โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
excerpt
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเศรษฐกิจและสังคมไทยจำเป็นต้องมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน งานวิจัยนี้สำรวจความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและมาตอกย้ำความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่แล้วให้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น และศึกษาประเด็นความเปราะบางในสังคมไทยที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในสังคมที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” เพื่อมุ่งเข้าใจภูมิทัศน์ของความ “คิดต่าง” ของคนในสังคม และปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้ความ “คิดต่าง” ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมได้ ทั้งนี้ หากไม่เร่งแก้ไข จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความร่วมมือของหลายภาคส่วนและการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจในที่สุด
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเปราะบางที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในหลายมิติ ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในบริบทโลกใหม่ (megatrends) ได้เข้ามาซ้ำเติมให้ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น งานวิจัยนี้สรุป megatrends ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไว้ทั้งหมด 5 ประการ ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมการรับมืออย่างเร่งด่วน ได้แก่
- การปรับเปลี่ยนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก
- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเข้าสู่สังคมสูงวัย และ
- แผลเป็นที่วิกฤตโควิด 19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย
โดยคณะผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างของความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสำคัญดังกล่าว ดังต่อไปนี้
เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อนและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพึ่งพิงจีนและสหรัฐฯ ในหลายด้าน อาทิ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรง ดังนั้น หากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจนี้เพิ่มขึ้น และหากไทยต้องถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างทางเศรษฐกิจแล้ว ภาคส่วนเหล่านี้จะถูกกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเลือกข้างใดก็ตาม โดยผู้เสียประโยชน์จะแตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนหรือสหรัฐฯ
- การส่งออกของไทยไปยังจีนและสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมด จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2020 มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละ 13 สำหรับการส่งออกไปจีน และร้อยละ 15 สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ (ภาพที่ 1) และเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าส่งออก พบว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก มีสัดส่วนที่ส่งออกไปยังสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้สูงเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกไปจีน และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลไปสหรัฐฯ (ภาพที่ 2)
- ไทยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึงร้อยละ 27.9 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และพึ่งพิงมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง (ภาพที่ 3) ซึ่งในภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันที่จีนเน้นเปลี่ยนแนวนโยบายมาพึ่งตนเอง และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเอง ก็จะยิ่งซ้ำเติมความเปราะบางของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย (รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 11.3 ต่อ GDP ในปี 2019) และเกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมากกว่า 7.5 ล้านคน
- ประเทศไทยยังพึ่งพิงการลงทุนทางตรง (foreign direct investment: FDI) โดยเฉพาะการลงทุนจากสหรัฐฯ ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่การลงทุนทางตรงจากจีนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 (ภาพที่ 4)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะยิ่งรุดหน้าต่อไปในบริบทโลกใหม่ ได้ชี้ให้เห็นโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็เป็นดาบสองคมที่หากธุรกิจไทยไม่เร่งพัฒนาตนเองและไม่สามารถคว้าโอกาสนี้ได้ ก็อาจตกรถไฟ เนื่องจากประเทศคู่แข่งย่อมไม่หยุดรอ ทั้งนี้ มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่หลายมิติ แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 2 ประเด็น ได้แก่
- ความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย โดยที่ผ่านมา การสร้างนวัตกรรมและกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ที่ธุรกิจไทยมักจะเป็นผู้รับจ้างผลิตและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรงมากนัก สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ (domestic value added) ในอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย 5 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพที่ 5) โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และเคมีภัณฑ์) และเทคโนโลยีขั้นกลาง (รถยนต์และชิ้นส่วน)
- ความเปราะบางของการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยเฉพาะในการซื้อสินค้าและบริการของคนไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก สะท้อนจากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2020 ซึ่งพบว่า คนไทยใช้แพลตฟอร์มของไทยในสัดส่วนต่ำมาก หากเทียบกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ (ภาพที่ 6) เป็นสัญญาณให้ธุรกิจแพลตฟอร์มไทยต้องเร่งปรับตัวไม่ให้ตกรถไฟ
ภาวะโลกร้อนเป็นภัยเงียบ และจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยที่จริงแล้ว ภาวะโลกร้อนส่งผลหลายด้าน ทั้งภูมิอากาศ รูปแบบฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลต่อหลายภาคเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ตัวอย่างที่อาจยังไม่เคยกล่าวถึงกันมากนักคือ ความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น
ระดับน้ำทะเลคาดการณ์ในปี 2050 จาก Climate Central แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบ เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วม (ภาพที่ 7) และจากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมปี 2017 พบว่า ในบริเวณดังกล่าวครอบคลุมมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่าร้อยละ 10 ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรับทราบและเตรียมตัวรับมือไว้ให้ทันการณ์
ในระยะเวลาเพียง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยในระยะเริ่มต้น (aging society)2 เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในอนาคตข้างหน้าก็มีแนวโน้มก้าวไปสู่สังคมสูงวัยสุดขีด (hyper-aged society) ซึ่งจะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การเข้าสู่สังคมสูงอายุดังกล่าวส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน อาทิ ความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย จากข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวนเกือบ 10 ล้านคนในปี 2019 พบว่า สัดส่วนแรงงานอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจากร้อยละ 3.4 ในปี 2002 มาสูงถึงร้อยละ 9.9 ในปี 2019 (ภาพที่ 8) และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของแรงงานสูงอายุ อาจส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลง เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของแรงงานสูงวัยอาจต่ำว่าวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะทักษะที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
วิกฤตโควิด 19 สร้างแผลเป็นหลายแห่งต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างสำคัญคือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ โดยจากข้อมูลเชิงสถิติรายไตรมาสของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (ภาพที่ 9) แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนไทยเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียกันเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากที่มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อระยะที่ 1 (ซึ่งมีการพักหนี้และหยุดสถานะการค้างชำระให้กับผู้กู้ทุกราย) ได้สิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 และโดยเฉพาะตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2020 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้กู้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้สูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และทำให้สัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 อยู่ที่ร้อยละ 18.9 และสูงที่สุดในรอบ 6 ปี
