Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/3b143104cd761d7d61fc3abb3562eb8d/e9a79/cover.png
28 เมษายน 2564
20211619568000000

เงินเฟ้อไทย เสี่ยงสูงหรือต่ำ

อัตราเงินเฟ้อไทยมีความเสี่ยงทั้งด้านต่ำและด้านสูง แต่ ธปท. และหน่วยงานภาครัฐอาจลดความเสี่ยงบางส่วนนี้ได้
มณีรัตน์ ก้องเสียงพงศ์พิชย์ อมาตยกุล
เงินเฟ้อไทย เสี่ยงสูงหรือต่ำ
excerpt

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไทยจะอยู่ในระดับต่ำจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิต อัตราเงินเฟ้อที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ เป็นหนึ่งในความท้าทายในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย บทความนี้จึงได้ศึกษาอัตราเงินเฟ้อในอนาคต (the distribution of forecasted inflation) ที่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเงิน 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยด้านต่างประเทศ ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ปัจจัยด้านภาวะทางการเงิน และปัจจัยเฉพาะสำหรับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละหมวด เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของอัตราเงินเฟ้อไทยและเสนอแนวทางในการดำเนินนโยบาย โดยความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อในอนาคตและตัวแปรทางเศรษฐกิจในงานศึกษาชี้ว่าธนาคารกลางในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงินอาจสามารถช่วยรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านการชี้นำอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในภาวะปกติ และในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี พบว่าช่องทางเงินเฟ้อคาดการณ์อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาต่ำ (left tail of forecasted inflation distribution) แต่ธนาคารกลางและหน่วยงานภาครัฐยังสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัตราเงินฝืดได้ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงเงินเฟ้อขาต่ำนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และราคาสินค้าและบริการในอนาคต

ทำไมจึงต้องสนใจอัตราเงินเฟ้อ?

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก ตามอุปสงค์ของสินค้าและบริการที่ลดลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แม้นักวิเคราะห์บางส่วนจะคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศและปัญหาด้านอุปทาน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ ธนาคารกลางควรดำเนินนโยบายการเงินเหมือนในภาวะที่ราคาสินค้าและบริการขยายตัวในระดับปกติหรือไม่ ทั้งนี้ มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในแต่ละระดับมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดย IMF (2020) และ BIS (2020) ได้ศึกษาอัตราเงินเฟ้อในช่วงขาต่ำ (left tail of forecasted inflation distribution) ของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป พบว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์และภาวะทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยอธิบายการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบว่าสำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราเงินเฟ้อในแต่ละระดับตอบสนองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างกัน กล่าวคือ ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำจะตอบสนองต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาก ในขณะที่เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูง ผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อได้น้อย ปรากฎการณ์นี้อาจเป็นผลของการที่ภาคธุรกิจอาจมีเพดานราคา (upper price bound) ทำให้การตั้งราคาจะมีความยืดหยุ่นเฉพาะในช่วงที่อุปสงค์ต่ำ (Nakamura and Steinsson, 2011)

สำหรับธนาคารกลาง อัตราเงินเฟ้อและค่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (inflation forecast) มีความสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ที่ดูแลไม่ให้ราคาสินค้าในภาพรวมสูงเกินไปจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไปจนลดทอนแรงจูงใจในการผลิตสินค้าและบริการของภาคเอกชน ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอผลการศึกษาในบริบทของไทยใน 3 มิติ ดังนี้

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อในอนาคตในระดับต่าง ๆ (points on forecasted distributions) และตัวแปรทางเศรษฐกิจ
  2. การพยากรณ์ความเป็นไปได้ของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต (distributions of forecasted inflation) และ
  3. นัยของผลการศึกษาต่อการดำเนินนโยบายการเงิน

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อในระดับต่าง ๆ และตัวแปรทางเศรษฐกิจ

