การค้นหาและบริโภคเพลงในยุคดิจิทัล: กรณีของ Last.fm

excerpt
อุตสาหกรรมดนตรีนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถที่จะเข้าถึงเพลงได้จำนวนมหาศาลผ่านอินเทอร์เน็ต คำถามที่สำคัญคือ ผู้คนจะสามารถค้นหาเพลงที่ชอบและอยากฟังได้อย่างไร และปัญหานี้ก็ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วย Charoenpanich and Aaltonen (2015) ได้ศึกษาถึงแนวทางการค้นหาเพลงแบบใหม่ว่าจะสามารถช่วยทำให้ผู้ฟังเพลงสามารถค้นพบเพลงที่ชอบได้จริงหรือไม่ โดยใช้ Last.fm เป็นกรณีศึกษา
งานชิ้นนี้วิเคราะห์แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์สำหรับการค้นหาและบริโภคเพลงของ Last.fm ซึ่งเป็นบริษัท Start-up ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2002 และ Last.fm ก็ทำหน้าที่เหมือน ๆ กับแพลตฟอร์มการฟังเพลงอื่น ๆ เช่น Joox, Spotify และ Apple Music เชื่อมต่อผู้ฟังเข้ากับเพลง บทความนี้จะวิเคราะห์สถาปัตยกรรมสารสนเทศ (information architecture) ของ Last.fm ซึ่งช่วยทำให้ผู้ฟังสามารถที่จะหาเพลงที่พวกเขาอยากฟังได้เจอ ในกรณีที่เพลงที่ผู้ฟังสามารถเลือกที่จะบริโภคได้นั้นมีจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม Last.fm มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มการฟังเพลงอื่น ๆ ตรงที่ว่าสถาปัตยกรรมสารสนเทศของ Last.fm ถูกสร้างขึ้นโดยข้อมูลจากผู้ฟังเป็นหลัก และมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รูปที่ 1 แสดงแผนภูมิโครงสร้างสถาปัตยกรรมของ Last.fm ที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังเพลงสามารถดาวน์โหลด Plugin ที่สามารถใช้กับแพลตฟอร์มการฟังเพลงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Spotify, YouTube, iTune และ Winamp ขณะที่ผู้ฟังฟังเพลงบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น ก็จะส่งชื่อเพลงและชื่อศิลปินที่กำลังฟังอยู่ให้กับ Last.fm ผ่าน Application Programming Interface (API) และ Last.fm ก็จะสร้างหน้าโพรไฟล์สำหรับศิลปินนั้น ๆ ขึ้นมาให้เป็นระบบ เพื่อบันทึก playcount หรือจำนวนครั้งที่แต่ละเพลงของศิลปินนั้น ๆ ถูกฟัง
ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มก็จะสร้างหน้าโพรไฟล์ของผู้ฟังเพลงขึ้นมาด้วย เป็นการบันทึกว่าผู้ฟังเพลงฟังเพลงอะไรของศิลปินคนไหน มากไปกว่านั้น ผู้ฟังเพลงสามารถที่จะ tag ศิลปินและเพลงต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย โดยจะ Tag เป็นคำอะไรก็ได้ โดยอาจเกี่ยวกับชนิดของเพลง ประเภทของเพลง หรืออารมณ์ของเพลง ในลักษณะนี้ Last.fm จะใช้ทั้งข้อมูล playcount และ tag เพื่อสร้างคะแนนความเหมือนระหว่างศิลปิน (similarity score) ในการคัดแยก และรวมกลุ่มศิลปินต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน Last.fm ได้ใช้คะแนนความเหมือนเพื่อแนะนำศิลปินใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ฟังด้วย โดยหลักการนี้ Last.fm ทำงานเหมือนระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติทั่วไป (recommender system) โดยระบบจะแนะนำศิลปินใหม่ ๆ ที่เหมือนกับศิลปินเก่าที่ผู้ฟังชอบและฟังบ่อย ๆ
รูปที่ 2 แสดงคะแนนค่าความเหมือนระหว่างศิลปินวง Coldplay กับกลุ่มอื่น ๆ (รวมศิลปินเดี่ยว) จะเห็นได้ว่า Last.fm ระบุว่าวง Kaene วง OneRepublic และวง Imagine Dragons มีความเหมือนกับวง Coldplay ในระดับ “super similarity” ขณะที่ James Blunt และวง The Killers มีความเหมือนกับวง Coldplay ในระดับ “very high similarity”
โดยปกติระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติจะใช้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว (ในกรณีนี้คือ playcount) เพื่อคำนวณคะแนนความเหมือน แต่ Last.fm พบว่าจะใช้ข้อมูล playcount เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ระบบของ Last.fm คำนวณว่าศิลปินคนละประเภท (genre) มีความคล้ายกัน ดังนั้น Last.fm จึงได้ใช้ข้อมูล tag ควบคู่ไปกับข้อมูล playcount เพื่อที่จะคำนวณคะแนนความเหมือนด้วย
รูปที่ 3 แสดงศิลปินที่ระบบ Last.fm แนะนำให้ตัวผู้เขียน โดยระบบ Last.fm แนะนำวง ETC. ให้ผู้เขียนเป็นอันดับแรก ขณะที่ผู้เขียนได้ฟังเพลงของวง ETC. ไปเพียงไม่กี่ครั้ง เพราะวง ETC. มีความคล้ายคลึงกับศิลปินที่ผู้เขียนฟังบ่อย ๆ ซึ่งกลุ่มนั้นคือวง Crescendo ที่ผู้เขียนฟังไปถึง 58 ครั้ง
ปัญหาสำคัญที่ Last.fm ประสบคือชื่อของศิลปินและชื่อเพลงที่ผู้ฟังส่งมาให้ระบบ Last.fm ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแพลตฟอร์มการฟังเพลงแต่ละแพลตฟอร์มใช้มาตรฐานต่างกันในการตั้งชื่อศิลปินและชื่อเพลง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้ฟังเพลงฟังจาก mp3 บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ผู้ฟังจะปรับชื่อศิลปินและชื่อเพลงได้ตามความต้องการ โดยการเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกเก็บบน ID3 Tag1
ความไม่สอดคล้องเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับ Last.fm เนื่องจากมนุษย์สามารถจัดการกับความไม่สอดคล้องกันนี้ได้โดยง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับระบบคอมพิวเตอร์ ที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อผู้ฟังเพลงบางกลุ่มเขียนชื่อศิลปินเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่ผู้ฟังเพลงบางกลุ่มเขียนชื่อศิลปินเป็นภาษาไทย playcount ที่เกิดจากผู้ฟังเพลงสองกลุ่มนี้ ไม่สามารถเอามารวมกันได้
Last.fm จึงได้สร้างระบบ autocorrection system ขึ้น โดยผู้ที่ฟังเพลงบนคอมพิวเตอร์ของตนเองต้องส่งชื่อศิลปินและชื่อเพลงที่ฟังมาพร้อมกับ audio fingerprint2 ให้ทาง Last.fm โดยที่ audio fingerprint นั้น ทำหน้าที่เป็น unique identifier ของแต่ละเพลง เหมือนลายนิ้วมือของเพลงที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลเสียงเพลงนั้น ๆ เป็นผลให้ Last.fm สามารถรวบรวมชื่อศิลปินและชื่อเพลงที่ไม่มีความสอดคล้องกันได้อย่างง่ายดาย และยังสามารถตัดสินใจเลือกชื่อศิลปินและชื่อเพลงเพียงชื่อเดียวจากหลาย ๆ ชื่อที่ไม่มีความสอดคล้องมาใช้เป็นมาตรฐานในระบบ Last.fm ได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า audio fingerprint ที่ Last.fm สร้างขึ้นมานี้ ทำให้ข้อมูลมีคุณภาพดีขึ้น และทำให้งานที่ยุ่งยากและดูเหมือนไม่มีวันเสร็จสิ้น สามารถสร้างความลงตัวขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
แพลตฟอร์ม Last.fm นี้ ยังได้สร้างประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยใช้ตัวเองเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ช่วยเหลือให้ผู้ฟังเพลงได้มีโอกาสพูดคุยและส่งคำขอเป็นเพื่อนกันได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้สามารถคุยเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสนใจเหมือนกันโดยการดูข้อมูล playcount ของกันและกัน ดังรูปที่ 4
