Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/fd5e6a9d5b6f8bb566eee62e7fd2508b/e9a79/cover.png
26 สิงหาคม 2563
20201598400000000

เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 2 แรงงานทักษะสูง

มองภาพการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในไทย ผ่านข้อมูลประกันสังคม
ชมนาถ นิตตะโยโสภณ ธัญญาเวชกิจบวรวิชญ์ จินดารักษ์นันทนิตย์ ทองศรี
เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 2 แรงงานทักษะสูง
excerpt

บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ของชุดบทความเปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย โดยในตอนนี้จะมุ่งศึกษาโครงสร้างการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูง (high-skilled foreign workers) รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้า ผลการศึกษาชี้ว่า ตลาดแรงงานไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ (low-skilled foreign workers) โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตขนาดใหญ่ที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI) นอกจากนี้พบว่า กิจกรรมที่ใช้ทักษะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา ต้องการแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างมาก ดังนั้น การมีนโยบายการบริหารจัดการและดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ชัดเจนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งในระยะสั้นที่การระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ และในระยะยาวที่โลกเข้าสู่ยุคความปกติใหม่ (new normal)

การดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่เปิดรับแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในสาขาที่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในสาขาไอที (information technology) สาธารณสุข การศึกษา และงานวิชาชีพอื่น ๆ (McLaughlan & Salt, 2002) แรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยเติมเต็มแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้กับประเทศ ทำให้ค่าจ้างในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศปลายทาง (Grossman, 2016) สำหรับประเทศไทย แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (Asian financial crisis) ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จนในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว

บทความนี้ จึงมุ่งศึกษาภาพรวมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทย โดยใช้ข้อมูลผู้ประกันตนภาคบังคับจากสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ การแบ่งกลุ่มแรงงานจะใช้เกณฑ์ค่าจ้าง ซึ่งแรงงานต่างด้าวทักษะสูง คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน1 (ซึ่งเป็นเพดานเงินเดือนสำหรับคำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม) ขณะที่แรงงานทักษะต่ำ คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ข้อมูลนี้แสดงภาพลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 8 หมื่นคน ครอบคลุมร้อยละ 53.7 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ถูกกฎหมายทั้งหมด2 โดยเราสนใจศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ระดับการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะสูง รวมถึงอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งนำเสนอในรูปแบบของข้อเท็จจริง 4 ประการ ดังนี้

1. จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด

รูปที่ 1 แสดงจำนวนและสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแยกตามสัญชาติ

แสดงจำนวนและสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแยกตามสัญชาติ

หมายเหตุ: สัญชาติอื่น ๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อเมริกัน และมาเลเซีย ฯลฯที่มา: คณะผู้วิจัย คำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม

หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทยในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสัญชาติหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอังกฤษ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจาก 17,526 คน ในปี 2002 มาเป็น 86,830 คน ในปี 2019 โดยเพิ่มขึ้นในทุกสัญชาติ แม้จะมีบางช่วงที่การจ้างงานทรงตัวบ้าง แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008–2009

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนแรงงานแยกตามสัญชาติ พบว่า แรงงานจีนและฟิลิปปินส์ถือว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วงปี 2002 ถึง 2019 แรงงานจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 19 โดยเฉพาะในภาคการผลิต การค้า ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับข้อมูล FDI จากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นมากในประเภทธุรกิจเหล่านี้ (BOT, 2020) ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้นักธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศ (going-out policy) รวมถึงในช่วงปี 2013 จีนต้องการลดแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา (anti-dumping) โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยาง จึงทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น (ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน, 2015) ในส่วนของแรงงานฟิลิปปินส์ พบว่ามีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการว่างงานที่สูงและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ

ในขณะที่แรงงานจีนและฟิลิปปินส์มีบทบาทมากขึ้น แรงงานญี่ปุ่นซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกลุ่มหลักในไทยกลับเริ่มมีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 29 ในปี 2002 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2019 สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่า FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิต (BOT, 2020) นอกจากนี้ข้อมูลในระบบประกันสังคมยังชี้ว่าจำนวนนายจ้างที่จ้างแรงงานญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากไทยมากขึ้น

