Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/34e65e03b4da15a88a7b412a734cdae7/e9a79/cover.png
8 ธันวาคม 2565
20221670457600000

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

หลักฐานเชิงประจักษ์จากแนวคิดใหม่ในการวัดการลุกลามเชิงพลวัตรและผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
วรพล ยะมะกะภารวี มณีจักร
การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
excerpt

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในยุคที่ประเทศทั่วโลกมีความเกี่ยวข้องกันในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน การศึกษานี้จึงได้ทำการวิเคราะห์การลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ economic contagion ระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวน 18 ประเทศ โดยผลการศึกษาพบว่า ระดับของการลุกลามมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศและมีความผันผวนตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยหากประเทศยิ่งมีการพึ่งพาสหรัฐฯ มาก ก็ยิ่งมีการลุกลามทางเศรษฐกิจในระดับสูงตาม นอกจากนี้ ผลกระทบของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พบว่าส่งผลในแง่ดีต่อบางประเทศ แต่ก็สามารถสร้างผลเสียให้แก่บางประเทศได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

การลุกลามของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

เมื่อกล่าวถึงคำว่าการลุกลาม เรามักจะนึกถึงการลุกลามที่เกิดขึ้นจากแพร่ระบาดของโรคติดต่อในเชิงวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น โรคซาร์ส โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น แต่ในทำนองเดียวกันการลุกลามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกด้านรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ เมื่อนำคำว่าการลุกลามมารวมกับคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจ จะได้เป็นคำว่า “การลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า economic contagion โดยในที่นี้เรามองวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งเสมือนเป็นโรคร้าย ที่พร้อมจะแพร่ระบาดหรือลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรือไปสู่ประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจต่อกัน โดยหากยิ่งประเทศต้นเหตุมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากแล้ว การลุกลามในครั้งนี้ย่อมแพร่ไปในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปี 2008 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ จากการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ตลอดจนการแสวงหาผลกำไรของสถาบันการเงินผ่านการออกตราสารทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง การตัดสินใจโดยไม่ได้พิจารณาบนพื้นฐานความเป็นจริงและมุ่งเน้นที่การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ นำมาสู่การล่มสลายกันเป็นโดมิโน่ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตลาดหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนัก ผู้คนเริ่มสูญเสียความสามารถในการใช้จ่าย ธุรกิจเกิดการล้มละลาย นำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัวและปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ และเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นวงกว้าง การลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากผลในทางตรงแล้วเมื่อประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศคู่ค้าในลำดับถัดไปและทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง

งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมาได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อวัดการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจและได้ค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายว่าการเชื่อมต่อของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนี้ได้นำมาซึ่งการส่งต่อผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยฉบับนี้เราได้มุ่งเน้นทำการศึกษาผลกระทบของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อการลงทุนโดยตรงในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่1 (emerging economies) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยแม้จะยังมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่นับได้ว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีการพัฒนามาไกลจากการเป็นประเทศยากจน โดยประเทศไทยเองก็นับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้นับว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นจุดหมาย (destination) แห่งการลงทุนของสหรัฐฯ อีกด้วย ดังนั้นการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อประเทศเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การวัดการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจ: ข้อจำกัดบางประการจากงานวิจัยในอดีต

การศึกษาในอดีตจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ และได้เสนอวิธีการวัดระดับการลุกลามที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามการประเมินผลกระทบของการลุกลามของวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังมีอยู่ไม่มาก โดยสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้การวิเคราะห์เชิงปริมาณยังเป็นไปได้ยาก (Liu et al., 2020) ประกอบกับข้อจำกัดด้านเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งการศึกษาในอดีตที่ผ่านมามักนิยมกำหนดให้ตัวแปรหุ่น (dummy) เป็นตัวแทนของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อใช้วิเคราะห์ผลกระทบของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น การศึกษาของ Calvo & Reinhart (1996), Karolyi (2003), Dornbusch et al. (2000) และ Dornean et al. (2012) เป็นต้น โดยกำหนดให้ตัวแปรหุ่นมีค่าเท่ากับ 1 ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและเป็น 0 ในช่วงสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตามการกำหนดค่าการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจให้อยู่ในรูปของตัวแปรหุ่นยังไม่สามารถสะท้อนทิศทางและขนาดของการลุกลามได้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจึงได้มีงานวิจัยหลายๆ งานที่พยายามแก้ปัญหาข้างต้นโดยเสนอแนวทางในการหาขนาดของการลุกลามผ่านการหาค่าความสัมพันธ์ หรือในทางเทคนิคคือการพิจารณาจากค่าการขึ้นอยู่แก่กันที่ปลายหางล่าง (lower tail dependence) ซึ่งเป็นการหาความสัมพันธ์ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีหรือในระหว่างการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่างประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของวิกฤตกับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกพิสูจน์ด้วยงานวิจัยเชิงประจักษ์หลากหลายงานว่าสามารถสะท้อนค่าขนาดของการลุกลามทางวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Cech, 2006; Rodriguez, 2007; Shamiri et al., 2011; Nikoloulopoulos et al., 2012; Maneejuk & Yamaka, 2019) ดังนั้นในการศึกษานี้ผู้วิจัยจึงประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อประเมินขนาดของการลุกลามทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

การวัดการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจโดยใช้แนวคิดคอปูลา

ในส่วนก่อนหน้าได้อธิบายถึงแนวความคิดใหม่ในการวัดการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจโดยพิจารณาจากค่าความสัมพันธ์หรือค่าการขึ้นอยู่แก่กันที่ปลายหางล่าง ซึ่งการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสามารถทำได้หลายวิธี แต่ในงานศึกษานี้ได้เลือกใช้วิธีการที่เรียกว่าคอปูลา (copula) ซึ่งเป็นฟังก์ชันการแจกแจงร่วมของตัวแปรสุ่มหลายตัวแปร (multivariate cumulative distribution function) ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงตัวแปรสุ่มที่มีการแจกแจงแบบสม่ำเสมอในช่วง [0,1][0, 1][0,1] เข้าด้วยกัน (Nelsen, 2006) คอปูลาถูกใช้อย่างแพร่หลายในการศึกษาทางด้านการเงิน เช่น การหาความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างระหว่างตลาดทางการเงิน การอธิบายการขึ้นอยู่แก่กันของหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ตลอดจนการจัดการพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษานี้จะเลือกใช้คอปูลา 2 ตัวแปร (bivariate copula) เนื่องจากในการหาขนาดของการลุกลามทางเศรษฐกิจจะประเมินจากประเทศสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดังนั้นคอปูลา 2 ตัวแปรจึงถูกนำมาใช้ในครั้งนี้ โดยคอปูลาจะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงการแจกแจงของตัวแปรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เข้าด้วยกันผ่านคอปูลาฟังก์ชัน จากนั้นพิจารณาที่ค่าความสัมพันธ์ที่ปลายหางล่าง โดยหากมีค่าเท่ากับ 0 แสดงว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่ปลายหางล่างระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือไม่มีการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจนั่นเอง

นอกเหนือไปจากการใช้คอปูลา 2 ตัวแปรในการหาขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แล้ว งานศึกษานี้ยังได้เสนอแนวคิดแบบจำลองคอปูลาเชิงพลวัตร (dynamic copula) เพื่อหาระดับการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาด้วย โดยได้ใช้ข้อมูลอนุกรมเวลาครอบคลุมปี 2005–2020 ดังนั้นภายใต้แนวคิดคอปูลาเชิงพลวัตร เราจึงสามารถหาขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละหน่วยของเวลาได้

ขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่: กรณีศึกษา แอฟริกาใต้

จากการใช้แบบจำลองคอปูลาแบบค่าคงที่ในการประเมินขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ผลการศึกษาสามารถแสดงได้ตามภาพที่ 1 โดยจากภาพจะพบว่าขนาดของการลุกลามที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ด้วยค่าการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจที่เท่ากับ 0.93 (1 คือค่าสูงสุด) ถัดมาคือประเทศโมร็อกโกที่เท่ากับ 0.73 โดยแอฟริกาใต้นับเป็นประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีบริษัทเอกชนจำนวนมากของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุน การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อแอฟริกาใต้ในหลายมิติ แต่ด้านที่สำคัญที่สุดคงหลีกหนีไม่พ้นด้านการส่งออก ซึ่งพบว่าอุปสงค์ต่อสินค้าจากประเทศแอฟริกาใต้ลดลงจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกลดลงทั้งในมิติของราคาและปริมาณเช่นเดียวกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้คือผลทางด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ชะลอตัวลงจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจ ความแตกต่างของการลงทุนโดยตรงในประเทศแถบแอฟริกากับประเทศในถิ่นอื่นๆ คือการลงทุนจากต่างชาติมักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่น การพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ และระบบคมนาคมขนส่ง เป็นต้น และโครงการที่เข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น การขอสัมปทานเพื่อสำรวจและขุดหาแร่ธาตุ เป็นต้น ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อแอฟริกาใต้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนแล้ว สหรัฐฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่แอฟริกาใต้เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ และการศึกษา ผ่านโครงการมากมาย เช่น the President’s Emergency Plan for AIDS Relief (PEPFAR) ซึ่งเป็นโครงการที่สหรัฐฯ ได้เข้าไปลงทุนช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาด้านโรคเอดส์ในแอฟริกาใต้ รวมไปถึงข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ที่สหรัฐฯ ทำร่วมกับแอฟริกาใต้ รวมไปถึงร่วมกับกลุ่มประเทศที่มีแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกเพื่อให้ประโยชน์ในด้านการค้า การลงทุน และด้านภาษีแก่ประเทศแอฟริกาใต้ เช่น Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) และ Trade, Investment, and Development Cooperative Agreement (TIDCA) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแอฟริกาใต้มีการขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมากในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจตลอดจนการรับความช่วยเหลือในรูปเงินช่วยเหลือและประโยชน์อื่นๆ จากสหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อเกิดช่วงเวลาที่ยากลำบากในสหรัฐฯ ดังเช่นวิกฤตในปี 2008–09 จึงสร้างผลกระทบต่อแอฟริกาใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปที่ 1: Static Economic Contagion ใน 18 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

Static Economic Contagion ใน 18 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

การลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ เชิงพลวัติในประเทศเศรษฐกิจใหม่

ในส่วนก่อนหน้าเราได้แสดงขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯในรูปแบบค่าคงที่ (static term) แต่อย่างไรก็ตามขนาดของการลุกลามอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นในส่วนนี้จึงได้นำเสนอผลการประมาณขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อ 18 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในรูปแบบเชิงพลวัติ (dynamic term) ตลอดช่วงปี 2005–2020 ดังภาพที่ 2a และ 2b โดยแต่ละภาพจะแสดงขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศ โดยที่แกนตั้ง (แกน Y) จะแสดงขนาดของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจและแกนนอน (แกน X) แทนเวลา

ในภาพรวมจะสามารถสังเกตุได้ว่าระดับความสัมพันธ์ที่ปลายหางล่าง (lower tail dependence) ของทุกประเทศมีค่ามากกว่าศูนย์ แสดงถึงการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้นมีอยู่จริง แต่ทว่าขนาดของการลุกลามมีความผันผวนขึ้นลงตามเวลา โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจได้ดังนี้

  1. ระดับการลุกลามทางเศรษฐกิจไม่มีความคงที่และแปรเปลี่ยนไปตลอดระยะเวลา ซึ่งเป็นการยืนยันให้เห็นว่าสมมุติฐานที่ว่าการลุกลามไม่คงที่และแตกต่างกันในแต่ละช่วงระยะเวลานั้นเป็นจริง ดังนั้นการที่งานวิจัยนี้เลือกใช้แบบจำลองคอปูลาเชิงพลวัตรจึงมีความเหมาะสมในกรณีนี้
  2. หลังจากเกิดวิกฤต 2008–09 พบว่าระดับการลุกลามทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายประเทศ สะท้อนภาพของการเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเกิดวิกฤต โดยสาหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) เพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ก็ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกรวมถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย Çepni et al. (2021) กล่าวว่ามีเงินลงทุนไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมากหลังจากมีการใช้มาตรการ QE
รูปที่ 2a: Dynamic contagion ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจใหม่ ระหว่างปี 2005–2020

Dynamic contagion ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจใหม่ ระหว่างปี 2005–2020

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย
รูปที่ 2b: Dynamic contagion ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจใหม่ ระหว่างปี 2005–2020 (ต่อ)

Dynamic contagion ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจใหม่ ระหว่างปี 2005–2020 (ต่อ)

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย

ผลกระทบของการลุกลามทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อ FDI ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

