การปรับตัวด้วยเกษตรผสมผสานเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน
excerpt
บทความนี้สรุปผลงานวิจัยโดย Prommawin et al. (2022) ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมูลค่าผลผลิตการเกษตร และวิเคราะห์บทบาทของเกษตรผสมผสานในการบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบ โดยใช้ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรในช่วงปี 2007–2020 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศที่ประมวลเป็นข้อมูลรายตำบล ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้สร้างความเสียหายทำให้มูลค่าผลผลิตการเกษตรของครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ไม่เข้าถึงระบบชลประทาน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่ประกอบการเกษตรขนาดใหญ่ แต่การทำกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรหลายกิจกรรม ทั้งปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้
ปัจจุบัน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประเมินว่า ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษยชาติในหลากหลายมิติ ทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติ สภาพอากาศแปรปรวน และที่สำคัญการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งอาจสร้างปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร
รายงานการประเมินครั้งที่หก (WG 1 Sixth Assessment Report: AR6) ของ IPCC ได้ประเมินฉากทัศน์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นโลกในอนาคตไว้ 5 ระดับ ตามรูปที่ 1 ตั้งแต่ระดับที่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกจำกัดอยู่ที่ระดับ 1.5°C (สีฟ้า) ภายในศตวรรษที่ 21 ตามข้อตกลงที่ปารีส (Paris Agreement) เรื่อยไปจนถึงสถานการณ์ที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงขนาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (สีแดง) อาทิ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงอย่างไม่สามารถบริหารจัดการได้ และการเกิดการสูญพันธุ์ทางชีวภาคหรือชีวมณฑล (biosphere)
ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จำกัด เนื่องจาก ณ ปี 2017 ครัวเรือนเกษตรกว่า 2 ใน 3 ปลูกพืชชนิดเดียว และเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงต่ำ อาทิ อ้อย ข้าวโพด ข้าวเหนียว ข้าว (Attavanich et al., 2019) นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรกรยังเผชิญปัญหาด้านการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ โดยครัวเรือนเกษตรกรที่สามารถเข้าถึงชลประทานมีเพียงร้อยละ 26 (Attavanich et al., 2019) อีกทั้งการจัดสรรน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยพื้นที่เพาะปลูก ณ ปี 2020 กว่าร้อยละ 57 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและนาปรัง (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564) ซึ่งข้าวเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้น้ำต่ำ (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2561)
ดังนั้น ครัวเรือนเกษตรกรในประเทศไทยมากกว่า 8 ล้านครัวเรือนมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทั้งความถี่และขนาดของภัยแล้งและมหาอุทกภัย นอกเหนือจากแนวโน้มอุณหภูมิที่จะเพิ่มสูงขึ้น อันจะนำมาซึ่งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และความเสียหายระดับมหภาคจากผลผลิตการเกษตรที่ลดลงและราคาอาหารที่จะเพิ่มสูงขึ้น
งานวิจัยนี้ประยุกต์ใช้ข้อมูลสำรวจภาวะการเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร พ.ศ. 2550–2563 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับข้อมูลอากาศประเภท reanalysis data จากฐานข้อมูล ERA51 เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรไทย และเพื่อศึกษาบทบาทของการทำเกษตรผสมผสานในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพิจารณารูปแบบกิจกรรมการเกษตร ได้แก่ การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ และการทำประมง
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้นำผลการวิเคราะห์จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติมาใช้ในการประเมินมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรในอนาคต ภายใต้ฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ IPCC AR6 (2021)
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิส่งผลกระทบทางลบต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรไทย รูปที่ 2 แสดงค่าความยืดหยุ่นของมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรต่ออุณหภูมิ (temperature elasticity of agricultural output value) ซึ่งอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของประเทศไทยร้อยละ 1 จะทำให้มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงร้อยละเท่าใด พบว่า หากอุณหภูมิพื้นผิวของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าประมาณ 24°C การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลให้มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น หรือค่าความยืดหยุ่นเป็นบวก แต่ถ้าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจากจุด threshold ณ ระดับอุณหภูมิที่ 24°C การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะสร้างความเสียหายต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลกระทบรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งตามระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ
การคำนวณค่าความยืดหยุ่นข้างต้นไม่มีข้อมูลการพยากรณ์เหตุการณ์ภัยแล้งรุนแรง หรือน้ำท่วมขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลต่อความเสี่ยงด้านความถี่และความรุนแรงในการเกิดภัยพิบัติที่สูงขึ้น ดังนั้น การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในงานวิจัยนี้ จึงยังไม่ได้สะท้อนความเสียหายจากความเสี่ยงของการเกิดมหาภัยแล้ง หรือมหาอุทกภัยด้วย
