เจาะลึกความเหลื่อมล้ำตลอดสามทศวรรษของประเทศไทย: ตอนที่ 1 หลากมิติของความเหลื่อมล้ำ
excerpt
ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Survey: SES) มาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจถึงพลวัตของความเหลื่อมล้ำ โดยเป็นการศึกษาลงลึก ทั้งในมิติของรายได้ การบริโภค และความมั่งคั่ง ผลพบว่า ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งของประเทศไทยอยู่สูงกว่าระดับความเหลื่อมล้ำรายได้มาก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ถึงแม้มีแนวโน้มที่ลดลง แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่ากลุ่มรายได้ต่ำ มีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินค่อนข้างมาก แสดงถึงสภาพคล่องที่ต่ำ ในขณะที่สัดส่วนของรายได้ที่มาจากเงินโอนจากนอกครัวเรือนมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแปลว่าแม้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมจะลดลง แต่ก็ไม่ได้มาจากการที่ครอบครัวรายได้ต่ำพึ่งพาตนเองได้ สุดท้ายนี้ แม้สัดส่วนคนจนในประเทศไทยจะลดลง แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำ โดยเฉลี่ยยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคสูงกว่ารายได้ตลอดทั้งสามทศวรรษ และยังมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคที่จำเป็น สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง นั่นหมายถึงครัวเรือนเหล่านี้มีความเปราะบางสูง หากสูญเสียรายได้ ก็จะต้องลดการบริโภคสินค้าที่จำเป็น
ความก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศนั้น ไม่ได้ขึ้นกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประชาชนภายในประเทศด้วย เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญและเป็นหัวข้อที่ประชาชนและนักวิชาการให้ความสนใจมาตลอด ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากสำนักงานพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (NESDC) จะได้แสดงว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นข้อวิพากษ์และข้อกังขา เช่น เรื่องตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำอย่างด้านรายได้และรายจ่ายอย่างเป็นทางการของไทยน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะตัวชี้วัดเหล่านี้คำนวณมาจากข้อมูลการสำรวจ SES ซึ่งอาจจะขาดตัวอย่างครัวเรือนที่รายได้สูงที่สุดกลุ่ม top 1% (ผาสุก และคณะ 2017; Jenmana 2018) หรือประเด็นที่ว่ามาตรวัดความเหลื่อมล้ำที่เหมาะสม ควรจะต้องนำความมั่งคั่ง หรือ สินทรัพย์สุทธิ มาพิจารณาควบคู่ด้วย ซึ่งงานศึกษาบางชิ้นประมาณการว่า การกระจุกตัวของความมั่งคั่งของไทยนั้น จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศแถบเอเชีย (Credit Suisse, 2018)
ในบทความนี้ เรานำข้อมูลรายครัวเรือนของ SES มาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจถึงพลวัตของความเหลื่อมล้ำในสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำนั้นตัดสินไม่ได้ด้วยกราฟค่าดัชนี Gini เพียงเส้นเดียว ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ การบริโภค และความมั่งคั่ง และแต่ละมิติก็มีองค์ประกอบปลีกย่อย เราตระหนักว่า ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งของแต่ละปีจากข้อมูล SES อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง และภาพที่ได้เป็นภาพของครัวเรือนที่มีรายได้ในกลุ่ม bottom 99% แต่ไม่ให้ภาพของคนรายได้กลุ่ม top 1%1 อย่างไรก็ดี ภาพของครัวเรือนที่จัดอยู่ในกลุ่ม 99% ของการกระจายรายได้ของประเทศนั้น พวกเขาก็คือ ครัวเรือนเกือบทั้งประเทศ นอกจากนี้ข้อมูล SES ยังเป็นฐานข้อมูลที่มีการเก็บในรูปแบบคงที่ (ทั้งด้านตัวแปรหลักที่นำมาวิเคราะห์ และหลักการสุ่มตัวอย่าง) มาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ภาพพลวัตของความเหลื่อมล้ำได้อย่างต่อเนื่อง บทความตอนแรกนี้ จะเป็นการเจาะลึกองค์ประกอบต่าง ๆ ของความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ การบริโภค และความมั่งคั่ง ใน 4 ประเด็น ได้แก่
