Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/0f0058d2159db4027e6c8989d1ed3883/41624/cover.jpg
20 พฤษภาคม 2564
202116214688000001621468800000

Affordable Housing: บ้านซื้อหรือเช่า เราควรรับภาระได้

นโยบายที่เหมาะสมจากภาครัฐด้านที่อยู่อาศัยสำหรับครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลาง เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการเสริมศักยภาพรายได้ของครัวเรือนและยกระดับเศรษฐกิจไทย
ชลิดา แท่งเพ็ชร
Affordable Housing: บ้านซื้อหรือเช่า เราควรรับภาระได้
excerpt

การมีบ้านหรือการอาศัยอยู่ในบ้านที่มีคุณภาพแตกต่างกัน สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางสังคมและการเงิน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำชัดเจน เมื่อการระบาดกระจายตัวรุนแรงในชุมชนแออัดของเมืองใหญ่ ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมแทบเป็นไปไม่ได้ นโยบายที่อยู่อาศัยในราคาที่รับภาระได้ (affordable housing) เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกการเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ ยกระดับฐานะให้ครัวเรือนรายได้น้อยได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (inclusive growth) และลดปัญหาทางสังคม รวมทั้งปัญหาด้านสาธารณสุข บทความนี้มุ่งจุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญและความหมายของนโยบายที่สนับสนุน affordable housing โดยวิเคราะห์ปัญหาตลาดที่อยู่อาศัยของไทย ตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศทั้งด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ และถอดบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับนำมาปรับใช้ในบริบทไทย

ความสำคัญของที่อยู่อาศัยและนโยบาย affordable housing

การมีสุขภาพที่ดี การศึกษาที่ดี และสถานที่พักอาศัยที่ดี ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานสามารถสร้างรายได้ และสะสมเป็นเงินออม ทำให้มีเงินลงทุนเพื่อพัฒนาสุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่ของตนเองและสมาชิกครัวเรือนรุ่นถัดไป จนสามารถยกระดับคุณภาพครัวเรือนได้ต่อเนื่องและส่งผลต่อการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในอนาคต (รูป 1) อย่างไรก็ตาม บางครัวเรือนอาจเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้ ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยจัดให้บริการเหล่านี้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และดำเนินนโยบายแบบ inclusive growth ให้ครัวเรือนด้อยโอกาสได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับศักยภาพของประเทศผ่านทุนมนุษย์ และส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

รูป 1 ที่อยู่อาศัยคือกุญแจสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม

ที่อยู่อาศัยคือกุญแจสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม

หมายเหตุ: ส่วนที่แรเงาสีเข้มในวงกลม แสดงสัดส่วนโดยเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายประเภทนั้น ๆ ต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนรายได้ต่ำที่สุด percentile ที่ 20 คำนวณจากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) สำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2019

การดูแลให้ครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยในราคาที่รับภาระได้หรือ นโยบาย affordable housing ทั้งประเภทที่ให้เช่า (social housing) และให้ความเป็นเจ้าของ (owner-occupied housing) นับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะเสริมศักยภาพในการหารายได้ให้ครัวเรือน เนื่องจาก

  1. หากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยมีมูลค่าสูง จะทำให้ครัวเรือนเหลือเงินเพื่อลงทุนสร้างโอกาสอื่น ๆ ในชีวิตได้น้อยลง จากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2019 พบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยชั้นล่างที่สุด (bottom 20th percentile) มีค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็น 24% ของรายได้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มรายได้สูงสุด (top 20th percentile) ถึง 2 เท่า (รูป 2) นอกจากนี้ ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้แรงงาน โดยตั้งแต่ปี 2013–2019 ดัชนีราคาอาคารชุดและราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6.3% และ 5.9% ตามลำดับ สูงกว่าการขยายตัวของรายได้แรงงานที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 2.3% และอัตราการขยายตัวยังทิ้งห่างกันมากขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา (รูป 3) สะท้อนว่าครัวเรือนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยสูงขึ้นและมีเงินเหลือเพื่อใช้จ่ายและลงทุนได้น้อยลง
รูป 2 สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อรายได้ครัวเรือน

สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อรายได้ครัวเรือน

หมายเหตุ: ข้อมูลแบ่งกลุ่มตามรายได้ครัวเรือน percentile ที่ 20, 40, 60, 80 และ 100ที่มา: ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) สำนักงานสถิติแห่งชาติ
รูป 3 ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและค่าจ้างแรงงาน

ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและค่าจ้างแรงงาน

หมายเหตุ: *ดัชนีค่าจ้างแรงงาน ครอบคลุมค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นตัวเงินที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
  1. ที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์หลักของครัวเรือนซึ่งช่วยสะสมความมั่งคั่ง สามารถทำประโยชน์เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน และมีนัยต่อการบริโภค โดยจากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2019 พบว่าครัวเรือนไทยที่มีบ้านเป็นของตนเองมีสินทรัพย์สะสมรวมเฉลี่ย 2.0 ล้านบาท สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มที่เช่าบ้านและยังไม่มีบ้านเป็นสินทรัพย์กว่า 11 เท่า ซึ่งตามการศึกษาของ Case et al. (2005) นั้น ครัวเรือนที่มีบ้านเป็นทรัพย์สินสามารถหาประโยชน์จากที่อยู่อาศัยและปรับปรุงความเป็นอยู่ของครัวเรือนให้ดีขึ้นได้ เช่น การปล่อยเช่า การทำธุรกิจ และใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ สอดคล้องกับงานศึกษาของ Rungcharoenkitkul (2011) ที่พบว่าในกรณีของไทยนั้น การมีสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น (ซึ่งครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีบ้านเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุด) มีผลต่อการบริโภคมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ เงินฝาก) ประมาณ 5 เท่า

  2. การอยู่อาศัยในทำเลที่ดีเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ของสมาชิกในครัวเรือนได้ เนื่องจากการอยู่อาศัยในบริเวณที่ต้องการแรงงาน ทำให้ครัวเรือนสามารถหารายได้และสร้างฐานะให้ดีขึ้นได้ โดยบุญเลิศ (2021) พบว่า จากการสำรวจชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ขายอาหารตามสั่ง รับจ้างขับมอเตอร์ไซค์ รับจ้างรีดผ้า ซึ่งหากต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมืองจะประกอบอาชีพเดิมไม่ได้ การอยู่ในเมืองจึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ สอดคล้องกับการศึกษาของ Bauer et al. (2018) ที่พบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยมีผลต่อรายได้แรงงานในสหรัฐฯ เมื่อควบคุมปัจจัยด้านการศึกษา อายุ เพศ เชื้อชาติ และอาชีพแล้ว

    นอกจากนี้ การอยู่อาศัยในพื้นที่ต่างกันยังกำหนดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานต่างกันด้วย เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล โดยข้อมูลจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติปี 2019 พบว่าคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ในวิชาภาษาอังกฤษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 8% และต่ำกว่ากรุงเทพฯ ถึง 36% สะท้อนคุณภาพการศึกษาที่ต่างกัน ขณะที่รายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุขปี 2019 แสดงให้เห็นว่าในเขตที่มีจำนวนประชากรต่อจำนวนเตียงหนาแน่นสูงสุด1 มีอัตราส่วนประชากรต่อเตียงสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศถึงเกือบ 2 เท่า สะท้อนทรัพยากรที่มีจำกัดและทำให้ประชาชนในเขตดังกล่าวอาจต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อขอรับบริการในพื้นที่อื่น

