เจาะลึกพฤติกรรมการใช้ e-Payment ของคนไทย
excerpt
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment (ซีึ่งรวมถึงบัตรเครดิต/เดบิต e-Money และ internet/mobile payment) มากขึ้น เพราะมองว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มของการใช้ e-Payment จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย การใช้เงินสดก็ยังเป็นวิธีการชำระเงินที่เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในการชำระเงิน ณ จุดขาย บทความนี้ จะกล่าวถึงงานศึกษาในหลาย ๆ ประเทศที่ดูถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภค และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ e-Payment ของประเทศไทย จากข้อมูลรายธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในช่วงปี 2020–2021
ธุรกรรม e-Payment เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แต่อัตราการใช้และประเภทของ e-Payment ที่เป็นที่นิยมนั้นแตกต่างกัน
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสด (เช็ค บัตรเครดิต/เดบิต credit transfer และ e-Money) ในทุกกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มประเทศรายได้สูงมีปริมาณธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสดต่อหัวต่อปีสูงกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเกือบเท่าตัว (รูปที่ 1)
อย่างไรก็ดี ในประเทศแถบยุโรป การใช้เงินสดยังเป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุดสำหรับการทำธุรกรรม ณ จุดขาย แต่ก็มีแนวโน้มลดลง จาก 72% ในปี 2019 เหลือ 59% ในปี 2022 และมีแนวโน้มการใช้บัตรเครดิต/เดบิตเพิ่มขึ้น (European Central Bank, 2022) ในสหรัฐอเมริกา การใช้บัตรเครดิต/เดบิตเป็นวิธีชำระเงินที่นิยมมากที่สุด คิดเป็นถึง 57% ของการทำธุรกรรมทั้งหมด (Foster et al., 2022) Mobile banking และ mobile money นั้นไม่ได้เป็นวิธีชำระเงินที่นิยมมากนักในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่เป็นที่แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ในประเทศแถบแอฟริกา mobile money ซึ่งเริ่มจาก M-PESA ของ Kenya ในปี 2011 นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (ดูเพิ่มเติมใน Jack & Suri, 2011; Ahmad et al., 2020; GSMA, 2022)
การที่คนจะเลือกชำระเงินวิธีใดนั้น ย่อมขึ้นกับว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง และประโยชน์และต้นทุนของทางเลือกต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกันนั้นเป็นอย่างไร
ประโยชน์ของการใช้ e-Payment มีหลากหลาย ตั้งแต่
- สะดวก ผู้ซื้อและผู้ขายทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเตรียมเงินสดหรือเงินทอน รวมถึงทำธุรกรรม online ได้
- ประหยัด ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปถอนเงินสด หรือทำธุรกรรมที่ตู้ ATM หรือสาขา โดยเฉพาะคนที่ได้รับเงินเดือนเข้าบัญชีอยู่แล้ว
- ปลอดภัย ผู้ซื้อและผู้ขายไม่จำเป็นต้องมีเงินสดติดตัวจำนวนมาก ลดความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมหรือสูญหาย รวมถึงการทำธุรกรรมก็มีหลักฐานชัดเจน
- เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ไม่มีจุดบริการทางการเงิน
การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นจุดกระตุ้นให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะอยากหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำธุรกรรม online เป็นทางเลือกเดียวเท่านั้นในช่วงที่มีมาตรการ lockdown (Greene et al., 2021; BIS, 2021) อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสำรวจกลุ่มตัวอย่างในประเทศแถบยุโรป 5,000 คน Kotkowski & Polasik (2021) พบว่าธุรกรรม e-Payment ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่ใช้ e-Payment อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ใช้เงินสดเป็นหลัก ก็ไม่ได้หันมาใช้ e-Payment เพิ่มมากนัก
การใช้ e-Payment ยังมีต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าอุปกรณ์ ค่าบริการ internet ผู้ใช้จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารก่อน สำหรับบัตรเครดิต ผู้ขายบางรายมีการคิดค่าธรรมเนียมหรือกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการใช้บัตร Arango et al. (2015) พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในแคนาดาส่วนหนึ่งใช้เงินสดสำหรับธุรกรรมมูลค่าต่ำ เพราะผู้ขายไม่รับชำระด้วยบัตรเครดิต นอกจากนี้ การเก็บภาษีจากธุรกรรม e-Payment เช่น ใน Tanzania ก็ทำให้การใช้ e-Payment ลดลงอย่างชัดเจน (GSMA, 2022)
ส่วนต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงิน ได้แก่ ความกังวลว่าโอนแล้วเงินจะไปถึงผู้รับจริงหรือไม่ ความเสี่ยงที่ข้อมูลธุรกรรมจะรั่วไหล ความเสี่ยงเรื่องความไม่เสถียรของระบบ ต้นทุนด้านเวลาที่ต้องใช้ในการเรียนรู้เทคโนโลยีนั้น ๆ และความเสี่ยงที่จะทำธุรกรรมผิดพลาด เช่น ใส่เลขบัญชีหรือจำนวนเงินผิดพลาด นอกจากนี้ งานด้านจิตวิทยายังมองว่า perception ของผู้บริโภคต่อ e-Payment (เช่น norm ในสังคม หรือความคิดว่าผู้ขายอยากให้ชำระเงินด้วยวิธีใด) เป็นปัจจัยสำคัญ คนจำนวนหนึ่งยังมีความรู้สึกว่าการใช้เงินสดทำให้ควบคุมการใช้จ่ายได้ง่ายกว่า เพราะทราบว่ามีเงินอยู่ในกระเป๋าเท่าใด และรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดีกว่า เนื่องจากผู้ขายไม่ทราบว่าผู้ซื้อเป็นใคร ไม่มีหลักฐานทางธุรกรรมว่าไปใช้จ่ายที่ไหน อย่างไร (European Central Bank, 2022)
สำหรับผู้ขาย e-Payment นั้นมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการลงบัญชี ลดการสัมผัสเงินสด แต่ก็มีต้นทุนในการทำระบบ point of sale (PoS) หรือรับชำระด้วยบัตรเครดิต ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ผู้บริโภคตอบว่ามีประสบการณ์กับผู้ขายที่ไม่รับเงินสดเพิ่มขึ้น (Guttmann et al., 2021) ในทางกลับกัน หลักฐานทางธุรกรรมที่ชัดเจนอาจจะไม่ใช่ข้อดีสำหรับผู้ขายทุกราย ในเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดียซึ่งมีการใช้ e-Payment ค่อนข้างต่ำ Ligon et al. (2019) พบว่าทักษะและต้นทุนไม่ใช่อุปสรรค แต่ผู้ขายเลือกรับเงินสดเพราะมีทัศนคติที่ว่าลูกค้าอยากจ่ายด้วยเงินสดมากกว่า และผู้ขายเกรงว่ารัฐจะติดตามเก็บภาษีได้ง่ายขึ้นหากรับเงินแบบมีหลักฐาน
พัฒนาการระบบการชำระเงินของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน โดยการให้บริการ internet banking และ mobile banking เริ่มขึ้นในปี 2000 และ 2009 ตามลำดับ (Bank of Thailand, 2020) ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลไทยได้เริ่มแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment1 เพื่อผลักดันให้ประเทศมีระบบการชำระเงินที่ได้มาตรฐานสากล ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ขายแล้ว e-Payment ยังช่วยลดต้นทุนของการใช้เงินสดที่ประชาชนมองไม่เห็นของภาครัฐ ซึ่ง Lamsam et al. (2018) ประเมินว่าสูงถึง 4.7 หมื่นล้านบาท