เป็นเรื่องจริงที่ว่า ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งของประเทศไทยอยู่สูงกว่าระดับความเหลื่อมล้ำรายได้มาก แต่เรื่องนี้อธิบายได้ตามมุมมองทางเศรษฐศาสตร์
ก่อนที่จะลงในรายละเอียด เราจะขอพูดถึงตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่ใช้ในบทความชิ้นนี้
- ตัวชี้วัดที่ 1 คือ ดัชนี Gini (ค่าสัมประสิทธิ์จินี่ หรือ Gini coefficient) ซึ่งมีค่าระหว่าง 0–1 หากค่า Gini ใกล้หนึ่ง ก็หมายถึง ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูง
- ตัวชี้วัดที่ 2 คือ ค่าวัดสัดส่วนของรายได้รวมในกลุ่มต่าง ๆ ต่อรายได้รวมของทั้งประเทศ โดยนำครัวเรือนมาเรียงกันจากรายได้ต่ำไปสูงและแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละเท่า ๆ กัน เช่น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม (quintiles) หากทุกครัวเรือนรายได้เท่ากัน ทุกกลุ่มก็จะมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 20 จากรายได้รวม แต่หากรายได้มีการกระจุกตัวอยู่เฉพาะ 20% ของครัวเรือน กลุ่มที่รายได้สูงที่สุด กลุ่ม top 20% ก็จะมีสัดส่วนรายได้ใกล้ 100%
ในบทความชิ้นนี้ เราแบ่งครัวเรือนเป็น 3 กลุ่ม โดย
- กลุ่มรายได้ต่ำ หรือ bottom 20% คือ กลุ่มที่รายได้ต่อหัวอยู่ใน percentile ที่ 20 หรือต่ำกว่า
- กลุ่มรายได้กลาง หรือ middle 60% คือ กลุ่มที่รายได้ต่อหัวอยู่ใน percentile ที่ 21–79 และ
- กลุ่มรายได้สูง top 20% คือ กลุ่มที่รายได้ต่อหัวอยู่ใน percentile ที่ 80 หรือสูงกว่า
สำหรับการคำนวณรายได้ต่อหัว หรือมูลค่าการบริโภคต่อหัวของครัวเรือนนั้น วิธีการแบบตรงไปตรงมาที่สุด คือ การนำมูลค่ารายได้รวม (หรือ มูลค่าการบริโภค) ของแต่ละครัวเรือน หารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน2 แต่ทั้งนี้การคำนวณแบบง่ายเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้และระดับการบริโภคที่แท้จริงของแต่ละครัวเรือนที่มีโครงสร้างต่างกัน เช่น เด็ก 1 คน ไม่สามารถหารายได้เทียบเท่ากับคนวัยทำงาน 1 คน หรือระดับการบริโภคของครัวเรือนที่อยู่กันสองคน ก็ไม่ได้เป็นสองเท่าของการบริโภคของครัวเรือนที่อยู่คนเดียว เพราะการซื้อของปริมาณมากขึ้นมักจะทำให้ราคาต่อหน่วยถูกลง (ประหยัดจากขนาด) ในบทความชิ้นนี้ เราใช้ค่า Household Equivalence Scale เป็นตัวปรับค่า (ตัวหาร) ตลอดการวิเคราะห์ โดยตัวปรับค่าที่นำมาใช้ เรียกว่า ‘OECD Equivalence Scale’ ซี่งคำนวณจากสูตร 1 + 0.5 x (จำนวนสมาชิกอื่น ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่) + 0.3 x (จำนวนเด็ก) และมูลค่าของตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นมูลค่ารายเดือนและถูกปรับให้เป็นค่าจริงของปี 2000
เมื่อเปรียบเทียบการคำนวณค่าดัชนี Gini ของรายได้ปรับโดย OECD equivalence scale และค่าดัชนี Gini ของรายได้ต่อหัวแบบง่ายคำนวณโดย NESDC และคำนวณโดยคณะผู้วิจัย ดังภาพซ้ายในรูปที่ 1 จะเห็นว่า ดัชนีทั้งหมดมีแนวโน้มไปในทางเดียวกันโดยมีค่าลดลงเล็กน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดัชนีที่ปรับโดย OECD equivalence scale มีค่าต่ำกว่าเล็กน้อย เพราะครัวเรือนรายได้ต่ำมักจะมีจำนวนเด็กมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง งานของ Jenmana (2018) ที่ได้นำข้อมูลภาษีและข้อมูลรายได้ประชาชาติมาร่วมวิเคราะห์ ก็พบว่าความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน แม้ว่าดัชนี Gini ที่คำนวณโดยข้อมูล SES อย่างเดียว จะมีค่าต่ำกว่าการคำนวณโดยใช้ข้อมูลภาษีและข้อมูลรายได้ประชาชาติร่วมด้วย