งานศึกษานี้มุ่งศึกษาการกระจายตัวของอัตราเงินเฟ้อในอนาคตในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า (1-year-ahead forecasted inflation distribution) โดยปกติ ความเป็นไปได้ของอัตราเงินเฟ้อจะกระจุกอยู่ที่ค่ากลางและจะลดหลั่นลงไปเมื่ออัตราเงินเฟ้อออกห่างจากค่ากลาง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ จึงได้แบ่งอัตราเงินเฟ้อออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (อัตราเงินเฟ้อที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 และ 30) ภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ (อัตราเงินเฟ้อที่ เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) และภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง (อัตราเงินเฟ้อที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 70 และ 90) เพื่อศึกษาว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละระดับ ตอบสนองต่อภาวะทางเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบสำคัญว่าธนาคารกลางควรจะดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร

การศึกษานี้ใช้ข้อมูลรายเดือนตั้งแต่ปี 2003 โดยศึกษาทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) และอัตราเงินเฟ้อรายองค์ประกอบ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด (raw food price inflation) และอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน (energy price inflation) สำหรับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่นำมาอธิบายการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อพัฒนามาจากทฤษฎี Phillips curve1 และได้เพิ่มเติมปัจจัยที่มีความสำคัญในระยะหลังเพื่อให้แบบจำลองสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น โดยสามารถแบ่งตัวแปรออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. ปัจจัยด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และอัตราการว่างงาน
  2. ปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น ปริมาณการค้าโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินค้านำเข้า โดยตัวแปรทั้งสองกลุ่มข้างต้นสะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์และอุปทานที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ โดยนอกจากจะพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ปัจจัยจากต่างประเทศก็มีความสำคัญเนื่องจากประเทศไทยเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตและการค้าโลกมากขึ้นผ่านการส่งออกสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในประเทศได้รับอิทธิพลจากความต้องการและการผลิตของโลกเช่นกัน
  3. ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ เป็นอีกกลุ่มตัวแปรที่มีบทบาทมากโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทยที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งราคา และการใช้จ่ายซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในที่สุด เช่น หากเราคาดการณ์ว่าราคาสินค้าจะลดลงในอนาคต เราจะชะลอการใช้จ่ายในปัจจุบันเพื่อรอบริโภคสินค้าและบริการในราคาที่ถูกลง ตัวแปรในกลุ่มนี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้ประกอบการ และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่คำนวณจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
  4. ปัจจัยด้านภาวะทางการเงิน เป็นปัจจัยที่ถูกกล่าวถึงมากตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 โดยมองว่าภาวะการเงินเป็นเครื่องสะท้อนต้นทุนในการระดมทุน รวมถึงความเสี่ยงของภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจที่จะกระทบราคาสินค้าและบริการ ตัวอย่างตัวแปรในกลุ่มนี้ เช่น ผลตอบแทนการลงทุนตราสารทุน ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (credit spread) และดัชนีความผันผวนต่าง ๆ
  5. ปัจจัยเฉพาะสำหรับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละหมวด ปัจจัยกลุ่มนี้จะให้ข้อมูลเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอัตราเงินเฟ้อรายหมวด เช่น ปริมาณการผลิตน้ำมันโลก ปริมาณการบริโภคน้ำมันโลก รวมถึงสัญญาการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ช่วยอธิบายการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน หรือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับราคาอาหารสด เช่น ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาอาหารโลก และภาวะอากาศ ก็ช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดได้เช่นกัน

ปัจจัยทั้ง 5 กลุ่มนี้จะถูกคัดเลือกก่อนนำไปใช้ในสมการถดถอย โดยใช้แนวคิด LASSO ช่วยคัดกรองเฉพาะตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อลดปัญหา overfitting จากการมีตัวแปรมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความแม่นยำในการพยากรณ์มากขึ้น หลังจากนั้นจะศึกษาผลของตัวแปรแต่ละกลุ่มต่ออัตราเงินเฟ้อในแต่ละระดับผ่านการทดสอบโดยใช้ quantile regression ซึ่งเป็นเทคนิคสมการถดถอยประเภทหนึ่งที่จะแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรในแต่ละจุดของการกระจายตัว (distribution) ที่อาจจะแตกต่างกันได้ แตกต่างจากสมการถดถอยแบบ ordinary least squares ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเฉพาะที่ค่ากลางของการกระจายตัวเท่านั้น

