Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/87d6b20384c2a561538921c648b6aaad/e9a79/cover.png
8 พฤศจิกายน 2565
20221667865600000

สมอง vs กำลัง – แรงงานสองขั้ว อัตราผลตอบแทนของทักษะ และความไม่เท่าเทียมของค่าจ้าง

ผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาเพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพ และส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศ
สมอง vs กำลัง – แรงงานสองขั้ว อัตราผลตอบแทนของทักษะ และความไม่เท่าเทียมของค่าจ้าง
excerpt

บทความนี้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผลของปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วและอัตราผลตอบแทนของทักษะแรงงานต่อความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทย จากการศึกษา ผู้วิจัยไม่พบปรากฏการณ์แรงงานสองขั้ว (ปรากฎการณ์ที่ความต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการจ้างแรงงานทักษะปานกลางลดลง) แต่พบปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วในตลาดแรงงานไทย (ค่าจ้างที่แท้จริงสำหรับแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง) นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพที่แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างแรงงานในประเทศไทย

โครงสร้างการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (technological advancement) และการจ้างงานภายนอกประเทศ (offshoring) ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว (labor market polarization) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว งานวิจัยของ David et al. (2006) และ Autor et al. (2008) เป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่พบปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้ว (wage polarization) ในตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกา โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความต้องการแรงงานทักษะปานกลางที่ลดลง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีความโน้มเอียงไปยังการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (skilled-biased technological change: SBTC) โดยปรากฏการณ์นี้ ยังพบในประเทศเยอรมนี (Spitz-Oener, 2006), สหราชอาณาจักร (Goos & Manning, 2007), ญี่ปุ่น (Ikenaga & Kambayashi, 2016) และ 16 ประเทศในยุโรปตะวันตก (Goos et al., 2009; Goos et al., 2014)

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วตามที่ได้กล่าวข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงาน กล่าวคือ มีการแทนที่แรงงานภายในประเทศด้วยแรงงานราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนา (Blinder & others, 2009; Jensen & Kletzer, 2010; Firpo et al., 2011) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ (automation) ทำให้ความต้องการแรงงานทักษะสูงภายในประเทศเพิ่มขึ้น Buera et al. (2022) พบว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานในลักษณะดังกล่าว ส่งผลทางบวกต่อราคาของทักษะ (skill prices) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เน้นทักษะสูง จากการเพิ่มขึ้นของความต้องการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการระดับทักษะของแรงงานที่แตกต่างกัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก นอกเหนือจากระดับการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานของแรงงานที่สามารถอธิบายความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้

งานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao ที่มีชื่อว่า “Brain over Brawn: Job Polarization, Structural Change, and Skill Prices” (Paweenawat et al., 2022) ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการจ้างงาน ปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้วและอัตราผลตอบแทนของทักษะแรงงาน และความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยดังกล่าวกับแนวโน้มความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทย โดยพบข้อสรุปที่น่าสนใจ 2 ประการดังต่อไปนี้

ตลาดแรงงานสองขั้วในประเทศไทย (Labor Market Polarization)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทํางานของประชากร (Labor Force Survey หรือ LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 1985–2020 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 60 ปี พบว่า ตลาดแรงงานไทยไม่มีปรากฏการณ์แรงงานสองขั้ว (job polarization) ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่ความต้องการแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นขณะที่ความต้องการแรงงานทักษะปานกลางลดลง รูปที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการจ้างงานในแต่ละกลุ่มอาชีพ โดยแยกตามระดับทักษะที่กลุ่มอาชีพนั้น ๆ ต้องการ โดยพบว่าสัดส่วนการจ้างงานของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะต่ำ ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนปี 2000 และมีแนวโน้มคงที่ในระยะหลัง ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตร ขณะที่สัดส่วนการจ้างงานของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสัดส่วนการจ้างงานของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงเพิ่มขึ้นในช่วงแรกเท่านั้นก่อนที่จะลดลงและมีแนวโน้มคงที่ในช่วง 10 ปีหลังสุด โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานในภาคการผลิตของไทยนี้เป็นไปตามการปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งพบว่าสัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงถึงร้อยละ 31 ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทยในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นเพียงการย้ายจากการจ้างงานในภาคเกษตรที่ใช้แรงงานทักษะต่ำไปยังการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้แรงงานทักษะปานกลางและสูง ซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์แรงงานสองขั้วที่พบในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงซึ่งทำงานประเภท non-routine tasks เช่น งานด้านการวิเคราะห์ และความต้องการจ้างแรงงานที่มีทักษะต่ำที่ทำงานประเภท non-routine manual tasks ซึ่งเป็นงานที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเครื่องจักร (Acemoglu & Autor, 2011)

รูปที่ 1: สัดส่วนการจ้างงานในแต่ละกลุ่มอาชีพแยกตามระดับทักษะ1 (1985–2020)

สัดส่วนการจ้างงานในแต่ละกลุ่มอาชีพแยกตามระดับทักษะ (1985–2020)

ที่มา: Paweenawat et al. (2022)