ประเด็นสำคัญคือ วิกฤตครั้งนี้ได้ซ้ำเติมความเปราะบางของปัญหาหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหนี้และหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต และได้สร้างรอยแผลเป็นต่อกลุ่มที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปในอนาคต โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2020 เป็นต้นมา สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กู้ที่มีหนี้ และมีหนี้เสียมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้ว (ภาพที่ 10)
จากความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมด้วย megatrends สำคัญต่าง ๆ ข้างต้น นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น กล่าวคือ ทำให้ผู้ที่มีความเปราะบางอยู่แล้วยิ่งบอบช้ำ อาทิ ธุรกิจไทยที่เป็นผู้รับจ้างผลิตและไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่งนับวันเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานสูงวัย การเริ่มมีหนี้เสียเป็นวงกว้างในกลุ่มผู้ที่มีหนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างรุ่น (generation gap) ซึ่งเกิดจากค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏในปัจจุบัน (เลิศชูสกุล, 2021) เหล่านี้จึงเป็นส่วนผสมที่นำไปสู่ความเปราะบางสำคัญอีกประการหนึ่งของประเทศไทย นั่นคือ ความเปราะบางทางสังคม โดยเฉพาะในมิติของความขัดแย้งและไม่สมานฉันท์ในสังคมไทย
งานวิจัยต่างประเทศพบว่า ความสมานฉันท์ในสังคม (social cohesion) มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดย Zak & Knack (2001) ศึกษาผลของความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในประเทศกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งเชิงทฤษฎีด้วยแบบจำลองการเติบโตของดุลยภาพทั่วไป (general equilibrium growth model)3 และเชิงประจักษ์ด้วยข้อมูลจาก 41 ประเทศ พบว่า ประเทศที่มีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันน้อย จะมีการลงทุนอยู่ในระดับต่ำและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ Pervaiz & Chaudhary (2015) ได้ศึกษาผลของความสมานฉันท์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงประจักษ์ โดยใช้ข้อมูลติดตามจากหลายประเทศและแบ่งความสมานฉันท์ออกเป็นสองกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ความสมานฉันท์ระหว่างคนในกลุ่มเดียวกันและความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่ม พบว่า ความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำคัญไม่แพ้กัน Easterly et al. (2006) และ Sommer (2019) ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับความขัดแย้งทางสังคม โดยพบว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง อาจจะมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นไปด้วย และมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมมาก หากเปรียบเทียบดัชนีความเหลื่อมล้ำกับระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม (trust) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 39 ประเทศ จะพบความสัมพันธ์ทางลบระหว่างดัชนีความเหลื่อมล้ำและระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคม กล่าวคือ ประเทศที่มีดัชนีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในสังคมต่ำ (ภาพที่ 11)
การสังเคราะห์งานวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความสมานฉันท์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ ดูคล้ายจะเป็นวงจรสะท้อนกลับ (feedback loop) ซึ่งกันและกัน โดยสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอาจทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ขณะที่ความแตกแยกและการขาดความสมานฉันท์ในสังคมก็เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบและมีฉันทามติในการออกแบบและดำเนินนโยบายสาธารณะร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระยะยาวเช่นกัน ดังนั้น นอกเหนือจากการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการแล้ว การแก้ไขปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความไม่สมานฉันท์อาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้
พัฒนาการของความเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงต่อเนื่อง สะท้อนความสมานฉันท์ในสังคมที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลา 1 ทศวรรษ โดยจากข้อมูล World Values Survey (WVS) ซึ่งเป็นข้อมูลสำรวจที่ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นและค่านิยมของคนทั่วโลกทุก ๆ 5 ปี พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงหนึ่งในสี่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี (ภาพที่ 12)5 นอกจากนี้ ยังพบว่า ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้นโดยเฉลี่ยอีกด้วย (ภาพที่ 13)