ปัญหาที่อยู่อาศัยและนโยบายของไทย

ด้านอุปทานของไทย

  1. ผู้ประกอบการเอกชนยังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ โดยผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่า percentile ที่ 60 ของไทย หรือมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 24,500 บาทต่อเดือน สามารถรับภาระเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาเฉลี่ย 4.5–5.0 แสนบาท2 (กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, 2017) แต่จากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (AREA) พบว่า ในช่วงปี 2015–2020 ไม่มีผู้ประกอบการเปิดขายจำนวนหน่วยที่ราคาต่ำกว่า 5.0 แสนบาทในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลย

  2. หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทเติมเต็มความต้องของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางยังดำเนินการได้ต่ำกว่าเป้าหมายและใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร และบ้านมั่นคง ซึ่งที่ดินราคาสูงเป็นปัญหาต้นทุนสำคัญที่ทำให้จำนวนโครงการที่อยู่ในชุมชนเมืองยังไม่เพียงพอกับความต้องการ (บุญเลิศ, 2019) โดยจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ปี 2019–2020 พบว่ามีจำนวนหน่วยก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ในโครงการเช่าซื้อของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศเฉลี่ยเกือบ 4,000 หน่วยต่อปี3 ขณะที่มีความต้องการของผู้มีรายได้น้อยปีละเกือบ 2 แสนหน่วยทั่วประเทศ4 (กระทรวงพัฒนาฯ, 2017) นอกจากนี้ บางโครงการอยู่ในพื้นที่ศักยภาพต่ำ (Isaranews, 2020) ห่างไกลจากตัวเมืองและขาดบริการขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อให้ผู้อยู่อาศัยเดินทางไปทำงานในเมืองได้ สร้างต้นทุนค่าเดินทางที่ครัวเรือนรายได้น้อยต้องแบกรับ อีกทั้งปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์และปัญหาในการวางผังเมือง (urban planning) ยังส่งผลให้ขาดแคลนพื้นที่สัญจรทางเท้าและจักรยานที่เชื่อมต่อกัน ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ วัดได้จากการที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงแค่ 3 ตารางเมตรต่อประชากร เทียบกับสิงคโปร์และกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่มีพื้นที่สีเขียวถึง 66 และ 44 ตารางเมตรต่อประชากรตามลำดับ (Economist Intelligence Unit, 2011)

ด้านอุปสงค์ของไทย

  1. นโยบายด้านภาษีและเงินโอนเป็นโครงการระยะสั้นและยังไม่เอื้อประโยชน์กับครัวเรือนรายได้น้อยนอกฐานภาษี ผู้ได้รับประโยชน์มักเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลาง-สูงที่มีความสามารถและความพร้อมในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในช่วงเวลาที่ออกมาตรการ (รายละเอียดมาตรการตามตาราง 1)
ตาราง 1 ตัวอย่างมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านอุปสงค์ของไทย

ตัวอย่างมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านอุปสงค์ของไทย

ที่มา: บุญเลิศ วิเศษปรีชา (2019) และรวบรวมโดยผู้เขียน
  1. นโยบายด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ยังเพิ่มภาระการผ่อนบ้านแก่ครัวเรือน เนื่องจากคิดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับการซื้อบ้านในโครงการการเคหะแห่งชาติ และโครงการบ้านประชารัฐที่คิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตลอดอายุสัญญาการกู้ยืม ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้มีรายได้น้อย

ปัญหาของตลาดที่อยู่อาศัยไทยโดยสรุป พบว่า มีความไม่สอดคล้องกัน (mismatch) ของอุปทานและอุปสงค์ใน segment ที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยา ด้านอุปทานยังดำเนินการได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนปัญหาการจัดสรรที่ดิน ขณะที่นโยบายด้านอุปสงค์ยังมุ่งเน้นโครงการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเท่าใดนัก

ตัวอย่างนโยบายที่อยู่อาศัยในต่างประเทศที่น่าสนใจ

นโยบายด้านอุปทานของต่างประเทศ

  1. ให้ความสำคัญกับนโยบายจัดสรรที่ดินสำหรับการสร้าง affordable housing เนื่องจากที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดและเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ

    • เริ่มตั้งแต่การวางผังเมือง (urban planning) ที่ออกแบบการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสาธารณะ โดยมีกฎหมายที่ดินที่เข้มแข็งและมีกระบวนการจัดการโปร่งใส เช่น กรณีสิงคโปร์ที่ urban planning เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 6% – 7% ในช่วงปี 1970–1980 ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปที่ดินและออกกฎหมาย Land Acquisition Act (LAA) ภาครัฐจึงเวนคืนที่ดินจากภาคเอกชนได้ในราคาต่ำ และสามารถสะสมที่ดินได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 44% ของที่ดินทั้งหมดในปี 1960 เป็น 85% ในปี 2007 (Center for Liveable Cities Singapore, 2014)
    • กลไกการสะสมที่ดินหรือธนาคารที่ดิน (public land banking) ช่วยให้รัฐมีพื้นที่สำหรับก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางและโครงการอื่น ๆ ได้ตามการวางผังเมือง การสะสมที่ดินในจุดยุทธศาสตร์ก่อนประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยลดปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้า ควบคุมต้นทุนก่อนราคาที่ดินเพิ่มขึ้น และช่วยให้รัฐจัดสรรผลประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ (Lawson and Ruonavaara, 2019)
    • การปล่อยเช่าที่ดิน (public land leasing) ใน public land bank ให้กับภาคเอกชนแทนการขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อให้รัฐยังควบคุมวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินได้ตามสัญญาเช่า และรัฐยังคงความเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตหลังหมดสัญญา อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากต้นทุนค่าที่ดินเหลือเพียงค่าเช่าที่ดิน ทำให้สามารถตั้งราคาขาย affordable housing ต่ำลงได้ (Lawson and Ruonavaara, 2019)
  2. มีแหล่งเงินทุนที่ได้จากกองทุนการออมเพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง แนวทางนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในสิงคโปร์และเดนมาร์ก โดยในสิงคโปร์ใช้เงินสนับสนุนโครงการจากการออมของรายได้แรงงานในกองทุน Central Provident Fund (CPF) ซึ่งเป็นกองทุนประกันสังคมภาคบังคับที่แรงงานผู้มีรายได้ต้องสมทบเงิน 20% ของรายได้ต่อเดือนร่วมกับการสมทบ 17% จากนายจ้าง5 ตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานแล้วจึงค่อยนำออกมาใช้ซื้อที่อยู่อาศัยของรัฐ (Center for Liveable Cities Singapore, 2014) (รูป 4) ในขณะเดียวกัน เดนมาร์กเป็นอีกประเทศที่มีการจัดตั้ง National Building Fund ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยปล่อยเช่าเพื่อผู้มีรายได้น้อย หรือ social housing โดยจะเก็บเงิน 2/3 ของค่าเช่าเข้ากองทุนเพื่อใช้ซ่อมและปลูกสร้าง social housing ใหม่ รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่สาธารณะโดยรอบ (Luise Noring, 2018) (รูป 5) แหล่งเงินทุนดังกล่าวส่งเสริมให้การพัฒนาและบริหารจัดการโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายน้อยถึงปานกลางเกิดความยั่งยืน ลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล อีกทั้งทำให้ผู้สบทบเงินเต็มใจที่จะออมเงินเข้ากองทุนเนื่องจากได้รับผลประโยชน์ที่ส่งตรงกลับมา

รูป 4 เงินทุนสนับสนุน HDB จาก CPF (กองทุนประกันสังคมภาคบังคับ)

เงินทุนสนับสนุน HDB จาก CPF ( กองทุนประกันสังคมภาคบังคับ)

