Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/4e52ac0a5b90a15b1c33fcabac2eef8b/e9a79/cover.png
25 พฤศจิกายน 2565
20221669334400000

ไฟใต้กับตลาดแรงงาน

ความขัดแย้งส่งผลให้อัตราการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น
สุกำพล จงวิไลเกษมเฉลิมพงษ์ คงเจริญนครินทร์ อมเรศ
ไฟใต้กับตลาดแรงงาน
excerpt

บทความนี้สรุปผลงานวิจัยจาก Chongwilaikasaem et al. (2022) ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ของสถานการณ์ความขัดแย้งและการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อพิจารณาจากแบบจำลอง Panel VAR พบว่าความขัดแย้งในไตรมาสที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาการว่างงานไม่ส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง นอกจากนั้น เมื่อใช้วิธี synthetic control เพื่อสร้างโลกคู่ขนานของจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น และเปรียบเทียบอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงกับในโลกคู่ขนานของแต่ละจังหวัด เพื่อหาผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งต่ออัตราการว่างงาน ผลการศึกษาพบว่าภายหลังความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2004 จังหวัดชายแดนใต้มีอัตราการว่างงาน (รวมทั้งในและนอกระบบประกันสังคม) สูงกว่าที่ควรจะเป็น

สถานการณ์ความขัดแย้ง (conflicts) ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ในจังหวัดสงขลา) ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน (ณ ปี 2022) โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (Deep South Watch) รายงานว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นทั้งหมด 20,905 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7,215 คน และบาดเจ็บ 13,914 คน

ความขัดแย้งดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หลายช่องทาง เช่น การสูญเสียปัจจัยทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์ในการผลิต ความหวาดกลัวของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ จนมีผลให้ประชาชนลดการบริโภค และผู้ผลิตลดการผลิตลง การปรับเปลี่ยนสัดส่วนของรายจ่ายภาครัฐ โดยลดรายจ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลงเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านความมั่นคงมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนธุรกรรมจากมาตรการด้านความมั่นคงต่าง ๆ (Chongwilaikasaem & Ingviya, 2020) ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อขนาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะถูกส่งผ่านต่อไปยังปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่ตกกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ความหวาดกลัวและความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง จะส่งผลให้ผู้ผลิตลดการลงทุนและย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่ลดลงในท้ายที่สุด งานศึกษาเชิงประจักษ์ในต่างประเทศพบความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้งกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Blomberg et al., 2004; Meierrieks & Gries, 2013) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Bandyopadhyay et al., 2014; Nikšić Radić et al., 2019) และการว่างงาน (Afzali, 2019)

ในทางตรงข้าม ปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นอาจส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากการว่างงานส่งผลให้ผู้ก่อความขัดแย้งมีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการทำกิจกรรมเพื่อความไม่สงบต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยขน์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง จึงอาจนำไปสู่การตัดสินใจก่อความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้นี้จะเกิดขึ้นอย่างยาวนาน แต่คณะผู้ศึกษายังไม่พบการศึกษาความสัมพันธ์ในทางตรงระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้งกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พบเพียงการศึกษาผลกระทบของความขัดแย้งต่อขนาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ Chongwilaikasaem & Ingviya (2020) ที่ทำการศึกษาผลกระทบในระดับอำเภอของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงปี 2012–2017 โดยได้สร้างดัชนีวัดความรุนแรงของความขัดแย้ง (Deep South Violence Index) และใช้ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อจำนวนมิเตอร์เป็นตัวแปรวัดขนาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การศึกษาดังกล่าวพบว่า เมื่อความรุนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่มีมากขึ้นขนาดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นจะมีขนาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ผลการประมาณค่าดังกล่าวอาจมีค่าต่ำเกินจริง เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลตัวแปรกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ถูกจัดเก็บเฉพาะช่วงปี 2012–2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงและเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาหลายปีแล้ว ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ในช่วงเวลาดังกล่าวคือผู้ที่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ความขัดแย้งได้แล้ว นอกจากนั้น การศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงของความขัดแย้งจะเป็นทั้งเหตุและผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง

งานวิจัยนี้ พิจารณาความสัมพันธ์เชิงพลวัตระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้งและตลาดแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ข้อมูลอัตราการว่างงาน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งสามารถคำนวณอัตราการว่างงานรายอำเภอ ของ 37 อำเภอใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ (โดยรวมทุกอำเภอในจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ รวมเฉพาะ อำเภอจะนะ นาทวีเทพา และสะบ้าย้อยในจังหวัดสงขลา) ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้ง จนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2019 และใช้ข้อมูลจำนวนเหตุการณ์ จำนวนคนเจ็บ และจำนวนคนเสียชีวิตจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละอำเภอในช่วงเวลาดังกล่าวจาก Global Terrorism Database (GTD) ของ University of Maryland เป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของสถานการณ์ความขัดแย้ง และใช้แบบจำลอง panel VAR ที่พิจารณาความสัมพันธ์เชิงพลวัตระหว่างการว่างงานและความไม่สงบซึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ตัวแปรทั้งสองมีลักษณะที่ส่งผลต่อกันและกัน และคำนึงถึงปัจจัยที่ไม่สามารถสังเกตได้ระดับอำเภอในการประมาณค่าความสัมพันธ์ดังกล่าว

นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังได้ใช้วิธี synthetic control (Abadie & Gardeazabal, 2003) เพื่อสร้างโลกคู่ขนานของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาที่ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น (counterfactual) และเปรียบเทียบอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงกับในโลกคู่ขนานของแต่ละจังหวัด เพื่อหาผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งต่ออัตราการว่างงานอีกด้วย การศึกษาในส่วนนี้ใช้ข้อมูลอัตราการว่างงาน จากแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว สัดส่วนของภาคเกษตรกรรมในผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด และจำนวนประชากร จากรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดของ สศช. และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากกระทรวงแรงงาน ร่วมกับข้อมูลความขัดแย้งจาก GTD โดยใช้ข้อมูลเป็นรายปี ในช่วงปี ค.ศ. 1989–2019 ในระดับจังหวัด

ตลาดแรงงานในจังหวัดชายแดนใต้

ตลาดแรงงานไทยมีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ อาทิ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน และการที่กระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural transformation) เกิดความชะงักงันขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการว่างงานไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง คือ การมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ได้แก่ ภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ การที่มีแรงงานจำนวนมากทำงานต่ำระดับหรือไม่สามารถหางานในระบบได้จึงผันตัวไปทำงานนอกระบบ การที่มีผู้อยู่นอกกำลังแรงงานเป็นจำนวนมาก และการเกิดปัญหาทักษะของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Bank of Thailand, 2019)

การที่ตลาดแรงงานไทยมีความตึงตัวต่อเนื่องมีส่วนทำให้เกิดข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทย ผ่านการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพของแรงงานสูงไม่สามารถหาคนงานได้เพียงพอ (Bank of Thailand, 2013) โดย Klyuev (2015) พบว่ากระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยผ่านการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังกิจกรรมที่มีผลิตภาพสูงได้เกิดความชะงักงันขึ้น สะท้อนจากจำนวนแรงงานในภาคเกษตรของไทยที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีระดับรายได้และการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยมีสาเหตุหลัก ๆ คือ การเกิดช่องว่างระหว่างระดับทักษะของแรงงานในภูมิภาคและแรงงานในเมือง การที่ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร และการที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ขณะที่ Charoenloet (2015) อธิบายการที่ตลาดแรงงานในภูมิภาคของไทยยังมีขนาดใหญ่เป็นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) และการผันสู่อุตสาหกรรม (industrialization) ผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องลดต้นทุนการผลิตผ่านการจ้างเหมาช่วง (subcontract) แรงงานนอกระบบในภูมิภาค

นอกจากนั้น ตลาดแรงงานไทยกำลังเผชิญกับการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะกระทบต่อการมีการทำงานต่ำระดับมากขึ้น การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยลง และการเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดย Arayavechkit et al. (2015) พบว่าการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยจะทำให้ขาดแคลนประชากรวัยแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง ต่างจากแรงงานอายุน้อยหรืออายุมากที่มักจะเป็นผู้ประกอบการ จึงทำให้ผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพต่ำอาจลดสถานะลงเหลือเพียงการเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกิดช่องว่างด้านรายได้สูงขึ้น

ตลาดแรงงานในจังหวัดชายแดนใต้เองก็มีลักษณะเฉพาะเหมือนกับภาพรวมของประเทศ คือ มีภาคเกษตรและเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ มีกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ชะงักงัน และมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ไม่สูงนัก การศึกษาชิ้นนี้จึงจัดกลุ่มจังหวัดออกเป็น ภาพรวมของประเทศ ภาพรวมของภาคใต้ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนใต้ และสองจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นฐานคล้ายคลึงกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดน แต่ไม่ได้เกิดเหตุความไม่สงบ คือ จังหวัดสตูลและพัทลุง โดยสรุปได้เป็นข้อเท็จจริง 6 ประการ ดังนี้

รูปที่ 1: ภาวะตลาดแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เทียบกับพื้นที่อื่น

ภาวะตลาดแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เทียบกับพื้นที่อื่น

