Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/62341ec5e7a1eab012a81e2b221fec73/e9a79/cover.png
20 ตุลาคม 2565
20221666224000000

กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก

นัยต่อการแก้หนี้ และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก
excerpt

การพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนฐานรากมีความซับซ้อน หลากหลาย และท้าทายไม่แพ้ครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศ งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับการวิจัยภาคสนาม เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งกำลังมีปัญหาหนี้สินกันในวงกว้าง และศึกษาความเชื่อมโยงของปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนกับปัญหาของระบบการเงินฐานรากและนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อให้เข้าใจกลไกการติดกับดักหนี้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มสำคัญนี้ ผลการศึกษาสามารถสร้างนัยต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และการออกแบบระบบการเงินฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ที่ผ่านมา ความเข้าใจถึงปัญหาเศรษฐกิจการเงินและหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรอาจยังมีช่องว่างอยู่บ้าง เนื่องมาจากข้อจำกัดของข้อมูลในการสะท้อนความซับซ้อนและหลากหลายของปัญหาได้ บทความนี้สรุปผลการศึกษาจาก Chantarat et al. (2022) ซึ่งพยายาม ‘ต่อภาพ’ ปัญหาของครัวเรือนเกษตรกรที่ถูกต้องและครอบคลุม เพื่อให้การศึกษานี้สามารถเข้าใจภาพใหญ่ของปัญหาได้ โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อในระบบของเกษตรกรผู้กู้ทั่วประเทศเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ทั้งจากฐานข้อมูลสถิติของเครดิตบูโร (2016–2022) ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อในระบบเกือบทุกแหล่งของเกษตรกร 4.7 ล้านราย ร่วมกับข้อมูลสุ่มตัวอย่างเกษตรกร 1 ล้านรายจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (2014–2021) ที่เชื่อมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนการเพาะปลูก ทำให้สามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการเงินกับปัญหาทางเศรษฐกิจและศักยภาพรายครัวเรือนได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้ใช้ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินรายเดือนของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่าง 720 ครัวเรือนจาก 48 ตำบลทั่วประเทศ (2019–2020) และการสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกร 30 ครัวเรือนจาก อ. บางขุด จ. ชัยนาท (2018, 2020) ทำให้สามารถเข้าใจการใช้สินเชื่อและบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินแหล่งอื่น ๆ ตลอดถึงพฤติกรรมการชำระหนี้ ความต้องการทางการเงินอื่น ๆ ความตระหนักรู้และทัศนคติทางการเงินของครัวเรือนที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ข้างต้น

กับดักหนี้ของเกษตรกรไทย

พลวัตของปริมาณหนี้สินของครัวเรือนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะของระดับหนี้ที่สูงถึง 70% ของมูลค่าสินทรัพย์ โดยรูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของระดับหนี้สินต่อสินทรัพย์ของครัวเรือนในช่วงเวลาที่ห่างกัน 6 ปี ซึ่งได้มาจากประมาณการข้อมูลสินเชื่อของเกษตรกรตัวอย่างเดิม 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึง long-run steady state ของระดับหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่ 70% ซึ่งเป็นระดับหนี้ที่ครัวเรือนทั้งกลุ่มที่เริ่มมีหนี้ หรือมีหนี้มากแล้วจะมีแนวโน้มมาติดอยู่ในระดับนี้ในระยะยาว เป็น 'กับดักหนี้' ที่ต้องเร่งเข้าใจและแก้ไข ทั้งนี้ กับดักหนี้เกษตรกรไทยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร? ถือเป็นโจทย์สำคัญที่งานวิจัยนี้พยายามจะหาคำตอบ

รูปที่ 1: Long-run steady state ของปริมาณหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรไทย

Long-run steady state ของปริมาณหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรไทย

ที่มา: ข้อมูลหนี้คงค้างของลูกหนี้สุ่ม 1 ล้านราย (2014-2021) จาก ธ.ก.ส. คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: รูปแสดง Non-parametric Kernel estimation จากข้อมูลหนี้รายสัญญาของลูกหนี้สุ่ม 1 ล้านรายจาก ธ.ก.ส. (2014-2021) โดย Debt to asset ratio คำนวณจากยอดเงินต้นคงค้างรวมทุกบัญชี ต่อมูลค่าของหลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสินทรัพย์ทางการเงิน (เงินออม พันธบัตร สลากออมทรัพย์); ผลการศึกษานี้ไม่ได้รวมผู้กู้ที่ไม่มีหลักประกันที่เห็นได้จากข้อมูล และได้ตัดผู้กู้ที่มีสัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ต่ำกว่า percentile ที่ 1 หรือสูงกว่า percentile ที่ 99

สามปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทย

ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง และมีปัญหาสภาพคล่อง โดย 27% ของครัวเรือนมีรายได้รวมทั้งปีไม่พอรายจ่ายจำเป็น และอีก 42% มีรายได้เหลือจากการใช้จ่ายจำเป็นไม่พอชำระหนี้ และไม่พอลงทุนในการทำเกษตรรอบต่อไป รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการได้ยาก เช่น ภัยพิบัติและราคาตลาดที่ผันผวน ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อนและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในอนาคต

รูปที่ 2: รายรับรายจ่ายรายเดือนของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่างและเฉลี่ยต่อภูมิภาค

รายรับรายจ่ายรายเดือนของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่างและเฉลี่ยต่อภูมิภาค

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร 2019–2020 คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: ตัวเลขในวงเล็บในรูป (b)–(e) แสดงสัดส่วนครัวเรือนในแต่ละภาค

ข้อมูลรายได้รายจ่ายรายเดือนของครัวเรือนแสดงให้เห็นอีกปัญหาสำคัญที่อาจจะมองเห็นได้ไม่ง่ายนักจากข้อมูลรายปี นั่นคือ ปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน รูปที่ 2 แสดงรายได้รายจ่ายรายเดือนของครัวเรือนเกษตรกรตัวอย่าง (a) และเฉลี่ยในรายพื้นที่ (b–e) ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า นอกจากจะมีรายได้ต่อเดือนที่น้อยและไม่แน่นอนแล้ว รายได้มักเข้ามาไม่สม่ำเสมอทั้งจากในและนอกภาคเกษตร และอาจมีรายจ่ายก้อนโตเพื่อลงทุนทำเกษตร หรือเพื่อใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น การศึกษาหรือสุขภาพ เป็นต้น ทำให้ครัวเรือนอาจมีรายได้ไม่พอจ่ายในหลายเดือนของปี โดยเราพบว่า กว่า 82% ของครัวเรือนเกษตรกร มีปัญหาสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 3 เดือนต่อปี

นอกจากนี้ ข้อมูลรายเดือนยังสะท้อนให้เห็นปัญหาการเงินที่หลากหลาย และสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มที่มีความน่าเป็นห่วงขึ้นอย่างชัดเจน โดยรูปที่ 2 (b–e) สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสภาพคล่องที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะการเพาะปลูกและแหล่งที่มาของรายได้ ทั้งนี้ ครัวเรือนเกษตรกรภาคกลางที่เข้าถึงชลประทานและมีรายได้จากการทำเกษตรมากกว่า และสม่ำเสมอกว่าครัวเรือนในพื้นที่อื่น ๆ จะมีปัญหาการเงินน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉลี่ย และรูปที่ 3 แสดงความหลากหลายของรายได้หักรายจ่ายต่อเดือนของครัวเรือนตัวอย่างทั้ง 720 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งอาจแยกได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่รายได้ไม่เคยพอจ่ายในทุกเดือน (ซึ่งมีถึงกว่า 18%) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน (67%) และกลุ่มที่ยังคงมีรายได้พอจ่ายทุกเดือน (ซึ่งมีเพียง 15%) อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มมีรายได้ที่ไม่แน่นอน และมีความเปราะบางสูง