หรือ 0.3% ของ GDP ด้วย2 ในแผนนี้มีโครงการย่อย ๆ หลายโครงการ หนึ่งในนั้น คือ บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อมกราคม 2017 โดยเป็นการผูกติดเลขบัญชีกับเลขโทรศัพท์มือถือ เลขบัตรประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล หรือ e-Wallet ID และต่อยอดมาเป็นการผูกเลขบัญชีกับ Thai QR Code ในปลายปีเดียวกัน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ก็ได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินข้ามธนาคารผ่าน mobile/internet payment ที่วงเงินไม่เกิน 5,000 บาท ในปีนั้น และขยายวงเงินขึ้นมาตามลำดับ ทำให้การโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น และมีต้นทุนต่ำหรือไม่มีต้นทุน
โครงการย่อยอื่น ๆ ได้แก่
- การเพิ่มเครื่อง EDC (electronic data capture) เพื่อช่วยให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและร้านค้ามีอุปกรณ์รับชำระเงิน และประชาชนใช้บัตรเดบิตในการชำระเงินมากขึ้น
- การบูรณาการระบบภาษีให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการนำส่งและการคืนภาษี
- โครงการ e-Payment ภาครัฐ ซึ่งพยายามสร้างฐานข้อมูลด้านสวัสดิการ และปรับธุรกรรมต่าง ๆ ให้เป็น e-Payment เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการโอนเงินผ่านบัตร โครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ค่อย ๆ ทยอยเป็นการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ
นอกจากนี้ e-Wallet ที่ออกโดยภาครัฐ (g-Wallet) ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะโปร่งใส ลดขั้นตอน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนและร้านค้าโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาใช้ e-Payment มากขึ้น ตัวอย่างเช่น g-Wallet ของรัฐบาล ในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย ที่เริ่มพร้อมกับโครงการ ชิม ช้อป ใช้ ในปี 2019 มีเงินให้ประชาชนที่ลงทะเบียนใช้จ่าย 1,000 บาท กับร้านค้าที่ร่วมโครงการ ซึ่งร้านค้าที่เข้าร่วมจะมีแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" เพื่อเชื่อมต่อกับภาครัฐ
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 นอกจากมาตรการ lockdown และความต้องการที่จะลดการสัมผัสเงินสดจะมีส่วนกระตุ้นให้คนหันมาใช้ e-Payment มากขึ้นดังในต่างประเทศแล้ว โครงการภาครัฐของไทยที่มุ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ National e-Payment ไปในตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านเป๋าตัง (โครงการเรารักกัน เราชนะ) ผ่านบัญชีธนาคาร หรือโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยรัฐร่วมสมทบ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ก็ดำเนินการผ่านเป๋าตังและถุงเงิน เป็นต้น
ปริมาณธุรกรรม e-Payment ในแต่ละเดือนของไทยเพิ่มจาก 307 ล้านรายการในเดือนมกราคม 2017 เป็น 2.1 พันล้านรายการในเดือนธันวาคม 2021 (รูปที่ 2) โดย mobile/internet payment เป็นวิธีชำระเงินที่ได้รับความนิยมและขยายตัวสูงที่สุดในช่วงเวลาห้าปีดังกล่าว โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 29% เป็น 80% ของธุรกรรม e-Payment ทั้งหมด นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ปริมาณธุรกรรมและมูลค่าการถอนเงินสดจากเครื่อง ATM ก็มีแนวโน้มลดลง