ครัวเรือนที่ไม่สามารถเข้าถึงชลประทานและครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า รูปที่ 3ก เปรียบเทียบค่าความยืดหยุ่นของมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรต่ออุณหภูมิ ระหว่างครัวเรือนเกษตรที่เข้าถึงชลประทาน (เส้นสีแดง) และไม่เข้าถึงชลประทาน (เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะส่งผลให้มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนที่ไม่เข้าถึงชลประทานลดลงรุนแรงกว่า นอกจากนี้ หากพิจารณารูปที่ 3ข จะพบว่า เมื่อจำแนกครัวเรือนเกษตรกรตามขนาดพื้นที่ทำการเกษตร ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ (มากกว่า 29 ไร่) รองลงมา คือ ครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดกลาง (12–29 ไร่) และครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก (น้อยกว่า 12 ไร่)
ครัวเรือนเกษตรที่มีกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรหลากหลายจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้อยกว่าครัวเรือนเกษตรที่ทำกิจกรรมการผลิตชนิดเดียว รูปที่ 4ก แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรหลากหลาย โดยผสมผสานระหว่างการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ หรือการทำประมง เป็นจำนวน 2–3 กิจกรรม (เส้นสีแดง) จะอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ น้อยกว่าครัวเรือนที่มีเพียงกิจกรรมการผลิตเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยครัวเรือนที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยงในการทำเกษตรจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 24°C
ในขณะเดียวกัน รูปที่ 4ข แสดงให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าประมาณ 27°C ครัวเรือนที่ทำการเพาะปลูกควบคู่ไปกับการทำปศุสัตว์ (เส้นสีแดง) จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ต่ำกว่าครัวเรือนที่ปลูกพืชอย่างเดียว (เส้นสีน้ำเงิน)
คณะผู้วิจัยประเมินผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนเกษตรกรไทย ภายใต้ฉากทัศน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ IPCC AR6 (2021) แสดงดังรูปที่ 5 ซึ่งพบว่า หากมนุษยชาติสามารถจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ระดับ 1.5°C ตามข้อตกลงที่ปารีส (ฉากทัศน์ SSP1-1.9 หรือเส้นประสีเขียวด้านบนสุด) มูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ณ ปี 2030 จะลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2020
อย่างไรก็ตาม หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับปานกลาง (ฉากทัศน์ SSP2-4.5 หรือเส้นประสีน้ำเงินเส้นตรงกลาง) ความเสียหายของมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ณ ปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปี 2020 แต่หากเป็นฉากทัศน์ที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงขนาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (ฉากทัศน์ SSP5-8.5 หรือเส้นประสีเทาเส้นล่างสุด) ความเสียหายของมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ณ ปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.6 เทียบกับ ปี 2020
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงชลประทาน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่ทำเกษตรผสมผสานจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าครัวเรือนที่ดำเนินกิจกรรมการผลิตเพียงกิจกรรมเดียว ข้อค้นพบจากการศึกษานี้มีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
- แม้มนุษยชาติจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในช่วงศตวรรษที่ 21 (IPCC AR6, 2021) และเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าผลผลิตในภาคเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายควรสนับสนุนการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องมุ่งไปที่การลงมือปฏิบัติอย่างถ้วนหน้า (universal implementation)
- เนื่องจากมีครัวเรือนเกษตรกรถึง 3 ใน 4 ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทาน และครัวเรือนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รุนแรงกว่า ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาขยายพื้นที่ชลประทานในประเทศไทยควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
- คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรสนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย โดยพิจารณาส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานมุ่งเน้นรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงสูง (Attavanich et al., 2019) และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการใช้น้ำสูง (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2561) เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้กำหนดนโยบายควรเร่งรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำเกษตรผสมผสาน รวมถึงช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพื่อให้ครัวเรือนเกษตรสามารถปรับตัวมาทำเกษตรผสมผสาน และสามารถบรรเทาผลกระทบความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิจัยร่วมโครงการ
- คุณเบญจพล พรหมมาวิน (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเครมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
- รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
- Prof. Bruce A. McCarl (Department of Agricultural Economics, Texas A&M University)
เอกสารอ้างอิง
- ข้อมูล historical reanalysis data ในงานวิจัยนี้มาจาก European Center for Medium-Range Weather Forecasts (ECMWF) เป็นข้อมูลที่ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงที่ระดับความละเอียด 0.1 องศา หรือ ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร แล้วคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยรายปีของแต่ละตำบล โดยเลือกช่วงเริ่มต้นและสิ้นสุดของแต่ละปีให้ตรงกับข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์↩