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: รูปที่ 1a อัตราการว่างงาน; รูปที่ 1b อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน
  1. รายได้ในพื้นที่ซึ่งวัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง แต่ต่ำกว่าของภาคใต้และประเทศ
  2. สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในภาคเกษตรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง แต่สูงกว่าของภาคใต้และประเทศ สะท้อนการชะงักงันของกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร
  3. อัตราการว่างงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่ากลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง ของภาคใต้และประเทศ แม้แต่ในช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานไทยมีความตึงตัวอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 1a) จึงอาจแสดงผลจากความขัดแย้งที่ทำให้ตลาดแรงงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถเติบโตได้เช่นเดียวกันพื้นที่อื่น
  4. จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่ากลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง ของภาคใต้และประเทศมาโดยตลอด โดยมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับพื้นที่อื่น และไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วงที่เกิดเหตุความขัดแย้งขึ้น
  5. การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของประชากรในวัยทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในกลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง ของภาคใต้และในประเทศ (รูปที่ 1b) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุความไม่สงบรุนแรงขึ้น จึงสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่ไม่จูงใจให้ประชากรวัยทำงานในพื้นที่มีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน
  6. การขยายตัวของธุรกิจใหม่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่แตกต่างจากในกลุ่มสองจังหวัดใกล้เคียง ของภาคใต้และในประเทศอย่างชัดเจนนัก สะท้อนว่าการดำเนินธุรกิจในระบบซึ่งต้องมีความพร้อมในการประกอบการอาจไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ

ความขัดแย้งส่งผลให้อัตราการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาการว่างงานไม่ส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น

ผู้วิจัยพิจารณาตัวชี้วัดของตลาดแรงงานจากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคม โดยพิจารณาปัจจัยเชิงมหภาคและช่วงเวลา พบว่าความขัดแย้งในไตรมาสที่ผ่านมามิได้ส่งผลต่ออัตราการว่างงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อหัวจากข้อมูลการสำรวจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานในไตรมาสที่ผ่านมาก็มิได้มีผลต่อตัวแทนความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นจำนวนเหตุการณ์ จำนวนผู้บาดเจ็บ หรือจำนวนผู้เสียชีวิต

ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอัตราการว่างงานที่รายงานโดยสำนักงานประกันสังคม ผู้วิจัยพบว่าความขัดแย้งส่งผลต่ออัตราการว่างงาน โดยที่ขนาดของอัตราการว่างงานสูงขึ้น หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนผู้บาดเจ็บจากความขัดแย้งส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 2 มุมซ้ายล่าง) ในทางกลับกัน การว่างงานในระบบที่รายงานโดยสำนักงานประกันสังคมมิได้มีอิทธิพลต่อจำนวนความขัดแย้ง นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของจำนวนสถานประกอบการ ผู้วิจัยพบว่าความขัดแย้งในไตรมาสที่ผ่านมาทั้งที่วัดด้วยจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่งผลให้จำนวนสถานประกอบการลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 2 ขวาล่าง)

จากผลของแบบจำลอง Panel VAR จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดแรงงานโดยเฉพาะตลาดแรงงานในระบบ ในขณะที่ตลาดแรงงานมิได้มีผลต่อจำนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

รูปที่ 2: ค่าสัมประสิทธิ์แบบช่วงของตัวแปรความขัดแย้งต่อตัวแปรที่สะท้อนตลาดแรงงาน

ค่าสัมประสิทธิ์แบบช่วงของตัวแปรความขัดแย้งต่อตัวแปรที่สะท้อนตลาดแรงงาน

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ: L.เหตุการณ์ต่อแสนคน คือจำนวนเหตุการณ์ความขัดแย้งต่อประชากร(หนึ่งแสนคน)ในไตรมาสก่อนหน้า; L.ผู้บาดเจ็บต่อแสนคน คือจำนวนผู้บาดเจ็บจากความขัดแย้งต่อประชากร(หนึ่งแสนคน)ในไตรมาสก่อนหน้า; L.ผู้เสียชีวิตต่อแสนคน คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งต่อประชากร(หนึ่งแสนคน)ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ผู้วิจัยมิได้แสดงค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรอธิบาย และตัวแปรควบคุมอื่น ๆ

การว่างงานของจังหวัดชายแดนใต้ในโลกคู่ขนานที่ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

เนื่องจากลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ไม่สามารถหาจังหวัดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มของอัตราการว่างงานในช่วงก่อนความขัดแย้ง เหมือนกับกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่สามารถหาคู่เทียบที่เหมาะสมในการพิจารณาผลกระทบของความขัดแย้งต่ออัตราการว่างงานได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธี synthetic control ผู้วิจัยสามารถสร้างโลกคู่ขนานของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาที่ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยสร้างจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น จนกระทั่งตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีผลต่ออัตราการว่างงานของจังหวัดในโลกคู่ขนานใกล้เคียงกับค่าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง (1989–2003) ตัวแปรทางเศรษฐกิจดังกล่าวประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว สัดส่วนของภาคเกษตรกรรมในผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด จำนวนประชากร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราการว่างงานในอดีต และผู้วิจัยใช้ความแตกต่างของอัตราการว่างงานเกิดขึ้นจริง กับในโลกคู่ขนานของแต่ละจังหวัด ในช่วงการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ (2004–2019) เป็นตัวแปรวัดผลของความขัดแย้งต่ออัตราการว่างงาน

