Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/3767921370774fa04b0910f4153a012d/41624/cover.jpg
23 มิถุนายน 2566
20231687478400000

ทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่กับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19

เส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองในประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่าสูงมากในช่วงเวลาวิกฤต ส่งผลให้บริษัทที่มีเส้นสายได้รับการสนับสนุนทางการเงินและช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้
บดินทร์ บดีรัฐ
ทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่กับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19
excerpt

บทความนี้สังเคราะห์ประเด็นสำคัญจากงานวิจัย Inherited Corporate Control, Inequality and the COVID Crisis (Bordeerath, 2023) ของผู้เขียน ซึ่งพบว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 23.6% ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศรายได้ต่ำหรือกำลังพัฒนายิ่งทวีคูณขึ้นอีกเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพย์สินของทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศรายได้ต่ำที่เติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 43.7% ทั้งนี้ ในประเทศกำลังพัฒนา เส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองมีมูลค่าสูงมากในช่วงเวลาวิกฤต ส่งผลให้บริษัทที่มีเส้นสายได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่ช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตสามารถปรับลดลงได้หากระบบการเงินมีความเข้มแข็งและเข้าถึงได้ โดยจะช่วยพยุงให้ธุรกิจที่ไม่มีเส้นสายยังคงอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด

หลายประเทศทั่วโลกทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ธุรกิจเอกชนอยู่ในการครอบครองของครอบครัวมหาเศรษฐีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ครอบครัว Morck et al. (2005) ได้สรุปงานวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ครอบครัวนักธุรกิจที่มั่งคั่งเหล่านี้ควบคุมกิจการของบริษัทมหาชนกว่า 30% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ในประเทศไทย ครอบครัวนักธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 10 ครอบครัวควบคุมกิจการมหาชนถึงกว่า 38% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด (Bordeerath, 2023 โดยใช้ข้อมูลจากปลายปี 2019) ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางธุรกิจดังกล่าว อาจจะเป็นผลดี หรือผลเสียกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมก็ได้ เป็นต้นว่า หากครอบครัวนักธุรกิจเหล่านี้สามารถจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่ในการกำกับของตนได้ดีกว่านักธุรกิจรายเล็กหรือผู้ประกอบการของบริษัทที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางธุรกิจนี้ก็อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้ ในทางตรงกันข้าม หากครอบครัวนักธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถการจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ดีพอ และมีแรงจูงใจที่จะรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจของตนเองไว้ ครอบครัวมหาเศรษฐีเหล่านี้อาจจะใช้เส้นสายทางธุรกิจหรือการเมืองสร้างกฎระเบียบทางธุรกิจที่อาจกีดขวางไม่ให้เกิดการแข่งขันในอนาคตได้ และจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ในที่สุด

คำถามสำคัญคือ ครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และครอบครัวมหาเศรษฐีแบบไหนที่ “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลเสีย? Schumpeter (1942) ได้นิยามทฤษฎีการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) ไว้ โดยสรุปได้ว่า นักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์จะลงทุนในนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของตนเอง (ลองนึกถึงบริษัท Apple ของ Steve Jobs ที่ลงทุนสร้าง iPhone) เมื่อนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ประสบความสำเร็จ จะมาแทนที่หรือทำลายล้างนวัตกรรมเก่า ๆ ที่ให้ผลิตภาพ (productivity) ต่ำกว่า (นึกถึงมูลค่าของบริษัท Blackberry ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจาก iPhone เข้าสู่ตลาด) เศรษฐกิจโดยรวมจึงมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นและเติบโตได้เร็วขึ้น ทฤษฎีการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์จึงชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นแรก หรือ ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จนั้น “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มบริษัทของมหาเศรษฐีเหล่านี้มีอายุมากขึ้น มหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นแรกมักจะส่งต่อบริษัทของตนให้แก่ทายาทหรือคนในครอบครัว โดยทายาทกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้อาจจะไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ดีเท่ากับพ่อแม่ของตน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งต่อความสามารถทางธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกนั้นทำได้ยาก โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ เช่น Bennedsen et al. (2007) ที่แสดงให้เห็นว่า หลังจากที่ผู้ก่อตั้งบริษัทแต่งตั้งให้ให้ทายาทหรือคนในครอบครัวเป็นประธานกรรมการบริหาร (CEO) แล้ว ผลกำไรของบริษัทกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกรณีที่ผู้ก่อตั้งบริษัทแต่งตั้งให้นักบริหารมืออาชีพที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัวมาเป็น CEO