เพื่อให้ได้ภาพที่เป็นปัจจุบันของความสมานฉันท์ในสังคมไทยและการศึกษาเชิงลึกเพิ่มขึ้นในประเด็นความคิดต่าง ความแตกแยกที่อาจเกิดจากความคิดต่าง รวมไปถึงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกของสังคมไทย คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำแบบสอบถามภายใต้โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” โดยมุ่งทำความเข้าใจใน 4 ประเด็นคำถามหลัก ได้แก่
- ความสมานฉันท์ในสังคมไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน?
- ลักษณะความคิดต่างในสังคมไทยเป็นอย่างไร?
- ความคิดต่างส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือไม่และอย่างไร? และ
- ปัจจัยสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับความแตกแยกของสังคมไทยมีอะไรบ้าง?
โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ทำการสำรวจโดยใช้ช่องทางออนไลน์ และในระยะเริ่มต้น (Phase I) ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม–กันยายน 2021 ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,016 ราย จากกลุ่มอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ที่หลากหลาย โดยเมื่อพิจารณาการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจใน Phase I เทียบกับการกระจายตัวของประชากร (ภาพที่ 14) พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 30–59 ปีเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทย ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และมีอาชีพเป็นข้าราชการและพนักงานเอกชน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายตัวของประชากรไทยโดยทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะแบบสอบถามออนไลน์เข้าถึงคนบางกลุ่มได้ยากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์ นอกจากนี้ เนื่องจากการส่งแบบสำรวจออนไลน์ไม่ได้มีการสำรวจแบบสุ่ม (probability sampling) ทำให้การแปลผลอาจมีข้อพึงระวัง เช่น กลุ่มตัวอย่างที่ได้อาจมีการคัดเลือกตัวเองมาแล้ว (self-selection) โดยอาจมีคนที่สนใจการเมือง หรือมีความเห็นชัดเจนทางการเมืองมากกว่าประชากรจริง ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่จะกล่าวถึงในส่วนต่อไปเป็นผลการศึกษาที่มาจากกลุ่มตัวอย่างนี้เท่านั้น
ความสมานฉันท์ของสังคม (social cohesion) เป็นด้านที่มีคะแนนต่ำที่สุดในบรรดามิติต่าง ๆ ของคุณภาพสังคมไทย สะท้อนจากข้อมูลสำรวจของโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ใน Phase I ซึ่งอ้างอิงกรอบการวัดคุณภาพสังคมโดย Abbott & Wallace (2012) อันได้แก่
- ความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (social security) ซึ่งวัดความกินดีอยู่ดี
- ความเป็นสมาชิกในสังคม (social inclusion) ซึ่งแสดงถึงความเข้าถึงตลาดแรงงานและการศึกษา
- ความสมานฉันท์ (social cohesion) ซึ่งแสดงถึงความพอใจร่วมกันของคนในสังคม และ
- การเสริมสร้างพลังทางสังคม (social empowerment) ซึ่งวัดการมีตัวเลือก ความมีอิสระในการกำหนดเส้นทางชีวิต และความมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองของคนในสังคม (ภาพที่ 15)
ทั้งนี้ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจจากองค์ประกอบของดัชนีความสมานฉันท์ในสังคม อันได้แก่ ความเชื่อใจต่อคนในสังคม ความเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ และ ความสามัคคีกลมเกลียวของคนในประเทศ6 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่จำแนกตามช่วงรายได้และช่วงอายุ ดังต่อไปนี้
- กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความ “เชื่อใจ” คนในสังคมในระดับต่ำกว่าความเชื่อใจคนในสังคมของกลุ่มผู้มีรายได้สูงอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 16) โดยกลุ่มคนที่มีรายได้่ในควินไทล์ล่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเชื่อใจคนในสังคมต่ำกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ในช่วงควินไทล์สูง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ดัชนีความเชื่อใจคนในสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับรายได้
- กลุ่มคนอายุน้อยมีความเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ ต่ำกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 17) โดยกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีค่าเฉลี่ยคะแนนความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่าง ๆ ในสังคมต่ำกว่ากลุ่มคนอายุในช่วง 40–59 ปี และมากกว่า 60 ปี อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับระบบโครงสร้างที่มีอยู่เดิม
