 ของผู้มีสินเชื่อบ้านทั้งหมดในกลุ่มตัวอย่าง
ในกลุ่มตัวอย่างผู้กู้ที่มีสินเชื่อทั้ง housing และ non-housing ประมาณร้อยละ 10.1 มีการผิดนัดชำระหนี้อย่างน้อยหนึ่งประเภท แบ่งเป็นผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกันร้อยละ 1.3 ผู้ผิดนัดเพียงสินเชื่อ non-housing ร้อยละ 6 และผู้ผิดนัดเพียงสินเชื่อบ้านร้อยละ 2.8 ทั้งนี้ การติดตามดูข้อมูลผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทอาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะความตึงตัวทางการเงินได้ เนื่องจากเหตุผลสำคัญประการหนึ่งน่าจะมาจากการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดย รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนของผู้ผิดนัดชำระหนี้ที่ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์เฉพาะผู้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งก่อนเท่านั้น โดยไม่รวมผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกัน1 ซึ่งลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อบ้านก่อนคิดเป็นร้อยละ 30 ของลูกหนี้กลุ่มนี้
ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงิน เราสามารถแบ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผิดนัดชำระหนี้ออกได้เป็น 3 ช่องทาง ได้แก่
ความสามารถในการชำระหนี้ (affordability channel) ซึ่งมักวิเคราะห์ด้วยการเปรียบเทียบจำนวนเงินผ่อนในแต่ละงวดของหนี้ในแต่ละประเภท ซึ่งในทางทฤษฎีคาดการณ์ได้ว่า ผู้กู้จะหยุดชำระหนี้ที่เป็นภาระที่สูงกว่าก่อน
สภาพคล่อง (liquidity channel) ซึ่งวัดจากวงเงินที่เหลืออยู่ที่สามารถเบิกได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ในทางหนึ่ง ผู้กู้ที่มีวงเงินเหลือเยอะอาจจะยอมให้ยึดบ้านเพื่อรักษาวงเงินเอาไว้ก่อน เนื่องจากเมื่อมีหนี้เสียแล้ว การจะขอเปิดวงเงินใหม่ในอนาคตย่อมเป็นเรื่องยาก ในทางกลับกัน ผู้กู้อาจเอาวงเงินที่เหลือนั้นมาใช้ชำระสินเชื่อบ้านแทนก็ได้ ซึ่งผลคาดการณ์ก็จะตรงกันข้าม ดังนั้น ในทางทฤษฎี ลำดับของการผิดนัดชำระหนี้ผ่านช่องทางสภาพคล่องจึงไม่แน่ชัด
ความเป็นเจ้าของในบ้าน (housing equity channel) ซึ่งวัดจากส่วนต่างของมูลค่าบ้านและมูลหนี้ของสินเชื่อบ้าน มีผลคาดการณ์ว่าผู้กู้ที่ได้ผ่อนเงินต้นมามากแล้ว ย่อมมีความเป็นเจ้าของมาก การถูกยึดบ้านไปจึงมีความเสียหายสูงกว่า ส่วนคนที่มูลค่าบ้านต่ำกว่ามูลหนี้ (negative equity) หากเป็นสินเชื่อที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย ก็อาจจงใจทิ้งบ้านเพื่อล้างหนี้ได้ ซึ่งในต่างประเทศมักเรียกว่า strategic default2
ทั้งนี้ เราอาจเรียกช่องทางแรกว่าเป็น ability to pay ส่วนช่องทางที่สองและสามว่าเป็น willingness to pay ก็ได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ เราได้ทดสอบอิทธิพลของทั้ง 3 ช่องทางต่อแนวโน้มที่จะเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านแทนการหยุดชำระสินเชื่อ non-housing
ในงานวิจัยนี้ เราวิเคราะห์เฉพาะผู้ที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อประเภทใดประเภทหนึ่งก่อนเท่านั้น ไม่รวมผู้ผิดนัดทั้งสองประเภทพร้อมกัน ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนในช่วง 2010–2018 คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสาม ตามรูปที่ 2 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสัดส่วนนี้มีค่าประมาณร้อยละ 35 ในปี 2008 โดยผู้วิจัยอธิบายว่าน่าจะเป็นเพราะผู้กู้ต้องการที่จะรักษาวงเงินบัตรเครดิตไว้จับจ่ายใช้สอย เนื่องจากสินเชื่อบ้านในสหรัฐอเมริกามักจะเป็นสินเชื่อที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย (non-recourse) ในกรณีที่ผู้ให้กู้ยึดบ้านมาขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ต้องยอมความกันเท่านั้น จึงทำให้การทิ้งสินเชื่อบ้านแล้วรักษาวงเงินไว้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่าสำหรับผู้กู้ (Andersson et al. 2013 และ Cohen-Cole and Morse 2010) ในบริบทของประเทศไทยที่สุดท้ายแล้วเจ้าหนี้สามารถไล่เบี้ยสินเชื่อบ้านได้ เหตุผลหนึ่งที่ผู้กู้ยอมเลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนอาจจะเป็นเพราะเมื่อผิดนัดชำระ แม้จะโดนยึดบ้านแล้ว ผู้กู้ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ต่อโดยที่หยุดชำระจนกระทั่งกระบวนการยึดทรัพย์สำเร็จ