แม้ว่าการส่งต่อความสามารถทางธุรกิจผ่านทางสายเลือดจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่การส่งต่อเส้นสาย (connections) ทางธุรกิจหรือการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่ามาก Rajan & Zingales (2004) ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะทายาทมหาเศรษฐีเติบโตมาในครอบครัวที่รายล้อมด้วยมหาเศรษฐีหรือนักการเมืองคนสำคัญด้วยกัน ทายาทมหาเศรษฐีเหล่านี้จึงมีเส้นสายที่แข็งแกร่งกว่านักธุรกิจทั่วไป การที่ทายาทมหาเศรษฐีมีความสามารถทางธุรกิจต่ำ (โดยเฉลี่ย) แต่มีเส้นสายแข็งแกร่งนั้น ทำให้พวกเขาเหล่านี้ “มีแนวโน้ม” ที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดโดยการใช้เส้นสายมากกว่าการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น หากกลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ ที่ควบคุมโดยทายาทมหาเศรษฐี มีการใช้เส้นสายในการทำธุรกิจมากกว่าการลงทุนในนวัตกรรม เศรษฐกิจของประเทศก็จะเต็มไปด้วยนวัตกรรมเก่า ๆ ที่มาจากมหาเศรษฐีนักธุรกิจรุ่นเก่า ซึ่งต่อไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมมีผลิตภาพต่ำ เจริญเติบโตได้ช้า และติดกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด ข้อถกเถียงเหล่านี้บ่งชี้ว่า ครอบครัวมหาเศรษฐีรุ่นทายาทนั้น “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

Morck et al. (2000) ได้รายงานหลักฐานเชิงสถิติที่สนับสนุนทฤษฎีข้างต้น โดยพบว่า ประเทศที่มีทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งในมูลค่ามากเมื่อเทียบกับ GDP จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทในมูลค่ามากเมื่อเทียบกับ GDP จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ การค้นพบหลักฐานทางสถิตินี้ไม่เพียงสนับสนุนทฤษฎีการทำลายอย่างสร้างสรรค์ของ Joseph Schumpeter เท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าความเหลื่อมล้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากการลงทุนในนวัตกรรม ซึ่งมักจะเกิดจากการสร้างสรรค์โดยรุ่นก่อตั้ง จะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และความเหลื่อมล้ำที่มาจากการสืบทอดอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมักเป็นการส่งต่อเส้นสาย “มีแนวโน้ม” ที่จะส่งผลในทางตรงกันข้ามต่อเศรษฐกิจ

ความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง vs ความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาท

ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความหลากหลายของความเหลื่อมล้ำนี้โดยพยายามวัดความเหลื่อมล้ำจากอัตราการเติบโต (growth) ของทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐี เทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของมหาเศรษฐีนั้น ด้วยหลักการที่ว่า หากทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีเติบโตได้เร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำในประเทศนั้นควรจะเพิ่มขึ้นด้วย และสามารถแยกความเหลื่อมล้ำออกได้เป็นสองแบบ ได้แก่

  1. ความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง (Founder Billionaires) ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
  2. ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาท (Heir Billionaires) ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูลมูลค่าทรัพย์สินที่มหาเศรษฐีทั่วโลกครอบครองจาก Forbes’ lists of billionaires ของนิตยสาร Forbes และข้อมูลอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกจาก Datastream Total Market Indices โดยครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วจำนวน 60 ประเทศทั่วโลก

การเลือกเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำ

บางท่านอาจมองว่า การเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมที่สุด เนื่องจากอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเป็นตัวแทนของอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งของบุคคลธรรมดาทั่วไปได้ ผู้เขียนจึงวัดอัตราการเติบโตของความมั่งคั่งของบุคคลทั่วไปด้วยการใช้อัตราการเติบโตของ GDP และ อัตราการเติบโตของ GDP ต่อจำนวนประชากร (per capita) ด้วย โดยพบว่า ผลการศึกษาที่ได้จากเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำทางเลือกสองแบบดังกล่าวไม่แตกต่างจากเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำแบบเดิมที่เทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยชิ้นเต็มของผู้เขียน (Bordeerath, 2023)

ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด 19

ด้วยเครื่องชี้ความเหลื่อมล้ำที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนสามารถตอบสองคำถามหลักในงานวิจัยนี้ได้ อันได้แก่

  1. ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 และ
  2. หากความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริง ความเหลื่อมล้ำแบบไหนที่เพิ่มขึ้น (ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง หรือ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาท) และการเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นในประเทศที่มีลักษณะอย่างไร