ตารางที่ 1 ตัวอย่างตัวแปรที่ใช้ทดสอบ

ตัวอย่างตัวแปรที่ใช้ทดสอบ

ที่มา: Gongsiang and Amatyakul (2021)

ข้อสรุปสำคัญจากงานศึกษา 4 ประการ

ข้อสรุปที่ 1

อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์มีความสัมพันธ์กับค่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (forecasted core inflation) โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางอาจใช้เครื่องมือการสื่อสารนโยบายการเงินกำหนดอัตราเงินเฟ้อได้ ผ่านการชี้นำการคาดการณ์ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ดีอาจไม่เพียงพอที่จะรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไว้ได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรุนแรง สะท้อนจากการตอบสนองที่ต่ำของอัตราเงินเฟ้อ ณ เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ต่อเงินเฟ้อคาดการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับระดับปกติ (รูปที่ 1 – Inflation Expectation)

ข้อสรุปที่ 2

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสัมพันธ์กันเพียงในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (left tail of forecasted distribution) กล่าวคือ แม้ว่าการส่งผ่านผลของเศรษฐกิจไปยังราคาสินค้าและบริการ จะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในภาวะปกติและภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง แต่ในด้านขาต่ำอัตราเงินเฟ้อยังตอบสนองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (รูปที่ 1 – Leading Economics Index (LEI)) ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อหดตัวมาก ผู้ดำเนินนโยบายอาจยังพยุงอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน สะท้อนผ่านตัวแปร world production ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 1 – World Production)

รูปที่ 1 Quantile regression coefficients (Core inflation)

Quantile regression coefficients (Core inflation)

หมายเหตุ: The x-axis represents the quantiles, ranging from 0.1 (10th percentile) to 0.9 (90th percentile). The y-axis represents the value of the coefficients and the shaded area represents the 90% confidence bands, estimated using bootstrapping methods.ที่มา: Gongsiang and Amatyakul (2021)

ข้อสรุปที่ 3

อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเคลื่อนไหวตามปัจจัยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่มีความผันผวนสูงและมาจากต่างประเทศ โดยพบว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาอาหารโลก ความสัมพันธ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนในช่วงวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2007–2008 ที่อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยเองในฐานะผู้ส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงมากเช่นเดียวกัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตที่สำคัญก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาอาหารสดเช่นกัน แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวพบเฉพาะในภาวะปกติ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะค่อนข้างผันผวนและเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอก แต่ก็พบว่าราคาอาหารสดยังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอยู่บ้างโดยเฉพาะในเปอร์เซ็นไทล์ที่ต่ำ (รูปที่ 2 ด้านซ้าย – Leading Economics Index (LEI))

รูปที่ 2 Quantile regression coefficients (Left panel – Rawfood price inflation, Right panel – Energy price inflation)

Quantile regression coefficients (Left panel – Rawfood price inflation, Right panel – Energy price inflation)

หมายเหตุ: The x-axis represents the quantiles, ranging from 0.1 (10th percentile) to 0.9 (90th percentile). The y-axis represents the value of the coefficients and the shaded area represents the 90% confidence bands, estimated using bootstrapping methods.ที่มา: Gongsiang and Amatyakul (2021)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกเช่นกัน (รูปที่ 2 ด้านขวา) โดยพบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันโลกที่มากขึ้นมีแนวโน้มกดดันราคาพลังงานในปีต่อไป เช่น ในช่วงปี 2014–2016 ที่ราคาน้ำมันลดลงมากตามอุปทานน้ำมันที่สูง จากทั้งความนิยมในการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน (shale oil) และปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาพลังงานในช่วงเวลาต่อมาหดตัวลงมาก และอีกปัจจัยคือส่วนต่างของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะยาวและราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะสั้น (oil futures spread) ที่สะท้อนมุมมองของตลาดที่มีต่อราคาน้ำมันในอนาคตสามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานได้เช่นกัน เช่น oil futures spread ที่เพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนมองว่าราคาน้ำมันในอนาคตจะสูงกว่าราคาในปัจจุบัน สามารถช่วยพยากรณ์ได้ว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานในปีถัดไปจะเพิ่มสูงขึ้น