รูปที่ 3: ความหลากหลายของปัญหาเศรษฐกิจการเงินและการแยกกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร

ความหลากหลายของปัญหาเศรษฐกิจการเงินและการแยกกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร 2019–2020 คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: The insufficient = ครัวเรือนที่รายได้ไม่พอจ่ายทุกเดือน; The instable/illiquid = รายได้ไม่พอจ่ายบางเดือน; The better off = ครัวเรือนที่มีรายได้พอจ่ายทุกเดือน; ตัวเลขในวงเล็บหมายถึงสัดส่วนครัวเรือนในแต่ละกลุ่ม

จาก 3 ปัญหาการเงินข้างต้นทำให้การจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรมีความท้าทายสูง โดยในทุกเดือนครัวเรือนจะต้องทั้งพยายามที่จะเกลี่ยรายได้ที่น้อยและไม่สม่ำเสมอให้สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอตลอดทั้งปี และเก็บไว้เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่รายได้ไม่แน่นอนในปีถัด ๆ ไป (smooth consumption within and across years) และต้องพยายามหาทางจ่ายค่าใช้จ่ายก้อนโตที่จำเป็นต่อการรักษาคุณภาพชีวิตและประกอบอาชีพ ซึ่งที่จริงแล้วปัญหาการเงินเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในครัวเรือนฐานรากกลุ่มอื่น ๆ (Collins et al., 2009; Morduch, 2021)

ดังนั้น ภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือครัวเรือนเกษตรกรได้มาก หากสามารถมีเครื่องมีอทางการเงินที่ตอบโจทย์ และเข้าใจความหลากหลายและแตกต่างของปัญหาการเงินครัวเรือน เช่นเดียวกับครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์การออม การประกันภัย และสินเชื่อประเภทต่าง ๆ มาบริหารสภาพคล่อง สร้างความมั่งคั่ง และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อยอดการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น คำถามสำคัญต่อมาคือ ครัวเรือนเกษตรกรไทยสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนแล้วหรือยัง?

การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ยังไม่ตอบโจทย์ แต่กลับนำมาซึ่งปัญหาหนี้

ปัญหาสำคัญคือครัวเรือนเกษตรกรเกือบทุกกลุ่มขาดความตระหนักรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะในการออมและบริหารจัดการหนี้ โดยรูปที่ 4 แสดงผลของการสำรวจความตระหนักรู้และทัศนคติทางการเงินครัวเรือนตัวอย่าง 720 ครัวเรือนทั่วประเทศในด้านต่าง ๆ และเฉลี่ยคะแนนแยกระหว่างครัวเรือนกลุ่มรายได้ไม่เคยพอจ่ายในทุกเดือน (แดง) กลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่อง (เหลือง) และกลุ่มที่ยังคงมีรายได้พอจ่ายทุกเดือน (เขียว) โดยจากรูปที่ 4a เราพบว่าครัวเรือนทั้งสามกลุ่มได้คะแนนความตระหนักรู้ทางการเงินน้อย โดยเฉพาะความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์การออมประเภทต่าง ๆ ผลของการค้ำประกันเงินกู้กลุ่ม ขาดความรู้ความเข้าใจในสถานะหนี้และผลของการผิดนัดชำระ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตคุ้มครองเงินกู้ ซึ่งผิดกับผลของทัศนคติทางการเงินที่ได้คะแนนสูงในทุกกลุ่มในเกือบทุกประเด็น ยกเว้นการทำบัญชีครัวเรือนที่ครัวเรือนอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก

รูปที่ 4: ความตระหนักรู้และทัศนคติทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร

ความตระหนักรู้และทัศนคติทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร

ที่มา: สำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2019–2020) คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: คะแนนความตระหนักรู้ทางการเงินมาก หมายถึง เกษตรกรมีความรู้และสามารถตอบคำถามการเงินในหัวข้อนั้น ๆ ได้ถูกต้อง; คะแนนทัศนคติทางการเงินมาก หมายถึง เกษตรกรประเมินตนเองว่ามีพฤติกรรมทางการเงินในหัวข้อนั้น ๆ ดีมาก; คำถามทัศนคติทางการเงินด้านภาระหนี้สิน ถามว่าเกษตรกรรู้ตัวดีว่ามีหนี้ การตอบว่าน้อย จึงอาจสะท้อนว่าเกษตรกรนั้นมีหนี้น้อยก็ได้ จึงอาจทำให้กลุ่ม The better off มีคะแนนต่ำกว่า

พฤติกรรมการออมและการทำประกันภัยของครัวเรือนเกษตรกร ยังไม่ช่วยบริหารสภาพคล่อง สะสมความมั่งคั่ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยเฉพาะต่อรายได้ที่ผันผวน รูปที่ 5 แสดงผลของการสำรวจการออมและการทำประกันภัยรูปแบบต่าง ๆ ของครัวเรือน โดยจากรูปที่ 5a พบว่าการออมส่วนใหญ่ของครัวเรือนไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้มีความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องต่ำ การออมในรูปแบบเงินฝากมีเพียง 20% ของครัวเรือนกลุ่มที่รายได้ไม่เคยพอจ่าย และ 40% ของกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่อง ทั้ง ๆ ที่การออมเพื่อบริหารสภาพคล่องและเพื่อเหตุฉุกเฉินสำคัญมากสำหรับสองกลุ่มนี้ และถึงแม้ว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้พอจ่ายทุกเดือนจะออมในสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่ก็ใช้เงินฝากเป็นหลัก ทำให้การออมอาจยังไม่ได้ให้ผลตอบแทนเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้ นอกจากนี้ รูปที่ 5b แสดงให้เห็นว่ากว่า 90% ของครัวเรือนทุกกลุ่มมีประกันชีวิต หรือกองทุนฌาปนกิจ (ซึ่งมาจากการทำประกันชีวิตเพื่อใช้กู้เงินเป็นหลัก) แต่มีประกันที่คุ้มครองความผันผวนของรายได้อยู่น้อย เช่น ประกันภัยพืชผล ประกันสังคม/กองทุนบำเหน็จบำนาญ โดยเฉพาะสองกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินที่การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งจำเป็น

รูปที่ 5: พฤติกรรมการออมและการประกันภัยของครัวเรือนเกษตรกร

พฤติกรรมการออมและการประกันภัยของครัวเรือนเกษตรกร

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร 2019–2020 คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ที่ผ่านมาครัวเรือนทุกกลุ่มใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการทางการเงิน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จากสถาบันการเงินที่หลากหลายทั้งในและนอกระบบ ทำให้มีหนี้สินกันเป็นวงกว้างและมีหนี้มาก โดยในปัจจุบัน เราพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีหนี้สิน และมีหนี้ปริมาณมากเฉลี่ยถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน โดยในรูปที่ 6a ได้จัดอันดับหนี้คงค้างต่อครัวเรือน แยกตามวัตถุประสงค์ในการกู้ ซึ่งพบว่า 30% ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท และครัวเรือนใช้หนี้สินในหลายวัตถุประสงค์ รวมถึงการกู้เพื่อชำระหนี้อื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การก่อหนี้สินเป็นเครื่องมือจัดการทางการเงินอย่างรอบด้านของครัวเรือนจริง ๆ

แหล่งเงินกู้ที่ครัวเรือนเกษตรกรกู้มีความหลากหลาย โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ถือเป็นแหล่งเงินกู้หลักและมีสัดส่วนในมูลหนี้ของเกษตรกรมากที่สุด ทั้งนี้ 5 แหล่งเงินกู้หลักประกอบด้วย

