อำนาจตลาดของโรงสีและผลกระทบต่อชาวนา

excerpt
ภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ต่อชาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ บทความนี้วิเคราะห์ว่าอำนาจตลาดตามห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรมีผลต่อผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อเกษตรกรอย่างไร โดยใช้ข้อมูลระดับจุลภาคเกี่ยวกับเกษตรกรและโรงสีข้าวในประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอของโรงสี และใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันระหว่างโรงสีที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาที่ชาวนาได้รับสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การวิเคราะห์โดยใช้ quantitative spatial model ยังแสดงให้เห็นว่านโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางถนนทั่วประเทศมีผลต่อการกระจายรายได้ของชาวนา โดยเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในกลุ่มรายได้ต่ำนั้นโดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในกลุ่มรายได้สูงสุด
เกษตรกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยในปี 2562 มีอัตราการจ้างแรงงานสูงถึง 31% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ (World Bank, 2021) ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรในประเทศไทย คือเกษตรกรรายเล็กจำนวนมากที่ต้องขายผลิตภัณฑ์ให้กับตัวกลางจำนวนน้อย โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย คิดเป็น 46% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2562 (Office of Agricultural Econozs, 2019) เนื่องจากข้าวจำเป็นต้องผ่านการสีก่อนที่จะสามารถบริโภคได้และการสีข้าวต้องใช้เครื่องจักร ทำให้เกิดต้นทุนคงที่ (fixed costs) และการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรงสีข้าวขึ้น ซึ่งโรงสีข้าวอาจมีอำนาจตลาด และอาจสามารถกดราคาที่ชาวนาได้รับได้ นอกจากนี้ การตัดสินใจเข้าสู่ตลาด และการเลือกสถานที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ (strategic entry-location decisions) ของโรงสีเหล่านี้มีผลกระทบต่อการแข่งขันระดับท้องถิ่น (local competition) และอาจมีผลต่อราคาที่ชาวนาได้รับ ดังนั้น การประเมินว่านโยบายแต่ละประเภทจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างไร จำเป็นต้องมีความเข้าใจว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อจำนวนโรงสีที่ดำเนินกิจการหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นเชิงพื้นที่ของโรงสีจะส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรได้รับอย่างไร
บทความนี้สรุปงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง Entry and Spatial Competition of Intermediaries: Evidence from Thailand’s Rice Market (Laoprapassorn, 2022) ซึ่งได้ศึกษาว่าอำนาจตลาดตามห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรส่งผลต่อผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อเกษตรกรอย่างไร โดยใช้ข้อมูลระดับจุลภาคเกี่ยวกับเกษตรกรและโรงสีข้าวในประเทศไทย จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมดัชนีเศรษฐกิจการค้า ผลการศึกษาพบว่า strategic entry-location decisions ของโรงสี มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์ของนโยบายต่าง ๆ ต่อชาวนา บทความจะเริ่มจากการนำเสนอข้อสังเกตและลักษณะของโรงสีในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่แบบจำลองที่ผู้เขียนเลือกใช้ เพื่อนำมาศึกษาผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ เช่น การพัฒนาถนน ต่อรายได้ของชาวนาภายใต้อำนาจตลาดของโรงสี