หากเปรียบเทียบดัชนี Gini ด้านความมั่งคั่ง รายได้ และรายจ่าย (การบริโภค) ของครัวเรือน จะพบว่า ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งของประเทศไทยอยู่สูงกว่าระดับรายได้มาก แม้ว่าดัชนีทั้งสามตัวมีค่าลดลงเล็กน้อยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดังแสดงในภาพขวาของรูปที่ 1 ในปี 2019 Gini ของความมั่งคั่งอยู่ที่ 0.65 ของระดับรายได้อยู่ที่ 0.41 และของการบริโภคอยู่ที่ 0.33 การคำนวณด้วยดัชนีอื่น ๆ เช่น สัดส่วนระหว่างรายได้ที่เปอร์เซนไทล์ต่าง ๆ (ค่า p90/p10, p90/p50, p50/p10) หรือการกระจายตัวของค่า logarithm ของรายได้หรือรายจ่าย จากข้อมูล SES ก็ให้ภาพความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
สำหรับการแบ่งครัวเรือนตาม quintiles ในมิติของรายได้ สัดส่วนรายได้ของกลุ่ม top 20% ลดลงจากร้อยละ 54 ในปี 1988 เป็นร้อยละ 48 ในปี 2019 สำหรับสัดส่วนของความมั่งคั่ง กลุ่ม top 20% ถึงแม้มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 67 แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก รูปที่ 2 แสดงภาพการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่งในปี 2019 โดยจะเห็นว่าในมิติความมั่งคั่งนั้น กลุ่ม bottom 20% มีสัดส่วนความมั่งคั่งเพียงร้อยละ 1 ส่วนกลุ่ม middle 60% มีสัดส่วนความมั่งคั่งร้อยละ 33
การที่ดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมีค่าสูงกว่าดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคมีค่าต่ำที่สุด นั้นอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับดัชนีด้านการบริโภคนั้น อธิบายได้ว่า เนื่องจากการบริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการยังชีพ แม้ในเวลาที่ไม่มีรายได้ ครัวเรือนก็ยังต้องใช้จ่ายสำหรับการบริโภค นอกไปจากนั้นการใช้จ่ายอาจไม่ผันผวนตามรายได้เสมอ หากการเปลี่ยนแปลงของรายได้นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว (permanent income hypothesis) ซึ่งครัวเรือนอาจ smooth การบริโภคโดยใช้เงินออม หรือการกู้ยืม ในทางกลับกัน ความแตกต่างหรือความผันผวนของรายได้ไม่สามารถเกลี่ยได้เหมือนการบริโภค ดังนั้นดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคจึงมีค่าต่ำกว่าดัชนีด้านรายได้
ส่วนดัชนีด้านความมั่งคั่งนั้น หากเราพิจารณาว่า เมื่อคนเริ่มทำงาน ก็จะมีรายได้ ซึ่งรายได้ที่เหลือจากการบริโภคก็จะสามารถนำมาเก็บออม หรือลงทุนในสินทรัพย์ เมื่อเวลาผ่านไป คนที่มีรายได้สูงอย่างต่อเนื่องจึงมีเงินออมมากกว่า ทั้งยังอาจมีรายได้เพิ่มเติมจากผลตอบแทนของการลงทุนในสินทรัพย์ ความมั่งคั่งซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน จึงมีแนวโน้มที่จะสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงชีวิต ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำอย่างต่อเนื่องนั้น คนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่พอต่อการบริโภค และจำเป็นต้องต้องกู้ยืม ก่อให้เกิดหนี้สิน เมื่อเวลาผ่านไป รายได้ที่ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคก็ส่งผลให้หนี้สินสะสมพอกพูน ช่องว่างของรายได้จึงส่งต่อไปเป็นช่องว่างของความมั่งคั่งที่กว้างกว่า
หากจะมองภาพของความมั่งคั่ง (wealth) หรือ สินทรัพย์สุทธิ (net worth) นั้นต้องเข้าใจว่า หนึ่ง ความมั่งคั่งไม่สามารถมองจากมูลค่าสินทรัพย์ (asset) หรือมูลค่าหนี้ (debt) อย่างเดียว เพราะคนรายได้สูงมักจะมีทั้งสินทรัพย์และหนี้สินในระดับสูง และสอง ความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่สั่งสมเพิ่มขึ้นตลอดช่วงชีวิต หากต้องการลดช่องว่างก็ต้องทำตั้งแต่อายุยังน้อย