แม้ว่าภาพดังกล่าวจะแสดงว่าธุรกรรม e-Payment ของไทยได้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด แต่เรายังไม่สามารถบอกได้ว่า การใช้ e-Payment นั้น เป็นที่แพร่หลายหรือกระจุกตัวในคนบางกลุ่ม ปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากคนกลุ่มเดิมที่ใช้งานอยู่แล้ว หรือมีคนกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามา และมาตรการกระตุ้นการใช้ e-Payment พอจะเห็นผลมากน้อยเพียงใด ในส่วนต่อไปเราจะเจาะลึกถึงประเด็นเหล่านี้ โดยใช้ข้อมูลรายธุรกรรมที่ละเอียดขึ้น
ในส่วนนี้ เราจะวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บริการ e-Payment ของบุคคลธรรมดา โดยใช้ข้อมูลรายธุรกรรมที่ได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารขนาดใหญ่ห้าแห่ง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 ถึงเดือนธันวาคม 2021 รวม 18 เดือน แม้ว่าเราจะไม่มีข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด แต่มูลค่าการทำธุรกรรม e-Payment จากธนาคารในกลุ่มนี้ คิดเป็นกว่า 80% ของธุรกรรม e-Payment ทั้งหมดทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า พฤติกรรมการทำธุรกรรมในข้อมูลชุดนี้ จึงน่าจะพอสะท้อนพฤติกรรมการใช้ e-Payment ส่วนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ข้อมูลชุดนี้ไม่รวมการโอนเงินออกจาก e-Money และการใช้บัตรเครดิตหรือเดบิต แต่ธุรกรรมเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ mobile/internet payment ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ดังแสดงในรูปที่ 2)
ในการวิเคราะห์นี้ เราจะเน้นที่ mobile/internet payment เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่องทางหลักในการใช้บริการ e-Payment นอกจากนี้ mobile/internet banking ซึ่งมีต้นทุนของผู้ให้และผู้ใช้บริการค่อนข้างต่ำ น่าจะเป็นช่องทางที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์การเข้าถึงบริการทางการเงินในอนาคตของไทย โดยสัดส่วนหมู่บ้านที่ไม่มีผู้ให้บริการทางการเงินในรัศมี 5 กิโลเมตร คิดเป็นถึง 23% (Lamsam et al., 2018) ขณะที่สัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตคิดเป็น 85% และสัดส่วนการเข้าถึง smartphone จัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก
ในภาพรวม จำนวนผู้ที่เคยทำธุรกรรมโอนหรือชำระเงินผ่าน e-Payment ในช่วงเวลา 18 เดือนดังกล่าวมีกว่า 32.5 ล้านคน โดยมีผู้ที่ใช้ mobile/internet payment อย่างน้อยหนึ่งครั้งถึง 29 ล้านคน จำนวนผู้ใช้บริการ mobile/internet payment เพิ่มขึ้นจาก 21.8 ล้านคนในเดือน ก.ค. 2020 เป็น 26.2 ล้านคนในเดือน ธ.ค. 2021 (เพิ่มขึ้น 20%) และปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นจาก 699 ล้านรายการต่อเดือน เป็น 1,393 ล้านรายการต่อเดือนในช่วงดังกล่าว (เพิ่มขึ้น 99%)
ข้อมูลละเอียดรายธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เห็นข้อเท็จจริง 5 ประการเกี่ยวกับการใช้งาน mobile/internet payment ของไทยดังต่อไปนี้
1. กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีสัดส่วนใช้ mobile/internet banking น้อยที่สุด แต่ผู้ใช้งานกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากคิดสัดส่วนของผู้ใช้บริการต่อจำนวนประชากรในกลุ่มอายุนั้น ๆ (รูปที่ 3) จะเห็นได้ว่าประชากรเกือบ ๆ 70% ของกลุ่มอายุ 20–39 ปี เข้ามาใช้บริการ mobile/internet payment อยู่แล้วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของข้อมูล และเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในช่วง 18 เดือนดังกล่าว สัดส่วนดังกล่าวลดลงไปตามอายุ โดยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีประชากรไม่ถึง 20% ที่ใช้บริการ และไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ใช้บริการอายุ 15–19 ปี มีสัดส่วนการใช้งานเพียง 11% ในเดือน ก.ค. 2020 แต่ในเดือนสุดท้ายของข้อมูล สัดส่วนของกลุ่มนี้เพิ่มเป็นถึง 32% ของประชากร นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเกือบสามเท่าตัว