  1. SFI ที่เป็นแหล่งสินเชื่อให้ครัวเรือนกว่า 65%
  2. สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งใช้กัน 65% ของครัวเรือนที่มีหนี้
  3. แหล่งเงินกู้นอกระบบ เช่น เงินเชื่อร้านค้า ญาติ หรือนายทุน ซึ่งใช้กันถึง 31% ของครัวเรือน
  4. บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง ใช้กันถึง 28% ของครัวเรือน
  5. สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งใช้กัน 22% ของครัวเรือน
รูปที่ 6: การกระจายตัวของหนี้สินคงค้างรายครัวเรือน ตามวัตถุประสงค์และพฤติกรรมการกู้

การกระจายตัวของหนี้สินคงค้างรายครัวเรือน ตามวัตถุประสงค์และพฤติกรรมการกู้

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2019–2020) คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: สินเชื่อเพื่อการเกษตร ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ซื้อเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร หรือซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร; สินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ รวมการซื้อบ้านและที่ดินเพื่อสร้างบ้าน และเพื่อซื้อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า; สินเชื่ออื่น ๆ รวม สินเชื่อเพื่อค่ารักษาพยาบาล เพื่องานเลี้ยงและพิธีกรรม (งานแต่ง งานบวช) เพื่อปล่อยกู้ต่อ และเพื่อการลงทุนนอกภาคเกษตร; รูป (b) แสดงเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินหลักเท่านั้น ไม่รวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ครัวเรือนส่วนใหญ่มีหนี้จากหลายแหล่ง แต่ก็ยังมี 20% ของครัวเรือนที่ไม่มีสินเชื่อในระบบ จากรูป 6b เราพบว่า กลุ่มของเจ้าหนี้ที่ครัวเรือนกู้ 4 รูปแบบที่พบมากที่สุด ได้แก่ (1) 20% ของครัวเรือนกู้จากทั้ง SFI และสถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ตามมาด้วย (2) 10% ของครัวเรือนกู้จากทั้ง SFI สถาบันการเงินชุมชน และนอกระบบ (3) 7% ของครัวเรือนกู้จาก SFI อย่างเดียว และ (4) 7% ของครัวเรือนกู้จาก SFI สถาบันการเงินชุมชน และบริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง/ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากมองในมิติหนึ่ง ภูมิทัศน์การใช้สินเชื่อของครัวเรือนใน 6b แสดงให้เห็นว่าแหล่งเงินกู้เกษตรกรที่หลากหลายกำลังทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ครัวเรือนบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างรอบด้าน แต่ในอีกมิติหนึ่ง การที่ครัวเรือนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จากหลายแหล่งเงินกู้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการใช้สินเชื่อที่เกินศักยภาพและไม่ยั่งยืนได้ (Alem & Townsend, 2014)

และนี่คือสิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบ โดยรูปที่ 7 แสดงให้เห็นว่า ปริมาณหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนเกินศักยภาพในการชำระ และกำลังส่งผลต่อความสามารถในการกู้ใหม่ จากพลวัตการสะสมหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรในรูปที่ 7a เราพบว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เดิมที่ยังชำระไม่ได้ และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มทุกปีกลายเป็นวังวนแห่งกับดักหนี้ และจากรูป 7b เราก็พบว่าในปัจจุบัน กว่า 20% ของครัวเรือนมีหนี้สินเกิน 100% ของมูลค่าหลักประกันไปแล้ว ซึ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ และการกู้ใหม่ลดลงอย่างมาก จนทำให้อาจไม่สามารถใช้สินเชื่อมาจัดการทางการเงินเพื่อการพัฒนาได้ต่อไปในอนาคต

รูปที่ 7: พลวัตการสะสมหนี้ของครัวเรือนเกษตรกร และความสัมพันธ์ต่อความสามารถในการชำระและเข้าถึงสินเชื่อ

พลวัตการสะสมหนี้ของครัวเรือนเกษตรกร และความสัมพันธ์ต่อความสามารถในการชำระและเข้าถึงสินเชื่อ

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโร และ ธ.ก.ส. คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: รูป (a) ผู้กู้ที่เป็นเกษตรกรพิจารณาจากผู้กู้ที่มีสินเชื่อเพื่อการเกษตร; มูลหนี้เป็นค่าเฉลี่ยของยอดหนี้คงค้างรวมทั้งหมดจากบัญชีสินเชื่อทุกประเภทของผู้กู้ทุกรายกับทุกสถาบันการเงินในเครดิตบูโร ณ ไตรมาสนั้น ๆ; รูป (b) สัดส่วนมูลหนี้คงค้างต่อมูลค่าหลักประกัน คำนวณจากยอดเงินต้นคงค้างรวมเฉพาะบัญชีที่มีหลักประกันค้ำต่อมูลค่าของหลักประกัน ณ มีนาคม 2020; ไม่รวมผู้กู้ที่ไม่มีหลักประกัน; ผู้กู้ที่ผิดนัดชำระคือมีการจัดชั้นตั้งแต่ต่ำกว่ามาตรฐานลงไป; การได้รับสินเชื่อใหม่พิจารณาจากการเปิดบัญชีสินเชื่อใหม่และมียอดหนี้รวมมากกว่าเดิม 10% เพื่อไม่รวมการเปิดบัญชีใหม่ที่มาจากการปิดบัญชีเก่าหรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้; การผิดนัดชำระหนี้และการได้รับสินเชื่อใหม่พิจารณาในช่วงเมษายน 2020 – มีนาคม 2021

ครัวเรือนที่มีหนี้มากมักเป็นครัวเรือนที่พึ่งพิงภาคเกษตรสูงและมีปัญหาสภาพคล่องสูง ในขณะเดียวกันหนี้โตเร็วโดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีความเสี่ยงสูง โดยรูปที่ 8a แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนในภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบนซึ่งเป็นแหล่งชลประทาน มีรายได้มาจากภาคเกษตรสูง ต้นทุนการทำเกษตรสูง และมักมีปัญหาสภาพคล่องสูง จะมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในขณะที่รูปที่ 8b แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหลายพื้นที่ในภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถิติการเกิดผลผลิตตกต่ำจากภัยพิบัติสูง จะมีอัตราการเติบโตของหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการศึกษาจากข้อมูลใน Chantarat et al. (2022) นอกจากนี้ รูปที่ 8c ยังแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรกรมีการเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ในวงกว้าง และโดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มที่มีปัญหาหนี้เหล่านี้

รูปที่ 8: หนี้สินคงค้างรายครัวเรือน การเติบโตของหนี้ และการเข้าร่วมมาตรการพักหนี้เฉลี่ยรายตำบล

หนี้สินคงค้างรายครัวเรือน การเติบโตของหนี้ และการเข้าร่วมมาตรการพักหนี้เฉลี่ยรายตำบล

ที่มา: ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญา ธ.ก.ส. (2014–2021) คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

จะเห็นได้ชัดว่า ถึงแม้จะมีแหล่งเงินกู้เกษตรกรที่หลากหลาย แต่วิสัยของการใช้สินเชื่อของครัวเรือนเกษตรกรในปัจจุบันยังไม่ยั่งยืน ครัวเรือนกำลังทยอยติดกับดักหนี้ ที่กำลังวกกลับมาฉุดรั้งภูมิคุ้มกัน และการพัฒนาของครัวเรือนในระยะยาว

สามปัญหาสำคัญของระบบการเงินฐานราก อุปสรรคสำคัญของการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์แสดงให้เห็นว่าปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (หรือ information asymmetry) เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาระบบการเงินเพื่อครัวเรือนฐานราก งานวิจัยสำคัญอย่าง Stiglitz & Weiss (1981) Hoff & Stiglitz (1990) และ Siamwalla et al. (1990) ได้แสดงให้เห็นว่า information asymmetry ที่ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพและนิสัยที่แท้จริงของเกษตรกรนั้น ทำให้เกิดต้นทุนในการพยายามเข้าใจเพื่อเลือกปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่มีศักยภาพ (screening) และในการติดตามการใช้สินเชื่อและการชำระหนี้ (monitoring) ซึ่งในด้านหนึ่ง อาจส่งผลให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น และแตกต่างกันระหว่างครัวเรือน และระหว่างสถาบันการเงินที่มีความสัมพันธ์กับผู้กู้ (และต้นทุนในการ screening กับ monitoring) ที่แตกต่างกัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจส่งผลทำให้สถาบันการเงินจำกัดการปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น (credit rationing)