รูปที่ 3 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนสินทรัพย์และหนี้ของกลุ่มความมั่งคั่ง top 20% นั้นสูงกว่ากลุ่ม middle 60% และ bottom 20% อย่างชัดเจน เพราะคนที่จะมีหนี้ (ในระบบ) ได้ส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่สถาบันการเงินประเมินว่ามีรายได้มั่นคงเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสินทรัพย์และหนี้สินนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับทุกกลุ่มรายได้ตั้งแต่ปี 2006–2019 หากดูในส่วนประกอบของสินทรัพย์ ครัวเรือนรายได้ต่ำมักจะมีสินทรัพย์เป็นที่ดินทำกิน มีสินทรัพย์ทางการเงินโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4 ของสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินร้อยละ 13
นอกจากนี้ หากจะดูว่า ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งเริ่มจากไหน เราสามารถตามดูความแตกต่างของตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของครัวเรือนตามช่วงอายุ รูปที่ 4 แสดงระดับการบริโภคและรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครอบครัวเกิดในปี 1955–1959 ของกลุ่มการศึกษาสูง (ระดับมหาวิทยาลัย เส้นสีน้ำเงิน) และการศึกษาต่ำ (กลุ่มที่จบประถมศึกษาหรือต่ำกว่า เส้นสีส้ม) จะเห็นได้ว่า ครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาสูง มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สูงกว่าอัตราการเปลี่ยนของการบริโภคเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งแปลว่า ครอบครัวที่การศึกษาสูงมักมีเงินออมเพิ่มขึ้นตลอดอายุการทำงาน โดยเงินออมส่วนหนึ่งอาจจะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์3
รูปที่ 5 แสดงการเปรียบเทียบมูลค่าเงินออม หนี้สิน และสินทรัพย์ของครัวเรือนตามระดับการศึกษา อายุ และปีเกิดของหัวหน้าครัวเรือน พบว่า เมื่ออายุมากขึ้น กลุ่มการศึกษาต่ำจะมีเงินออมโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หากดูกลุ่มอายุ 55–59 ครัวเรือนที่มีการศึกษาต่ำ มีเงินออมโดยเฉลี่ยเพียง 245 บาทต่อเดือน (ต่อผู้ใหญ่ 1 คน) เปรียบเทียบกับครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงซึ่งมีเงินออมโดยเฉลี่ย 4900 บาทต่อเดือน (ต่อผู้ใหญ่ 1 คน) สำหรับหนี้สิน กลุ่มการศึกษาต่ำไม่ได้มีหนี้สินเพิ่มหรือลดมากนักตลอดช่วงอายุ แต่กลุ่มการศึกษาสูง มีหนี้สินเพิ่มในช่วงอายุ 25–40 ปี และลดลงชัดเจนหลังจากอายุ 55 ในมิติของสินทรัพย์ ครัวเรือนทั้งสองกลุ่มมีการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจนถึงอายุประมาณ 50 โดยกลุ่มการศึกษาต่ำมีสินทรัพย์โดยเฉลี่ยประมาณ 2 แสนบาท (ต่อผู้ใหญ่ 1 คน) ขณะที่กลุ่มการศึกษาสูงมีสินทรัพย์เฉลี่ย 1 ล้านบาท (ต่อผู้ใหญ่ 1 คน) และหากเปรียบเทียบคนในรุ่นต่าง ๆ ณ อายุเดียวกันจะเห็นว่าคนรุ่นหลัง โดยเฉลี่ยมีระดับการออมมากขึ้น มีหนี้สินน้อยลง แต่ไม่ได้มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากนัก
รายได้มีองค์ประกอบหลายส่วน หากเจาะลึกลงไปจะพบว่ากลุ่มรายได้ต่ำ มีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินค่อนข้างมาก แสดงถึงสภาพคล่องที่ต่ำ ในขณะที่ สัดส่วนของเงินโอนจากนอกครัวเรือนเทียบกับรายได้ที่เป็นตัวเงิน มีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแปลว่าแม้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมจะลดลง แต่ก็ไม่ได้มาจากการที่ครอบครัวรายได้ต่ำพึ่งพาตนเองได้