สรุปได้ว่า Last.fm เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ประโยชน์กับผู้ฟังเพลง ทำให้ผู้ฟังเพลงสามารถค้นหาและบริโภคเพลงด้วยปัจจัย 4 ประการ คือ
ระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติ ที่ Last.fm สร้างขึ้นจากข้อมูลของผู้ฟังเพลง ที่แสดงออกมาในข้อมูล playcount และข้อมูล tag โดยเลือกแนะนำศิลปินที่ผู้ฟังไม่เคยฟังหรือไม่คุ้นชิน แต่มีลักษณะของเพลงหรือของศิลปินที่คล้ายกับเพลงที่ผู้ฟังเคยฟังบ่อย ๆ ระบบที่ Last.fm ใช้นี้เรียกว่า collaborative filtering recommender system หรือระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยข้อมูลจากผู้ใช้เป็นหลัก ซึ่งในที่นี้คือการสร้างจากข้อมูลของผู้ฟังเพลง วิธีการนี้แตกต่างจาก content-based recommender system หรือระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยข้อมูลของสินค้าเป็นหลัก ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในแพลตฟอร์มการค้นหาเพลงที่มีชื่อว่า Pandora ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบนี้สร้างความเหมือนจากลักษณะของเพลงและศิลปินโดยตรง เช่น ความเร็วของเพลง เพศของนักร้องนำ และเครื่องดนตรีที่ใช้
คุณภาพของข้อมูล อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ข้อมูลในอุตสาหกรรมดนตรีนั้นมีปัญหามาก เนื่องจากความสับสนเมื่อผู้ฟังเพลงเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเพลง (metadata) เช่น ชื่อเพลง และชื่อศิลปิน ด้วยการปรับแก้ ID3 Tag ซึ่งปัญหานี้ Last.fm ได้แก้ไขโดยการสร้าง autocorrection system แต่ก็ยังมิอาจแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาของข้อมูลในลักษณะนี้จึงยังเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมดนตรีต่อไป ตราบใดที่ไม่มีองค์กรดูแล metadata ของอุตสาหกรรมดนตรีแบบรวมศูนย์ ซึ่งการรวมศูนย์นั้นคงทำได้ยากมาก เพราะจำนวนเพลงที่ถูกผลิตมาในแต่ละปีทั่วโลกนั้นมีจำนวนมหาศาล
สื่อสังคมออนไลน์ ผู้ฟังเพลงสามารถที่จะทำความรู้จักกันได้บน Last.fm และยังสามารถเรียนรู้รสนิยมในการฟังเพลงซึ่งกันและกันได้ ด้วยการดูข้อมูลการฟังเพลงของเพื่อนและลองฟังตามดู ข้อเสียของระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติคือระบบจะแนะนำเพลงที่มีความเหมือนกับเพลงที่ผู้ฟังเพลงเคยฟังมาก่อนแล้ว ซึ่งไม่มีความแปลกใหม่ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ควบคู่ไปกับระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติบน Last.fm สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติแบบเก่าได้ เพราะข้อมูลการฟังเพลงของแต่ละคนจะมีความหลากหลายมากกว่าเพลงที่ถูกแนะนำโดยระบบอัตโนมัติ
ปริมาณของข้อมูล จะเห็นได้ว่า Last.fm สามารถที่จะดำเนินการอยู่ได้เพราะปริมาณข้อมูลจากผู้ฟังเพลงที่ส่งมาให้ หากมีเพลงใหม่ถูกปล่อยออกมา แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเพลงใหม่ ๆ นั้นอยู่ในระบบ Last.fm (เนื่องจากผู้ฟังเพลงไม่ส่งข้อมูลมาให้) ผู้ฟังเพลงอื่น ๆ จะไม่สามารถค้นหาเพลงนั้นได้ และ Last.fm ก็จะไม่สามารถแนะนำเพลงนั้น ๆ ได้ จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ผู้ฟังเพลงส่งไปให้แพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เป็นลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
รูปที่ 5 แสดงให้เห็นกรอบความคิดเรื่องการค้นหาและการบริโภคเพลงบน Last.fm น่าจะมีสมมุติฐานดังต่อไปนี้:
- การค้นหาเพลงที่ผู้ฟังชอบได้ง่าย ๆ จะทำให้ผู้ฟังบริโภคเพลงมากขึ้น (H1)