ที่มา: Centre for Livable Cities
รูป 5 National Building Fund ของเดนมาร์ก

National Building Fund ของเดนมาร์ก

ที่มา: Landsbyggefonden
  1. สร้างแรงจูงใจและบทลงโทษทางภาษีเพื่อเพิ่มอุปทานผ่านหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น ดังเช่นกรณีสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบเครดิตภาษีในโครงการ Low-Income Housing Tax Credit (LIHTC) ให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใช้ลดหย่อนภาษี ซึ่งคิดเป็นเงินอุดหนุนประมาณ 30% หรือ 70% ของราคาก่อสร้างแล้วแต่ประเภทโครงการ โครงการ LIHTC ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับให้เช่าแก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 ล้านหน่วยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 1986 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.1 แสนหน่วย (U.S. Department of Housing and Urban Development, 2021)

    นอกจากนี้ การเรียกเก็บภาษีและค่าปรับก็เป็นนโยบายที่ช่วยปรับแรงจูงใจได้เช่นกัน อาทิ ในฝรั่งเศสตามกฎหมาย Solidarity and Urban Renewal Act (SRU) รัฐบาลกลางกำหนดเป้าหมายให้ 20% ของจำนวนที่พักอาศัยในพื้นที่ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับให้เช่าแก่ผู้มีรายได้น้อย หากรัฐบาลท้องถิ่นทำไม่ได้ตามเป้าหมายจะต้องชำระค่าปรับมูลค่าสูง ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2001 มีรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้และต้องชำระภาษีกว่า 88 ล้านยูโร นโยบายนี้ได้ช่วยเพิ่มจำนวนที่พักอาศัยมากกว่า 7 ล้านหน่วยในฝรั่งเศส (Lawson and Ruonavaara, 2020)

  2. ซ่อมบำรุงที่พักอาศัยของกลุ่มคนมีรายได้น้อย (renovation scheme) เพื่อยืดอายุโครงการ เช่น สิงคโปร์ที่มีนโยบายชัดเจนว่าห้องชุดของรัฐในทุกพื้นที่จะได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ ปรับปรุงทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานภายนอกและวัสดุภายในรวม 2 ครั้งในช่วงที่ห้องชุดมีอายุครบ 30 ปี และ 60 ปี (HDB Home Improvement Scheme I and II) โดยรัฐจะจัดหาวัสดุจำนวนมากสำหรับทั้งโครงการเพื่อให้รัฐมีอำนาจต่อรองและได้วัสดุคุณภาพดีที่ราคาต่ำกว่าตลาด

นโยบายด้านอุปสงค์ในต่างประเทศ

  1. การให้เงินอุดหนุนค่าเช่า/ซื้อบ้าน และค่าสาธารณูปโภคสำหรับกลุ่มรายได้น้อย (housing allowance and housing grant) สำหรับการให้เงินอุดหนุนค่าเช่า บ้านและค่าสาธารณูปโภคแก่ครัวเรือนรายได้น้อย หรือ housing allowance จากการสำรวจกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2019 พบว่า 76% ของประเทศผู้ตอบแบบสอบถามมี housing allowance ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการได้เร็ว ออกแบบให้เข้าถึงได้หลายกลุ่ม และปรับเปลี่ยนนโยบายหรือยกเลิกได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับนโยบายด้านอุปทานก่อสร้าง และช่วยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของแรงงาน (OECD, 2019) อย่างไรก็ดี รัฐต้องมีนโยบายดูแลหรือควบคุมค่าเช่าบ้านที่เข้มแข็ง มิเช่นนั้น อาจเกิดผลลบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมได้จากการขึ้นค่าเช่าหรือราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศมีอุปทานจำนวนที่อยู่อาศัยต่ำ อาจทำให้ผลประโยชน์ตกแก่ผู้ปล่อยเช่าและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แทนที่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