รูปที่ 6 แสดงมูลค่ารายได้รวมเฉลี่ยในแต่ละปี และสัดส่วนของรายได้ที่เป็นตัวเงิน (cash income) และไม่เป็นตัวเงิน (in-kind income) ตามกลุ่มรายได้ พบว่าสัดส่วนของรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินลดลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาครัวเรือนรายได้ต่ำ (bottom 20%) มีสัดส่วนของรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน (in-kind) ถึงร้อยละ 38–61 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูง (top 20%) มีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินเพียงร้อยละ 10–18 โดยในปี 1988 สัดส่วนของรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำเคยสูงถึงร้อยละ 61 และลดลงเป็นร้อยละ 38 ในปี 2019 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนเกษตรเป็นกลุ่มที่มีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินเป็นสัดส่วนสูง และครัวเรือนเกษตรมีสัดส่วนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนของรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินนี้ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนรายได้ต่ำขาดสภาพคล่อง หรือเพิ่มรายจ่าย (transaction cost) ในการเปลี่ยนสินค้าหรือสิ่งของเหล่านี้เป็นเงินเพื่อการเก็บออมหรือการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคต
หากจำแนกรายได้ที่เป็นตัวเงินออกตามองค์ประกอบต่าง ๆ ดังในรูปที่ 7 เราพบว่า รายได้หลักของกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับกลางและระดับสูง เป็นรายได้ที่มาจากการทำงาน (ลูกจ้าง ทำเกษตร หรือธุรกิจ) ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ มีสัดส่วนการพึ่งพาเงินโอนจากนอกครัวเรือนจากนอกครัวเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2019 เงินโอนส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 52 ของรายได้ที่เป็นตัวเงินทั้งหมด โดยเงินโอนจากนอกครัวเรือนสามารถแบ่งย่อยได้เป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐ เงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน และเงินบำนาญ
รูปที่ 8 แสดงค่าดัชนี Gini ด้านรายได้หากไม่นับรวมเงินโอนบางส่วน โดยเส้นทึบสีดำแสดงค่าเดียวกันกับค่าในรูปที่ 1 เส้นสีส้มเป็นการหักเงินโอนออกทั้งหมด ส่วนเส้นสีฟ้า สีเทา หรือ สีแดง เป็นการหักเงินโอนส่วนที่เป็นบำนาญ เงินช่วยเหลือจากรัฐ หรือเงินช่วยเหลือจากนอกครัวเรือน ออกจากรายได้ตามลำดับ ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่า รายได้ที่เป็นเงินโอนจากนอกครัวเรือน (เช่น การเข้ามาทำงานในเมืองและส่งเงินกลับบ้าน) มีบทบาทสำคัญมากต่อระดับความเหลื่อมล้ำ ในปี 2019 หากหักเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ค่า Gini ด้านรายได้จะเพิ่มจาก 0.41 เป็น 0.43 แต่หากหักเงินช่วยเหลือจากนอกครัวเรือนออกไป ค่า Gini จะเพิ่มเป็น 0.46 นอกจากนี้ การที่ช่องว่างระหว่างเส้นสีดำและเส้นสีแดงนั้นกว้างมากขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่าน แปลว่าบทบาทของเงินโอนต่อการลดความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
แม้สัดส่วนคนจนในประเทศไทยจะลดลง แต่ครัวเรือนกลุ่ม bottom 20% ของแต่ละปี โดยเฉลี่ยยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคสูงกว่ารายได้ตลอดทั้งสามทศวรรษ นอกจากนี้ ครัวเรือนกลุ่ม bottom 20% มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการบริโภคที่จำเป็น สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง
แม้ว่าตัวเลขสัดส่วนคนจน (คนที่รายจ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน) ของประเทศไทยจะลดจากร้อยละ 65 ในปี 1988 เหลือร้อยละ 10 ในปี 2018 (NESDC 2019) แต่หากดูที่สัดส่วนการบริโภคต่อรายได้ ดังในรูปที่ 9 ครัวเรือนรายได้ต่ำโดยเฉลี่ยยังมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคสูงกว่ารายได้ (ค่าสูงกว่าหนึ่ง) มาตลอด4 แม้สัดส่วนนี้จะลดลงจาก 1.6 เป็น 1.2 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สำหรับครัวเรือนรายได้ระดับกลางและสูง สัดส่วนการบริโภคต่อรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ .77 และ .55 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของการบริโภคแต่ละประเภท กลุ่ม bottom 20% มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารคิดเป็นร้อยละ 51 ของการบริโภคทั้งหมด (ปี 2019) สัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาลและการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 3 และร้อยละ 2 ตามลำดับ กลุ่ม top 20% มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารเพียงร้อยละ 29 สัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาลและการศึกษา อย่างละร้อยละ 4 การที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคสินค้าจำเป็นสูง หลายครัวเรือนมีรายได้แทบไม่พอกับค่าใช้จ่าย บวกกับเงินออมที่น้อยกว่า ดังที่กล่าวในประเด็นที่ 2 นั่นหมายถึงครัวเรือนเหล่านี้มีความเปราะบางสูง หากสูญเสียรายได้ ก็จะต้องลดการบริโภคสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร การรักษาพยาบาลและการลงทุนทางการศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้ หากดูเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกอายุต่ำกว่า 15 ปี ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อเด็กหนึ่งคน จะเพิ่มขึ้นชัดเจนสำหรับกลุ่มรายได้สูง โดยเฉพาะหลังจากปี 2011 โดยหากเปรียบเทียบกลุ่ม top 20% และ bottom 20% จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับเด็กหนึ่งคนนั้นต่างกันกว่า 10 เท่า ซึ่งหมายความว่าเด็กในครอบครัวยากจนนั้น นอกจากอาจมีความเปราะบางจากสัดส่วนการบริโภคสินค้าจำเป็นที่สูงแล้ว ยังได้รับการลงทุนด้านการศึกษาที่แตกต่างจากเด็กในครอบครัวฐานะดีเป็นอย่างมาก หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความเหลื่อมล้ำนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ก้าวแรก
หากดูภาพการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยกราฟค่าดัชนี Gini ในเชิงรายได้เพียงอย่างเดียว กราฟจะบอกเพียงว่าความเหลื่อมล้ำ (ของกลุ่ม bottom 99%) มีแนวโน้มลดลง แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ประเด็นที่ยังน่ากังวลอยู่ ได้แก่
ความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มขึ้นตามช่วงชีวิต เมื่อคนอายุมากขึ้น ช่องว่างนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแปลว่าหากเราสามารถลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ในวัยเด็ก (เช่น สนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมความรู้ทางการเงินและดิจิทัล) ต้นทุนของการลดความเหลื่อมล้ำนั้นน่าจะต่ำกว่าการไปพยายามปิดช่องว่างเมื่อคนอายุมากขึ้น เมื่อความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงและส่งต่อไปในหลายมิติ การจะปิดช่องว่างนั้นก็ยากขึ้น ตัวอย่างเช่น การให้เงินช่วยเหลือจากรัฐ แม้ว่าจะยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในวันนี้ แต่มาตรการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงและอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งจะไม่ลดลงตามกันอย่างง่าย ครอบครัวร่ำรวยยังคงลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลานได้มากกว่า ส่งต่อสินทรัพย์ให้บุตรหลานมากกว่า ความเหลื่อมล้ำจึงยังส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป (intergeneration transmission) และการใช้เงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวอาจนำมาถึงภาระทางการคลังในอนาคต