ผลที่ได้สอดคล้องกับข่าวสารที่เราได้ยินกันในช่วงวิกฤตโควิด กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจที่มีทรัพยากรในกำกับมากสามารถรักษาธุรกิจของตนไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลหรือนักธุรกิจธรรมดาทั่วไปกลับได้รับผลกระทบที่รุนแรงจนบางแห่งสูญเสียธุรกิจของตนไป โดยงานวิจัยนี้มีหลักฐานทางสถิติที่บ่งบอกว่า ความเหลื่อมล้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงวิกฤตโควิด 19 (ปี 2020) เมื่อเทียบกับสามปีก่อนหน้า

รูปที่ 1: อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและรุ่นทายาท เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงสามปีก่อนเกิดและตอนเกิดวิกฤตโควิด 19

อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและรุ่นทายาท เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงสามปีก่อนเกิดและตอนเกิดวิกฤตโควิด 19

จากข้อมูลของทุกประเทศดังสรุปในรูปที่ 1 ช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้งรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งเติบโตช้ากว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 13.8% และ 8.9% ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีและนักลงทุนทั่วไปลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทนั้นยังเติบโตช้ากว่ามหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งถึง 4.8% (ดูผลการศึกษาแบบละเอียดได้ในงานวิจัยฉบับเต็มของผู้เขียน) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมาว่า มหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถทางธุรกิจต่ำกว่ามหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ในปี 2020 มหาเศรษฐีรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งมีทรัพย์สินเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 15.1% และ 17.2% ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนว่า วิกฤตโควิด 19 ส่งผลทางบวกต่ออัตราการเติบโตของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้ง 28.9% และ 26.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์

เพราะเหตุใดมูลค่าของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีทั้งรุ่นทายาทและรุ่นก่อตั้งจึงมีค่าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาวิกฤต? ตัวอย่างงานวิจัยจาก Masulis et al. (2021) ได้ศึกษากลุ่มบริษัทที่ควบคุมโดยครอบครัวนักธุรกิจในกว่า 40 ประเทศทั่วโลกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008–2009 และชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่สามารถโยกย้ายทรัพยากร เช่น เงินสด จากบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อย ไปหาบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากได้ การที่มหาเศรษฐีสามารถย้ายทรัพยากรภายในกลุ่มบริษัทในควบคุมของตนเองได้นั้น ช่วยพยุงให้กลุ่มบริษัทของตนยังอยู่ต่อไปได้แม้จะเกิดภาวะวิกฤต อีกทั้งยังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าของบริษัทได้หลังจากวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการโยกย้ายทรัพยากร ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้มหาเศรษฐีมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาข้างต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจากเดิมที่เติบโตช้ากว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง กลับมาเติบโตได้เร็วพอ ๆ กัน อะไรเป็นสิ่งที่ให้ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ผู้เขียนได้พยายามตอบคำถามนี้โดยแบ่งข้อมูลออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นข้อมูลที่มาจากประเทศรายได้ต่ำ ซึ่งมี GDP ต่อหัวประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของข้อมูลทั้งหมด และส่วนที่สองเป็นข้อมูลที่มาจากประเทศรายได้สูง ซึ่งมี GDP ต่อหัวประชากรสูงกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ยของข้อมูลทั้งหมด

ประเทศรายได้ต่ำมักมีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อผู้มีอำนาจหรือเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ Faccio et al. (2006) ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่มีเส้นสายทางการเมืองจะมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ (bailout) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าบริษัทที่ไม่มีเส้นสาย จึงเปิดโอกาสให้มหาเศรษฐีรุ่นทายาทซึ่งมีเส้นสายทั้งทางธุรกิจและการเมืองที่แข็งแกร่งใช้เส้นสายเหล่านี้ในการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจของตนได้ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศรายได้ต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในประเทศรายได้สูงในช่วงวิกฤต

รูปที่ 2: อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและรุ่นทายาท เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงสามปีก่อนเกิดและตอนเกิดวิกฤตโควิด 19 แบ่งตามระดับรายได้ของประเทศ

อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและรุ่นทายาท เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงสามปีก่อนเกิดและตอนเกิดวิกฤตโควิด 19 แบ่งตามระดับรายได้ของประเทศ