แม้ว่าจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีการใช้งานทุกเดือน เมื่อแบ่งผู้ใช้บริการเป็นกลุ่ม ๆ ตามช่วงเวลาที่เห็นการทำธุรกรรมครั้งแรกในช่วง 18 เดือน (เรียกแต่ละกลุ่มว่า cohort) และคำนวณสัดส่วนของผู้ใช้บริการในเดือนถัด ๆ มาหลังจากเข้ามาใช้งานครั้งแรก (รูปที่ 4) จะเห็นได้ว่าใน cohort ที่เข้ามาใช้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2020 เป็นต้นไป (เส้นทึบ) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการในเดือนที่สองเหลือเพียง 80% โดยประมาณ และลดลงอีกเล็กน้อยในเดือนถัด ๆ มา อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า ในบางเดือน เช่น ก.ค. 2021 จำนวนผู้ใช้งานของทุก cohort เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเราจะพูดถึงอีกครั้งในข้อที่ 4
ส่วนเส้นแรกของ cohort ก.ค. 2020 นั้น ไม่ได้แสดงเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาใช้บริการช่วงเดือน ก.ค 2020 แต่รวมถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการก่อนหน้านั้น (ไม่ว่าจะเริ่มใช้นานเพียงใดแล้วก็ตาม) และใช้บริการในเดือน ก.ค. 2020 ด้วย cohort นี้จึงมีขนาดถึง 21.8 ล้านคน ขณะที่ cohort อื่น ๆ มีขนาดเพียง 4–6 แสนคนเท่านั้น และพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จึงดูต่างไป เช่น สัดส่วนคนที่ยังใช้บริการในเดือนถัด ๆ ไปไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เส้นดังกล่าวสะท้อนถึงทั้ง survival bias คือ ผู้ที่เข้ามาใช้บริการก่อนหน้านี้แต่ใช้ไม่บ่อยหรือเลิกใช้ไปก่อน ก็จะไม่ปรากฏใน cohort นี้ และ selection bias คือ คนที่มีแนวโน้มใช้บ่อย (เช่น ร้านค้าที่ใช้บริการเป็นประจำรับชำระเงินผ่าน mobile/internet payment หรือไม่ชอบถือเงินสด) มักจะเข้ามาใช้เป็นกลุ่มแรก ๆ
เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ที่เพิ่งเข้ามาใช้งานว่าใช้บริการต่อเนื่องเพียงใด เราจึงเลือก cohorts ที่เพิ่งปรากฏในข้อมูลช่วงเดือน ต.ค.–ธ.ค. 2020 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใช้งานติดต่อกันอย่างน้อยสามเดือน และเห็นข้อมูลการใช้บริการอย่างน้อยหนึ่งปี กลุ่มนี้ครอบคลุมผู้ใช้บริการจำนวน 1.4 ล้านคน ซึ่งเมื่อดูว่ามีการใช้งานทุกเดือนหรือไม่ พบว่าผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ 47% มีการใช้งานทุกเดือนหลังจากเข้ามาใช้ครั้งแรก3 (รูปที่ 5) โดยสัดส่วนของคนที่ใช้บริการทุกเดือนนั้นลดลงตามกลุ่มอายุที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนของกลุ่มที่มีการใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเดือนที่เห็นในข้อมูลแต่ไม่ใช้ทุกเดือนนั้นอยู่ที่ประมาณ 33–38% ในทุกกลุ่มอายุ
3. การใช้ e-Payment ยังกระจุกตัว ธุรกรรมกว่าครึ่งหนึ่ง เกิดจากผู้ใช้บริการ 5% เท่านั้น หลัก ๆ มาจากคนที่ใช้ทุกเดือน
เมื่อดูปริมาณธุรกรรมในแต่ละเดือนของผู้ใช้บริการ cohort เดือน ต.ค. 20204 พบว่าผู้ใช้งานที่มีจำนวนเดือนที่ใช้งานสูงก็จะมีปริมาณธุรกรรมต่อเดือนสูงตามไปด้วย (รูปที่ 6) โดยค่ามัธยฐานของกลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้งานเพียงเดือนเดียว และทุกเดือน อยู่ที่ 1 ครั้ง และ 15 ครั้งต่อเดือน ตามลำดับ