เงินช่วยเหลือโดยเฉพาะเงินโอนจากนอกครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับครอบครัวรายได้ต่ำ นั่นคือ แม้ในภาพรวมความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้จะดีขึ้น แต่ครัวเรือนรายได้ต่ำยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ การเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากนอกครัวเรือนโดยเฉพาะที่ไม่ได้มาจากภาครัฐ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่แรงงานได้โยกย้ายสู่เมืองหรือแหล่งอุตสาหกรรม แต่ยังมีภาระที่ต้องช่วยเหลือครอบครัวที่อาศัยต่างภูมิลำเนา ซึ่งสะท้อนว่าคนสูงอายุในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเก็บออมที่เพียงพอ แรงงานที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งของตนเองและครอบครัว ก็อาจจะต้องลดการบริโภคและไม่มีเงินออมมากนัก และเนื่องด้วยแรงงานรุ่นหลังมีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง การพึ่งพาลูกหลานจะเป็นไปได้ยากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การสร้างกลไกของภาครัฐเพื่อช่วยและกระตุ้นให้คนสามารถพึ่งตนเองมากขึ้นหลังเกษียณจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แม้งานศึกษาชิ้นนี้จะใช้ข้อมูล SES ซึ่งให้ภาพของคน bottom 99% แต่ภาพของความเหลื่อมล้ำก็ยังชัดเจน ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำนั้น โดยเฉลี่ยยังมีสัดส่วนของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุด top 20% เป็นเจ้าของสินทรัพย์สุทธิร้อยละ 67 ดังนั้น มาตรการหลาย ๆ อย่างควรต้องทำไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส การส่งเสริมการกระจายรายได้และสินทรัพย์ (เช่น ภาษีอัตราก้าวหน้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรายได้ สินทรัพย์ และมรดก) และการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่ยังสร้างแรงจูงใจให้คนพยายามพึ่งพาตนเอง
ท้ายนี้ ประเทศไทยยังขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ที่จะนำมาศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในอีกหลายมิติ ในปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศ สามารถใช้ข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้มาคำนวณระดับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่ง และศึกษาเรื่องการส่งต่อความเหลื่อมล้ำจากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูก เนื่องจากข้อมูลค่อนข้างครอบคลุม ทั้งในแง่จำนวนผู้ยื่นแบบภาษีและแหล่งรายได้ที่มีการจัดเก็บ สำหรับประเทศไทย บุคคลที่มีเงินได้พึงประเมินเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้มีเพียง 10.7 ล้านคน (กรมสรรพากร 2017) หรือ ร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด การใช้ข้อมูลภาษีเงินได้อย่างเดียวมาวัดความเหลื่อมล้ำจึงทำไม่ได้เพราะมีแต่กลุ่มคนรายได้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ รายได้จากข้อมูลภาษีของไทยก็ยังไม่ได้ครอบคลุมรายได้จากการลงทุน ทรัพย์สินและธุรกิจทั้งหมด การมีข้อมูลที่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสำรวจที่ติดตามครอบครัวเดิม ข้อมูลสำรวจที่เน้นการสุ่มกลุ่มรายได้สูง หรือข้อมูลจากภาครัฐที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ จะช่วยให้เข้าใจของภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ดีขึ้น
ผาสุก พงษ์ไพจิตร นวลน้อย ตรีรัตน์ ดวงมณี เลาวกุล ชญานี ชวะโนทย์ มณีขวัญ จันทรศร ปัณณ์ อนันอภิบุตร อธิภัทร มุทิตาเจริญ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู ฟรานซิส คริปปส์ (2017) โครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน”
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC 2019) สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้
Credit Suisse (2018). Global Wealth Databook.