สำหรับการวัดความคิดต่าง โครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ทำการสำรวจโดยให้นิยามของทัศนคติและค่านิยมของคน 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มเสาวรส ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “คิดใหม่ ให้เท่าเทียม” โดยมักจะให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เป็นต้น และ
กลุ่มกล้วยหอม ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” โดยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก ๆ เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงในชีวิต และการเคารพผู้อาวุโส เป็นต้น
คณะผู้วิจัยได้ขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนที่แสดงค่านิยมตรงกับของตนเองมากที่สุด และใช้ช่วงคะแนนตั้งแต่ 1–6 โดยหากตอบ 1 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปในทางกลุ่มเสาวรสมากที่สุด ขณะที่หากตอบ 6 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปทางกลุ่มกล้วยหอมมากที่สุด โดยจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจใน Phase I นี้ พบสัดส่วนของผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมตรงกับเสาวรสมากที่สุด (ภาพที่ 18)
หากพิจารณาภาพตัดขวางในกลุ่มตัวอย่างย่อยทั้งในมิติอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ จะพบการกระจายตัวของความคิดต่างที่หลากหลายในเกือบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี อายุเป็นมิติที่มีการกระจายตัวของความคิดต่างที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นชัดเจนมากที่สุด โดยกลุ่มคนอายุน้อย (น้อยกว่า 30 ปี) มีทัศนคติและค่านิยมค่อนไปทางเสาวรสมากกว่าร้อยละ 90 และสัดส่วนของกลุ่มทัศนคติและค่านิยมแบบเสาวรสก็ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น (ภาพที่ 19)
ที่จริงแล้ว ความคิดต่างและความหลากหลายทางความคิด เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์และพัฒนา ตลอดจนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกไม่ดี และอคติต่อคน “คิดต่าง” ต่างหากที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกและเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้พยายามหาคำตอบว่าความคิดต่างของคนไทยนั้น เจือปนไปด้วยความรู้สึกไม่ดีหรืออคติที่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมจริงหรือไม่ โดยศึกษาความสัมพันธ์ของความคิดต่าง กับความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด (affective polarization) และ กับความมีอคติทางความคิดต่อคนคิดต่าง (errors in perception)
การคิดต่างอาจเจือไปด้วยความรู้สึกไม่ดีต่อคนคิดต่าง คณะผู้วิจัยได้ออกแบบคำถามเพื่อวัดความรู้สึกต่อคนฝั่งตรงข้ามในหลาย ๆ มิติ เช่น ความไว้วางใจกัน ความรู้สึกไม่ชอบ ความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความเห็นอกเห็นใจกันที่จะช่วยเหลือหากเดือดร้อน และพบว่าคนทั้งสองกลุ่มต่างมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนอีกฝั่งจริง สะท้อนจากคะแนนความไม่ชอบที่ค่อนข้างมาก และความเห็นอกเห็นใจจะช่วยเหลือในระดับต่ำ ภายใต้สถานการณ์สมมติที่ว่า "หากท่านเป็นทนายและรู้ว่าคนฝั่งตรงข้ามไม่มีความผิดท่านจะช่วยว่าความให้" (ภาพที่ 20)
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศหลายงาน เช่น Iyengar et al. (2019) พบว่าคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ที่รู้สึกไม่ไว้วางใจและไม่ชอบผู้ที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกับตน มักพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมีกิจกรรมที่ต้องร่วมกับผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามน้อยลง และบางครั้งยังทำให้มีส่วนร่วมกับนโยบายภาครัฐน้อยลง เช่น การเข้าร่วมประกันสุขภาพ หากรัฐบาลเป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกับที่ตนสนับสนุน
ดังนั้น พอจะเห็นได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หากเราขาดทั้งความไว้วางใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทรต่อคนคิดต่าง หรือแม้แต่การยอมที่จะเปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่คิดต่างจากเราในระดับปัจเจกบุคคลแล้ว การร่วมมือกันในระดับองค์กรหรือภาคส่วนที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าก็คงจะยิ่งเป็นเรื่องยาก
การคิดต่างอาจทำให้ยิ่งมองความต่างมากเกินจริง โดยคณะผู้วิจัยได้วัดความมีอคติและการเหมารวมต่อคนคิดต่าง ด้วยการถามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามต่อนโยบายหรือค่านิยมต่าง ๆ ตามด้วยคำถามว่า ผู้ตอบคิดว่าฝั่งตรงข้ามมีความเห็นต่อค่านิยมนั้น ๆ อย่างไร และพบว่า คนทั้งสองกลุ่มคิดว่าทั้งสองฝั่งมีความคิดต่าง (แท่งสีน้ำเงิน) มากกว่าความแตกต่างจริง (แท่งสีส้ม) ในเกือบทุกประเด็นคำถาม (ภาพที่ 21) มีเพียงคำถามเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานเท่านั้นที่ทั้งสองฝ่ายคิดว่าความแตกต่างทางความคิดนั้นน้อยกว่าที่เป็นจริง
ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับหลายงานวิจัยในต่างประเทศที่ผ่านมา เช่น Graham et al. (2012) และ Westfall et al. (2015) ที่พบว่า คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ คิดว่าคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามคิดต่างจากตนมากกว่าที่เป็นจริง
ความคิดของคนทั้งสองกลุ่มที่สะท้อนความคิดต่างที่เกินจริงนี้ ทำให้คนสองกลุ่มที่อาจมีความคิดคล้ายกัน ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้ เพราะ “ไม่ทราบ” ว่าที่จริงแล้วอีกฝ่ายก็คิดคล้ายกัน
กล่าวโดยสรุป จากมาตรวัดความแตกแยกทางสังคมข้างต้น อันได้แก่ ความรู้สึกไม่ดีต่อคนฝั่งตรงข้ามและการวัดอคติทางความคิดด้วยการเปรียบเทียบสิ่งที่คิดกับความเป็นจริง แสดงให้เห็นว่า ความคิดต่างในสังคมไทยเจือปนไปด้วยความเกลียดชังและอคติ ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคมดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
คณะผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ (regression analysis) ในการตอบคำถามดังกล่าว โดยผลการศึกษาในภาพที่ 21 แสดงขนาดของค่าสัมประสิทธิของปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความแตกแยกทางสังคม โดยเมื่อควบคุมปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ เพศ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อจำนวนสมาชิกในครัวเรือน พบว่ามี 5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับความแตกแยกทางสังคม ได้แก่ ความสุดขั้ว (extremity) ความต่างวัย ความมั่นคงในชีวิต การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความหลากหลายของสื่อที่ติดตาม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ความสุดขั้ว7
ผลการศึกษาพบว่า ความสุดขั้วและความแตกแยกในสังคมมีความสัมพันธ์ทางสถิติ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความสุดขั้วต่ำ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดก็ตาม ผู้ที่มีความสุดขั้วสูงมาก มีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากขึ้น นอกจากนี้ยังคิดว่าผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมฝั่งตรงข้าม คิดต่างจากตนเองมากกว่าความเป็นจริงเช่นกัน
ผลการศึกษาพบว่า ความเกลียดชังและอคติต่อฝ่ายตรงข้ามต่างกันไปตามช่วงวัย สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างรุ่น โดยในกลุ่มคนอายุมากจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากกว่ากลุ่มคนอายุน้อย ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนอายุน้อยคิดว่าคนฝั่งตรงข้ามคิดต่างจากตนเองในระดับที่มากกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุมาก และยังพบว่า กลุ่มคนอายุน้อยมีความสุดขั้วสูงกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่าอีกด้วย
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ยิ่งมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ จะยิ่งพบความสุดขั้วที่สูงกว่า มีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามที่มากกว่า และ มีอคติต่อความคิดต่างที่สูงกว่า โดยผลการศึกษาในส่วนนี้ก็สนับสนุนข้อสมมติฐานที่ว่า หากระบบเศรษฐกิจสามารถกระจายความมั่งคั่ง และพัฒนาแบบทั่วถึงเพื่อเพิ่มความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ปัจเจกบุคคลโดยส่วนใหญ่ในประเทศได้ ก็อาจจะเข้ามาช่วยลดทอนความขัดแย้งทางสังคมได้ด้วย
พฤติกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง ในครอบครัวและเพื่อนฝูงมีความสัมพันธ์ทางสถิติกับความสุดขั้วและความแตกแยกทางสังคม โดยผลการศึกษาพบว่า คนที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในครอบครัวและเพื่อนบ่อยครั้งกว่า มีความสุดขั้ว ความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้าม และอคติหรือการเหมารวมทางความคิดของคนคิดต่างที่น้อยกว่า
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคสื่อที่เหมือน ๆ กับคนฝั่งเดียวกัน (echo chamber) ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะมีความสุดขั้วสูงขึ้น มีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากขึ้น และอคติของความแตกต่างที่คิดมากกว่าความแตกต่างจริงสูงขึ้น ในทางกลับกัน พบว่าผู้ที่บริโภคสื่อที่หลากหลายกว่า จะมีอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามน้อยกว่า
สื่อแต่ละแห่งมีผู้ติดตามที่มีทัศนคติและค่านิยมแบบใด?