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังแสดงอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีในประเทศรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ โดยช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ดังสรุปในรูปที่ 2 ด้านซ้าย ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเติบโตช้ากว่าตลาดหลักทรัพย์ 14.3% และช้ากว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง 7.8% เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด 19 ได้ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทในประเทศรายได้ต่ำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ถึง 29.4% และเร็วกว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้ง 7.5% ดังนั้น เมื่อเทียบกับสามปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์มากถึง 43.7% ในขณะที่ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งเติบโตเร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์เพียง 28.4% ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศรายได้ต่ำ มีที่มาจากมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมหาเศรษฐีรุ่นทายาท ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นมูลค่าอันมหาศาลของเส้นสายในช่วงเวลาวิกฤตในประเทศรายได้ต่ำ

หากพิจารณาจากข้อมูลเฉพาะประเทศรายได้สูงในรูปที่ 2 ด้านขวา จะพบว่า มีความแตกต่างจากผลการศึกษาจากข้อมูลประเทศรายได้ต่ำโดยสิ้นเชิง โดยอาจอธิบายได้ว่า ในประเทศรายได้สูง กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อมูลค่าของเส้นสายนั้นมีผลน้อย มูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของมหาเศรษฐีจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการโยกย้ายจัดการทรัพยากรในกำกับของตนเสียเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนจากมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งในช่วงเวลาวิกฤตเติบโตได้เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 1) เร็วกว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาท 4.8% และ 2) เร็วกว่าตลาดหลักทรัพย์ 12.1%

ระบบการเงินที่เข้มแข็งสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ที่มาจากเส้นสายในช่วงวิกฤต

ภาวะวิกฤตที่ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศรายได้ต่ำ ไม่เพียงชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ยังสะท้อนว่า วิกฤตทำให้มูลค่าของการใช้เส้นสายทางการเมือง (political rent seeking) เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ประสบปัญหากับดักรายได้ปานกลางที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น อีกหนึ่งคำถามสำคัญในงานวิจัยชิ้นนี้คือ อะไรที่จะลดความรุนแรงของปัญหากับดักรายได้ปานกลางในช่วงวิกฤตได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ อะไรที่จะทำให้มูลค่าของการใช้เส้นสายทางการเมืองลดลงได้ในช่วงเวลาวิกฤต?

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาวิกฤตคือ เส้นสายที่ทำให้ทายาทเหล่านี้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่นำมาช่วยพยุงธุรกิจของตนให้อยู่รอดต่อไปได้ ตัวอย่างของทรัพยากร เช่น เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล สินเชื่อจากธนาคาร หรือเงินลงทุนของนักลงทุนในตลาดทุน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในงานวิจัยฉบับเต็มของผู้เขียน) ดังนั้น หากระบบการเงินในประเทศไม่เข้มแข็ง ธุรกิจที่เหลือรอดจากวิกฤตได้ จะเป็นธุรกิจที่มีทรัพยากรมหาศาลของตนเองหรือมีเส้นสายเท่านั้น แต่หากระบบการเงินในประเทศเข้มแข็ง มีกฎหมายปกป้องนักลงทุนที่มีประสิทธิภาพ นักลงทุนก็พร้อมที่จะลงทุนในบริษัทที่มีกระแสการเงินที่ดีแต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์วิกฤต ถึงแม้ว่าบริษัทนั้นจะไม่มีเส้นสายใด ๆ ก็ตาม

เหตุผลข้างต้นจึงชี้ให้เห็นว่า ระบบการเงินที่เข้มแข็งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่มาจากเส้นสายในช่วงเวลาวิกฤตได้ ผู้เขียนได้ทดสอบสมมติฐานนี้โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติที่ให้ผลกระทบของวิกฤตต่อความเหลื่อมล้ำขึ้นอยู่กับระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินด้วย กล่าวคือ ผลกระทบของวิกฤตต่อความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทสามารถเขียนได้ในรูปของ α+β⋅Inst\alpha + \beta \cdot \text{Inst}α+β⋅Inst โดย α\alphaα และ β\betaβ คือค่าคงที่ และ Inst\text{Inst}Inst คือระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินในประเทศที่มหาเศรษฐีอาศัยอยู่ ดังนั้น ถ้าหาก β\betaβ มีค่าเป็นลบ นั่นหมายความว่า ยิ่งระบบการเงินมีความเข้มแข็งขึ้นเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำจะลดลงมากเท่านั้น

ในการทดสอบสมมติฐานนี้ ผู้เขียนได้วัดระดับความเข้มแข็งของระบบการเงินจาก

  1. มูลค่าตลาดหลักทรัพย์โดยรวมต่อ GDP (MktCap/GDP)
  2. ปริมาณการซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ต่อ GDP (MktVol/GDP) และ
  3. ปริมาณสินเชื่อที่ให้กับภาคเอกชนต่อ GDP (Credit/GDP)

