พฤติกรรมการส่งออกแบบสองขั้วของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย
excerpt
บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของผู้ประกอบการส่งออกไทยที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ ผู้ที่ส่งออกในสัดส่วนน้อยหรือมุ่งเน้นตลาดในประเทศ และอีกกลุ่มที่มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศหรือส่งออกเกือบทั้งหมดของผลผลิต ซึ่งที่มาของความแตกต่างในความเข้มข้นการส่งออกนี้มาจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์ และคุณลักษณะเฉพาะของผู้ประกอบการผลิต งานวิจัย Mahakitsiri and Suwanprasert (2020) พบว่า ผู้ผลิตเพื่อส่งออกมักมีอายุน้อยกว่า มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ มีการผลิตสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า และส่งออกสินค้าไปยังตลาดประเทศรายได้สูง โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพการผลิตในกลุ่มผู้ส่งออกน้อยและผู้ส่งออกมาก ประเด็นสำคัญที่พบคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐมีผลต่อกิจกรรมการผลิตและพฤติกรรมการส่งออกในระดับบริษัท ไม่เฉพาะการตัดสินใจส่งออก (extensive margin) ปริมาณการส่งออก (intensive margin) แต่รวมถึงสัดส่วนการส่งออก (export intensity) และการเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก (pure exporter) สะท้อนให้เห็นถึงทางเลือกเชิงนโยบายที่ภาครัฐพึงมีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย
ความสำคัญของแบบจำลองใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ1 “แบบใหม่” (New new trade model) ซึ่งให้ความสำคัญกับ “บริษัท” ในฐานะผู้เล่นหลักในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สามารถอธิบายได้ด้วยประโยคที่ว่า “Countries do not produce anything and countries do not trade with one another. Firms and consumers do these things.” หรือ “ประเทศไม่ได้ผลิตและประเทศไม่ได้ค้าขายกับประเทศอื่น บริษัทและผู้บริโภคต่างหากที่ทำ” ของ Hallak and Levinsohn (2004)
งานวิจัยในวรรณกรรมศึกษาหัวข้อ ผู้ผลิตที่มีพื้นฐานแตกต่างกันและการค้าระหว่างประเทศ (International trade and heterogeneous firm) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลระดับบริษัท (Firm-level) และพบว่า บริษัทที่ทำการส่งออกเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยของจำนวนบริษัททั้งหมด สัดส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ส่งออกในประเทศสหรัฐ ฝรั่งเศส และจีนอยู่ที่ 21%, 17.4% และ29.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกยังมีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากบริษัทที่ขายในประเทศ โดยผู้ส่งออกมักมีขนาดใหญ่กว่า มีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่า มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า และมีการใช้ปัจจัยทุนมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัททั่วไป
ในแง่ของพฤติกรรมการส่งออก บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักส่งออกเพียงเล็กน้อยจากผลผลิตทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ 66% ของผู้ส่งออกมีรายได้จากการส่งออกน้อยกว่า 10% ของรายได้รวม และมีเพียงแค่ 4.3% ของผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกเกินครึ่งของรายได้รวม โดยค่าเฉลี่ยของสัดส่วนรายได้จากการส่งออกของเหล่าผู้ส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 14 (Bernard et al, 2007) รูปแบบการส่งออกดังกล่าวยังถูกพบในประเทศอื่น ๆ อาทิ ฝรั่งเศส (Arkolakis, 2010; Eaton et al., 2011) และ โคลัมเบีย (Brooks, 2006) อย่างไรก็ดี Defever and Raino (2017) พบว่ารูปแบบของการส่งออกมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาทิ อาร์เจนติน่า รัสเซีย และแอฟริกาใต้ มีลักษณะการส่งออกในรูปแบบข้างต้น ในขณะที่ฟิลิปปินส์ มาดากัสก้า และบังคลาเทศ มีรูปแบบการส่งออกที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ผู้ที่ส่งออก 20% และ 80% ของผลผลิตมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% และ 75% ตามลำดับ
รูปที่ 1 แสดงถึงการกระจายตัวของสัดส่วนการส่งออกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยที่ได้จากข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการส่งออกมีการกระจุกตัวอยู่ในช่วงบน (กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออก) และช่วงล่าง (กลุ่มที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ) โดยจำนวนกว่า 47.4% ของบริษัทส่งออกมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิต และบริษัทที่ผลิตเพื่อส่งออกหรือที่ส่งออกมากกว่า 90% ของผลผลิตมีสัดส่วนสูงถึง 22.3% บทความนี้เรียกกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออกนี้ว่า “Pure exporters” รูปแบบการส่งออกแบบสองขั้วดังกล่าวปรากฏให้เห็นในงานศึกษาของ Apaitan, Disyatat และ Samphantharak (2016) ที่ใช้ฐานข้อมูลกรมศุลกากรร่วมกับฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียน Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) กระทรวงพาณิชย์