จากทฤษฎีข้างต้น งานวิจัยจำนวนมากจึงพบว่า information asymmetry มักทำให้ตลาดสินเชื่อมี segmentation โดยอาจมีสถาบันการเงินจำนวนมากให้บริการอยู่ในพื้นที่ แต่จำกัดการปล่อยสินเชื่อเพียงบางประเภท ให้ผู้กู้เพียงบางกลุ่ม และในระดับดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การเข้าถึงสินเชื่อไม่ทั่วถึงและเพียงพอ นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นว่า การแทรกแซงตลาดสินเชื่อของครัวเรือนฐานรากของภาครัฐด้วยการอุดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในวงกว้างของหลายประเทศทั่วโลก โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหา information asymmetry มักไม่มีความยั่งยืนอีกด้วย (Armendáriz & Morduch, 2007)

1. ปัญหา information asymmetry ในระบบการเงินฐานรากไทย

Information asymmetry เป็นปัญหาสำคัญสำหรับระบบการเงินฐานรากของไทย ทำให้การปล่อยสินเชื่ออาจยังไม่เหมาะสมกับศักยภาพและยังไม่ตอบโจทย์ครัวเรือนทุกกลุ่มได้ โดยรูปที่ 9 แสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้สินเชื่อ ดอกเบี้ย และความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดสินเชื่อของเกษตรกรก็มี segmentation ที่ชัดเจน โดย SFI (และเช่นเดียวกับสถาบันการเงินในระบบอื่น ๆ) มักปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร (working capital) และสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อาจมีสินทรัพย์ หรือกลไกการค้ำประกันที่เข้มข้นได้มากกว่าสินเชื่อระยะสั้นเพื่อการอุปโภคบริโภคและสภาพคล่อง ซึ่งมักจะปล่อยโดยสถาบันการเงินชุมชนอย่างกองทุนหมู่บ้าน/กลุ่มออมทรัพย์เป็นหลัก และที่สำคัญ เราพบว่ากลุ่มครัวเรือนที่รายได้ไม่เคยพอจ่าย ก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่แพ้กลุ่มอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งอาจเกินศักยภาพและไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน รูป 9c แสดงให้เห็นถึงความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม (หรือ unmet demand) ในทุกประเภทสินเชื่อ และในครัวเรือนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการเกษตร และสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวซึ่งจำเป็นที่สุดในกลุ่มครัวเรือนที่มีศักยภาพ ผลจากรูปที่ 9 สะท้อนให้เห็นว่า information asymmetry ทำให้ระบบการเงินครัวเรือนเกษตรกรไทยอาจปล่อยสินเชื่อมากเกินไปสำหรับครัวเรือนบางกลุ่ม แต่ก็น้อยเกินไปสำหรับอีกกลุ่ม

รูปที่ 9: การใช้สินเชื่อ ต้นทุนต่อครัวเรือน และความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม

การใช้สินเชื่อ ต้นทุนต่อครัวเรือน และความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2019–2020) คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: All-purpose = สินเชื่อระยะสั้นเพื่อการบริโภคหรือเพื่อสภาพคล่อง เช่น เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อไปชำระหนี้อื่น เพื่อค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น; Working capital = สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตในการทำเกษตร; Long-term loan = สินเชื่อระยะกลางถึงยาว เช่น เพื่อซื้อที่ดินเพื่อการเกษตร บ้าน รถยนต์ เพื่อการศึกษา และเพื่อการลงทุน; รูป (b) ใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดที่เกษตรกรต้องจ่ายในสินเชื่อประเภทนั้น ๆ โดยไม่รวมสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็น 0%

ที่สำคัญคือ information asymmetry ทำให้การปล่อยสินเชื่ออาจไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเกินศักยภาพของครัวเรือน รูปที่ 10a แสดงให้เห็นว่า กว่า 32% ของสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการเกษตรที่ปล่อยใหม่ ของ SFI มากเกินกว่าต้นทุนในการทำการเกษตรจริง ซึ่งตรวจสอบจากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเพราะปลูก และเมื่อรวมหนี้จากทุกแหล่งของครัวเรือนแล้ว รูปที่ 10b แสดงให้เห็นว่า 40% ของครัวเรือนมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงเกิน 100% และ 34% ของครัวเรือนมีสัดส่วนหนี้ต่อทรัพย์สินสูงเกิน 100% และ 17% มีหนี้เกินศักยภาพในทั้งสองมิติ และที่สำคัญข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า กว่า 30% ของครัวเรือนมีพฤติกรรม ‘หมุนหนี้’ โดยการกู้จากอีกแหล่งไปชำระคืนอีกแหล่งวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ทำกันในกลุ่มครัวเรือนที่มีศักยภาพในการชำระดีที่สุดด้วย

ปัญหา information asymmetry จึงเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้ครัวเรือนใช้สินเชื่อกันอย่างไม่ยั่งยืน และการไม่มีข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันก็เป็นอุปสรรคสำคัญของการปล่อยสินเชื่ออย่างยั่งยืนในระบบการเงินเกษตรกรไทยที่มีแหล่งเงินกู้หลากหลายแห่ง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

รูปที่ 10: สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่และสินเชื่อคงค้าง ต่อศักยภาพครัวเรือน

สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่และสินเชื่อคงค้าง ต่อศักยภาพครัวเรือน

ที่มา: ธ.ก.ส. และสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2019–2020) คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: รูป (a) คำนวณจากยอดเงินต้นของบัญชีสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตร ที่ให้กู้ใหม่ในช่วง เมษายน 2020 – มีนาคม 2021 ต่อมูลค่าต้นทุนในการทำการเกษตรซึ่งคำนวณจากจำนวนไร่ที่เพาะปลูกจริงในปีเพาะปลูก 2020–2021 คูณด้วยต้นทุน 5,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นระดับต้นทุนเฉลี่ยที่ได้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร; รูป (b) Debt to income คำนวณจากภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนในแต่ละปี (ไม่ใช่หนี้คงค้างทั้งหมด) ต่อรายได้รวมทั้งหมดในปีนั้น ๆ (gross income); Debt to asset คำนวณจากยอดหนี้คงค้างทั้งหมดต่อมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งรวม ที่ดิน เครื่องจักร รถ สัตว์ และทรัพย์สินทางการเงิน; การจัดกลุ่มสีเขียวเหลืองแดงโดยคณะผู้วิจัย

2. ปัญหา contract design อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินของเกษตรกร

อีกปัญหาสำคัญคือ การออกแบบสัญญาสินเชื่อและสัญญาชำระหนี้ที่อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินของเกษตรกร จึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจให้จ่ายได้และเหมาะสมกับศักยภาพ ทำให้เมื่อกู้ไปแล้ว ครัวเรือนไม่สามารถชำระและปลดหนี้ได้จริง โดยหากเราพยายามเข้าใจถึงปัญหาการเงินครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนสูง ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องกันในวงกว้างและยังไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินมาจัดการได้อย่างเหมาะสม เราจะพบดังรูปที่ 11 ว่าหลายสัญญาชำระหนี้ที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น สัญญาสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการเกษตรที่มีกำหนดชำระหนี้ one-size-fits-all แบบจ่ายก้อนโตปีละครั้งในเดือนมีนาคม อาจเหมาะสมกับครัวเรือนเพียงบางกลุ่มที่มีโครงสร้างรายได้ตรงกับกำหนดชำระ เช่น ครัวเรือนในเขตชลประทานที่มีรายได้ก้อนโตจากการทำเกษตรในเดือนนั้นพอดี (ในตัวอย่างที่ 1) แต่อาจทำให้ครัวเรือนหลายกลุ่มมีปัญหาในการชำระ เช่น ครัวเรือนตัวอย่างที่ 2 ที่จะมีรายได้หลักจากการเกษตรนอกชลประทานเพียงหนึ่งครั้งตอนปลายปี หรือครัวเรือนตัวอย่างที่ 3 ที่พึ่งพิงรายได้จากเงินโอนเป็นหลัก ได้เข้ามาสม่ำเสมอแต่ในปริมาณน้อย