ซึ่งยิ่งตัววัดสามตัวนี้มีค่ามาก ระบบการเงินก็จะมีความเข้มแข็งมากตามไปด้วย

รูปที่ 3: ระดับความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทที่แปรผกผันกับระดับความเข้มแข็งของระบบการเงิน

ระดับความเหลื่อมล้ำจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทที่แปรผกผันกับระดับความเข้มแข็งของระบบการเงิน

ผลการศึกษาพบหลักฐานทางสถิติที่สอดคล้องกับสมมติฐานข้างต้น รูปที่ 3 ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีค่าเท่ากับ 0.142−0.078⋅MktCap/GDP0.142 - 0.078 \cdot \text{MktCap/GDP}0.142−0.078⋅MktCap/GDP นั่นหมายความว่า ยิ่งมูลค่าโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์เทียบกับ GDP (MktCap/GDP) เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะลดลงไปเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เขียนได้เปลี่ยนวิธีวัดระดับความเข้มแข็งของระบบการเงิน เป็นปริมาณการซื้อขายโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ต่อ GDP (MktVol/GDP) และ ปริมาณสินเชื่อที่ให้กับภาคเอกชนต่อ GDP (Credit/GDP) ตามลำดับ ผลลัพธ์ที่ได้ให้ข้อสรุปเหมือนกับกรณีมูลค่าหลักทรัพย์โดยรวมต่อ GDP นั่นคือ ยิ่งระบบการเงินมีความเข้มแข็งมากเท่าไหร่ ความเหลื่อมล้ำที่มาจากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทจะยิ่งลดลงมากเท่านั้น

บทส่งท้าย

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วิกฤตโควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นทายาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรุ่นก่อตั้งและเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ หากมหาเศรษฐีรุ่นทายาทมีแนวโน้มที่จะใช้เส้นสายในการช่วยพยุงธุรกิจของตนมากกว่าการใช้ความสามารถหรือนวัตกรรมตามที่ Rajan & Zingales (2004) ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ หลักฐานทางสถิติจากงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์วิกฤตโควิด 19 จะทำให้ประเทศที่มีรายได้ไม่สูง ยิ่งติดแน่นอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางมากขึ้นไปอีก

แน่นอนว่าการติดกับดักรายได้ปานกลางย่อมส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ผู้เขียนได้นำเสนอเครื่องมือที่จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบน้อยลงจากภาวะวิกฤต นั่นคือ การมีระบบการเงินที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น การมีหรือบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างแข็งขัน หรือการให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากศักยภาพของบริษัทมากกว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างกระแสการเงินที่ดีแต่ไม่มีเส้นสายได้รับทุนที่ช่วยพยุงให้บริษัทเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤต ส่งผลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อไปหลังจากภาวะวิกฤตในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

Bennedsen, M., Nielsen, K. M., Pérez-González, F., & Wolfenzon, D. (2007). Inside the family firm: The role of families in succession decisions and performance. The Quarterly Journal of Economics, 122(2), 647–691.
Bordeerath, B. (2023). Inherited Corporate Control, Inequality and the COVID Crisis (Discussion Paper No. 201). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Faccio, M., Masulis, R. W., & McConnell, J. J. (2006). Political connections and corporate bailouts. The Journal of Finance, 61(6), 2597–2635.
Masulis, R. W., Pham, P. K., Zein, J., & Ang, A. E. (2021). Crises as opportunities for growth: The strategic value of business group affiliation. Journal of Financial and Quantitative Analysis, 1–39.
Morck, R., Stangeland, D., & Yeung, B. (2000). Inherited wealth, corporate control, and economic growth the Canadian disease? In Concentrated corporate ownership (pp. 319–372). University of Chicago Press.
Morck, R., Wolfenzon, D., & Yeung, B. (2005). Corporate governance, economic entrenchment, and growth. Journal of Economic Literature, 43(3), 655–720.
Rajan, R. G., & Zingales, L. (2004). Saving capitalism from the capitalists: Unleashing the power of financial markets to create wealth and spread opportunity. Princeton University Press.
Schumpeter, J. A. (1942). Socialism, capitalism and democracy. Harper.
บดินทร์ บดีรัฐ
บดินทร์ บดีรัฐ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Topics: Corporate FinancePolitical EconomyFinancial Institutions
Tags: billionaireinequalitymiddle-income trapcovid crisis
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email