ข้อมูลค่าเฉลี่ยของผู้ผิดนัดชำระหนี้ในตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่าผู้ผิดนัดทั้ง housing และ non-housing พร้อมกันมีปริมาณหนี้มากกว่า มีวงเงินเหลือน้อยกว่า และมีอายุของสินเชื่อบ้าน ณ วันผิดนัดชำระหนี้ น้อยกว่า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนกลุ่มที่หยุดชำระสินเชื่อ non-housing ก่อน ก็มีภาระผ่อนชำระสินเชื่อประเภทนั้นสูงกว่าด้วย แม้ว่าจะมีวงเงินเหลือมากกว่าก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าวงเงินที่เหลืออยู่ต่ำมาก ไม่ถึง 1 หมื่นบาทในทุกกรณี บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัวของทุกกลุ่ม
เราใช้แบบจำลอง logistic regression เพื่อวิเคราะห์บทบาทของแต่ละช่องทาง พบว่า affordability channel (วัดโดยอัตราส่วนระหว่างเงินงวดสินเชื่อบ้านรายเดือน หารด้วยผลรวมของเงินงวดรายเดือนและเงินผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อ non-housing) มีผลอย่างมาก ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์จากทฤษฎี และ housing equity channel (วัดโดยเงินต้นของสินเชื่อบ้านที่ได้ผ่อนไปแล้ว) ส่งผลให้ผู้กู้เลือกที่จะไม่หยุดชำระสินเชื่อบ้าน ในขณะที่ liquidity channel (วัดจากวงเงินที่เหลือ) ไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะมาจากการที่วงเงินที่เหลืออยู่มีน้อยมาก ค่าเฉลี่ยไม่ถึง 1 หมื่นบาท จึงทำให้ไม่มีผลต่อการตัดสินใจมากนัก ในทางกลับกัน ระยะเวลาที่เจ้าหนี้ต้องใช้ในการดำเนินคดีเพื่อยึดบ้าน ก็อาจพิจารณาว่าเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้กู้ได้เหมือนกัน แต่เป็นการเสริมที่ให้ประโยชน์กับสินเชื่อ non-housing
บทเรียนที่สำคัญของการวิเคราะห์นี้คือบทบาทของ housing equity ซึ่งสะท้อนความเป็นเจ้าของในบ้านต่อการตัดสินใจ ผู้กู้ที่มีความเป็นเจ้าของในบ้านมากกว่า (คือได้ผ่อนเงินต้นมาเยอะแล้ว จะเรียกว่าหนี้ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันต่ำก็ได้) มีแนวโน้มที่จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ เพราะมี willingness to pay มากกว่า
งานวิจัยของ Campbell et al. (2011) พบว่าบ้านที่ยึดแล้วขายทอดตลาดมักจะมีราคาต่ำกว่าทั่วไป และสามารถส่งผลในทางลบต่อราคาบ้านในละแวกรอบ ๆ ได้ อันอาจก่อให้เกิดวงจรเชิงลบเป็นทอด ๆ ได้ ดังนั้นสินเชื่อบ้านจึงมักได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพทางของระบบการเงิน มาตรการดูแลอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value ratio หรือ LTV ratio) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ LTV ratio ที่สูงหมายถึงความเป็นเจ้าของที่ต่ำนั่นเอง
ข้อมูลรายบัญชีที่กู้ทำให้เราสามารถแยกหมวดผู้กู้ตามพฤติกรรมการมีสินเชื่อบ้านได้ ซึ่งเราแยกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก ดังนี้
- กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านเพียงสัญญาเดียว
- กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญา ซึ่งอาจเป็นการเพิ่ม LTV ratio หากเป็นการกู้เงินจากการกู้สองสัญญาบนหลักทรัพย์เดียวกัน โดยสัญญาแรกมี LTV ratio มาตรฐาน และสัญญาที่สองเป็นสัญญาพ่วง ซึ่งในการศึกษานี้ เราเรียกสัญญาที่มีลักษณะนี้ว่ากลุ่มสินเชื่อ LTV สูง
- กลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญาเพื่อซื้อหลายทรัพย์ เราเรียกว่ากลุ่มนักลงทุน
เราพบว่าผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญา (ทั้งกลุ่ม 2 และ 3) มีแนวโน้มที่จะหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน เมื่อเทียบผู้กู้ที่มีเพียงสัญญาเดียว (กลุ่ม 1) แต่ระหว่างกลุ่มสินเชื่อ LTV สูงกับกลุ่มนักลงทุน แนวโน้มในการหยุดชำระสินเชื่อบ้านไม่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ หากจำกัดคนในกลุ่มที่ 2 ให้มีสินเชื่อบ้าน 2 สัญญาเท่านั้น มีแนวโน้มว่าคนเหล่านั้นจริง ๆ แล้วมีสินเชื่อเพียงก้อนเดียว เมื่อนำคนกลุ่มนี้มาเทียบกับกลุ่มที่ 1 พบว่ากลุ่มสินเชื่อ LTV สูงมีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ซึ่งเป็นการย้ำถึงบทบาทของ LTV ratio ต่อพฤติกรรมของผู้กู้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เราพบว่าผู้กู้ที่มีอายุสินเชื่อสูงมีแนวโน้มหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์นั้นได้คำนึงผลของ housing equity แล้ว ผลการศึกษานี้อาจดูไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อผ่อนมานานกว่า ผู้กู้น่าจะมี housing equity มากกว่าด้วย คำอธิบายประการหนึ่งที่เป็นไปได้คือ อายุของสินเชื่อมีความเชื่อมโยงกับการ refinance สินเชื่อ