ในภาพรวม หากเปรียบเทียบแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกับแรงงานทั้งหมดยังถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อย จากรูปที่ 2 พบว่า ในช่วงแรกแรงงานต่างด้าวทักษะสูงและทักษะต่ำมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ในระยะหลังกลับพบว่าสัดส่วนของแรงงานทั้งสองกลุ่มต่างกันค่อนข้างมาก โดยแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในปี 2019 จากผลของนโยบายสำคัญ3 คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2011 และการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2018 ขณะที่นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแต่อย่างใด สะท้อนจากสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคม ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนอย่าง แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์4 และสหรัฐอเมริกาพบว่ามีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก อยู่ที่ร้อยละ 53, 41, 37, 29 และ 25 ตามลำดับ (OECD, 2016)

รูปที่ 2 แสดงสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวแต่ละประเภท

แสดงสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวแต่ละประเภท

ที่มา: คณะผู้วิจัย คำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม

2. แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศนั้น ๆ ขณะที่กิจการขนาดเล็กยังมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย

เมื่อพิจารณาลักษณะงานของแรงงานแต่ละสัญชาติ ดังแสดงในรูปที่ 3 พบว่า แรงงานญี่ปุ่นและจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิต โดยญี่ปุ่นจะเน้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่จีนจะเน้นที่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (BOT, 2020) นอกจากนี้ ยังมีการจ้างแรงงานจีนในภาคการค้า กิจกรรมบริหารและการบริการสนับสนุน (ธุรกิจนำเที่ยว) และอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากแต่จำนวนแรงงานจีนในกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับแรงงานอินเดียจะกระจายไปในประเภทธุรกิจต่าง ๆ โดยอยู่ในภาคการผลิต (ยางและเคมีภัณฑ์) การค้า และธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (โดยเฉพาะการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ขณะที่แรงงานฟิลิปปินส์และอังกฤษค่อนข้างกระจายไปในภาคการค้าและบริการ โดยแรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี รวมทั้งกิจกรรมด้านสุขภาพ (โดยเฉพาะงานพยาบาล) ขณะที่แรงงานอังกฤษส่วนใหญ่อยู่ในกิจกรรมทางวิชาชีพ (โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ กิจกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม) รวมถึงอยู่ในกิจกรรมการศึกษา

จะเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่อยู่ในกิจการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยบริษัทขนาดเล็กยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดบางประการ เช่น นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะต้องมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อคนไทย 1 ต่อ 4 คน (กระทรวงแรงงาน, 2020) ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ที่ต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงได้

รูปที่ 3 แสดงสัดส่วนการกระจายตัวของแรงงานต่างด้าวทักษะสูง แยกตามประเภทธุรกิจ

แสดงสัดส่วนการกระจายตัวของแรงงานต่างด้าวทักษะสูง แยกตามประเภทธุรกิจ

หมายเหตุ: ธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีจำนวนแรงงานในบริษัทน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 คน ขนาดกลาง (M) มี 51–200 คน และ ขนาดใหญ่ (L) มี 201 คน ขึ้นไปที่มา: คณะผู้วิจัย คำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม ณ ก.ค. 2019

3. แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเป็นที่ต้องการในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา

จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจแต่ละประเภทมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนที่แตกต่างกัน รูปที่ 4 แสดงจำนวนและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในธุรกิจหนึ่ง ๆ โดยแกนนอนแสดงจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ส่วนแกนตั้งแสดงสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงต่อแรงงานทักษะสูงทั้งหมด (รวมคนไทย) ในธุรกิจนั้น จากรูปจะเห็นได้ว่า ภาคการผลิตและขายส่งขายปลีกมีจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานไทยแล้ว พบว่าธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในภาคการผลิตอาจไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะบางประการซึ่งหายากในไทย จึงต้องอาศัยการจ้างแรงงานต่างด้าว

รูปที่ 4 แสดงระดับการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูง แยกตามประเภทธุรกิจ (ISIC)5

แสดงระดับการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูง แยกตามประเภทธุรกิจ (ISIC)

ที่มา: คณะผู้วิจัย คำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม ณ ก.ค. 2019

หากเราแบ่งกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าค่าเฉลี่ย6 จะได้กลุ่มธุรกิจที่แสดงด้วยเครื่องหมายสามเหลี่ยม ดังรูปที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนและสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างมาก ได้แก่