    การอุดหนุนอีกลักษณะหนึ่งได้แก่ housing grant คือ การให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ครัวเรือนได้เป็นเจ้าของ อาทิ สิงคโปร์ที่ให้ housing grant แก่ครอบครัวรายได้น้อย-ปานกลางสำหรับซื้อห้องชุดครั้งแรกในโครงการรัฐ ซึ่งเงินสนับสนุนจะลดทอนไปตามระดับรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การสนับสนุน housing grant ควบคู่ไปกับการสร้างอุปทานบ้านในราคาต่ำกว่าตลาดของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ (Housing Development Board: HDB) ทำให้ครัวเรือนมีความเป็นเจ้าของบ้านสูงถึง 91% ณ ปี 2018 (Wikipedia, 2021) ถือเป็นสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

  2. การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่สำหรับผู้มีรายได้น้อย (housing loan) เป็นนโยบายที่หลายประเทศนิยมดำเนินการมากเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้ครัวเรือนได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (Lawson and Ruonavaara, 2019) การให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ เช่น เกาหลีใต้ และเดนมาร์ก เมื่อมองผิวเผินอาจคิดว่าทำได้ไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ และระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง ได้แก่ Mortgage-backed securities6 (เกาหลีใต้) และ covered bond7 (เกาหลีใต้และเดนมาร์ก) ทำให้มีฐานของเงินทุนสำหรับการดำเนินนโยบาย อีกทั้งเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่นักลงทุน

    นอกจากนี้ เกาหลีใต้มีนโยบายค้ำประกันสินเชื่อซื้อและเช่าบ้านแก่ครัวเรือนที่มีความเปราะบางทางการเงิน เช่น ครัวเรือนรายได้ต่ำและผู้ประกอบอาชีพอิสระให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้อีกด้วย (Korea Housing-Finance Corporation, 2019) ส่วนสิงคโปร์นั้น แรงงานสามารถผ่อนค่างวดด้วยเงินออมในกองทุนประกันสังคมภาคบังคับ (CPF) ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อการบริโภคหลังเป็นหนี้ได้ (ตาราง 2)

ตาราง 2 นโยบายการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

นโยบายการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

img 8

ข้อสรุปและ/หรือนัยสำคัญเชิงนโยบาย

การดูแลให้ครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยภายใต้ภาระที่รับได้ (affordable housing) เป็นนโยบายสำคัญเชิงสวัสดิการสังคม ที่นอกจากจะทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้นแล้ว ประเทศยังได้ผลตอบแทนจากศักยภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น สำหรับไทยนั้นมีรากฐานบางประการบ้างแล้วแต่ยังขาดหัวใจสำคัญบางด้าน และผู้เขียนเห็นว่าภาครัฐสามารถพิจารณาดำเนินนโยบายเพิ่มเติมได้ ดังนี้

  1. พัฒนาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยให้แข็งแกร่งและดำเนินงานเชื่อมโยงกัน เพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มอุปทานที่อยู่อาศัยได้ต่ำกว่าเป้าและใช้เวลานาน และปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในเมือง อาทิ

    • หน่วยงานด้านการวางแผนผังเมือง (urban planning) ควรปฏิรูปให้มีความแข็งแกร่ง มองการณ์ไกลถึงความต้องการใช้งานที่ดินเมืองในอนาคต วางแผนโดยคำนึงถึงการจัดสรรที่ดินเพื่อ affordable housing และพื้นที่สาธารณะโดยรอบ
    • หน่วยงานด้านการสะสมที่ดิน (land banking) ต้องจัดตั้งให้มีพันธกิจชัดเจนให้รัฐนำที่ดินไปทำประโยชน์เพื่อสาธารณชน โดยต้องอาศัยกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับงานวางผังเมือง มีกลไกการเวนคืนที่ดินและการชดเชยที่เป็นธรรม ให้สามารถดำเนินการสะสมที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และ
    • การเคหะแห่งชาติ เร่งเพิ่มที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางในพื้นที่ที่เหมาะสม สะดวกต่อการเดินทาง มีคุณภาพและขนาดของห้องเหมาะกับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้อยู่อาศัย โดยดำเนินงานตามกรอบการวางแผนผังเมือง และใช้ประโยชน์จาก land banking ของรัฐเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง รวมทั้งพิจารณาการวางแผนซ่อมบำรุงที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานตามอายุของโครงการ (ตัวอย่างสิงคโปร์)
  2. วางกรอบและดำเนินนโยบาย affordable housing ร่วมกันทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์อย่างครบวงจร นอกเหนือจากการพัฒนาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย โดยมุ่งดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อให้ครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ถูกสุขลักษณะ ในราคาที่เหมาะสม