โดยทั่วไปแล้วประโยชน์ของการ refinance มักจะมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นบริบทในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านมักคงที่ แต่ในบริบทของประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านมักเป็นอัตราลอยตัว ซึ่งผู้กู้จะได้รับประโยชน์จากการลดของดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม การ refinance ก็อาจลดภาระของผู้กู้ได้จากช่องทางอื่น ๆ เช่น การได้คำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่ (reprice) เมื่อหลักประกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประกอบกับมูลหนี้ที่ลดลง ทำให้ LTV ratio ลดลง ความเสี่ยงลดลง และอัตราดอกเบี้ยลดลง นอกจากนี้ การหยุดชำระสินเชื่อบ้านอาจเกิดจากประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นที่มักจะมีในช่วงปีแรก ๆ ของสัญญาหมดลงในระยะต่อมาอีกด้วย
ในงานวิจัยนี้เราพบว่าผู้กู้ที่มีทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อ non-housing มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน แต่ยังชำระสินเชื่อ non-housing ต่อไป โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีทั้งเรื่อง ability to pay และ willingness to pay บทเรียนที่สำคัญของงานวิจัยนี้ คือ อิทธิพลของ willingness to pay ที่สะท้อนใน LTV ratio กับการตัดสินใจ “เลือก” หนี้ของผู้ที่กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ และพฤติกรรมของกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อบ้านหลายสัญญารวมถึงกลุ่มสินเชื่อ LTV สูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อน ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ควรพิจารณาในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน
Andersson, F., Chomsisengphet, S., Glennon, D., & Li, F. (2013). The changing pecking order of consumer defaults. Journal of Money, Credit and Banking,45(2‐3), 251–275.
Campbell, J. Y., Giglio, S., & Pathak, P. (2011). Forced sales and house prices. American Economic Review, 101(5), 2108–31.
Cohen-Cole, E., & Morse, J. (2010). Your house or your credit card, which would you choose? Personal delinquency tradeoffs and precautionary liquidity motives. Unpublished Working Paper.
Saengchote, Kanis & Krislert Samphantharak (2020). Delinquency Priority in Consumer Credit: Evidence from Thai Microdata, PIER Discussion Paper no.135.
ข้อสงวน
บทความ บทวิเคราะห์ หรือบทวิจัยนี้ จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จัดทำโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิติของข้อมูลเศรษฐกิจการเงินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดไม่ยืนยันและไม่รับรองถึงความครบถ้วนสมบูรณ์หรือถูกต้องของข้อมูลจึงไม่รับผิดชอบต่อการนำเอาข้อมูล ข้อความ ความเห็น หรือบทสรุปที่กฎในรายงานฉบับนี้ไปใช้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่กฎในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ทำซ้ำดัดแปลงนำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นการล่วงหน้า
นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ บทวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด และต้องอ้างอิงถึงฉบับที่และวันที่ในเอกสารฉบับนี้ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด โดยชัดแจ้ง
- ในการศึกษานี้ เรานิยามว่ามีการผิดนัดชำระหนี้พร้อมกันหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ทั้ง housing และ non-housing ภายในระยะเวลา 3 เดือน↩
- สินเชื่อบ้านในประเทศไทยนั้น ถึงแม้จะทำนิติกรรมเป็นสัญญาจำนองที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 กำหนดไว้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไล่เบี้ย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าหนี้มักให้ค้ำประกันในสัญญาเงินกู้ด้วย ทำให้ strategic default ไม่น่าจะเป็นประเด็น↩