หลังจากที่ประมาณขนาดของการลุกลามทางเศรษฐกิจสหรัฐฯในเชิงพลวัตรแล้วจากขั้นก่อนหน้า ในส่วนนี้จะนำค่าการลุกลามทางเศรษฐกิจมาต่อยอดเพื่อศึกษาผลกระทบของการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ภายใต้แบบจำลองถดถอยเชิงเส้น โดยกำหนดให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นตัวแปรตามและการลุกลามทางเศรษฐกิจเป็นตัวแปรต้น ร่วมกับตัวแปรควบคุม ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ระดับการเปิดการค้า ดัชนีราคาผู้บริโภค และอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง โดยภาพที่ 3 แสดงค่าสัมประสิทธิ์ (coefficient) หรือขนาดของผลกระทบของการลุกลามทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีต่อ FDI ของแต่ละประเทศแสดงด้วยจุดสีดำ และเส้นสีแดงคือช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% โดยจากการศึกษาทั้ง 18 ประเทศพบว่ามีเพียง 8 ประเทศที่การลุกลามทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อ FDI ซึ่งชื่อของประเทศเหล่านั้นจะถูกคลุมด้วยแถบสีเขียว ดังแสดงในภาพที่ 3

จากผลการศึกษา หากพิจารณาเพียงประเทศที่ได้รับผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (คลุมด้วยแถบสีเขียว) พบว่าแม้ขนาดของผลกระทบจะมีขนาดเล็ก (พิจารณาจากขนาดของ coefficients) แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นมีได้ทั้งทิศทางบวกและลบ กล่าวคือการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลทางลบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในประเทศแอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย โคลัมเบีย และบัลกาเรีย ในขณะที่การลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจกลับส่งผลดีต่อ FDI ของประเทศจีน ไทย ฟิลิปปินส์ และโมร็อกโก อย่างที่ทราบกันดีว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก อีกทั้งยังเป็นนายทุนใหญ่ที่มักเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ หรือสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมต่อการลงทุนอยู่เสมอ แต่ทว่าเมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการชะลอตัว ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตของบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทำให้เงินลงทุนที่ไหลออกจากประเทศไปยังประเทศที่เป็นจุดหมายอย่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถูกจำกัด และยังสร้างผลในทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศนักลงทุนให้ลดการลงทุนในประเทศอื่นๆ จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีอีกด้วย (Ucal et al., 2011; Fan et al., 2020)

อย่างไรก็ตาม การลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนให้แก่บางประเทศได้ อ้างอิงจากแนวคิดของ Krugman (2000) และ Thu (2019) ที่กล่าวว่าการเทขายหุ้น ตราสารหนี้และกองทุน เพื่อถือเงินสดมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเงินทุนเหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายไปยังตลาดอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้เม็ดเงินลงทุนถูกโยกย้ายไปสู่บางประเทศที่นักลงทุนมองว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่พวกเขาได้ นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังถือเป็นโอกาสของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีการปรับนโยบายการลงทุนต่างๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและเกิดเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในแต่ละประเทศร่วมด้วย

รูปที่ 3: ค่าสัมประสิทธิ์แสดงผลกระทบของ US economic contagion ต่อ FDI ของประเทศเกิดใหม่

ค่าสัมประสิทธิ์แสดงผลกระทบของ US economic contagion ต่อ FDI ของประเทศเกิดใหม่

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัยหมายเหตุ 1) ประเทศที่คลุมด้วยแถบสีเขียวหมายถึงมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.10 และ 2) จุดสีดำแทนค่าสัมประสิทธิ์ของ Economic contagion และเส้นสีแดงคือ 95% Confident Interval

