ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลกับความพร้อมของครัวเรือนไทยผ่านการศึกษา “Digital literacy”
excerpt
ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literacy) ว่าจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด บทความนี้จึงเสนอวิธีการวัด Digital literacy เพื่อเป็นดัชนีกลางในการประเมินศักยภาพของครัวเรือนไทยในยุคดิจิทัล จากการวิจัยพบว่าครัวเรือนไทยบางส่วน (ประมาณร้อยละ 18) ยังมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ต่ำ (Digital illiterate) ซึ่งกลุ่มประชากรดังกล่าวมักจะตกงานหรือทำงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นปัจจัยใหม่ที่อาจซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและความมั่งคั่งปรับสูงขึ้น นโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และช่องทางในการเข้าถึงบริการทางการเงินนั้น ส่งผลต่อรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง บทความวิจัยนี้จึงมุ่งหวังที่จะศึกษาความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการวัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ของครัวเรือนไทย ซึ่ง digital literacy เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถกำหนดโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต
ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดย OECD (2019) ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเติบโตที่แท้จริงของ GDP ในกลุ่มประเทศ ASEAN ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของธุรกิจแบบดั้งเดิม เช่น การทำการเกษตรตามฤดูกาล การมีกระบวนการผลิตด้วยแรงงานคน และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งหากประเทศไทยและกลุ่มประเทศ ASEAN เพียงแค่ต้องการจะรักษาอัตราการเติบโตไว้ในอัตราที่ใกล้เคียงเดิม การสนับสนุนธุรกิจแบบดั้งเดิมจะไม่เพียงพออีกต่อไป แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้วิจัยได้นิยามระบบเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ว่า จะต้องมีองค์ประกอบหลักอย่างน้อย 3 ประการดังแสดงในภาพที่ 1 ได้แก่
- digital infrastructure หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายโทรคมนาคมที่พร้อมสำหรับการสื่อสารและดำเนินธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ และ
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการผลิต
ทั้งนี้ ความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับความสามารถของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ผู้ประกอบการ และภาครัฐในการมีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่า ทุกภาคส่วนจะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงที่สุด
บทความวิจัยนี้จึงมุ่งเป้าในการวัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลในระดับครัวเรือน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการบริโภค การเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงศักยภาพของครัวเรือนในการประกอบธุรกิจด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างมากต่อวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (micro and small enterprises) ยกตัวอย่างเช่น e-commerce ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางแบบดั้งเดิม และสามารถขายสินค้าในลักษณะไร้พรมแดน ซึ่งบริการต่าง ๆ ที่เสนอโดย e-commerce platform ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “everything-as-a-service model” ที่ผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินลงทุนสูงในการสร้างหรือซื้อปัจจัยเพื่อการประกอบธุรกิจบางด้าน แต่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจผ่านการเช่าใช้บริการหรือเช่าใช้สินทรัพย์บางประเภทได้ทันทีจาก service providers ต่าง ๆ
งานวิจัยหลายฉบับต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก จนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่าง ๆ สามารถเอาชนะกับดักของรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ได้ในอนาคต (ERIA-OECD, 2014; Bain & Company, 2018; Deloitte, 2018).
การชี้วัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลนั้น เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก ซึ่งกรอบแนวคิดของการวัด digital literacy นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกจากความพยายามในการวัดความสามารถด้านเทคโนโลยีในช่วงปี ค.ศ. 1980 ที่เพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ชื่อทักษะในอดีตจึงอาจเรียกว่า ICT fluency, digital competency หรือ computer literacy เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนหลอมรวมเข้ากับการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจอย่างแยกไม่ออก จึงเกิดแนวคิดของการวัด digital literacy แบบองค์รวมมากยิ่งขึ้น อาทิ Stordy (2015) ที่กล่าวว่า digital literacy หมายถึง “the abilities a person or social group draws upon when interacting with digital technologies to derive or produce meaning, and the social, learning and work-related practices that these abilities are applied to” ขณะที่ Ng (2012) เสนอว่า digital literacy คือทักษะร่วมระหว่าง 1) technical skills 2) cognitive skills และ 3) social-emotional skills จน Spengler (2015) ต่อยอดแนวคิดว่า digital literacy คือการรวมกันของ 3 ทักษะได้แก่ 1) computer literacy 2) media literacy และ 3) information literacy
