Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/6eda215c0ff9e40366d10f6cc1a07670/e9a79/cover.png
14 มิถุนายน 2566
20231686700800000

ระบบคูปองการศึกษาเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด: หลักฐานจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)

การเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาด้วยคูปองการศึกษาสามารถช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาได้
วีระชาติ กิเลนทองสัจจา ดวงชัยอยู่สุข
ระบบคูปองการศึกษาเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด: หลักฐานจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)
excerpt

หลักฐานจากการประเมินผลของคูปองการศึกษา (school voucher) ในประเทศอินเดีย โดยใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ชี้ให้เห็นว่า การได้รับคูปองการศึกษาช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาฮินดูและภาษาอังกฤษดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลในวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าโรงเรียนเอกชนที่รับคูปองการศึกษาใช้เวลาเรียนในสองวิชาแรกมากกว่า แต่เรียนวิชาคณิตศาสตร์น้อยกว่าโรงเรียนรัฐ อย่างไรก็ตาม หลักฐานจากงานวิจัยที่ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนายังมีจำนวนน้อยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ในประเทศไทยควรพิจารณาทดลองนโยบายคูปองการศึกษา และจัดให้มีการประเมินผลโดยใช้เทคนิค RCT

บทความ aBRIDGEd นี้ เป็นบทความที่ 5 ในชุดบทความ “หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT): การประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทุนมนุษย์”

สิ่งที่สำคัญและยากที่สุดในการพัฒนาการศึกษา คือ การส่งเสริมให้สถานศึกษาและครูมีแรงจูงใจในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะระบบการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ ทำให้ครูส่วนใหญ่มีสถานะเป็นข้าราชการ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ครูจะขาดแรงจูงใจในการพัฒนานักเรียน เพราะไม่ว่าจะตั้งใจสอนหรือไม่ตั้งใจสอนก็จะได้รับค่าตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน ดังที่ศาสตราจารย์มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปัญหาเกี่ยวกับเงินเดือนครูไม่ได้อยู่ที่ว่าค่าเฉลี่ยของเงินเดือนต่ำเกินไป แต่อยู่ที่ว่าครูที่มีอายุงานใกล้เคียงกันได้เงินเดือนใกล้เคียงกันมากเกินไป นั่นหมายความว่า ครูที่ดีตั้งใจพัฒนานักเรียนได้เงินเดือนต่ำเกินไป ส่วนครูที่ไม่ตั้งใจพัฒนานักเรียนได้เงินเดือนมากเกินไป” (Friedman, 1962) คำถามที่สำคัญ คือ นโยบายแบบใดจะช่วยให้ครูส่วนใหญ่มีแรงจูงใจในการพัฒนานักเรียน

การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีทางเลือกทางการศึกษา (school choice) โดยใช้คูปองการศึกษา เป็นนโยบายที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้กับสถานศึกษาและครูผ่านกลไกตลาด การดำเนินนโยบายโดยใช้คูปองการศึกษาเป็นหนึ่งแนวทางในการให้การอุดหนุนผู้เรียนผ่านด้านอุปสงค์ (demand-side financing) โดยกำหนดให้เด็กวัยเรียนแต่ละคนสามารถใช้งบประมาณต่อหัวตามที่กำหนด (รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร) เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน นโยบายนี้คาดหวังว่าการมอบอำนาจให้กับผู้ปกครองโดยตรงจะช่วยให้สถานศึกษาและครูมีแรงจูงใจในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงสุด

การเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาด้วยคูปองการศึกษาเป็นนโยบายที่ศาสตราจารย์มิลตัน ฟรีดแมน เสนอเป็นทางออกในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาเมื่อหกสิบกว่าปีที่แล้ว (Friedman, 1955; Friedman, 1962) และได้มีความพยายามที่จะใช้นโยบายนี้อย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องประเมินผลของนโยบายอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจว่านโยบายนี้สามารถแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุใด

ตัวอย่างการประเมินการใช้คูปองการศึกษาในประเทศอินเดีย

งานวิจัยของ Muralidharan & Sundararaman (2015) ประเมินโครงการเพิ่มทางเลือกด้านการศึกษาด้วยคูปองการศึกษา โดยใช้เทคนิค RCT ในประเทศกำลังพัฒนาเป็นครั้งแรก โครงการนี้ดำเนินการในรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ประเทศอินเดีย จึงเรียกโครงการนี้ว่า AP School Choice Project การทดลองครั้งนี้ครอบคลุม 4,251 ครัวเรือนที่มีเด็กนักเรียนที่กำลังจะเข้าโรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาจาก 180 ชุมชน ที่มีโรงเรียนเอกชนในพื้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีทั้งหมด 645 โรงเรียน (เฉลี่ย 3.6 โรงเรียนต่อชุมชน)