ในส่วนนี้ คณะผู้วิจัยวิเคราะห์โดยใช้ logistic regression analysis เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสถิติว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่าติดตามสื่อแต่ละแห่ง มีความเป็นไปได้ที่จะมีทัศนคติและค่านิยมอยู่ในกลุ่มใด โดยได้ผลการวิเคราะห์มาเรียงลำดับสื่อจากซ้ายไปขวา (ยกตัวอย่างเช่น ซ้ายมือสุดเป็นสื่อที่คนติดตามจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มเสาวรสมากกว่าความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มกล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ) ทั้งนี้ สามารถแบ่งสื่อออกเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ สื่อที่กลุ่มเสาวรสติดตามมากกว่ากล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญ สื่อกลาง ๆ และสื่อที่กลุ่มกล้วยหอมติดตามมากกว่าเสาวรสอย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 23)
-5.68
-5.41
-4.94
-4.34
-4.25
-4.14
-2.29
-1.95
-1.02
-0.95
-0.85
-0.62
-0.47
-0.06
0.09
0.26
0.53
0.62
0.71
0.81
0.94
1.06
1.07
1.17
1.38
1.44
1.53
1.58
1.97
2.58
4.74
7.77
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สร้างตัวแปรวัดพฤติกรรมการรับข่าวสารอีกสองตัว ได้แก่
- Echo chamber แสดงสัดส่วนของสื่อที่คนติดตาม โดยหากคะแนนมากแสดงว่าติดตามสื่อเหมือน ๆ กับคนฝั่งเดียวกันเป็นสัดส่วนมาก และ
- Media entropy แสดงความหลากหลายทางความคิดของสื่อที่ติดตาม โดยคะแนนยิ่งมากแสดงว่าติดตามสื่อที่มีความหลากหลายมาก (จากสื่อทั้งสามกลุ่ม)
แม้ผลการศึกษาจากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ในระยะเริ่มต้น จะพบความขัดแย้ง ความรู้สึกไม่ดีต่อกัน และอคติระหว่างคนคิดต่างในสังคมไทยจริง ๆ แต่ผลการศึกษายังมีข้อค้นพบที่ว่า คนสองกลุ่มมีจุดร่วมกัน (common ground) ที่อาจมากกว่าคนทั่วไปคิด สะท้อนจากความเห็นที่ใกล้เคียงกันของกลุ่มเสาวรสและกล้วยหอมในบางประเด็นค่านิยมและความคิดเห็นเชิงนโยบาย (ภาพที่ 21) โดยจุดร่วมเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่า “คนคิดต่าง อาจไม่ได้ต่างอย่างที่คิด” ยกตัวอย่างเช่น
- “ในการเลือกตั้ง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากัน” ซึ่งทั้งสองกลุ่มค่อนไปทางเห็นด้วยมากที่สุดทั้งคู่
- “หากไม่มีปัญหาการโกงกิน รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง” ซึ่งทั้งสองกลุ่มเห็นด้วย
- “แม้ว่าท่านจะเห็นว่าคำสั่งของหัวหน้าผิดศีลธรรม ท่านก็จะยังทำตามคำสั่งนั้นเพราะเป็นหน้าที่ของท่าน” ซึ่งทั้งสองกลุ่มค่อนไปทางไม่เห็นด้วยเลยทั้งคู่
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ในสังคมไทย ความเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท และคนใกล้ชิด อยู่ในระดับสูง (ภาพที่ 24) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อค้นพบที่สถาบันครอบครัว และกลุ่มคนใกล้ชิดที่แข็งแรงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดความขัดแย้งในสังคมไทยได้
ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีอยู่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ลำพังการแก้ไขแต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างเดียวจะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน หากไม่มีกุญแจสำคัญคือ การแก้ไขให้เกิด “ความสมานฉันท์ในสังคมไทย” เพราะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ (prerequisite) สำหรับการวางแผนหาทางออกและแก้ไขความเปราะบางเหล่านี้ร่วมกันในทุก ๆ ภาคส่วน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงขอทิ้งท้ายและฝากแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญ 4 ประการ ที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเองแต่ละคน และเนื่องจากทุกความขัดแย้งจบลงที่โต๊ะเจรจาเสมอ แม้ทำได้ยากแต่จำเป็นต้องทำในทางปฏิบัติ