รูปที่ 1 ด้านซ้ายแสดงให้เห็นถึงจำนวนโรงสีข้าวในแต่ละจังหวัด ระหว่างปี 2007–2019 จะเห็นได้ว่าโรงสีข้าวมีการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอ โดยมีจำนวนโรงสีไล่ตั้งแต่ 0 จนถึงมากกว่า 90 โรงต่อจังหวัด นอกจากนี้ จะสังเกตได้จากรูปที่ 1 ด้านขวาถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความหนาแน่นของโรงสีข้าวกับความหนาแน่นของปริมาณข้าวที่ปลูกในแต่ละจังหวัด ซึ่งบ่งบอกถึงต้นทุนคงที่ของโรงสี แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอุปสรรคทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้โรงสีใหม่เริ่มกิจการ แต่การที่โรงสีมีต้นทุนคงที่นั้นหมายความว่า โรงสีจะเข้ามาตั้งกิจการก็ต่อเมื่อสามารถบรรลุยอดขายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น พื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพ (productivity) สูงจะมีความหนาแน่นของโรงสีสูงกว่าพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำ และโรงสีในพื้นที่ที่ผลิตข้าวจำนวนมากจะเผชิญกับการแข่งขันในระดับท้องถิ่นที่สูงกว่าโรงสีในพื้นที่ที่มีผลผลิตข้าวจำนวนน้อย ซึ่งอาจทำให้โรงสีในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำมีอำนาจตลาด และอาจสามารถกดราคาที่ให้ชาวนาได้มากกว่าโรงสีในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพสูง
คำถามที่ตามมาคือ ความหนาแน่นของโรงสีมีผลต่อราคาที่ชาวนาได้รับหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ (causal relationship) ระหว่างการแข่งขันในระดับท้องถิ่นและราคาที่ชาวนาได้รับ งานวิจัยของผู้เขียนสร้างตัววัดระดับการแข่งขันระหว่างโรงสี (competition measure) เพื่อวัดระดับการแข่งขันเชิงพื้นที่ (spatial competition) ระหว่างโรงสี โดย spatial competition ระหว่างโรงสีจากมุมมองของชาวนาแต่ละราย คือผลรวมของจำนวนโรงสีในระยะ 100 กิโลเมตรจากชาวนา เนื่องจากเป็นระยะทางที่ยาวพอที่จะทำให้มี variation ใน competition measure1 แล้วถ่วงด้วยน้ำหนักผกผันของระยะทางระหว่างชาวนากับโรงสีดังนั้นชาวนาที่อยู่ใกล้โรงสีจำนวนมากจะมี competition measure ที่สูง
การสร้าง competition measure จากจำนวนของโรงสีและระยะทาง โดยไม่ได้รวมการพิจารณาปริมาณของข้าวด้วย เนื่องจาก
- ปัจจัยสำคัญของการวัดระดับของ spatial competition คือความหนาแน่นของโรงสี
- ปริมาณของข้าวที่โรงสีแต่ละที่สีนั้น endogenous กับปริมาณของข้าวที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ โดยปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อ entry decisions ของโรงสี ซึ่งจะได้วิเคราะห์ในแบบจำลองในส่วนต่อไป
- กำลังการผลิตในการสีข้าว (milling capacity) ไม่ได้มีผลกระทบต่อระดับการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ตราบเท่าที่โรงสีไม่ได้มี capacity constraint
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างราคาที่ชาวนาได้รับอาจเป็นผลจากปัจจัยนอกเหนือจากการแข่งขันระหว่างโรงสี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายใน (endogeneity problem) ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงcausal relationship ระหว่างการแข่งขันระหว่างโรงสีต่อราคาที่ชาวนาได้รับ นอกจากการควบคุมปัจจัยอื่น ๆที่มีผลต่อราคาที่ได้รับ (control variables) เช่น ปริมาณข้าวที่ชาวนาขาย ปริมาณข้าวที่ผลิตในจังหวัด ระยะทางถึงกรุงเทพฯ ชนิดของข้าว ภูมิภาค ปีที่ขาย และเดือนที่มีปริมาณขายมากที่สุดแล้ว ผู้เขียนได้ใช้ผลิตภาพของชาวนารอบข้าง (neighboring farmers) เป็นตัวแปรเครื่องมือ (instrument) สำหรับ competition measure2 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจาก unobserved heterogeneity ผลวิเคราะห์จากการใช้ instrumental variable แสดงให้เห็นว่า หากค่าการแข่งขันระหว่างโรงสีเพิ่มขึ้นหนึ่งส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) ราคาที่ชาวนาได้รับจะสูงขึ้น 7.7%