    • ด้านอุปทาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รัฐควรกระตุ้นให้เกิดการสร้างอุปทานที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ อาทิ 1) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (ตัวอย่างสหรัฐฯ) เนื่องจากไทยมีผู้ประกอบการเอกชนที่แข่งแกร่ง แต่ยังไม่ได้เติมเต็มความต้องการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในเขตเมืองจะช่วยเพิ่มอุปทานที่อยู่อาศัยทั้งประเภทเช่าและซื้อได้ และ 2) การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (ตัวอย่างเดนมาร์ก) ช่วยออมค่าเช่าเพื่อใช้ก่อสร้างและซ่อมบำรุงที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย โดยไม่เป็นภาระงบประมาณกลาง
    • ด้านอุปสงค์ เพื่อแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือทางภาษี และภาระการผ่อนบ้านจากอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดที่มีอยู่ในปัจจุบัน รัฐควรสนับสนุนด้านเงินอุดหนุนและลดต้นทุนการให้สินเชื่อ อาทิ 1) การให้เงินอุดหนุนค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายได้รับความนิยมมากในกลุ่มประเทศ OECD สามารถเสริมร่วมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของไทยที่มีการเชื่อมโยงกับการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคอยู่ แต่ยังไม่ครอบคลุมค่าเช่าที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และ 2) การสร้างกลไกให้เกิดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ (ตัวอย่างเกาหลีใต้) โดยอาศัยเครื่องมือในตลาดการเงิน (Mortgage-backed securities, covered bond) เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์

เอกสารอ้างอิง

Bauer, Breitwieser, Nunn, and Shambaugh (2018), “Where work pays: how does where you live matter for your earnings”, the Hamilton project advancing opportunity prosperity and growth, brookings.edu.

Case, K.E., Wuigley, J.M., and Shiller, R.J. (2005), “Comparing wealth effects: the stock market vs. the housing market”, Berkeley Electronic Journal of Macroeconomics, Advances Articles, 5(1).

Center for LiveableCities Singapore (2014), “Urban system studies, land acquisition and resettlement: securing resources for development”. https://www.clc.gov.sg/docs/default-source/urban-systems-studies/uss-land-acquisition-and-resettlement.pdf.

Center for LiveableCities Singapore (2014), “Urban system studies, financing a city: developing foundations for sustainable growth”, https://www.clc.gov.sg/docs/default-source/urban-systems-studies/uss-financing-a-city.pdf.

COFACE Families Europe (2018), “Social Policy and mortgage lending: the Danish mortgage model in a European perspective”. http://www.coface-eu.org/wp-content/uploads/2018/03/COFACE-Report-SOCIAL-POLICY-AND-MORTGAGE-LENDING.pdf.

Economist Intelligence Unit (2011), “Asian Green City Index, assessing the environmental performance of Asia’s major cities”, Siemens AG, Germany.

Finance Demark (2016). “The traditional Danish mortgage & covered bond model”, https://financedenmark.dk/the-association-of-danish-mortgage-banks/the-danish-mortgage-model/.

Isaranews (2020), “ชำแหละบ้านผู้มีรายได้น้อยเจอปัญหาซ้ำซาก ถึงเวลาบิ๊กตู่ต้องรื้อใหญ่”, https://www.isranews.org/isranews-scoop/85830-house-85830.html.