ความแตกต่างระหว่างอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริง และในโลกคู่ขนานที่ถูกสร้างจากวิธี synthetic control ของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ถูกแสดงดังรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าภายหลังปี 2004 เมื่อความขัดแย้งได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น อัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริงของจังหวัดทั้ง 4 (เส้นทึบ) สูงกว่าอัตราการว่างงานที่ควรจะเป็น (เส้นประ) อย่างชัดเจน โดยในช่วงเกิดความขัดแย้ง (2004–2019) ค่ามัธยฐานของการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานเทียบกับค่าที่ควรจะเป็นหากไม่มีความขัดแย้ง ของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เท่ากับ 0.95, 0.30, 1.51 และ 0.89 จุด (percentage point) ตามลำดับ

รูปที่ 3: ความแตกต่างระหว่างอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริง และในโลกคู่ขนานของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา

ความแตกต่างระหว่างอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นจริง และในโลกคู่ขนานของจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ข้อสรุปและนัยทางนโยบาย

งานวิจัยนี้พบว่า เมื่อพิจารณาจากแบบจำลอง Panel VAR ความขัดแย้งส่งผลให้อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาการว่างงานไม่ส่งผลย้อนกลับให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อใช้วิธี synthetic control ในการหาความสัมพันธ์ของสถานการณ์ความขัดแย้งและอัตราการว่างงาน การศึกษานี้พบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีอัตราการว่างงาน (รวมทั้งในและนอกระบบประกันสังคม) สูงกว่าที่ควรจะเป็น

ปัญหาความขัดแย้งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับภาครัฐ เนื่องจากไม่เพียงจะมีผลต่อความมั่นคง แต่ได้กระทบต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย แนวทางในการแก้ไขปัญหาจึงควรให้น้ำหนักกับมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับนโยบายด้านความมั่นคง นอกจากนั้นในการวิเคราะห์ประโยชน์ ในการประเมินผลได้-เสียของนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ควรคำนึงถึงประโยชน์จากการลดปัญหาการว่างงานเพิ่มเติมไปจากผลสัมฤทธิ์ด้านความมั่นคงด้วย

เอกสารอ้างอิง

Abadie, A., & Gardeazabal, J. (2003). The economic costs of conflict: A case study of the Basque Country. American Economic Review, 93(1), 113–132.
Afzali, F. A. (2019). The Impact of Terrorism on Unemployment: Evidence from Afghanistan (1980–2017). International Journal of Scientific and Research Publications (IJSRP).
Arayavechkit, T., Manprasert, S., & Pinthong, J. (2015). Intertwining Inequality and Labor Market under the New Normal (Discussion Paper No. 6). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Bandyopadhyay, S., Sandler, T., & Younas, J. (2014). Foreign direct investment, aid, and terrorism. Oxford Economic Papers, 66(1), 25–50.
Bank of Thailand. (2013). Labor constraints and economic growth. Monetary Policy Report .
Bank of Thailand. (2019). Implications of low unemployment rate in Thailand. Monetary Policy Report .
Blomberg, S. B., Hess, G. D., & Orphanides, A. (2004). The macroeconomic consequences of terrorism. Journal of Monetary Economics, 51(5), 1007–1032.
Charoenloet, V. (2015). Industrialization, globalization and labour force participation in Thailand. Journal of the Asia Pacific Economy, 20(1), 130–142.
Chongwilaikasaem, S., & Ingviya, T. (2020). The Economic Impact of the Conflict in the Southern Thailand Provinces. วารสาร เศรษฐศาสตร์ และ กลยุทธ์ การ จัดการ (Journal of Economics and Management Strategy), 7(2), 177–194.
Chongwilaikasaem, S., Kongcharoen, C., & Amarase, N. (2022). Relationship between conflict and labor market in the deep South of Thailand. Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Klyuev, M. V. (2015). Structural Transformation—How Does Thailand Compare? International Monetary Fund.
Meierrieks, D., & Gries, T. (2013). Causality between terrorism and economic growth. Journal of Peace Research, 50(1), 91–104.
Nikšić Radić, M., Dragičević, D., & Barkiđija Sotošek, M. (2019). Causality between terrorism and FDI in tourism: evidence from panel data. Economies, 7(2), 38.
สุกำพล จงวิไลเกษม
สุกำพล จงวิไลเกษม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นครินทร์ อมเรศ
นครินทร์ อมเรศ
ธนาคารไทยพาณิชย์
Topics: Labor and Demographic Economics
Tags: economic impact of conflictslabor marketdeep south of thailand
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email