เนื่องจากเมื่อกำหนดชำระหนี้ไม่ตรงกับโครงสร้างรายได้แล้ว งานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า ยังมีปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้ในที่สุด พฤติกรรมลำเอียง เช่น present bias หรือ mental accounting อาจส่งผลทำให้ครัวเรือนไม่สามารถสะสมหรือเกลี่ยรายได้ที่ได้ในช่วงอื่นเพื่อมาชำระหนี้ในเดือนมีนาคมได้ (Bauer et al., 2012) ซึ่งผลของสัญญาสินเชื่อแบบ one-size-fits-all ของสินเชื่อหมุนเวียนก็คือ มีเพียง 13% ของครัวเรือนที่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด ที่เหลือกว่า 28% ชำระไม่ได้หรือชำระได้เพียงบางส่วน และอีก 59% เลือกเข้าไปอยู่ในโครงการพักหนี้

รูปที่ 11: ตัวอย่างสัญญาชำระหนี้ one-size-fit-all ในปัจจุบัน ที่อาจไม่เหมาะกับศักยภาพครัวเรือนบางกลุ่ม

ตัวอย่างสัญญาชำระหนี้ one-size-fit-all ในปัจจุบัน ที่อาจไม่เหมาะกับศักยภาพครัวเรือนบางกลุ่ม

ที่มา: กรณีตัวอย่างสมมติขึ้นโดยคณะผู้วิจัย และข้อมูลการชำระคืนจาก ธ.ก.ส. คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: การชำระคืนหนี้พิจารณาในช่วง เมษายน 2017 – มีนาคม 2022; การชำระค่างวดได้ พิจารณาจากมีการชำระคืนหนี้ไม่น้อยกว่ายอดงวดที่ควรจ่าย โดยงวดประมาณการจากมูลค่าเงินต้นหารด้วยอายุสัญญา; การจ่ายได้บางส่วน ประเมินจากการหักบัญชีที่มีการพักหนี้ จ่ายดี และจ่ายไม่ได้ออก ซึ่งอาจไม่สะท้อนตัวเลขจริง

แล้วสัญญาชำระหนี้ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร? สัญญาชำระหนี้ที่เหมาะสมควรตั้งอยู่บนความเข้าใจถึงปัญหาเศรษฐกิจการเงินของแต่ละครัวเรือนเป็นหลัก โดยผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับครัวเรือนเกษตรกร 30 รายในรูปที่ 12 Chawanote (2021) พบว่าครัวเรือนต้องการสัญญาชำระหนี้ที่

  1. มีกำหนดชำระตรงกับโครงสร้างรายได้
  2. งวดไม่สูง
  3. ยืดหยุ่นได้ในกรณีที่มีรายได้ไม่แน่นอน
  4. มีกลไกที่ช่วยสร้าง commitment ในการชำระคืนได้

ซึ่งในรูปที่ 11 สัญญาชำระหนี้ที่เหมาะกับครัวเรือนตัวอย่างที่ 1 และ 2 อาจกำหนดงวดชำระก้อนใหญ่ให้ตรงกับรายได้ และสำหรับครัวเรือนตัวอย่างที่ 3 สัญญาอาจแบ่งงวดชำระออกเป็นงวดเล็ก ๆ ที่สม่ำเสมอให้ตรงกับเงินโอนที่เข้ามา เป็นต้น

หลักฐานข้างต้นพยายามสะท้อนให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนสัญญาชำระหนี้จาก one-size-fits-all มาออกแบบให้ตรงกับศักยภาพของแต่ละครัวเรือนน่าจะช่วยจูงใจและทำให้ครัวเรือนสามารถชำระหนี้ได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ปัญหา information asymmetry ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญหากสถาบันการเงินไม่มีข้อมูลเพื่อเข้าใจโครงสร้างรายได้ของเกษตรกรผู้กู้ได้

รูปที่ 12: สัญญาชำระหนี้ที่ครัวเรือนเกษตรกรต้องการ

สัญญาชำระหนี้ที่ครัวเรือนเกษตรกรต้องการ

ที่มา: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และทำแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทางการเงินและการใช้บริการทางการเงิน ต.บางขุด จ.ชัยนาท คำนวณโดยคณะผู้เขียนหมายเหตุ: เกษตรกรเลือกแผนการจ่ายหนี้สินตามขนาดและความถี่ที่สามารถจ่ายได้ เช่น เกษตรกรที่สามารถจ่ายมากกว่า 50,000 บาทขึ้นไปนั้น เลือกจ่ายตามรอบการผลิตทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่เลือกจ่ายน้อยกว่า 5,000 บาท จะเลือกจ่ายเป็นรายเดือนเป็นส่วนใหญ่

3. Enforcement problems ในการบังคับชำระหนี้

ความน่าจะเป็นของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่จะผิดนัดชำระหนี้จากเงินกู้แหล่งต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ รูปที่ 13a แสดงผลการประมาณการความน่าจะเป็นที่ครัวเรือนจะผิดนัดชำระหนี้ โดยเปรียบเทียบระหว่างแหล่งต่าง ๆ พบว่าครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้จากสถาบันการเงินชุมชนอย่างกองทุนหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ และจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ น้อยกว่าเงินกู้จาก SFIs อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็สอดคล้องกับอีกผลการศึกษาที่เราทำเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีสินเชื่อจากหลายแหล่ง และพบว่า ครัวเรือนก็มีพฤติกรรมเลือกผิดนัดชำระ หรือ ‘selective default’ โดย SFI จะเป็นเจ้าหนี้ลำดับแรกที่ครัวเรือนจะเลือกผิดนัดชำระอย่างมีนัยสำคัญ (Chantarat et al., 2022)

ลำดับความน่าจะเป็นที่ครัวเรือนจะผิดนัดชำระหนี้จากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของกลไกการบังคับชำระหนี้ และต้นทุนที่ครัวเรือนตระหนักเมื่อผิดนัดชำระ (perceived cost of default) โดยจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (รูปที่ 13b) เราพบว่า สถาบันการเงินชุมชนมีหลายกลไกที่สามารถช่วยบังคับชำระหนี้ได้ดี เพราะไม่เพียงแต่จะมีแต้มต่อที่มีความใกล้ชิดกับเกษตรกร และสามารถใช้กลไกทางสังคมช่วยบังคับชำระหนี้ได้แล้ว อีกสองกลไกสำคัญคือ การสร้าง dynamic incentives โดยกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหนี้คืนทั้งหมดก่อนที่จะสามารถกู้ใหม่ได้ และการใช้กลไกการรับผิดชอบกลุ่ม หรือ joint liability โดยการผลัดกันใช้เงินกองทุน ดังนั้น หากครัวเรือนแรก ๆ ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ครัวเรือนกลุ่มถัดไปก็จะไม่สามารถกู้ได้ ซึ่งกลไกนี้จะทำให้ครัวเรือนในกลุ่มมีแรงจูงใจที่จะช่วยกัน screen และ monitor การใช้สินเชื่อของครัวเรือนในกลุ่มได้