Keane, M. P., & Wasi, N. (2016). Labour supply: the roles of human capital and the extensive margin. The Economic Journal, 126 (592), 578–617.
Pew Charitable Trusts (2016). “Household Expenditures and Income, The Pew Charitable Trusts Research & Analysis-Issue Brief-March 30,” Technical Report, Trusts, Pew Charitable.
Piyapromdee, S. & Spittal, P. (2020). “The Income and Consumption Effects of Covid-19 and the Role of Public Policy”, 2020, PIER discussion paper No. 141.
Shraberman, K. (2018) “The income-expenditure gap and household debt,” Policy Paper, (01.2018).
Jenmana, T. (2018). Income Inequality, Political Instability, and the Thai Democratic Struggle. The Paris School of Economics Masters in Analysis and Policy in Economics Working Paper.
- ทั้งนี้ การที่ข้อมูล SES ขาดภาพของคนรายได้กลุ่ม top 1% นั้นเป็นข้อจำกัดของข้อมูลสำรวจแบบสุ่มตัวอย่างครัวเรือนในทุก ๆ ประเทศ สาเหตุหลักก็เพราะลักษณะการกระจายตัวของรายได้มักจะมีหาง (distribution tail) ที่ยาวไปทางรายได้ระดับสูง การสุ่มเจอกลุ่ม top 1% ตามหลักการสุ่มเชิงสถิติจึงเป็นไปได้ยาก↩
- รายได้ หมายถึง รายได้ประจำ ที่ไม่รวมรายรับพิเศษเป็นครั้งคราวอื่น ๆ (ได้แก่ มรดก ค่าสินไหมจากประกันภัย เงินรางวัลจากสลากกินแบ่ง) หน่วยของการวิเคราะห์เป็นระดับครัวเรือน เนื่องจากข้อมูล SES เป็นการสุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือน จึงมีเพียงค่าถ่วงน้ำหนักให้เป็นตัวแทนครัวเรือนของทั้งประเทศ แต่ไม่ได้มีค่าถ่วงน้ำหนักเพื่อให้เป็นตัวแทนประชากรของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ข้อมูลด้านรายได้จากเกษตรกรรม การบริโภค สินทรัพย์และหนี้สิน ถูกจัดเก็บในระดับครัวเรือน โดยข้อมูลสินทรัพย์และหนี้สินมีการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา↩
- งานทางเศรษฐศาสตร์ที่ดูเรื่องพลวัตของรายได้ การออม การบริโภค ความมั่งคั่ง ตามช่วงชีวิต เป็นที่รู้จักกันว่า Life-cycle model เช่น Keane and Wasi (2016) ศึกษาพลวัตของปัจจัยเหล่านี้จากข้อมูลประเทศสหรัฐอเมริกา↩
- ลักษณะโครงสร้างรายจ่ายที่เกินรายได้ของครัวเรือนรายได้ต่ำนั้น พบในประเทศอื่นเช่นกัน อาทิ สหราชอณาจักร (Piyapromdee and Spittal, 2020) สหรัฐอเมริกา (Trusts, 2006) หรือ อิสราเอล (Sheraberman, 2018)↩