งานวิจัยของผู้เขียนได้พัฒนา quantitative spatial model ขึ้นเพื่ออธิบายอำนาจตลาดเชิงพื้นที่ (spatial market power) ของโรงสี โดยใช้กรอบ Nash bargaining (Chatterjee, 2019) และ static entry game with incomplete information (Seim, 2006) เมื่อชาวนานำข้าวมาขายที่โรงสีและต่อรองราคากับโรงสี หากชาวนาไม่สามารถตกลงราคากับโรงสีได้ ทางเลือกของชาวนา (outside option) คือการขนข้าวไปขายให้กับโรงสีโรงอื่น ซึ่งผลตอบแทนที่ชาวนาจะได้รับในกรณีนี้คือราคาที่โรงสีอื่นให้ หักค่าขนส่งในการเคลื่อนย้ายข้าวระหว่างโรงสี หากบริเวณนั้นมีความหนาแน่นของโรงสีสูง ซึ่งหมายความว่าโรงสีตั้งอยู่ใกล้กัน ค่าขนส่งข้าวจากโรงสีหนึ่งไปอีกโรงก็จะไม่มาก ดังนั้นชาวนาในบริเวณที่มีโรงสีจำนวนมากจะมีจุดต่อรอง (threat point) ในการเจรจาสูงกว่าชาวนาในบริเวณที่มีโรงสีจำนวนน้อยและโรงสีตั้งอยู่ห่างจากกัน ส่งผลให้ชาวนาในบริเวณที่มีความหนาแน่นของโรงสีสูงได้รับราคาที่สูงกว่าชาวนาในบริเวณที่มีโรงสีน้อย
คำถามต่อมาคือ ทำไมบางพื้นที่ถึงมีความหนาแน่นของโรงสีมากกว่าที่อื่น ทั้งนี้ เป็นเพราะการตัดสินใจเข้าสู่ตลาดและการเลือกสถานที่เชิงกลยุทธ์ (strategic entry-location decision) ของโรงสี โรงสีเลือกว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่ และเลือกพื้นที่ที่จะตั้งกิจการ โดยคำนึงถึงกำไรเป็นหลัก เพราะโรงสีมีต้นทุนคงที่ (fixed cost) ดังนั้นโรงสีจะเข้าไปดำเนินกิจการต่อเมื่อกำไรผันแปร (variable profit) นั้นมากกว่าต้นทุนคงที่ ซึ่งกำไรผันแปร ของโรงสี ขึ้นอยู่กับอัตรากำไรต่อหน่วย (per-unit profit) และปริมาณข้าวที่โรงสีรับซื้อได้จากชาวนา ในการเลือกสถานที่ตั้ง โรงสีจะต้องเผชิญ trade-off เพราะโรงสีต้องการตั้งกิจการในบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงและสามารถปลูกข้าวได้มาก แต่ในขณะเดียวกันการดำเนินกิจการในพื้นที่ที่มีโรงสีจำนวนมากก็จะทำให้โรงสีมีอำนาจตลาดที่น้อยลง และมีอัตรากำไรต่อหน่วย ที่ต่ำลง ดังนั้น entry-location decision ของโรงสีนั้นจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่อาจเข้ามา (potential entrants) รายอื่น ๆ ด้วย ในดุลยภาพ บริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงจะสามารถรองรับจำนวนโรงสีได้มากกว่าบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำ ส่งผลให้ชาวนาในบริเวณที่มีผลิตภาพต่ำได้รับราคาที่ต่ำกว่า
งานวิจัยของผู้เขียนได้ใช้แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ต่อชาวนาภายใต้อำนาจตลาดของโรงสี หนึ่งในนโยบายที่ได้ศึกษาคือการพัฒนาถนน ในปี 2017 กรมทางหลวงได้มีแผนยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อ GDP จาก 4.4% เป็น 4.0% ซึ่งเทียบเท่ากับค่าขนส่งลดลง 9% แบบจำลองของผู้เขียนที่ศึกษาผลกระทบเมื่อต้นทุนการขนส่งทั่วทั้งประเทศลดลง 9% พบว่า strategic entry-location decisions และ spatial market power ของโรงสี มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระจายผลประโยชน์ต่อชาวนา แม้ว่ารายได้รวมของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 16.75% แต่เปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์แรกนั้นโดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่าเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์สุดท้าย 25%


รูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ถดถอย (regressive effect) ต่อผลประโยชน์ของชาวนา จะเห็นได้ว่า เปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพสูงและมีรายได้สูงอยู่แล้วนั้นสูงกว่าเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำและมีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เกิดจากเหตุผลสองประการ ประการแรก การกระจายตัวของโรงสีข้าวอย่างไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งของโรงสีเชิงกลยุทธ์ (strategic location decision) ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ บริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงมีโรงสีข้าวหนาแน่นกว่าบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำ ดังนั้นโรงสีในบริเวณที่ชาวนามีผลิตภาพสูงจึงมีอำนาจตลาดต่ำกว่า และส่งต่อผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรในสัดส่วนที่มากกว่า ดังนั้น เปอร์เซ็นต์ราคาที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในพื้นที่ที่มีผลิตภาพสูงจึงสูงกว่าเปอร์เซ็นต์ราคาที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในพื้นที่ที่มีผลิตภาพต่ำ
ประการที่สอง ค่าขนส่งที่ลดลงมีผลกระทบต่อ entry-location decisions ของโรงสี รูปที่ 3 แสดงให้เห็นว่า จำนวนโรงสีเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพสูงและมีจำนวนโรงสีมากอยู่แล้ว และลดลงในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำและมีจำนวนโรงสีไม่มากนัก ดังนั้น โรงสีในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพสูงจึงมีอำนาจตลาดที่ลดลง ในขณะที่โรงสีในพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำจะมีอำนาจตลาดที่สูงขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์แรกกับชาวนาในกลุ่มรายได้เดไซล์สุดท้ายเพิ่มขึ้นไปอีก 2.1 เท่า
การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดข้าวและการเลือกสถานที่ดำเนินการของโรงสีมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้ของชาวนา แม้ว่าจะไม่มีอุปสรรคทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้โรงสีใหม่เริ่มกิจการ การมีอยู่ของต้นทุนคงที่และค่าขนส่งหมายความว่าโรงสีจะเลือกสถานที่ตั้งอย่างมีกลยุทธ์ นำไปสู่การกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอ พื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพสูงจะมีความหนาแน่นของโรงสีสูงกว่า และโรงสีจะมีอำนาจตลาดที่น้อยกว่าพื้นที่ที่ชาวนามีผลิตภาพต่ำ ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่นั้น ๆ ได้รับราคาที่สูงกว่า ซึ่งพฤติกรรมและอำนาจตลาดของโรงสีนี้ มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระจายผลประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ต่อชาวนา
เอกสารอ้างอิง
- ผลจาก robustness checks พบว่าผลวิเคราะห์นั้น robust ต่อการใช้ระยะทางอื่น ๆ เป็น cutoffs↩
- Instrument ที่ผู้เขียนใช้มีลักษณะคล้ายกับ instrument ใน Macchiavello & Morjaria (2021) โดย entry-location decisions ของโรงสีขึ้นอยู่กับกำไรที่โรงสีจะได้รับ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปริมาณข้าวที่โรงสีสามารถรับซื้อได้จากพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นพื้นที่ที่ผลิตข้าวมากจะมีจำนวนโรงสีที่มากขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวนาเป็นผู้ผลิตรายเล็ก โรงสีจึงต้องซื้อข้าวจากชาวนาจำนวนมาก และสิ่งที่สำคัญสำหรับโรงสีคือปริมาณข้าวโดยรวมที่สามารถซื้อได้จากพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นจำนวนโรงสีรอบชาวนาแต่ละราย จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลิตภาพของชาวนารายนั้นรายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับผลิตภาพของชาวนารอบข้างด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงใช้ผลิตภาพของชาวนารอบข้างเป็น instrument สำหรับ competition measure ของชาวนาแต่ละราย และใช้ผลิตภาพของตัวชาวนาเอง (farmer’s own productivity) เป็น control variable ซึ่ง exclusion restriction คือหลังจากที่ได้ control ผลิตภาพของตัวชาวนาเองแล้ว ผลิตภาพของชาวนารอบข้างจะมีผลต่อราคาที่ชาวนารายนั้นได้รับผ่านการแข่งขันระหว่างโรงสีเท่านั้น↩