Korea Housing-Finance Corporation (2019), “The Best Housing Finance Institution: Growing along with the happiness of the people 2019 Annual report”. https://www.hf.go.kr/researcher/sub04 /sub02.do?mode=down load&articleNo=285256&attachNo=54300.

Lawson and Ruonavaara (2019), “Land policy for affordable and inclusive housing: an international review”, Smartland-Tutkimushanke, https://smartland.fi/wp-content/uploads/Land-policy-for-affordable-and-inclusive-housing-an-international-review.pdf.

Luise Noring (2018), “Financing the inclusive city: a case study of Danish model of affordable and social housing”, ICLEI and City facilitators and Copenhagen Business School.

OECD (2019), “OECD Questionnaire on Social and Affordable Housing: QuASH”.

OECD (2020), “Housing and inclusive Growth”, OECD Publishing, Paris, http://doi.org/10.1787/6ef36f4b-en.

OECD (2020), “Social housing: A key part of past and future housing policy, Employment, Labour and Social Affairs Policy Briefs”, OECD Publishing, Paris, http://oe.cd.social-housing-2020.

Rungcharoenkitkul, P. (2011), “Wealth Effects and Consumption in Thailand”, Bank of Thailand discussion paper, Bangkok, https://www.botlc.or.th/item/book/01000069144.

U.S. Department of Housing and Urban Development (2021), “Low-Income Housing Tax Credit (LIHTC)”, https://www.huduser.gov/portal/datasets/lihtc.html.

Wikipedia (2021), “List of countries by home ownership rate”, https://en.wikipedia.org/wiki/ List_of_countries_by_home_ownership _rate.

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2017), “ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579)”.

บุญเลิศ วิเศษปรีชา (2019), “ผ่ายุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี: ฝันใหญ่แต่ไม่สรุปบทเรียน”, Waymagazine, https://waymagazine.org/land-and-right-housing-1/.

บญเลิศ วิเศษปรีชา (2021), “แบ่งปันที่ดินรถไฟเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน”, Waymagazine, แบ่งปันที่ดินรถไฟเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน – waymagazine.org | นิตยสาร WAY


  1. เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่มีอัตราส่วนจำนวนประชากรต่อจำนวนเตียงหนาแน่นสูงสุด คือ เขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 ซึ่งประกอบด้วย นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยจัดอันดับจากเขตพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพรวม 12 เขต↩
  2. กลุ่มเป้าหมายระดับรายได้น้อยกว่า 24,500 บาทต่อเดือน มีความสามารถในการรับภาระด้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 15 ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน (ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี, หน้า 17)↩
  3. ปี 2019 และ 2020 มีจำนวนหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าซื้อของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ 3,602 และ 4,279 หน่วยตามลำดับ (ข้อมูลจาก REIC ณ วันที่ 17 พ.ค. 2021)↩
  4. ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท (ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี, หน้า 15)↩
  5. เป็นอัตราสมทบเข้ากองทุน CPF สำหรับลูกจ้างที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี แต่สำหรับลูกจ้างที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะสมทบในอัตราที่ลดลง↩
  6. Mortgage-backed securities (MBS) ของ Korea Housing-Finance Corporation (HF) คือตราสารหนี้ที่ดำเนินการโดย HF จัดตั้งกองทุนขึ้น (Trust) และถ่ายโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์เข้า Trust และออกตราสาร MBS ให้นักลงทุน โดย HF จะค้ำประกันการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ถือตราสาร MBS↩
  7. Covered bond ของเดนมาร์กเป็นตราสารหนี้ที่ใช้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน โดย Mortgage bank ของเดนมาร์กจะเป็นเพียงตัวกลางผู้ออกตราสารหนี้ และหากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะมีการขายทอดตลาดสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้กับผู้ถือตราสารหนี้↩
ชลิดา แท่งเพ็ชร
ชลิดา แท่งเพ็ชร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: MacroeconomicsWelfare Economics
Tags: affordable housinghousing policy
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email