- การใช้สื่อสังคมออนไลน์ใน Last.fm ที่เลือกเพลงมาเป็นกิจกรรมทางสังคม จะทำให้ผู้ฟังบริโภคเพลงมากขึ้น (H2)
- การใช้ระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้ผู้ฟังสามารถค้นหาเพลงได้ง่ายขึ้น (H3)
- การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้ฟังสามารถค้นหาเพลงได้ง่ายขึ้น (H4)
- การที่คุณภาพข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ฟังสามารถค้นหาเพลงได้ง่ายขึ้น (H5)
รูปที่ 6 แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของผู้ฟังเพลงทั้งหมดของ Last.fm จำแนกตามปีที่ผู้ฟังเพลงเริ่มใช้ Last.fm โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ถึงต้นปี ค.ศ. 2009 ที่ผู้ฟังเพลงสามารถฟังเพลงจาก Last.fm ได้โดยตรงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายนี้ทำให้จำนวนผู้ฟังเพลงของ Last.fm เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจาก Last.fm ได้ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อมุ่งเน้นการค้นหาเพลงอย่างเดียวแทน (ผู้ฟังเพลงต้องเสียค่าใช้จ่ายหากฟังเพลงผ่าน Last.fm โดยตรง) เป็นผลให้ฐานของผู้ฟังเพลง Last.fm เติบโตในอัตราที่ลดลงทันที ซึ่งเป็นผลโดยตรง ทำให้อัตราการเติบโตของข้อมูลที่ Last.fm เก็บได้ลดลงไปด้วย ดังนั้น Charoenpanich and Aaltonen (2015) จึงได้ประมาณการโมเดลในรูปที่ 5 สองครั้ง สำหรับทั้งข้อมูลในช่วงปีก่อนหน้า ค.ศ. 2009 ที่ให้ฟังเพลงฟรี และหลังจากที่ต้องจ่ายเงิน เพื่อประเมินผลกระทบของการเติบโตของข้อมูลต่อการค้นหาและการบริโภคเพลงดังจะกล่าวในส่วนต่อไป
ผู้ฟังเพลงของ Last.fm ทุกคนจะมี unique identifier ซึ่งเป็นชุดตัวเลขผูกติดไว้กับบัญชีของผู้ฟัง Charoenpanich and Aaltonen (2015) ได้ใช้ rejection sampling เพื่อรวบรวมกลุ่มตัวอย่างผู้ฟังเพลง ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ฟังเพลงทั้งหมดใน Last.fm (representative sample) โดยได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ฟังเพลงจำนวน 12,839 ราย และได้รวบรวมเอาข้อมูลจากผู้ฟังเพลงแต่ละรายจาก application programming Interface ของ Last.fm ได้แก่
- ข้อมูลการฟังเพลงทั้งหมด
- ข้อมูลเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์
- ข้อมูลการแก้ metadata ของเพลง โดยระบบ autocorrection system
- รายชื่อของศิลปินที่มีความเหมือนกับศิลปินที่ผู้ฟังเพลงในกลุ่มตัวอย่างบริโภค
การเก็บข้อมูลสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2014 ผู้ฟังเพลงในกลุ่มตัวอย่างได้ฟังเพลงไปจำนวน 18,804,444 ครั้ง จากศิลปินจำนวน 221,615 ศิลปิน ข้อมูลที่ได้ถูกนำมารวบรวมและจัดสร้างเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการประมาณการในโมเดลในรูปที่ 5 ดังต่อไปนี้
- การบริโภคเพลง วัดจากจำนวนเพลงที่ฟังในแต่ละปี
- การค้นหาเพลง วัดจากการกระจุกตัวของเพลงจากศิลปินต่าง ๆ ในแต่ละปี ยิ่งผู้ฟังเพลงสามารถค้นหาเพลงที่ชอบได้มากขึ้นเท่าใด การกระจุกตัวของศิลปินในข้อมูลนั้นจะยิ่งเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าผู้ฟังเพลงได้ฟังเพลงของศิลปินคนหนึ่งแล้วชอบ ผู้ฟังเพลงก็จะหาเพลงของศิลปินคนนั้นมาฟังมากขึ้น ทำให้มีการกระจุกตัวยิ่งขึ้น
- การใช้ระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติ วัดโดยความเหมือนของศิลปินที่ผู้ฟังเพลงบริโภค เทียบกับศิลปินที่ผู้ฟังได้บริโภคมาก่อน การที่ความเหมือนเพิ่มขึ้นบ่งบอกถึงการใช้ระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติ เนื่องจากระบบแนะนำเพลงอัตโนมัตินี้จะแนะนำเพลงจากศิลปินที่เหมือนกับศิลปินที่ผู้ฟังเพลงบริโภคอยู่แล้ว