“เปิดใจ” ที่จะมองเห็น เข้าใจมุมมองของคนคิดต่าง โดยเอาอคติหรือความรู้สึกไม่ดีใด ๆ ออกไปก่อน ไม่ว่าจะในระดับบุคคล องค์กร ภาครัฐหรือเอกชน เนื่องจากความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องธรรมชาติ ประเทศชาติจะพัฒนาไม่ได้ถ้าไม่อาศัยความคิดที่หลากหลายในสังคม แต่ความแตกต่างทางความคิดนั้นต้องไม่เจือปนด้วยอคติแบ่งเขาแบ่งเราไว้ก่อน มิเช่นนั้นประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้
“รับฟัง” หลังจากเปิดใจอย่างไม่มีอคติ เราก็รับฟัง ทั้งการรับฟังคนรอบข้าง คนคิดต่าง การรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย และไม่ใช่ที่เป็น echo chamber แต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้เรามีข้อมูลรอบด้าน มุมมองที่กว้างขวางและครบถ้วนยิ่งขึ้น
“พูดคุย” หลังจากการเปิดใจและเริ่มรับฟังคนคิดต่าง การพูดคุยกันอย่างอารยชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันตามความเหมาะสม ให้เราเข้าใจความต้องการของคนคิดต่าง และคนแต่ละรุ่นมากขึ้น ซึ่งการพูดคุยมีทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศ
“ร่วมมือ” การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราหยุดแค่ที่การพูดคุย เราจะต้องมีความร่วมมือด้วย การลงมือทำระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งระดับปัจเจกบุคคล และองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปสู่ฉันทามติในการวางนโยบายที่เป็นรูปธรรม ปรับเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง และทำให้เกิดการพัฒนาที่ทั่วถึงในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- สินค้าส่งออกหลักของไทย 10 ประเภทคิดเป็นร้อยละ 71 ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด↩
- องค์การสหประชาชาตินิยามว่าผู้สูงวัยคือประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยสังคมสูงวัยในระยะเริ่มต้น คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด↩
- ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งในแบบจำลองของ Zak & Knack (2001) โดยหากประเทศมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่ำก็จะมีต้นทุนในการตรวจสอบสูง และมีต้นทุนในการลงทุนสูงด้วย↩
- งานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาถึงผลของความสมานฉันท์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น Knack & Keefer (1997) และ Zak & Knack (2001) ได้ใช้คำถามจาก WVS ที่วัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม (trust) เป็นมาตรวัดภาพรวมของความสมานฉันท์ในสังคมเช่นกัน โดย WVS ใช้คำถามว่า “Generally speaking, would you say that most people can be trusted or that you need to be very careful in dealing with people? (1) Most people can be trusted (2) Need to be very careful” ↩
- (1) ดัชนีความเชื่อใจต่อคนในสังคม คำนวณจากค่าเฉลี่ยของคะแนนความเชื่อใจที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีต่อคนในชุมชน คนรู้จักทั่วไป และคนต่างเชื้อชาติ (2) ดัชนีความเชื่อมั่นในสถาบันต่าง ๆ คำนวณจากค่าเฉลี่ยของคะแนนความเชื่อใจที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีต่อองค์กรและหน่วยงานในด้านต่าง ๆ อาทิ สื่อมวลชน หน่วยงานด้านความมั่นคง (ตำรวจ ทหาร) หน่วยงานด้านความยุติธรรมและความโปร่งใส (ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช.) หน่วยงานการบริหาร (รัฐบาล พรรคการเมือง ข้าราชการ) และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการเงิน (บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร ธนาคารกลาง) (3) ดัชนีความสามัคคี คำนวณจากคะแนนความรู้สึกที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีต่อความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติ↩
- ผลการศึกษาแสดงความสัมพันธ์ทางสถิติของความสุดขั้วต่อตัวแปรศึกษาของคณะผู้วิจัย อย่างไรก็ดี หากความสุดขั้ว มีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่ไม่สามารถสังเกตได้ (unobservable) หรือตัวแปรอื่น ๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในตัวแปรควบคุม ค่าสัมประสิทธิ์ของความสุดขั้วก็อาจจะมีความลำเอียงได้ (omitted-variable bias) ซึ่งคณะผู้วิจัยจะได้ศึกษาประเด็นนี้ในการศึกษาระยะต่อไป↩