  1. กิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เช่น ตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟแวร์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
  2. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม และงานบริการอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ
  3. งานวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคนิค เช่น ตำแหน่งวิศวกร ที่ปรึกษา และนักวิทยาศาสตร์ และ
  4. กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน เช่น กิจกรรมนำเที่ยว และธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่เป็นที่ต้องการในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา

ในบรรดาธุรกิจเหล่านี้ กลุ่มกิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร หรืองานที่อาศัยทักษะดิจิทัล เช่น ทักษะการเขียนโปรแกรม หรือการจัดการกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2017–2018 พบว่า ภาคธุรกิจยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจำเป็นต้องย้ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการวิจัยไปในประเทศที่มีนโยบายการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นและเสรีกว่า เช่นสิงคโปร์ (พงศ์ศรัณย์ และพัชรพร, 2018)

4. แรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ (S-Curve) มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 ย่อมต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจึงสนใจว่าแรงงานเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใดที่อยู่ในอุตสาหกรรมสำคัญในอนาคต รูปที่ 5 แสดงการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (first S-Curve)7 และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (new S-Curve)8 โดยภาพรวม การจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น นั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) รองลงมา คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) ที่ร้อยละ 4 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับแรงงานไทยทักษะสูง

นอกจากนี้ พบว่า ในปี 2019 สัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีเพียงประมาณร้อยละ 33.5 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมดเท่านั้น โดยอยู่ใน First S-Curve และ New S-Curve เท่ากับร้อยละ 15.5 และ 18.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่ม First S-Curve มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นสำคัญ ขณะที่ในกลุ่ม New S-Curve มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.9 เป็น 18.0 จากอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นสำคัญ

ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเรายังมีแรงงานทักษะสูงอีกเกือบร้อยละ 70 ที่กระจายอยู่ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยตรง ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีการวางแผนการดึงดูดแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่จำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากขึ้น

รูปที่ 5 แสดงสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

แสดงสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

หมายเหตุ: การจัดกลุ่ม ISIC ตามอุตสาหกรรม S-Curve อ้างอิงจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา (2017)9ที่มา: คณะผู้วิจัย คำนวณจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมีแนวโน้มทำได้ยากขึ้น หลายประเทศควบคุมการระบาดด้วยการปิดพรมแดน และจำกัดการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แม้ว่าในระยะสั้นจะมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ในระยะยาวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงานทักษะสูงยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการวางแผนกำลังแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งแผนการพัฒนาแรงงานในประเทศและการวางนโยบายดึงดูดแรงงานทักษะจากต่างประเทศ

จากผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยยังต้องการแรงงานทักษะสูงจำนวนมากในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา การวางแผนพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้และทักษะเหล่านี้ย่อมช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะได้ อย่างไรก็ตาม การผลิตแรงงานในประเทศให้เพียงพอ ทันเวลา และตรงตามความต้องการเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงงานจำเป็นต้องมีทักษะมากขึ้นกว่าในอดีตเพื่อให้สามารถรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการทำงานรูปแบบใหม่ แต่โครงสร้างทักษะแรงงานของไทยกว่าร้อยละ 70 เป็นกลุ่มทักษะปานกลางถึงต่ำและแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นแล้วการดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูงจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ในระยะยาวการพึ่งพิงแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราควรเน้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่แรงงานไทย ซึ่งในปัจจุบันเรามีกระบวนการที่ให้แรงงานไทยมีโอกาสได้รับเข้าฝึกอบรมทักษะในโรงงานต่างประเทศแลกกับการเข้ามาของแรงงานต่างชาติแต่ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ

ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเข้ามาทำงานในไทยได้ เช่น การผ่อนคลายด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ โดยกฎระเบียบที่มากเกินไปนั้นทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและประเทศอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น นายจ้างที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวได้นั้น ต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะต้องมีสัดส่วนต่างด้าวต่อคนไทยประมาณ 1 ใน 4 ทำให้บริษัทขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) อาจไม่สามารถจ้างแรงงานทักษะสูงได้ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ เช่น การจัดโครงการแข่งขัน Startup การฝึกอบรม หรือการสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เนื่องด้วยเรายังขาดแรงงานทักษะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งกระบวนการสร้างระบบนิเวศน์นั้นควรดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างแรงจูงใจด้วยการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อวีซ่า การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิ์ของแรงงาน และรวมไปถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และความมั่นคงปลอดภัยด้านอื่น ๆ