รูปที่ 2 แสดงค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) รายชั่วโมงสำหรับแรงงานในสามกลุ่มอาชีพ โดยพบว่า แรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและทักษะต่ำได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลาง โดยในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา พบว่าค่าจ้างที่แท้จริงสำหรับแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและทักษะต่ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยภายหลังจากปี 2011 ซึ่งสถานการณ์นี้แสดงถึงปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้ว (wage polarization) ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทย สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Lathapipat (2009) ที่พบปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วในประเทศไทยระหว่างปี 1987–2006 โดยเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีความโน้มเอียงไปยังการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (SBTC) ทำให้ค่าจ้างของแรงงานทักษะสูงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานทักษะต่ำนั้นเกิดจากการย้ายถิ่นฐานของแรงงานในชนบทไปสู่การทำงานในพื้นที่เขตเมือง ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยการถ่ายโอนแรงงานจากการเกษตรไปสู่อาชีพในเขตเมืองในแต่ละปีนั้น น่าจะมีจำนวนมากถึงหนึ่งล้านคนต่อปี และสามารถทำให้ระดับค่าจ้างที่แท้จริงต่อหัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (Phongpaichit et al., 2008)

ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วนี้สามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศได้ เนื่องจากค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะต่ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มคงที่ ทำให้ความแตกต่างของค่าจ้าง (wage gap) ของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะต่ำจะมีสัดส่วนการจ้างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นกลุ่มแรงงานที่มีอัตราการเติบโตของค่าจ้างสูงที่สุดในช่วง 35 ปี ทำให้ความแตกต่างระหว่างค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางและแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะต่ำลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน2

รูปที่ 2: อัตราค่าจ้างที่แท้จริงรายชั่วโมงในแต่ละกลุ่มอาชีพ (1985–2020)

อัตราค่าจ้างที่แท้จริงรายชั่วโมงในแต่ละกลุ่มอาชีพ (1985–2020)

หมายเหตุ: รูปแสดงค่าลอการิทึมของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงของแรงงานในแต่ละกลุ่มอาชีพที่มา: Paweenawat et al. (2022)

อัตราผลตอบแทนของทักษะและความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้าง

นอกเหนือจากปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้วแล้ว Paweenawat et al. (2022) ยังได้ศึกษาราคาของทักษะแรงงาน (skill price) โดยวัดอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญา (return on brain) และอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพ (return on brawn) ด้วยการสร้างดัชนีทักษะทางปัญญาและดัชนีทักษะทางกายภาพ ตามงานวิจัยของ Autor et al. (2003) และ Rendall (2013) โดยการจับคู่อาชีพและอุตสาหกรรม แล้วนำมาจัดเรียงลำดับคู่อาชีพและอุตสาหกรรมตามทักษะทางปัญญาและทางกายภาพที่ต้องใช้ในงานนั้น ๆ

รูปที่ 3 แสดงผลการประมาณอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ โดยพบว่า ทักษะทางปัญญามีอัตราผลตอบแทนเป็นบวก (positive return on brain) ซึ่งหมายความว่า แรงงานที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางปัญญาสูงจะได้รับค่าแรงที่สูงกว่าแรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาต่ำกว่า ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ทำการศึกษา ขณะที่อัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพมีค่าเป็นลบ (penalty on brawn) ซึ่งหมายความว่า แรงงานที่ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องใช้ทักษะทางกายภาพสูงได้รับค่าแรงที่ต่ำกว่าแรงงานที่ประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางกายภาพต่ำกว่า (อย่างไรก็ดี พบว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพที่ติดลบในช่วงแรกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง)

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพ สะท้อนว่าตลาดแรงงานไทยมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางปัญญาในระดับที่สูงกว่าแรงงานที่มีทักษะทางกายภาพ จากผลการศึกษาพบว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าแรงงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงได้รับค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพนั้นมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญามาก ยิ่งทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานในกลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะทางปัญญาและแรงงานในกลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะทางกายภาพ มีแนวโน้มสูงขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายแนวโน้มความไม่เท่าเทียมทางค่าจ้างแรงงานในประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2000

รูปที่ 3: อัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ

อัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ

หมายเหตุ: รูปแสดงอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพ โดยนำมาจากค่าสัมประสิทธิ์ของการประมาณการอัตราผลตอบแทนของทักษะ สมการประกอบด้วยตัวแปรตามคืออัตราค่าจ้าง ตัวแปรอิสระคือทักษะ(ทางปัญญาหรือทางกายภาพ) และตัวแปรควบคุม คือ อายุ จำนวนปีการศึกษา จำนวนบุตร สถานภาพการสมรส ปีที่ทำการศึกษาและภูมิภาคที่มา: Paweenawat et al. (2022)