จากนิยามและกรอบแนวคิดที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จึงทำให้ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางในการวัด digital literacy เพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถนำไปขยายผลเพื่อวัดระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของครัวเรือนไทยได้ในวงกว้าง ซึ่งองค์ประกอบย่อย 4 ปัจจัยที่จะต้องมีการวัดเพื่อสร้างเป็นดัชนี digital literacy ประกอบด้วย
- digital technology access ซึ่งเป็นการวัดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์
- digital skills ที่มุ่งเน้นวัดทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
- digital knowledge ซึ่งวัดความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล และ
- cyber risk awareness ที่ประเมินการตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัล
การศึกษาระดับ digital literacy ของครัวเรือนไทยจึงเริ่มต้นจากการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธี stratified sampling ตามมิติของอายุเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุม 4 เจเนเรชั่นสำคัญ อันได้แก่ Baby boomers, Gen-X, Millennials และ Gen-Z นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างจะมีการกระจายตัวตามเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 500 กลุ่มตัวอย่าง ดังแสดงในภาพที่ 2 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างภายใต้การศึกษามีความครอบคลุมทั้งในมิติของกลุ่มอาชีพ ระดับการศึกษา และระดับรายได้
จากการศึกษาพบว่า ภาพรวมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology access) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน smartphone โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 เครื่องต่อครัวเรือน รองลงมาคือ laptop/notebook ที่ 1 เครื่อง นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับรายได้ ดังแสดงในภาพที่ 3
ในส่วนของทักษะด้านดิจิทัล (digital skills) พบว่าเจเนเรชั่น Millennials มีทักษะที่สูงกว่า Gen-Z ในทุกมิติ ยกเว้นมิติของการใช้ graphic software ดังแสดงในภาพที่ 4 สะท้อนให้เห็นว่าทักษะด้านดิจิทัลอาจไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติได้ แต่จะต้องอาศัยระบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาทักษะดังกล่าว สาเหตุที่ Gen-Z มีทักษะด้าน graphic software ที่สูง อาจเป็นผลจากความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ที่มักจะมีอาชีพในอุดมคติเป็น Blogger, Youtuber หรือ Influencer เป็นต้น
การเกิดขึ้นของ “digital divide” หรือความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลค่อนข้างเห็นได้ชัดในประเทศไทย เพราะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจเนเรชั่น Baby boomer และรายได้น้อยมีทักษะดิจิทัลที่ต่ำมากอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่น นอกจากนี้ หากจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามมิติของอาชีพจะค้นพบผลที่น่าสนใจว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพพื้นฐานต่าง ๆ เช่น แม่บ้าน คนขับรถ หรือคนที่ไม่มีงานทำเพราะตกงาน จะเป็นกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัลต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น ดังแสดงในภาพที่ 5 สะท้อนให้เห็นว่าทักษะดิจิทัลอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดประเภทอาชีพและโอกาสด้านรายได้ในอนาคต
ผลลัพธ์ที่น่าสนใจอีกมิติคือ ด้านความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (digital knowledge) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Gen-Z มักจะประเมินตนเอง (self-assessment) ว่ามีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่สูง แต่เมื่อมีการทดสอบด้วยข้อสอบจะพบว่าคะแนนที่ได้จริงกลับลดต่ำลงมาก ดังแสดงในภาพที่ 6 ความมั่นใจที่ผิดที่คิดว่าตนเองมีความรู้ที่มากเพียงพอแล้วเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ผู้วางนโยบายจะต้องหากลไกและสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กรุ่นใหม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
เมื่อวิเคราะห์ที่การตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ (cyber risk awareness) พบว่า เจเนเรชั่น Millennials มีวุฒิภาวะและความพร้อมในมิติของความเสี่ยงในโลกดิจิทัลที่สูงกว่า Gen-Z ในขณะที่ Gen-Z มีการตระหนักรับรู้ใกล้เคียงกับ Gen-X ดังแสดงในภาพที่ 7 ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องความเสี่ยงทาง Cyber ไม่ว่าจะเป็นมิติของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ควรปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่ควรปล่อยให้เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ
ข้อมูลจากการสำรวจที่มีการฉายภาพข้างต้น เป็นข้อมูลบางส่วนที่มาจากคำถามย่อยที่พัฒนาเพื่อวัด digital literacy ทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย เนื่องจากในแต่ละองค์ประกอบย่อยมีการวัดด้วยคำถามย่อยหลายคำถาม การสร้างเกณฑ์กลางหรือตัวแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นคะแนนหรือดัชนีที่วัด digital literacy จึงใช้กระบวนการทางสถิติที่เรียกว่า Principle Component Analysis (PCA) เพื่อรวบรวมคำถามย่อยต่าง ๆ ให้เป็นค่าดัชนีที่สะท้อนคะแนนในแต่ละองค์ประกอบย่อย
ภายหลังการทำ PCA ของทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย จะได้คะแนนในรูปแบบ Z-score (ตัวแปรมาตรฐานที่มีการกระจายตัวแบบปกติ) เมื่อหาความสัมพันธ์ของคะแนนทั้ง 4 องค์ประกอบย่อยได้ผลดังตารางที่ 1 พบว่า มิติของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมีค่าสหสัมพันธ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีที่วัดทักษะและความรู้ด้านดิจิทัลอื่น ๆ ดังนั้น นโยบายที่สนับสนุนให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลในต้นทุนที่ถูกไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ผู้วางนโยบายควรให้ความสำคัญ แต่เป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นของการสร้างความพร้อมด้านดิจิทัลของประเทศเท่านั้น
เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย cross-sectional regression เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับของ digital literacy ในแต่ละมิติ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเจเนชั่น Millennials จะมีคะแนนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญโดดเด่นในทุกมิติของ digital literacy เมื่อเทียบกับเจเนเรชั่น Baby boomer ที่ตกงานและมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูงกว่า 500,000 บาทต่อปี และประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มที่เป็นผู้บริหารและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ต่างเป็นกลุ่มที่มีทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านดิจิทัล และการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านดิจิทัลที่โดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ
เพื่อให้สามารถฉายภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ครัวเรือนไทยลักษณะใดจะมีระดับ digital literacy ที่สูงหรือต่ำ งานวิจัยฉบับนี้จึงได้ทำการวิเคราะห์จำแนกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีทางสถิติที่เรียกว่า K-means cluster analysis เพื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างตามระดับคะแนน digital literacy ทั้ง 4 องค์ประกอบย่อย
ผลของการวิเคราะห์ด้วย K-means clustering ทำให้สามารถจำแนกกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- Digital fluency
- Digital neutral และ
- Digital illiterate
โดยผลของคะแนนในแต่ละองค์ประกอบย่อยได้ผลดังตารางที่ 2 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 19 มีระดับ digital literacy ที่ต่ำ
เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วย correspondence analysis เพื่อประเมินลักษณะเด่นของแต่ละกลุ่ม clusters ได้ผลดังตารางที่ 3 ซึ่งกลุ่ม Digital fluency จะเป็นกลุ่มที่สัมพันธ์กับเจเนเรชั่น Millennial เป็นหลัก ประกอบอาชีพในกลุ่ม professionals และมีรายได้สูงกว่า 5 แสนบาทต่อปี ในขณะที่กลุ่ม Digital neutral จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยเรียน หรือหากทำงานก็จะมีรายได้ปานกลาง
กลุ่ม Digital illiterate ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากังวลว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์กับ Gen-X และ Baby boomers ไม่ได้ทำงานเพราะไม่สามารถหางานได้ และมีรายได้ที่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่ม Digital illiterate ได้รับผลกระทบไปบ้างแล้วจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลในประเทศไทยได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ถึงแม้ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ใช่ความท้าทายหลัก แต่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ตกงาน หรือประกอบอาชีพพื้นฐานจะประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาขีดความสามารถ และรายได้หากขาดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลแบบองค์รวมที่เหมาะสม
งานวิจัยฉบับนี้พบว่า สมมติฐานที่ทักษะด้านดิจิทัลจะสามารถพัฒนาขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการสนับสนุนให้ประชากรเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เป็นสมมติฐานที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า จะมีความเหมาะสมและสามารถนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การส่งเสริม digital literacy จะต้องให้ความสำคัญอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเพิ่มทักษะในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐานได้ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมักจะถูกใช้ไปเพื่อความบันเทิง และเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่ทักษะดิจิทัลหรือการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านข้อมูลดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น นโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่ทำงานในกลุ่มใช้แรงงาน ได้มีความสามารถในการประกอบวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่งเช่นการทำเกษตรกรรม การหัตถกรรม หรือการประติมากรรมจึงไม่ใช่ทักษะความรู้เดียวที่ควรส่งเสริม แต่ภาคส่วนต่าง ๆ ควรจัดสรรงบประมาณและร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างเข้มข้นพร้อมกันไปด้วย
Bain & Company. (2018). ADVANCING TOWARDS ASEAN DIGITAL INTEGRATION Empowering SMEs to Build ASEAN’s Digital Future. Bain & Co.
Deloitte. (2018). Everything as a Service A new era of value delivery. Monitor Deloitte.
ERIA-OECD. (2014). ASEAN SME Policy Index 2014: Towards competitive and innovative ASEAN SMEs. Jakarta: Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA).
Ng, W. (2012). Can we teach digital natives digital literacy? . Computers and Education, 59(3), 1065–1078.
OECD. (2019). Southeast Asia Going Digital: Connecting SMEs. OECD.
Spengler, S. (2015). Educators’ Perceptions of a 21st Century Digital Literacy Framework. Doctoral Dissertation, Walden University.
Stordy, P. (2015). Taxynomy of literacies. Journal of Documentation 71(3), 456–476.