ปรากฏการณ์การกระจายตัวแบบสองโหมด (Twin peaks) ของความเข้มข้นการส่งออกนี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการค้าแนวใหม่ของ Melitz (2003) จึงเป็นที่มาของคำถามงานวิจัยชิ้นนี้ ว่าเพราะเหตุใด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยจึงมีพฤติกรรมการส่งออกที่หลากหลาย โดยเฉพาะการกระจุกตัวแบบสองขั้ว กลุ่มแรกส่งออกเพียงเล็กน้อยและมุ่งเน้นตลาดในประเทศ และอีกกลุ่มที่เน้นการส่งออกเป็นหลักหรือส่งออกเกือบทั้งหมดของผลผลิต ผู้ส่งออกน้อยและผู้ส่งออกมากแตกต่างกันอย่างไร อะไรคือปัจจัยที่กำหนดการเลือกส่งออกในระดับที่แตกต่างกัน ความเข้าใจที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับบริษัทนี้ ทำให้ได้มุมมองใหม่เชิงลึกที่เข้าถึงหัวใจสำคัญของการประกอบกิจการและกระบวนการส่งออก อาทิ การตัดสินใจส่งออก การเลือกปริมาณและสัดส่วนของผลผลิตที่ส่งออก (Export intensity) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนัยทางการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกให้กับภาครัฐในการส่งเสริมการส่งออก ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเฉพาะในประเทศเข้าสู่สนามส่งออก (extensive margin) 2. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกอยู่แล้วส่งออกในปริมาณ (intensive margin) และสัดส่วน (export intensity) ที่มากขึ้น หรือ 3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผันตัวมาเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ (pure exporter)
จากงานศึกษาเรื่อง Understanding the Bimodality of Export Intensity in Thailand ของ Mahakitsiri and Suwanprasert (2020) ที่ได้นำข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ปี 2550 2555 และ 2560 เก็บรวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบ Panel และ Repeated cross-sectional มาวิเคราะห์เจาะลึกพฤติกรรมการส่งออกของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ครอบคลุมข้อมูลจำนวน 246,390 รายการ หรือจำนวนสถานประกอบการเฉลี่ยกว่า 80,000 รายต่อปี และในจำนวนนี้มีสถานประกอบการจำนวน 9,211 ราย ที่ปรากฏในการสำรวจตลอดทั้ง 3 ครั้ง พบว่าเพียงแค่ร้อยละ 5.7 จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดส่งออกผลผลิตบางส่วนไปต่างประเทศ
การส่งออกจัดได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ผู้ประกอบการน้อยรายสามารถทำได้ จากข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมทั้ง 2 รูปแบบ พบว่ามีเพียง 5% ของผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกผลผลิต และมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1 ใน 4 ของผลผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ดี มีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกเท่านั้นที่เป็น ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ หรือ “Pure exporter”
การส่งออกมีความกระจุกตัวสูง ผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนการส่งออกครอบคลุม 66% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเป็นการส่งออกที่มาจาก Pure exporter ถึง 40% เมื่อพิจารณาในรายอุตสาหกรรม พบว่า สัดส่วนของผู้ประกอบการส่งออกและสัดส่วนของ Pure exporter แตกต่างกันออกไป อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการขนาดใหญ่อยู่มาก มักมีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ส่งออกสูง อาทิ อุตสาหกรรม (32) การผลิตอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร (19) การฟอกหนังและผลิตกระเป๋า และ (25) การผลิตยางและพลาสติก โดยอุตสาหกรรมที่มีเปอร์เซ็นต์ของ Pure exporter สูง หรือผู้ประกอบการที่เน้นขายให้กับตลาดต่างประเทศ ได้แก่ (36) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (18) การผลิตเครื่องแต่งกาย และ (32) การผลิตอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ซึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออกที่มาจาก Pure exporters สูงมาก