รูปที่ 6 ยังแสดงให้เห็นว่าปริมาณธุรกรรมต่อเดือนกระจุกตัวค่อนข้างมากในผู้ใช้บริการกลุ่มเล็ก ๆ จาก whisker ด้านบนที่ค่อนข้างยาว โดยเมื่อคำนวณแล้วพบว่าธุรกรรมกว่าครึ่งหนึ่งของแต่ละ cohort ที่เข้ามาใช้ใหม่ เกิดจากผู้ใช้บริการเพียง 5% เท่านั้น
นอกจากนี้ เรายังพบว่าปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยในสามเดือนแรกที่เริ่มใช้บริการเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีของการใช้บริการในอนาคต รูปที่ 7 แบ่งผู้ที่เข้ามาใช้งานในเดือน ต.ค. 2020 ตามปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยในสามเดือนแรกที่เห็นข้อมูลออกเป็นห้ากลุ่มเท่า ๆ กัน และติดตามพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ต่อไปอีกหนึ่งปี พบว่าทุกกลุ่มมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ระดับของการใช้บริการก็ยังห่างกันอย่างชัดเจน เช่น กลุ่มที่ใช้น้อยที่สุด 20% แรก มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มจาก 6 ครั้งเป็น 20 ครั้ง ส่วนกลุ่มที่ใช้เยอะที่สุด 20% สุดท้าย มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มจาก 57 เป็น 70 ครั้ง
หากดูลักษณะของผู้ที่อยู่ในแต่ละ quintile กลุ่มที่ใช้งานเยอะที่สุดส่วนมากจะเป็นกลุ่มอายุ 20–29 ปี ส่วนกลุ่มที่ใช้งานน้อยที่สุดส่วนมากจะเป็นกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งให้ภาพที่คล้ายกันกับจำนวนเดือนในการใช้งานเช่นกัน
หากดูที่ประเภทของการใช้บริการ จากข้อมูลทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านธุรกรรมในช่วง 18 เดือนดังกล่าว กว่า 70% เป็นการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา (P2P) ส่วนการโอนเข้าบัญชีอื่น ๆ (เช่น บัญชีธุรกิจ บัญชีของรัฐ) และการโอนเข้า e-Wallet คิดเป็น 24% และ 6% ตามลำดับ กระนั้นก็ตาม การโอน P2P จำนวนหนึ่ง น่าจะเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจาก SMEs ไทยจำนวนมากยังใช้บัญชีบุคคลในการรับชำระเงิน
เมื่อดูภาพรายเดือน (รูปที่ 8) ปริมาณการโอนเงิน P2P และบัญชีอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าเฉลี่ยต่อครั้งของธุรกรรมสองประเภทนี้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการใช้ e-Payment ในธุรกรรมมูลค่าต่ำ เช่น การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพิ่มมากขึ้น
การโอนสู่บัญชี e-Wallet มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการของรัฐที่เป็นประเภทร่วมจ่าย เช่น มาตรการคนละครึ่ง ช่วงเดือน พ.ย. 2020, ม.ค. 2021, และ ก.ค. 2021 ซึ่งประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จะต้องเติมเงินเข้าไปใน e-Wallet "เป๋าตัง" ของรัฐบาล โดยผู้ที่โอนเงินเข้าเป๋าตังนั้น มีทั้งกลุ่มที่เคยใช้บริการอยู่แล้ว กลุ่มที่หยุดใช้ไประยะหนึ่งและกลับมาใช้ใหม่ และกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ส่วนมูลค่าเฉลี่ยต่อธุรกรรม ซึ่งมักจะลดลงในช่วงมาตรการนั้น น่าจะเป็นเพราะการที่รัฐจำกัดมูลค่าการร่วมสมทบต่อวัน คนส่วนใหญ่จึงเติมเงินครั้งละ 150 บาท
5. กลุ่มที่ถูกกระตุ้นด้วยมาตรการภาครัฐกว่า 80% ใช้บริการ mobile/internet payment เพื่อจุดประสงค์อื่นต่อ