ข้อสรุปที่ 4

ในระยะที่ผ่านมา การกระจายตัวของเงินเฟ้อ (forecasted headline inflation) มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ลดลง และเพิ่มความเสี่ยงขาต่ำและโอกาสที่เงินเฟ้อจะติดลบ การศึกษานี้ได้ใช้ข้อมูลใน 3 ช่วง ได้แก่

  1. ข้อมูลปี 2006 พยากรณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2007
  2. ข้อมูลปี 2014 พยากรณ์ข้อมูลปี 2015 และ
  3. ข้อมูลล่าสุดในปี 2020 พยากรณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021 (รูปที่ 3 ด้านบน)

พบว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และสามารถเห็นได้ชัดจากผลของเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 (รูปที่ 3 ด้านล่างซ้าย) ที่ลดลงจาก 3% ในปี 2007 ไปเป็น 0% ในปี 2015 และเป็น -4% ในปี 2021 โดยเป็นผลมาจากสองปัจจัยหลัก คือ การหดตัวของเศรษฐกิจโลก (world production) ที่รุนแรงในปี 2020 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectations) ที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอาจปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ผลจากการคาดการณ์เงินเฟ้อจากแบบจำลองชี้ว่า โอกาสที่เงินเฟ้อจะกลับไปแตะระดับที่สูงจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนในปี 2021 ยังมีน้อย ทั้งนี้ หากเกิดกรณีที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์กับอัตราเงินเฟ้อในระยะหนึ่งปียังสูงเหมือนในอดีต (รูปที่ 3 ด้านล่างขวา) ธนาคารกลางอาจดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้โดยใช้เครื่องมืออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ผ่านการสื่อสาร

รูปที่ 3 Top panel – Conditional predictive headline inflation at different time periods Bottom panel – predicted contributions of headline inflation at 10th and 90th quantile

Top panel – Conditional predictive headline inflation at different time periods Bottom panel – predicted contributions of headline inflation at 10<sup>th</sup> and 90<sup>th</sup> quantile

ที่มา: Gongsiang and Amatyakul (2021)

นัยต่อการดำเนินนโยบาย

อัตราเงินเฟ้อที่มีความไม่แน่นอนสูง สร้างความกังวลให้กับหลายภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์และอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่สูง สะท้อนบทบาทในการชี้นำอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของธนาคารกลางในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี แม้ว่าในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์อาจจะช่วยรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้น้อยลงในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ แต่ผู้ดำเนินนโยบายยังสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดได้ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจและราคาสินค้าและบริการในช่วงเงินเฟ้อขาต่ำ

เอกสารอ้างอิง

Banerjee, R., Contreras, J., Mehrotra, A., & Zampolli, F. (2020, September). Inflation at risk in advanced and emerging market economies. BIS Working Papers No 883. Retrieved from https://www.bis.org/publ/work883.pdf

Gongsiang, M., & Amatyakul P. (2021). Inflation at risk in Thailand. PIER Discussion Paper., No.151.

López-Salido, D., & Loria, F. (2020, Febuary 6). Inflation at Risk. Washington: Board of Governors of the Federal Reserve. Retrieved from https://doi.org/10.17016/FEDS.2020.013

Nakamura, E & J Steinsson (2011): “Price setting in forward-looking customer markets”, Journal of Monetary Economics 58, pp. 220–233.


  1. ทฤษฎี Phillips curve อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจ โดยทั่วไปพบว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีและมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมีความสัมพันธ์ทางบวกกับอัตราเงินเฟ้อ↩
มณีรัตน์ ก้องเสียง
มณีรัตน์ ก้องเสียง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
พงศ์พิชย์ อมาตยกุล
พงศ์พิชย์ อมาตยกุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: MacroeconomicsMonetary Economics
Tags: inflationinflation at risk
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email