บทสรุปส่งท้าย

บทความนี้ได้นำเสนอแนวความคิดใหม่ในการวัดขนาดของการลุกลามจากวิกฤตเศรษฐกิจ (economic contagion) โดยใช้แนวคิดแบบจำลองคอปูลา (copula) ประมาณขนาดของการลุกลามทั้งในรูปแบบเชิงสถิต (static) และเชิงพลวัตร (dynamic) โดยมุ่งเน้นที่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2005–2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน 2008–09 ซึ่งนับเป็นวิกฤตทางการเงินที่สำคัญและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจตลอดจนสร้างความผันผวนแก่การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปทั่วโลก ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการลุกลามของวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมีอยู่จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศคู่ค้าและประเทศที่พึ่งพิงการลงทุนจากภายนอกอย่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม พิษจากวิกฤตเศรษฐกิจที่วัดจากระดับของการลุกลามนั้นมีระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและมีลักษณะผันผวนตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยหากประเทศยิ่งมีเศรษฐกิจที่พึ่งพิงสหรัฐฯ มากก็ยิ่งมีการลุกลามทางเศรษฐกิจในระดับสูงตาม ดังเช่นกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาที่ผลกระทบของการลุกลามวิกฤตเศรษฐกิจต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กลับพบว่าส่งผลในแง่ดีต่อบางประเทศ แต่ก็สามารถสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นต่อบางประเทศได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดจะมีความพร้อมและสามารถพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นให้เป็นโอกาสและดึงดูดเงินลงทุนให้เข้ามาได้แทน

ในท้ายที่สุด ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษานี้จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินระดับการลุกลามนี้จะสามารถถูกต่อยอดไปใช้ในการประเมินวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นได้อย่างเช่น วิกฤตการณ์โควิด-19 และวิกฤตราคาน้ำมัน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Calvo, S. G., & Reinhart, C. (1996). Capital flows to Latin America: is there evidence of contagion effects? Available at SSRN 636120.
Cech, C. (2006). Copula-Based Top-Down Approaches in Financial Risk Aggregation. Available at SSRN 95388.
Çepni, O., Çolak, M. S., Hacıhasanoğlu, Y. S., & Yılmaz, M. H. (2021). Capital flows under global uncertainties: Evidence from Turkey. Borsa Istanbul Review, 21(2), 175–185.
Dornbusch, R., Park, Y. C., & Claessens, S. (2000). Contagion: Understanding how it spreads. The World Bank Research Observer, 15(2), 177–197.
Dornean, A., Işan, V., & Oanea, D.-C. (2012). The impact of the recent global crisis on foreign direct investment. Evidence from central and eastern European countries. Procedia Economics and Finance, 3, 1012–1017.
Fan, H., Gou, Q., Peng, Y., & Xie, W. (2020). Spillover effects of capital controls on capital flows and financial risk contagion. Journal of International Money and Finance, 105, 102189.
Karolyi, A. G. (2003). Does international financial contagion really exist? International Finance, 6(2), 179–199.
Krugman, P. (2000). Capital flows and the emerging economies: Theory, evidence, and controversies. In S. Edwards (Ed.), University of Chicago Press (pp. 43–58). University of Chicago Press.
Liu, L., Liu, Y. M., Kim, J. M., Zhong, R., & Ren, G. Q. (2020). Analysis of Tail Dependence between Sovereign Debt Distress and Bank Non-Performing Loans. Sustainability, 12(2), 747.
Maneejuk, P., & Yamaka, W. (2019). Predicting contagion from the US financial crisis to international stock markets using dynamic copula with google trends0. Mathematics, 7(11), 1032.
Nelsen, R. B. (2006). An introduction to copulas (second). Springer New York, NY.
Nikoloulopoulos, A. K., Joe, H., & Li, H. (2012). Vine copulas with asymmetric tail dependence and applications to financial return data. Computational Statistics & Data Analysis, 56(11), 3659–3673.
Rodriguez, J. C. (2007). Measuring financial contagion: A Copula approach. Journal of Empirical Finance, 14(3), 401–423.
Shamiri, A., Hamzah, N., & Pirmoradian, A. (2011). Tail Dependence Estimate in Financial Market Risk Management: Clayton-Gumbel Copula Approach. Sains Malaysiana, 40(8), 927–935.
Thu, V. T. (2019). Effects of the Asian financial crisis on foreign investment in Vietnam and solutions. Journal of Economic Development, 12–15.
Ucal, M., Özcan, K. M., Bilgin, M. H., & Mungo, J. (2011). Relationship between financial crisis and foreigndirect investment in developing countries usingsemiparametric regression approach. Journal of Business Economics and Management, 11(1), 20–33.

  1. จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล บัลแกเรีย ชิลี จีน โคลัมเบีย อียิปต์ ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก โมรอคโค ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ และไทย↩
วรพล ยะมะกะ
วรพล ยะมะกะ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภารวี มณีจักร
ภารวี มณีจักร
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Topics: EconometricsMacroeconomicsInternational Finance
Tags: contagion riskus economic crisisemerging countriescopula
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email