ข้อมูลทำให้เราเห็นว่าในเดือน ก.ค. 2021 มีผู้เข้าใช้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (รูปที่ 9) โดยจากคนใน cohort ก.ค. 2021 ประมาณ 5 แสนคนนั้น มีประมาณ 2.2 แสนคนที่มีธุรกรรมโอนเข้าสู่ e-Wallet ในเดือนแรก (เทียบกับคนที่มีธุรกรรมโอนเข้า e-Wallet ในเดือนแรกเฉลี่ยเพียง 1.2 หมื่นคนในสาม cohorts ก่อนหน้า) ในจำนวนนี้ กว่า 1.5 แสนคนมีธุรกรรมโอนเข้าสู่ e-Wallet เป็นธุรกรรมแรกของเดือน ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า คนส่วนใหญ่ใน 1.5 แสนคนนี้ถูกชักจูงให้เข้ามาใช้ mobile/internet payment จากมาตรการคนละครึ่ง ที่ต้องเติมเงินเข้าเป๋าตังเพื่อที่จะใช้จ่ายได้ ทำให้ได้ทดลองและเรียนรู้การใช้งาน e-payment นั่นเอง
คำถามที่น่าสนใจคือ มาตรการภาครัฐที่กระตุ้นให้คนเข้ามาใช้ e-Payment มากขึ้นนั้น จะมีผลต่อพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้อย่างไรในระยะยาว หากคนส่วนใหญ่หันมาใช้ e-Payment มากขึ้นแม้ว่าจะไม่มีมาตรการแล้ว ก็ถือได้ว่ามาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ทั้งนี้ โครงการสำรวจการบันทึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของประชาชน (Payment Diary) พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างถึง 65% ที่บอกว่าจะกลับไปใช้เงินสดเมื่อมาตรการรัฐหมดลง และมีเพียง 36% ที่บอกว่าจะใช้บริการ mobile/internet payment ต่อ (Bank of Thailand, 2022)
แม้ว่าเราจะเห็นข้อมูลของคนกลุ่มนี้เพียง 6 เดือนหลังจากเริ่มใช้เท่านั้น แต่ข้อมูลก็ทำให้เห็นว่ามีคนกลุ่มที่ถูกชักจูงให้เข้ามาใช้ e-Payment ผ่านมาตรการรัฐที่ใช้ mobile/internet payment โอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่ใช่ e-Wallet ทุกเดือนประมาณ 5.7 หมื่นคน (38%) และโอนอย่างน้อย 4 เดือนใน 6 เดือนที่เห็นข้อมูลประมาณ 8.7 หมื่นคน (58%) ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มที่จะยังคงใช้ mobile/internet payment ต่อไปแม้ว่ามาตรการรัฐจะหมดลงแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมในเดือนต่อ ๆ มาของคนที่มีธุรกรรมแรกเป็นการโอนสู่ e-Wallet กับคนที่โอนเข้าบัญชีประเภทอื่นในตารางที่ 1 ทำให้เห็นว่าคนสองกลุ่มนี้มีลักษณะต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปริมาณธุรกรรมต่อเดือนและมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่เข้ามาเอง
ธุรกรรมแรกไม่เป็น e-Wallet | ธุรกรรมแรกเป็น e-Wallet | |
จำนวนผู้ใช้บริการ | 366,842 | 149,468 |
ปริมาณธุรกรรมต่อคนต่อเดือน | 24.75 | 11.15 |
มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย | 1,999.04 | 1,085.56 |
ภาพดังกล่าวแสดงในเห็นในเบื้องต้นว่า มาตรการภาครัฐ ดูจะประสบความสำเร็จในการชักจูงคนบางกลุ่มที่ไม่เคยใช้เข้ามา อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถทราบได้ว่า หากไม่มีมาตรการคนกลุ่มนี้จะเข้ามามากน้อยเพียงใด เพราะผู้ใช้งานใหม่ส่วนหนึ่งก็เข้ามาด้วยเหตุผลอื่น และยังไม่ทราบว่า มาตรการนี้มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่หากเทียบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ e-Payment อื่น ๆ