ผลการทดลองหลักพบว่า การได้รับคูปองการศึกษาเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาอังกฤษและภาษาฮินดู (Hindi) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์นั้นลดลงเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 1) ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยยังได้เก็บข้อมูลเวลาเรียนในแต่ละวิชา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการใช้เวลาสอนวิชาภาษาอังกฤษมากกว่าโรงเรียนรัฐบาล และยังสอนภาษาฮินดูซึ่งไม่มีการสอนในโรงเรียนรัฐบาล (รูปที่ 2) การเพิ่มเวลาในสองวิชานี้ส่งผลให้มีเวลาสอนวิชาคณิตศาสตร์น้อยกว่าโรงเรียนรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในผลการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์

รูปที่ 1: ขนาดของผลกระทบ (effect size) ของการได้รับคูปองการศึกษาเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ในหน่วยของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) โดยมีส่วนแถบช่วงความมั่นใจ (confidence interval bar) ที่ระดับความเชื่อมั่น 90%

ขนาดของผลกระทบ (effect size) ของการได้รับคูปองการศึกษาเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน ในหน่วยของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) โดยมีส่วนแถบช่วงความมั่นใจ (confidence interval bar) ที่ระดับความเชื่อมั่น 90%

หมายเหตุ: ดัดแปลงมาจาก Muralidharan & Sundararaman (2015)
รูปที่ 2: จำนวนชั่วโมงที่โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐใช้ในการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฮินดู และคณิตศาสตร์ ในหนึ่งปีการศึกษา โดยมีส่วนแถบช่วงความมั่นใจ (confidence interval bar) ที่ระดับความเชื่อมั่น 90%

จำนวนชั่วโมงที่โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐใช้ในการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฮินดู และคณิตศาสตร์ ในหนึ่งปีการศึกษา โดยมีส่วนแถบช่วงความมั่นใจ (confidence interval bar) ที่ระดับความเชื่อมั่น 90%

หมายเหตุ: ดัดแปลงมาจาก Muralidharan & Sundararaman (2015)

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ โรงเรียนรัฐทุกแห่งจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษา Telugu ซึ่งเป็นภาษีถิ่นของรัฐนั้น ในขณะที่กว่าครึ่งของโรงเรียนเอกชนจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ นักวิจัยจึงได้ศึกษาบทบาทของภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มีผลต่อประสิทธิผลของคูปองการศึกษา ซึ่งพบว่า นักเรียนที่ได้รับคูปองการศึกษาและเลือกเรียนในโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษา Telugu มีผลการทดสอบทุกวิชารวมกันดีกว่ากรณีที่ยังเรียนในโรงเรียนรัฐถึง 0.53 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ส่วนผู้ที่เลือกเรียนโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษมีผลการทดสอบที่ดีขึ้นเพียงในวิชาภาษาอังกฤษและภาษาฮินดู (Hindi) เท่านั้น ข้อค้นพบส่วนนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้มีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ การเรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษอาจจะมีประโยชน์สูงมากสำหรับนักเรียนที่มีความพร้อม แต่สำหรับนักเรียนยากจนที่ไม่มีพื้นฐานเลย การเรียนรูปแบบดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในทุกๆ วิชา สามารถศึกษาบทบาทของภาษาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ต่อผลการเรียนเพิ่มเติมใน Abadzi (2006)

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับต้นทุนของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ต้นทุนต่อหัวของโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการน้อยกว่าร้อยละ 30 ของต้นทุนต่อหัวของโรงเรียนรัฐในพื้นที่เดียวกัน และต้นทุนต่อหัวของคูปองการศึกษาที่ใช้ก็มีมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 40 นักวิจัยจึงสรุปในภาพรวมว่า โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพในการพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนมากกว่าโรงเรียนรัฐ เพราะใช้งบประมาณที่น้อยกว่า ถึงแม้ว่าจะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นในบางวิชาเท่านั้น

ผลลัพธ์ของการใช้คูปองการศึกษาอาจขึ้นอยู่กับคุณภาพของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