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวข้างต้นควรทำควบคู่ไปกับการรักษาโอกาสในการทำงานของแรงงานไทยด้วยการกำหนดระยะเวลาของวีซ่า กำหนดรายได้ขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งต้องไม่มีแรงงานในประเทศในตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งงานแรงงานในประเทศ อีกทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อแรงงานในประเทศได้ทันท่วงที และสำคัญที่สุดคือการยกระดับแรงงานในประเทศให้สามารถแข่งขันได้และมีนโยบายที่ดึงแรงงานไทยที่มีทักษะที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาทำงานช่วยประเทศตนเอง ดังเช่นตัวอย่างในประเทศอินเดียและจีน

เอกสารอ้างอิง

BOT. (2020). “Foreign direct investment classified by country.” Available at https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=855&language=th

Grossmann, V. (2016). “How immigration affects investment and productivity in host and home countries.” IZA World of Labor.

Jiajia Li, A. (2020). “The invisible during the pandemic.” Available at: https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/invisible-during-pandemic

McLaughlan, G., & Salt, J. (2002). “Migration policies towards highly skilled foreign workers

OECD.” (2016). “Database on Immigrants in OECD and non-OECD Countries: DIOC.” Available at http://www.oecd.org/els/mig/dioc.htm

Singapore, Ministry of Manpower. (2019). “Statistical Table: Labor Force.” Available at https://stats.mom.gov.sg/Pages/LabourForceTimeSeries.aspx

S-Curve Hub. (2020). อุตสาหกรรม S-Curve. เข้าถึงได้จาก https://www.scurvehub.com/about

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2017). รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายรายงาน. เข้าถึงได้จาก https://www.ipthailand.go.th/th/

กระทรวงแรงงาน. (2020). การขออนุญาตทำงาน. เข้าถึงได้จาก https://www.mol.go.th/

พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ, และพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์, (2018). เมื่อโลกกำลังทำสงครามแย่งชิงคนเก่ง ประเทศไทยทำอะไรอยู่. เข้าถึงได้จาก https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน. (2015). มารู้จักยางยักษ์ใหญ่ของมณฑลซานตง “Linglong Tyres”. เข้าถึงได้จาก https://thaibizchina.com/

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (2019). สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน กรกฎาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.doe.go.th/


  1. ไม่นับรวมแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชา ไร้สัญชาติ และชนกลุ่มน้อย เนื่องจากลักษณะงานของแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างใช้ทักษะพื้นฐาน ↩
  2. แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายมาจากจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (2019) ↩
  3. สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความฉบับแรก (เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวในไทย: ตอนที่ 1 แรงงงานทักษะต่ำ)↩
  4. สิงคโปร์ไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขแรงงานต่างด้าวทักษะสูงโดยตรง จึงประมาณการตัวเลขจาก Singapore, Ministry of Manpower (2019) และ Jiajia Li A. (2020)↩
  5. ในส่วนของภาคการศึกษาพบว่ามีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน โดยเฉพาะครูสอนภาษา แต่หากพิจารณาในแง่จำนวนแรงงานยังมีไม่มากนัก และส่วนหนึ่งที่เห็นว่าสัดส่วนของแรงงานต่างด้าวต่อคนไทยค่อนข้างสูงอาจเนื่องมาจากครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบประกันสังคม↩
  6. ค่าเฉลี่ยของจำนวนแรงงานต่างด้าวในแต่ละธุรกิจอยู่ที่ 4,000 คน และค่าเฉลี่ยของสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงต่อแรงงานทักษะสูงทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 3↩
  7. First S-Curve เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (next-generation automotive) 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (agriculture and biotechnology) และ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (food for the future) จากข้อมูล S-Curve Hub (2020)↩
  8. New S-Curve เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (new growth engines) ของประเทศ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (aviation and logistics) 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (biofuels and biochemicals) 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) และ 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)↩
  9. การแบ่งในระดับนี้ ยังไม่สามารถแยกระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ชัดเจนนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว↩
ชมนาถ นิตตะโย
ชมนาถ นิตตะโย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
โสภณ ธัญญาเวชกิจ
โสภณ ธัญญาเวชกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บวรวิชญ์ จินดารักษ์
บวรวิชญ์ จินดารักษ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
นันทนิตย์ ทองศรี
นันทนิตย์ ทองศรี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Labor and Demographic EconomicsProductivity and Technological Change
Tags: high-skilled labormigrant labormigration policy
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email