ผู้เขียนไม่พบว่าการแจกแจงแบบสองยอดของสัดส่วนการส่งออกที่พบในรูป 1 แปรผันกับนิยามหรือลักษณะบางประการของข้อมูล เช่น 1. ปีสำรวจ 2. ที่ตั้งของสถานประกอบการ 3. ประเภทของอุตสาหกรรมการผลิต 4. ขนาดของสถานประกอบการ เป็นต้น รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างการกระจายตัวของสัดส่วนการส่งออกเมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรมการผลิต
ข้อเท็จจริง
ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมีขนาดที่ใหญ่กว่า มีอายุน้อยกว่า มีการใช้ปัจจัยการผลิตที่มากกว่า มีการผลิตสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า และมีตลาดเป้าหมายไปทางเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เทียบกับผู้ส่งออกทั่วไป
ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมีคุณลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกทั่วไปในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านขนาด อายุ การใช้ปัจจัยการผลิต ชนิดผลิตภัณฑ์ และตลาดเป้าหมาย โดยผู้ผลิตเพื่อส่งออกไม่ใช่บริษัทขนาดเล็กตามที่คาดเดา งานศึกษาพบว่าผู้ผลิตเพื่อส่งออกมีขนาดที่ใหญ่กว่าผู้ส่งออกทั่วไปถึง 30% ทั้งในแง่ของผลผลิตและมูลค่าเพิ่ม มีมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าถึง 175% มีอายุน้อยกว่า โดยอายุเฉลี่ยของ Pure exporter อยู่ที่ 16 ปี เทียบกับผู้ส่งออกทั่วไปที่มีระยะเวลาดำเนินกิจการเฉลี่ยออยู่ที่ 18.4 ปี
ในแง่ของการใช้ปัจจัยการผลิต Pure exporter มีการใช้ปัจจัยทุนที่มากกว่าผู้ส่งออกทั่วไปประมาณ 11.5% และมีการจ้างงานที่มากกว่า 29.1% โดยสามารถแจกแจงเป็นการใช้แรงงานทักษะที่มากกว่า 26.7% และแรงงานไร้ทักษะที่ 28.5% แต่กลับมีสัดส่วนปัจจัยทุนต่อแรงงานที่ต่ำกว่าผู้ส่งออกทั่วไปประมาณ 17.9% บ่งบอกถึงการใช้แรงงานเข้มข้นในผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกของ Pure exporter มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า และมีเป้าหมายตลาดส่งออกในประเทศที่พัฒนาแล้ว
รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของผลิตภาพการผลิตในระดับสถานประกอบการ เห็นได้ชัดว่า ผู้ส่งออกมีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตที่จำหน่ายในประเทศ อย่างไรก็ดี งานศึกษาไม่พบว่าผู้ผลิตเพื่อส่งออก หรือ pure exporter มีผลิตภาพการผลิตที่ต่างไปจากผู้ส่งออกทั่วไป โดยสาเหตุว่าทำไมผลิตภาพการผลิตถึงไม่มีผลต่อสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์ด้วยสมการถดถอย ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น 1% นำมาซึ่งผลผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ในรายที่ส่งออกอยู่แล้ว การเพิ่มผลิตภาพจะนำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ จะถูกจัดสรรในสัดส่วนที่เท่าเดิมเพื่อขายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น สัดส่วนการส่งออกจึงไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยที่ผ่านมาอธิบายสาเหตุของปัจจัยที่กำหนดสัดส่วนการส่งออกไว้หลากหลาย Defever and Riano (2007) ระบุว่าปัจจัยด้านอุปสงค์มีผลต่อความแตกต่างในสัดส่วนการส่งออก โดยตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกในสัดส่วนที่สูงขึ้น Brooks (2016) ศึกษาข้อมูลรายบริษัทในประเทศโคลัมเบียพบว่าบริษัทที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทำให้ประสบความสำเร็จในการทำตลาดในต่างประเทศ Lu (2010) พบการแจกแจงความเข้มข้นการส่งออกแบบสองยอดในประเทศจีน โดยผู้ประกอบการส่งออกมักมีศักยภาพที่ต่ำกว่าผู้ผลิตที่ขายเฉพาะในจีนเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงกว่าในประเทศเทียบกับตลาดต่างประเทศ ในกรณีของไทย งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ปัจจัยที่กำหนดสัดส่วนการส่งออก และการเลือกเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก ไม่ได้มาจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง แต่เป็นผลมาจากทั้งคุณลักษณะของผู้ประกอบการ (firm characteristics) และปัจจัยทางด้านอุปสงค์ (demand) โดยระยะเวลาในการดำเนินกิจการที่น้อย การมีต่างชาติร่วมลงทุน ชนิดผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มีความเฉพาะเจาะจง และการมีตลาดเป้าหมายปลายทางเป็นประเทศรายได้สูง ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออก (Export intensity) ของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มในการเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก (Pure exporter) โดยไม่พบว่าผลิตภาพการผลิตมีผลแต่อย่างใด