การที่คูปองการศึกษายังไม่สามารถเพิ่มทักษะด้านคณิตศาสตร์ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินการในประเทศพัฒนาที่พบว่า คูปองการศึกษาให้ผลที่เป็นบวกหรืออย่างแย่ก็ไม่ส่งผลลัพธ์เสียกับผลการเรียนของผู้ที่ได้รับคูปอง แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่พบว่า นโยบายคูปองการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะส่งผลเสียต่อผลการทดสอบของนักเรียนได้ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Mills & Wolf (2017) ที่ประเมินโครงการเพิ่มทางเลือกด้านการศึกษาด้วยคูปองการศึกษาแก่เด็กยากจนเพื่อเรียนในโรงเรียนเอกชน ในรัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า The Louisiana Scholarship Program (LSP) ซึ่งดำเนินการในช่วงปี ค.ศ. 2011–2014 ผลการประเมินพบว่า การได้รับคูปองการศึกษาสามารถส่งผลเสียต่อผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญและยังส่งผลเสียเล็กน้อยกับผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาอังกฤษแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในทำนองเดียวกัน งานวิจัยของ Abdulkadiroğlu et al. (2018) ที่ศึกษาโครงการ The Louisiana Scholarship Program (LSP) เช่นเดียวกัน พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่สำคัญ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุของการลดลงของผลสัมฤทธิ์ ซึ่งพบว่า น่าจะเป็นผลมาจากการที่โรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมโครงการอาจจะเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ดีนัก

ประโยชน์เชิงสวัสดิการของคูปองการศึกษา

นอกจากการประเมินผลของคูปองการศึกษาโดยพิจารณาจากผลการทดสอบของผู้เรียนแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พยายามประเมินผลประโยชน์เชิงสวัสดิการ (welfare benefit) ที่ผู้ปกครองได้รับจากการที่มีทางเลือกทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Arcidiacono et al. (2021) ซึ่งประเมินผลประโยชน์เชิงสวัสดิการโดยใช้ข้อมูลที่มาจากการทดลองคูปองการศึกษาภายใต้โครงการ AP School Choice Project และพบว่า ผู้ปกครองได้รับผลประโยชน์เชิงสวัสดิการจากคูปองการศึกษามากกว่าต้นทุนของโครงการเฉลี่ยประมาณ 4,070 รูปี ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามเศรษฐฐานะ พบว่า ครัวเรือนยากจนและมีข้อจำกัดทางการเงิน จะได้รับประโยชน์เชิงสวัสดิการจากคูปองการศึกษามากกว่าต้นทุนของโครงการเฉลี่ยประมาณ 17,220 รูปี ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีข้อจำกัดทางการเงินได้รับประโยชน์เชิงสวัสดิการจากคูปองการศึกษาน้อยต้นทุนของโครงการเฉลี่ยประมาณ 420 รูปี กล่าวคือ คูปองการศึกษาน่าจะมีประโยชน์กับครัวเรือนยากจนและมีข้อจำกัดทางการเงินมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง จึงมีโอกาสที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนา

ข้อสรุปและ/หรือนัยสำคัญเชิงนโยบาย

งานวิจัยของ Muralidharan & Sundararaman (2015) เป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์โดยใช้เทคนิค RCT ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพในการพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนมากกว่าโรงเรียนรัฐ เพราะใช้งบประมาณที่น้อยกว่า ถึงแม้ว่าจะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นในบางวิชาเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยของ Arcidiacono et al. (2021) ยังบ่งชี้ว่า คูปองการศึกษาน่าจะมีประโยชน์กับครัวเรือนยากจนและมีข้อจำกัดทางการเงินมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง จึงมีโอกาสที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลนโยบายคูปองการศึกษาที่ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนายังมีจำนวนน้อยมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ในประเทศไทยควรพิจารณาทดลองนโยบายคูปองการศึกษา และจัดให้มีการประเมินผลโดยใช้เทคนิค RCT

เอกสารอ้างอิง

Abadzi, H. (2006). Efficient learning for the poor: Insights from the frontier of cognitive neuroscience. World Bank Publications.
Abdulkadiroğlu, A., Pathak, P. A., & Walters, C. R. (2018). Free to choose: Can school choice reduce student achievement? American Economic Journal: Applied Economics, 10(1), 175–206.
Arcidiacono, P., Muralidharan, K., Shim, E., & Singleton, J. D. (2021). Experimentally validating welfare evaluation of school vouchers: Part i. National Bureau of Economic Research.
Friedman, M. (1955). The role of government in education. Economics and the Public Interest, 2(2), 85–107.
Friedman, M. (1962). Capitalism and freedom. University of Chicago press.
Mills, J. N., & Wolf, P. J. (2017). Vouchers in the bayou: The effects of the Louisiana Scholarship Program on student achievement after 2 years. Educational Evaluation and Policy Analysis, 39(3), 464–484.
Muralidharan, K., & Sundararaman, V. (2015). The aggregate effect of school choice: Evidence from a two-stage experiment in India. The Quarterly Journal of Economics, 130(3), 1011–1066.
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สัจจา ดวงชัยอยู่สุข
สัจจา ดวงชัยอยู่สุข
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Topics: Education economicsDevelopment
Tags: program evaluationschool voucherschool choice
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email