- คุณภาพของข้อมูล วัดจากจำนวนชื่อของศิลปินที่ผู้ฟังเพลงบริโภค และได้แก้ให้ถูกต้องโดยระบบ autocorrection system
- การใช้สื่อสังคมออนไลน์ วัดจากจำนวนเพื่อนที่ผู้ฟังเพลงมีใน Last.fm
Charoenpanich and Aaltonen (2015) ได้ใช้ฐานข้อมูลที่กล่าวมาแล้วเพื่อที่จะประมาณการโมเดลในรูปที่ 5 ด้วยวิธี pooled panel-data regression โดยได้ทำการประมาณการโมเดลในช่วงก่อนและหลัง ค.ศ. 2009 เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณข้อมูลที่แพลตฟอร์มสามารถเก็บได้ อันเนื่องมาจากการที่ Last.fm เปลี่ยนแปลงนโยบายการฟังเพลง ผลของการวิเคราะห์สนับสนุนสมมุติฐานที่ 1 ถึง 5 ที่ได้กล่าวมาแล้ว และยังได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าปริมาณของข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยทำให้ผู้ฟังเพลงสามารถค้นหาและบริโภคเพลงด้วย รูปที่ 7 เปรียบเทียบผลจากปัจจัยต่าง ๆ ต่อการบริโภคเพลงบน Last.fm จะเห็นว่าการที่ผู้ฟังเพลงใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพดีขึ้น และใช้ระบบแนะนำเพลงอัตโนมัติหรือสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นจะทำให้ผู้ฟังเพลงบริโภคเพลงมากขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นดูเหมือนน้อยเมื่อเทียบกับการลดลงของการบริโภคเพลงเมื่อ Last.fm เปลี่ยนแปลงนโยบายการฟังเพลง ทำให้ปริมาณข้อมูลที่ Last.fm สามารถที่จะเก็บได้เติบโตช้าลง สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่า ถึงแม้ว่าการค้นหาและบริโภคเพลงแบบใหม่จะสร้างคุณค่า แต่ก็เป็นคุณค่าที่ด้อยกว่าความสามารถที่จะฟังเพลงได้ฟรี หรือคุณค่าที่มาจากปริมาณของข้อมูล
Charoenpanich and Aaltonen (2015) ได้ตีแผ่ความสำคัญของการวิเคราะห์สถาปัตยกรรมสารสนเทศแบบองค์รวมเพื่อหาปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้ค้นหาเนื้อหาที่สนใจได้พบ การใช้ระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติ (ในกรณีของ Last.fm คือ เพลง) ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ผู้ใช้เจอเนื้อหาที่พอใจตลอดเวลา เพราะระบบแนะนำสินค้าอัตโนมัติจะแนะนำสินค้าที่เหมือนกับสินค้าที่ผู้ใช้เคยใช้อยู่แล้ว ผู้ใช้จึงอาจรู้สึกว่าสินค้าที่ถูกแนะนำไม่มีความแปลกใหม่ ที่สำคัญมากที่สุดคือข้อมูล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่จัดเรียงเนื้อหาด้วยข้อมูลผู้ใช้ เพราะหากไม่มีข้อมูลผู้ใช้ก็จะไม่สามารถจัดเรียงเนื้อหาได้ นอกจากนี้ คุณภาพของข้อมูลและการเลียนแบบรสนิยมผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็มีความสำคัญเช่นกัน ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญมากในยุคดิจิทัล เมื่อเนื้อหาที่ผู้คนเข้าถึงได้มีจำนวนมหาศาล เพราะสิ่งที่ผู้ใช้ค้นพบ ตัวผู้ใช้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อหาที่บริโภคนั้นเอง ดังนั้น ปริมาณข้อมูลที่ผู้ใช้ส่งมาให้แพลตฟอร์มจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง
Charoenpanich, A. and A. Aaltonen “(How) Does Data-based Music Discovery Work?” European Conference on Information Systems 2015.
Charoenpanich, A. (2017) Information Organization of social media platforms: the case of Last.fm. PhD thesis, The London School of Economics and Political Science (LSE).