เช่นเดียวกับแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่นอกจากหลายแหล่งจะมีกลไกการบังคับชำระหนี้ที่เข้มข้นแล้ว เช่น การยึดสินทรัพย์ค้ำประกันจริง การมีกลไกทวงหนี้ หรือการมีกลไก dynamic incentives เหมือนสถาบันการเงินชุมชนแล้ว อีกกลไกที่น่าสนใจคือ แหล่งเงินกู้นอกระบบบางแหล่งได้ใช้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับครัวเรือนเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ (interlinkages) เช่น เกษตรกรกับร้านค้าปัจจัยการผลิตที่ซื้อประจำ หรือกับผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เช่น โรงสี หรือโรงน้ำตาล เป็นต้น ในการบังคับชำระหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่กลไกการบังคับชำระหนี้หลักของ SFI อาจจะยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ให้เกษตรกรได้มากนัก แม้กระทั่งการบังคับโดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเกษตรกรอาจไม่ได้ตระหนักถึงต้นทุนของการผิดนัดชำระมากนัก เนื่องจาก SFI อาจจะไม่มีนโยบายที่จะยึดหรือขายทอดตลาดจริง เป็นต้น แต่หลักฐานข้างต้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้สถาบันการเงินชุมชน และ/หรือ interlinkages ในรูปแบบต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับชำระหนี้ของ SFI เพื่อพัฒนาระบบการเงินฐานรากให้ยั่งยืนขึ้นได้

รูปที่ 13: การตัดสินใจชำระหนี้ของเกษตรกร กับรูปแบบและความเข้มข้นของกลไกการบังคับชำระหนี้ของแหล่งเงินกู้ประเภทต่าง ๆ

การตัดสินใจชำระหนี้ของเกษตรกร กับรูปแบบและความเข้มข้นของกลไกการบังคับชำระหนี้ของแหล่งเงินกู้ประเภทต่าง ๆ

ที่มา: ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2019-2020) และการสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกร 30 ครัวเรือนจาก อ. บางขุด จ. ชัยนาท (2018, 2020) ประมาณการและสรุปโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: VF/SG = กองทุนหมู่บ้านและกลุ่มออมทรัพย์; รูป (a) เป็นผลประมาณการทางเศรษฐมิติด้วย logistic regression ในระดับบัญชีสินเชื่อ จากข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกรสุ่ม 720 ครัวเรือน; Dependent variable = เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ (0/1); สถาบันการเงินเป็นตัวแปร dummy ที่มีค่าเป็น 1 หากเป็นสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้น โดย SFIs เป็น base จึงให้มี coefficient เป็น 0

นอกจากนี้ การใช้กลไก joint liability ในรูปแบบสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มของ SFI ซึ่งเคยเป็นนวัตกรรมของกลไกการบังคับชำระหนี้ในอดีต (Siamwalla et al., 1990) กลับเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่สมาชิกไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นกลุ่มหลักที่สถาบันการเงินต้องการใช้สินเชื่อประเภทนี้ในการบังคับชำระหนี้ ทั้งนี้ เราศึกษาสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มกว่า 303,779 กลุ่มทั่วประเทศ และรูปที่ 14a แสดงลักษณะสำคัญ 4 ด้านของกลุ่มที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลรายสมาชิก และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของกลไกการบังคับชำระหนี้ของกลุ่ม คือ

  1. สัดส่วนของสมาชิกกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งอาจทำให้ความรับผิดชอบร่วมในสินเชื่อกลุ่มน้อยลง
  2. สัดส่วนของสมาชิกกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้การ monitor การใช้สินเชื่อและการชำระหนี้ดีขี้น
  3. ความเหมือนของการประกอบอาชีพของสมาชิกกลุ่ม
  4. ความต่างวัยของสมาชิกกลุ่ม

ขณะที่รูป 14b แสดงผลประมาณการของผลกระทบของลักษณะสำคัญของกลุ่มเหล่านี้ ต่อความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่ม โดยพบว่า สัดส่วนของสมาชิกกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งจะสูงในกลุ่มในทุกภาค ยกเว้นภาคอีสาน ส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กลุ่มในทุกพื้นที่มักมีความเหมือนของการประกอบอาชีพของสมาชิกกลุ่มสูง และมีความต่างวัยกันมากขึ้น ซึ่งทั้งสองลักษณะนี้ก็ส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า กลไกการค้ำประกันกลุ่มนี้กำลังกลายเป็น ‘สินเชื่อแห่งความแตกแยก’ ในสังคมชนบทไทย คำถามสำคัญคือ กลไกการค้ำประกันกลุ่มยังจะมีประโยชน์ในการช่วยให้ครัวเรือนที่ไม่มีหลักประกันสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างยั่งยืนอยู่หรือไม่ หรือกลับสร้างปัญหาหนี้สินที่แก้ไขได้ยากขึ้นไปอีก หรือกลไกนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับชำระหนี้ได้ โดย microfinance ในต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึง Grameen bank ซึ่งเป็นแม่แบบของกลไกการ enforcement ในรูปแบบนี้ก็ได้ทยอยยกเลิกกลไกการค้ำประกันกลุ่มประเภทนี้กันอย่างแพร่หลายแล้ว (Khandker, 2012)

รูปที่ 14: ลักษณะกลุ่มเกษตรกรที่มีสินเชื่อที่ค้ำประกันกลุ่ม และผลต่อคุณภาพสินเชื่อรายกลุ่ม

ลักษณะกลุ่มเกษตรกรที่มีสินเชื่อที่ค้ำประกันกลุ่ม และผลต่อคุณภาพสินเชื่อรายกลุ่ม

ที่มา: ธ.ก.ส. คำนวณและประมาณการโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: % landless = สัดส่วนจำนวนสมาชิกในกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองต่อจำนวนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มนั้น ๆ; % in the same village = สัดส่วนจำนวนสมาชิกในกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันต่อจำนวนสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มนั้น ๆ; similarity of income portfolio = มีการปลูกพืชคล้ายกันหรือไม่ โดยคำนวณจาก 1 – standard deviation ของการปลูกข้าวหรือไม่ (0/1); age difference = standard deviation ของอายุสมาชิก; ไม่แสดงผลกลุ่มในภาคใต้เนื่องจากมีจำนวนน้อยมากและอาจไม่ representative; รูป (b) เป็นผลประมาณการทางเศรษฐมิติด้วย logistic regression ในระดับกลุ่ม จากข้อมูลลูกหนี้สุ่ม 1 ล้านรายจาก ธ.ก.ส. (2014–2021) ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 163,895 กลุ่ม; Dependent variable = delinquency ของกลุ่ม (0/1) โดยพิจารณาจาก หากมีสมาชิกกลุ่มผิดนัดชำระในสินเชื่อค้ำกลุ่มเพียง 1 บัญชี จะใช้หลัก conservative โดยถือว่ากลุ่มนั้นมีการผิดนัดชำระหนี้ และ delinquency มีค่าเป็น 1

นโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ อีกอุปสรรคสำคัญของการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจาก 3 ปัญหาของระบบการเงินฐานรากที่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้สินเชื่ออย่างยั่งยืนของครัวเรือนข้างต้นแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญคือ นโยบายภาครัฐเองที่ไม่เพียงแต่จะสร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยวในการชำระหนี้ให้ครัวเรือนเกษตรกร แต่เป็นต้นตอสำคัญในการสะสมหนี้ของครัวเรือนด้วย โดยปัญหาสำคัญของครัวเรือนเกษตรกรที่ได้อธิบายข้างต้น คือความไม่แน่นอนของรายได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง และนโยบายพักชำระหนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สะท้อนจากรูปที่ 15a ที่ 41.4% ของเกษตรกรทั้งหมดได้รับการพักหนี้มาแล้วมากกว่า 4 ปี และ Ratanavararak & Chantarat (2022) พบว่า การเข้าร่วมโครงการพักหนี้ส่งผลทำให้มีอัตราการสะสมหนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ความน่าจะเป็นที่จะมีหนี้เสียสูงขึ้นสำหรับบางกลุ่ม และที่สำคัญคือ ยิ่งอยู่ในโครงการพักหนี้นาน ยิ่งทำให้ผลเสียเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีระดับหนี้ปานกลางและมาก (รูปที่ 15b) โดยกลไกสำคัญที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือครัวเรือนยังคงสามารถกู้หนี้ก้อนใหม่ได้ ถึงแม้จะอยู่ในโครงการพักหนี้ก็ตาม

ผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่า หากภาครัฐยังคงใช้นโยบายพักหนี้ลักษณะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกไม่นานครัวเรือนเกษตรกรไทยก็จะติด ‘กับดักหนี้’ ในระยะยาวกันในวงกว้าง

รูปที่ 15: ความเข้มข้นของการเข้ามาตรการพักหนี้ และผลต่อการสะสมหนี้ในระยะยาวของครัวเรือนเกษตรกร

ความเข้มข้นของการเข้ามาตรการพักหนี้ และผลต่อการสะสมหนี้ในระยะยาวของครัวเรือนเกษตรกร

ที่มา: ธ.ก.ส. คำนวณและประมาณการโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: รูป (b) เป็นผลประมาณการทางเศรษฐมิติด้วย Fixed effect panel regression ในระดับผู้กู้ จากข้อมูลลูกหนี้สุ่ม 1 ล้านรายจาก ธ.ก.ส. (2014–2021); Dependent variable = อัตราการโตของยอดเงินต้นคงค้างเทียบกับปีก่อนหน้า; Explanatory variables = Debt outstanding, deposit, number of loan accounts, number of new loan accounts, being under DR/TDR (0/1), having p-loan (0/1), having only working capital, collateralization (0/1), size of planting area, landowner (0/1), irrigation (0/1), receiving relief transfer (0/1; proxy for shocks), having crop insurance (0/1); Low debt = มูลหนี้ต่ำกว่า 37,000 บาท; Medium debt = มีหนี้ระหว่าง 37,000–292,000; High debt = มีหนี้มากกว่า 292,000 บาท

จากปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือน ปัญหาของระบบการเงินฐานราก และนโยบายช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน สู่กับดักหนี้และกับดักแห่งการพัฒนา

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึงกลไกการติดกับดักหนี้ ที่เริ่มจากปัญหาของครัวเรือนเกษตรกร การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ไม่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาทางการเงิน ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเงินฐานราก จนทำให้ครัวเรือนใช้สินเชื่อกันจนเกินศักยภาพและมีปัญหาหนี้ ตลอดจนนโยบายช่วยเหลือโดยการพักหนี้ของภาครัฐ ที่ทำให้แรงจูงใจในการชำระหนี้ของครัวเรือนบิดเบี้ยว และส่งผลทำให้ครัวเรือนสะสมหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็ย้อนกลับมาทำให้ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นวงจรในที่สุด นอกจากนี้ การติดกับดักหนี้ ทำให้ภูมิคุ้มกันของครัวเรือนลดลง ฉุดรั้งการเข้าถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกำลังกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา

แล้วแนวทางแก้หนี้และการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของครัวเรือนเกษตรกรไทยต้องทำอย่างไร?

หากจะช่วยให้ครัวเรือนเกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักเหล่านี้ และสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ต้องแก้ให้ครบวงจร ทั้งปัญหาระบบการเงินฐานราก ปัญหาหนี้ ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือน และที่สำคัญคือปัญหานโยบายภาครัฐเอง โดยนโยบาย 6 ด้านที่งานวิจัยนี้เสนอให้ทำอย่างเร่งด่วน ได้แก่

  1. การแก้ปัญหาระบบการเงินฐานรากให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ

    • การสร้างข้อมูลเกษตรกรที่ครอบคลุมทั้งด้านสินเชื่อแหล่งสำคัญต่าง ๆ พฤติกรรมทางการเงินและศักยภาพที่แท้จริงของครัวเรือน ตลอดถึงการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลการใช้ข้อมูลของสถาบันการเงินในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อ และการแก้หนี้ที่เหมาะสม และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันของสถาบันการเงินเกษตรกรต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยก็ได้มีการเก็บข้อมูลรายแปลง รายครัวเรือน และรายเกษตรกรไว้อย่างเป็นระบบและครอบคลุมในหลากหลายมิติอยู่แล้ว หากสามารถนำฐานข้อมูลเหล่านี้มาบูรณาการและเชื่อมโยงกันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้เรายังพบว่า หลายเทคโนโลยีก็มีศักยภาพในการช่วยเก็บและสร้างข้อมูลเพื่อสะท้อนศักยภาพและความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตรกรได้ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม หรือเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ

    • การออกแบบเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์การพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ โดยเอาความเข้าใจปัญหาของครัวเรือนเป็นที่ตั้ง โดยปรับเปลี่ยนจากเครื่องมือทางการเงินแบบ one size fit all มาเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ครัวเรือนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น สำหรับครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ไม่เคยพอจ่ายในทุกเดือน เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมอาจไม่ใช่สินเชื่อ แต่อาจเป็นเครื่องมือที่จูงใจและสร้างวินัยในการออม และระบบประกันภัยพืชผลและรายได้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและภูมิคุ้มกัน สำหรับครัวเรือนกลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาสภาพคล่อง เครื่องมือทางการเงินที่สำคัญอาจเป็นสินเชื่อที่ตอบโจทย์ อยู่ในวิสัยที่ชำระคืนได้ และอาจเป็นสินเชื่อที่สร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพ นอกจากนี้เครื่องมีอในการออมและการประกันภัยพืชผลและรายได้ก็ยังจำเป็นมาก และสำหรับครัวเรือนกลุ่มที่รายได้พอจ่ายในทุกเดือน สินเชื่อที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนสามารถลงทุนเพื่อต่อยอดศักยภาพ ที่อยู่ในวิสัยที่ชำระคืนได้ อาจเป็นเครื่องมือที่สำคัญไม่แพ้กับระบบประกันภัยพืชผลและรายได้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และเครื่องมือที่สร้างวินัยในการออมเพื่อสะสมความมั่งคั่ง เป็นต้น

    • การเพิ่มบทบาทสถาบันการเงินชุมชน และ interlinkage ต่าง ๆ ในพื้นที่ ในการปิดช่องว่างการใช้การเงินอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยสถาบันเหล่านี้มักมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับเกษตรกรมากพอ ทำให้มีต้นทุนต่ำในการ screening และ monitoring ตลอดถึงอาจมีกลไกในการ enforce การชำระหนี้ การสร้างความตระหนักรู้ และการสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าสถาบันการเงินในระบบ ดังนั้นสถาบันการเงินในระบบอาจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันการเงินชุมชนเหล่านี้ให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นตัวกลางในการปล่อยสินเชื่อที่ enforce การชำระหนี้ได้ยาก เช่น สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน และ/หรือเป็นตัวกลางในการสร้างวินัยในการออม และการสร้างระบบประกันรายได้พื้นฐานของชุมชน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องคำนึงถึงคุณภาพและศักยภาพของสถาบันการเงินชุมชมที่มีความแตกต่างกันมากด้วย

  2. การแก้หนี้เดิมเพื่อให้ครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากจะต้องทำแบบเชิงรุกและมุ่งเป้ามากขึ้นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับ

    • การปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับการเก็บและใช้ข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของครัวเรือนในการออกแบบแผนการชำระหนี้ที่ตรงความสามารถในการชำระและโครงสร้างของรายรับของครัวเรือนนั้น ๆ เพื่อให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้จริงในระยะยาว และควรให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้กับเจ้าหนี้และพนักงานสินเชื่อในสาขาต่าง ๆ ในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนได้ในวงกว้าง

    • การใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากระตุ้นให้ครัวเรือนหันมาชำระหนี้คืน โดยต้องให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์หนี้ของครัวเรือน การใช้หลักการการดุน หรือ nudge ในการจูงใจ และสร้างวินัยในการชำระหนี้ ทั้งนี้แนวทางอาจแตกต่างกันไปตามลูกหนี้แต่ละประเภท

    • การขยายผล ‘หมอหนี้เกษตรกรชุมชน’ ซึ่งจะเป็นตัวกลางที่มาช่วยเกษตรกรประสานงานและแก้หนี้ร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ

  3. การเติมหนี้ใหม่อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์และยั่งยืนขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับ

    • การใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้การปล่อยสินเชื่อตรงศักยภาพและความเสี่ยงของครัวเรือนมากขึ้น โดยอาจปล่อยมากขึ้นในกลุ่มที่เสี่ยงน้อยและมีศักยภาพสูง และปล่อยน้อยลงในกลุ่มเสี่ยงสูงและศักยภาพต่ำ และปล่อยในวิสัยที่ครัวเรือนยังสามารถชำระคืนได้

    • การทำประกันสินเชื่อที่คุ้มครองภาระหนี้ของเกษตรกรจากความไม่แน่นอนหลัก ๆ ของรายได้ เช่น ภัยพิบัติ หรือราคาตกต่ำ โดยสถาบันการเงินอาจทำประกันสินเชื่อทั้งพอร์ต และส่งต่อบางส่วนของเบี้ยประกันให้กับครัวเรือนเกษตรกรในรูปแบบของดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (ซึ่งต้นทุนของการทำประกันสินเชื่อทั้งพอร์ตอาจไม่สูงมากนัก เนื่องจากมีการถัวเฉลี่ยความเสี่ยงของครัวเรือนกันในวงกว้างไปแล้ว) และเมื่อครัวเรือนเกิดปัญหารายได้ตกต่ำ ประกันภัยจะชำระหนี้บางส่วนตรงให้กับสถาบันการเงินแทนเกษตรกรตามที่ตกลงตามสัญญา ทำให้ครัวเรือนไม่ต้องพึ่งพิงมาตรการพักหนี้ของภาครัฐ และไม่ต้องสะสมหนี้จากความไม่แน่นอนของรายได้ โดยในหลายประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกาก็ได้นำประกันสินเชื่อมาใช้กับเกษตรกรกันในวงกว้าง

    • การทบทวนรูปแบบของสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มให้ยั่งยืนขึ้น โดยพยายามถอดบทเรียนจากกลไกการ enforce การชำระหนี้จากสถาบันการเงินชุมชน หรือปรับเปลี่ยนไปใช้สถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการ enforce การชำระหนี้แทน โดยทั้งนี้ก็จะต้องมีการศึกษาทดลองให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ก่อนจะนำไปขยายผลในวงกว้าง

  4. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการแก้หนี้ เพื่อช่วยให้ครัวเรือนบางกลุ่มสามารถมีรายได้พอที่จะชำระและปลดหนี้เก่าได้ และที่สำคัญคือเพื่อช่วยให้ทุกกลุ่มมีรายได้สูงขึ้น และภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นจนไม่ต้องพึ่งพิงสินเชื่อมากเกินไป และไม่ต้องกลับก่อหนี้เกินศักยภาพอีก โดยแนวทางสำคัญในการเพิ่มศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร ได้แก่ การส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ การเพิ่มการเข้าถึงตลาดและมูลค่าของผลผลิต การลดความเสี่ยง การพัฒนาบุคลากรในครัวเรือน และการให้ความสำคัญกับการมีแหล่งรายได้เสริมนอกภาคเกษตร ทั้งนี้ กลไกการพัฒนาอาจแตกต่างกันไปในครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ เนื่องจากโอกาสและความท้าทายของครัวเรือนมาความแตกต่างและหลากหลายมาก (Attavanich et al., 2019)

  5. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความรู้ความเท่าทันทางการเงิน มีความจำเป็นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยงที่สูง โดยการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลและราคาที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างความเท่าทันทางการเงิน โดยต้องให้ความสำคัญทั้งกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารจัดการเงินและการบริหารจัดการหนี้ ตลอดถึงการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการกระตุกให้ครัวเรือนออมและมีวินัยทางการเงิน เพื่อครัวเรือนจะได้ไม่กลับไปพึ่งพิงสินเชื่อมากเกินไปอีก

  6. การปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือของรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งมีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ยั่งยืนได้จริง โดยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนจากนโยบายเดิม ๆ ที่เน้นการช่วยเหลือระยะสั้นและอาจสร้างแรงจูงใจที่บิดเบี้ยว ไปเป็นนโยบายที่เน้นช่วยให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน เช่น การจำกัดมาตรการพักหนี้ไว้สำหรับช่วยเหลือในยามที่มีความจำเป็น ในระยะสั้น และจำกัดการช่วยเหลือแค่บางกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Alem, M., & Townsend, R. M. (2014). An evaluation of financial institutions: Impact on consumption and investment using panel data and the theory of risk-bearing. Journal of Econometrics, 183(1), 91–103.
Armendáriz, B., & Morduch, J. (2007). The Economics of Microfinance. MIT Press.
Attavanich, W., Chantarat, S., Chenphuengpawn, J., Mahasuweerachai, P., & Thampanishvong, K. (2019). Farms, Farmers and Farming: A Perspective through Data and Behavioral Insights (Discussion Paper No. 122). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Bauer, M., Chytilová, J., & Morduch, J. (2012). Behavioral foundations of microcredit: Experimental and survey evidence from rural India. American Economic Review, 102(2), 1118–1139.
Chantarat, S., Chawanote, C., Ratanavararak, L., Rittinon, C., Sa-ngimnet, B., & Adultananusak, N. (2022). Financial lives and the vicious cycle of debt among Thai agricultural households. PIER Discussion Paper.
Chawanote, C. (2021). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพฤติกรรมและสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนที่มี ปัญหาหนี้สิน (ปีที่ 3): บริการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการแก้หนี้เกษตรกร. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิชีวิตไท.
Collins, D., Morduch, J., Rutherford, S., & Ruthven, O. (2009). Portfolios of the Poor: How the World’s Poor Live on $2 a Day. Princeton University Press.
Hoff, K., & Stiglitz, J. E. (1990). Introduction: Imperfect information and rural credit markets: Puzzles and policy perspectives. The World Bank Economic Review, 4(3), 235–250.
Khandker, S. R. (2012). Grameen bank lending: Does group liability matter? World Bank Policy Research Working Paper, 6204.
Morduch, J. (2021). Rethinking Poverty, Household Finance, and Microfinance.
Ratanavararak, L., & Chantarat, S. (2022). Do Agricultural Debt Moratoriums Help or Hurt? The Heterogenous Impacts on Rural Households in Thailand [Discussion Paper]. 195.
Siamwalla, A., Pinthong, C., Poapongsakorn, N., Satsanguan, P., Nettayarak, P., Mingmaneenakin, W., & Tubpun, Y. (1990). The Thai rural credit system: public subsidies, private information, and segmented markets. The World Bank Economic Review, 4(3), 271–295.
Stiglitz, J. E., & Weiss, A. (1981). Credit rationing in markets with imperfect information. The American Economic Review, 71(3), 393–410.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: DevelopmentAgricultural and Natural Resource EconomicsFinancial Institutions
Tags: household financehousehold debtdebt trapvicious cycleinformation asymmetryjoint liability loan
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ลัทธพร รัตนวรารักษ์
ลัทธพร รัตนวรารักษ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ชญานี ชวะโนทย์
ชญานี ชวะโนทย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email