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามเพศ พบว่า แรงงานหญิงมีอัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาสูงกว่าแรงงานชาย แต่มีอัตราผลตอบแทนของทักษะทางกายภาพต่ำกว่าแรงงานชาย ซึ่งสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงโครงการการจ้างงานจากการใช้ทักษะทางกายภาพมาใช้ทักษะทางปัญญานี้ให้ผลประโยชน์ต่อแรงงานหญิงมากกว่า ทั้งในด้านอัตราผลตอบแทนและการจับคู่อาชีพของแรงงาน และเมื่อแยกตามพื้นที่จะพบว่า อัตราผลตอบแทนของทักษะทางปัญญาของแรงงานในพื้นที่เขตเมืองมีค่าสูงกว่าเขตชนบท ซึ่งสะท้อนความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงในพื้นที่เขตเมือง

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้างนี้สามารถอธิบายได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ประเทศมีความต้องการแรงงานทักษะสูงในจำนวนที่มากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนแรงงานทักษะสูงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานยังอยู่ในระดับสูง คำถามสำคัญจึงตามมาว่า ลำพังแต่ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่? Rendall (2013) เสนอว่า นโยบายการศึกษาของภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่สามารถประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยระดับการการศึกษาเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการผลิตแรงงานที่มีทักษะทางปัญญาสูง มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรเน้นการพัฒนาทักษะของแรงงานที่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงานแล้ว โดยยกระดับทักษะแรงงานให้เพิ่มขึ้นและพัฒนาตามระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะดำเนินการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานผ่านหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว ภาครัฐควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการยกระดับทักษะแรงงานผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะแรงงานของหน่วยงานนั้น ๆ

เอกสารอ้างอิง

Acemoglu, D., & Autor, D. (2011). Skills, tasks and technologies: Implications for employment and earnings. In Handbook of labor economics (Vol. 4, pp. 1043–1171). Elsevier.
Autor, D. H., Katz, L. F., & Kearney, M. S. (2008). Trends in US wage inequality: Revising the revisionists. The Review of Economics and Statistics, 90(2), 300–323.
Autor, D. H., Levy, F., & Murnane, R. J. (2003). The skill content of recent technological change: An empirical exploration. The Quarterly Journal of Economics, 118(4), 1279–1333.
Blinder, A. S., & others. (2009). How many US jobs might be offshorable? World Economics, 10(2), 41.
Buera, F. J., Kaboski, J. P., Rogerson, R., & Vizcaino, J. I. (2022). Skill-biased structural change. The Review of Economic Studies, 89(2), 592–625.
David, H., Katz, L. F., & Kearney, M. S. (2006). The polarization of the US labor market. American Economic Review, 96(2), 189–194.
Firpo, S., Fortin, N. M., & Lemieux, T. (2011). Occupational tasks and changes in the wage structure. Available at SSRN 1778886.
Goos, M., & Manning, A. (2007). Lousy and lovely jobs: The rising polarization of work in Britain. The Review of Economics and Statistics, 89(1), 118–133.
Goos, M., Manning, A., & Salomons, A. (2009). Job polarization in Europe. American Economic Review, 99(2), 58–63.
Goos, M., Manning, A., & Salomons, A. (2014). Explaining job polarization: Routine-biased technological change and offshoring. American Economic Review, 104(8), 2509–2526.
Ikenaga, T., & Kambayashi, R. (2016). Task Polarization in the Japanese Labor Market: Evidence of a Long-Term Trend. Industrial Relations: A Journal of Economy and Society, 55(2), 267–293.
Jensen, J. B., & Kletzer, L. G. (2010). Measuring the task content of offshorable services jobs, tradable services and job loss. In Labor in the New Economy (pp. 309–335). Chicago: University of Chicago Press.
Lathapipat, D. (2009). Changes in the Thai wage structure before and after the 1997 economic crisis. Available at SSRN 1483584.
Paweenawat, S. W., Liao, L., & others. (2022). Brain over Brawn: Job Polarization, Structural Change, and Skill Prices. Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Phongpaichit, P., Baker, C. J., & others. (2008). Thai capital: After the 1997 crisis. Silkworm Books Chiang Mai.
Rendall, M. (2013). Structural change in developing countries: has it decreased gender inequality? World Development, 45, 1–16.
Spitz-Oener, A. (2006). Technical change, job tasks, and rising educational demands: Looking outside the wage structure. Journal of Labor Economics, 24(2), 235–270.

  1. กลุ่มอาชีพแบ่งตามสามระดับทักษะ ได้แก่ (1) ทักษะสูง - ผู้จัดการ ผู้บัญญัติกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพ และช่างเทคนิค, (2) ทักษะปานกลาง - เสมียน พนักงานบริการ และผู้ปฏิบัติการเครื่องจักร โรงงาน และ (3) ทักษะต่ำ - ช่างฝีมือ แรงงานเกษตร และแรงงานไร้ฝีมือ↩
  2. ค่าจ้างของแรงงานที่กล่าวถึงนี้ นำมาจากกลุ่มแรงงานที่มีการรายงานค่าจ้าง โดยค่าจ้างของแรงงานทักษะต่ำไม่รวมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจของตนเองและแรงงานภาคเกษตรที่ไม่ได้รายงานค่าจ้าง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานทักษะต่ำอาจมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: DevelopmentLabor Markets
Tags: polarizationstructural changerif-regressionsdecompositionwage inequalityjob tasks
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email