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมมากเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของผู้ผลิตเพื่อส่งออกอยู่สูง เห็นได้จาก correlation ระหว่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและ pure exporter อยู่ที่ 0.076 ซึ่งหมายความว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ได้ให้การส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษสำหรับบริษัทที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ประสิทธิผลของการส่งเสริมการลงทุนปรากฏให้เห็นในรูปของสัดส่วนการส่งออกที่มากขึ้น Mahakitsiri and Suwanprasert (2020) พบว่า สิทธิประโยชน์ BOI ช่วยเพิ่มผลผลิต 64.3% และยังช่วยส่งเสริมการส่งออกสูงถึง 92% ส่งผลทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น 27.7% รวมถึงโอกาสในการเป็น Pure exporter เพิ่มขึ้น 3.5%
งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ประสิทธิผลของนโยบายส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป้าประสงค์ในมิติต่าง ๆ ได้แก่
- การพัฒนาผู้ประกอบการค้าหน้าใหม่ (extensive margin)
- การเพิ่มปริมาณการส่งออก (intensive margin)
- การผลักด้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนของผลผลิตเพื่อส่งออก (export intensity) และ
- การเพิ่มจำนวนผู้ผลิตเพื่อส่งออก (pure exporter)
โดยค้นพบสิ่งที่น่าสนใจ คือ จากจำนวน 23 หมวดอุตสาหกรรม สิทธิประโยชน์ BOI ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ในเกือบทุกมิติ โดยหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ได้รับสิทธิประโยชน์ BOI จะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกสูงถึง 153.4% เพิ่มสัดส่วนการส่งออก 21.9% และเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออก 20.8% สอดรับกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ที่ให้สิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนในตอนนี้
บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของผู้ประกอบการส่งออกไทยที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ ผู้ที่ส่งออกในสัดส่วนน้อยหรือมุ่งเน้นตลาดในประเทศ และอีกกลุ่มที่มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศหรือส่งออกเกือบทั้งหมดของผลผลิต ซึ่งที่มาของความแตกต่างในความเข้มข้นการส่งออกนี้มาจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์ และคุณลักษณะเฉพาะของผู้ประกอบการผลิต โดยพบว่า ผู้ผลิตเพื่อส่งออกมักมีอายุน้อยกว่า มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ มีการผลิตสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า และส่งออกสินค้าไปยังตลาดประเทศรายได้สูง โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพการผลิตในกลุ่มผู้ส่งออกน้อยและผู้ส่งออกมาก
ประเด็นสำคัญที่พบคือ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐมีผลต่อกิจกรรมการผลิตและพฤติกรรมการส่งออกในระดับบริษัท ไม่เฉพาะการตัดสินใจส่งออก (extensive margin) ปริมาณการส่งออก (intensive margin) แต่รวมถึงสัดส่วนการส่งออก (export intensity) และการเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก (pure exporter) บทความนี้สะท้อนให้เห็นถึงทางเลือกเชิงนโยบาย (policy options) ที่ภาครัฐพึงมีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ การอนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกิจกรรมการส่งออกของผู้ประกอบการในการช่วยสร้างผู้ประกอบการค้ารายใหม่ พัฒนาผู้ส่งออกรายเดิม และที่สำคัญช่วยลดอุปสรรคที่เป็นต้นทุนต่อการส่งออก เป็นทางเลือกในการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการส่งออกในสัดส่วนที่มากขึ้น หรือผันตัวมาดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศแบบเต็ม 100% เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง
Apaitan, Tosapol, Piti Disyatat, and Krislert Samphantharak. 2016. “Dissecting Thailand’s International Trade: Evidence from 88 Million Export and Import Entries,” PIER Discussion Papers no.43., Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, revised Sep 2016.
Bernard, Andrew, B., Jonathan Eaton, J. Bradford Jensen, and Samuel Kortum. 2003. “Plants and Productivity in International Trade.” American Economic Review, 93 (4): 1268–1290.
Defever, Fabrice, and Alegandro Riano. 2017. “Twin Peaks,” Manuscript, University of Nottingham.
Hallak, Juan, and Levinsohn, James 2004. “Fooling ourselves: Evaluating the Globalization and Growth Debate,” NBER Working Paper #10244.
Mahakitsiri, Doungdao, and Wisarut Suwanprasert. 2020. “Understanding the Bimodality of the Export Intensity Distribution in Thailand,” PIER Discussion Papers no.139., Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.