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรม e-Payment โดยเฉพาะ mobile/internet payment เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากขึ้นแล้ว ก็น่าจะมาจากการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้สนับสนุนการใช้ e-Payment มาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงิน การลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินข้ามธนาคาร รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้ e-Wallet ของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ข้อมูลรายธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ เราพบว่า ปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นนั้นยังมีการกระจุกตัวอยู่ในผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยมีกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังน่าจะมีศักยภาพในการใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นได้ เช่น กลุ่มที่ยังไม่เคยเข้ามาทดลองใช้ e-Payment เลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปที่กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้ยังไม่เคยเข้ามาใช้งาน และกลุ่มที่มีการใช้งานบ่อยแต่ยังไม่ได้ใช้เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งกระจายอยู่ในทุกกลุ่มอายุ
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ควรศึกษาต่อไปว่า ปัจจัยใดทำให้คนบางกลุ่มยังไม่ใช้ e-Payment มากนัก
หากคนที่ไม่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้เงินสดด้วยเช่นกัน อาจจะเพราะไม่มีความจำเป็นต้องโอนหรือชำระเงิน เช่น ปกติคนอื่นในครอบครัวเป็นผู้ทำธุรกรรม หรือมีการใช้ e-Payment ในรูปแบบอื่น เช่น บัตรเครดิต/เดบิต หรือ e-Money (ซึ่งเราไม่สามารถเห็นได้ในข้อมูลชุดนี้) ภาครัฐก็อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำมาตรการเพื่อส่งเสริมให้คนมาใช้ e-Payment เพิ่มเติมมากนัก
แต่หากคนกลุ่มนี้ใช้เงินสดแทนด้วยเหตุผลบางประการ เช่น การขาดทักษะ ความกังวลเรื่องมิจฉาชีพ ต้นทุน หรือเพราะผู้ขายที่ทำธุรกรรมเป็นประจำไม่รับชำระด้วย e-Payment ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนสามารถออกมาตรการมาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้น การมีข้อมูลเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายธุรกรรมที่ยาวขึ้น ข้อมูลด้านผู้ขายว่ารับชำระเงินด้วยวิธีใดบ้าง และมีต้นทุนของการรับชำระเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ เท่าใด รวมถึงข้อมูลการสำรวจผู้บริโภค ที่สอบถามเกี่ยวกับการเลือกและทางเลือกในการชำระเงินประเภทต่าง ๆ และต้นทุนที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินของทางเลือกนั้น จะช่วยให้ภาครัฐเข้าใจการตัดสินใจของผู้ซื้อและผู้ขาย และสามารถทำนโยบายสนับสนุนการใช้ e-Payment ได้ตรงจุดมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- เป็นความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน รวมถึงภาคธุรกิจ↩
- ต้นทุนที่มองไม่เห็น เช่น ต้นทุนในการขนส่งเงินสดไปยังสาขาธนาคารและตู้ ATM ทั่วประเทศ ต้นทุนในการจัดตั้งสาขาเพื่อให้บริการฝาก-ถอนเงินสด รวมไปถึงต้นทุนในการนับคัดแยกธนบัตรที่ชำรุดเสียหายออกจากระบบ↩
- ข้อมูลของ cohort ถัด ๆ มา มีสัดส่วนของผู้ที่ใช้งานทุกเดือนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้งานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเดือนที่เห็นในข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 80% ในทุก cohort↩
- เพื่อง่ายต่อการเห็นภาพ โดยเฉพาะจำนวนเดือนที่ใช้ ที่แต่ละ cohort จะมีจำนวนเดือนที่ใช้ที่เป็นไปได้ต่างกัน เราจึงเลือกตัวอย่างมาหนึ่ง cohort เท่านั้น ผลการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนักเมื่อดูข้อมูลจาก cohort ที่เข้ามาใช้ใหม่ cohort อื่น ๆ↩