Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/4096eb4151027d4c2b3a18b94f19e339/41624/cover.jpg
13 กรกฎาคม 2566
20231689206400000

การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset): หลักฐานจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)

Growth mindset คือ เวทมนตร์สำหรับการปฏิรูปการศึกษา?
วีระชาติ กิเลนทองวราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset): หลักฐานจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)
excerpt

หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) โดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุป ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการจัดอบรมหรือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ควรใช้ความระมัดระวังในการนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตไปใช้ในการออกแบบนโยบาย

บทความ aBRIDGEd นี้ เป็นบทความที่ 6 ในชุดบทความ “หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT): การประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทุนมนุษย์”

หลักการด้านกรอบความคิด (mindset) ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการผลักดันให้การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) เป็นนโยบายเพื่อยกระดับผลลัพธ์ทางการศึกษาในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับรัฐ หรือระดับพื้นที่ (Rattan et al., 2015) ส่วนในประเทศไทย มีหลายหน่วยงานที่พยายามพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องทำความเข้าใจที่มาและหลักฐานจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกรอบความคิดแบบเติบโต ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นนโยบายระดับชาติ

แนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังจากที่ศาสตราจารย์ Carol Dweck นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เผยแพร่ผลงานผ่านหนังสือชื่อ "Mindset: The New Psychology of Success" ในปี 2006 ซึ่งจำแนกกรอบความคิดออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลนั้นมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้ รวมถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเท
  2. กรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลนั้นมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้

ที่สำคัญ คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีแนวโน้มที่จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด

จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ผ่านงานวิจัยของ Mueller & Dweck (1998) ที่ศึกษาผลของการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) ต่อผลการทดสอบระดับสติปัญญาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอายุระหว่าง 10–12 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) การทดลองแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงการทดสอบ (trial) 3 ช่วงและช่วงให้ข้อมูลสะท้อนกลับ 2 ช่วง โดยสลับกันระหว่างช่วงทดสอบและช่วงให้ข้อมูลสะท้อนกลับ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1

การทดลองนี้สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control praise) กลุ่มที่เน้นความพยายาม (effort praise) กลุ่มที่เน้นความสามารถ (intelligence praise) โดยภายหลังจากการทำแบบทดสอบชุดแรก กลุ่มควบคุมจะได้รับทราบผลการทดสอบเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มที่เน้นความพยายามจะได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทของเขา ในขณะที่กลุ่มที่เน้นความสามารถจะได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงความเก่งและความฉลาดของเขา หลังจากนั้นทั้งสามกลุ่มจะทำแบบทดสอบชุดที่ 2 ซึ่งมีความยากมากกว่าชุดแรก และทุกกลุ่มจะได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่บอกว่าทำได้แย่ลงและเป็นความล้มเหลว จากนั้นจึงทำแบบทดสอบชุดที่ 3

ตารางที่ 1: สถานการณ์จำลองรายบุคคลในงานวิจัยของ Mueller & Dweck (1998)
ช่วงที่กิจกรรมรายละเอียด
1Trial 1ทำแบบทดสอบชุดแรกจำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับปานกลาง)
2Feedback 1

ได้รับการสะท้อนผลคะแนนจากช่วงที่ 1 โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับรายละเอียดที่แตกต่างกันคือ

  • กลุ่มควบคุม: ได้รับทราบผลการทดสอบเพียงอย่างเดียว
  • กลุ่มที่เน้นความพยายาม: ได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทของเขา
  • กลุ่มที่เน้นความสามารถ: ได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงความเก่งและความฉลาดของเขา
3Trial 2ทำแบบทดสอบชุดที่ 2 จำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับสูง)
4Feedback 2ได้รับการสะท้อนผลคะแนนจากช่วงที่ 3 โดยบอกทุกคนเหมือนกันหมดว่า ทำได้แย่ลงและเป็นความล้มเหลว
5Trial 3ทำแบบทดสอบชุดที่ 3 จำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับปานกลาง)

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความสามารถ มีคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 3 ลดลงจากคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้ว่าข้อสอบชุดที่ 3 จะมีระดับความยากเท่ากับชุดแรกก็ตาม ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามมีคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 3 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในรูปที่ 1 ผู้วิจัยได้สรุปผลว่า ประสบการณ์การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่แตกต่างกันในช่วง Feedback 1 ส่งผลให้การตอบสนองต่อข้อมูลสะท้อนกลับเชิงลบในช่วง Feedback 2 ที่บ่งชี้ถึงความล้มเหลวแตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มที่เคยได้รับข้อมูลสะท้อนกลับแบบเน้นความสามารถ เมื่อต้องเผชิญกับความล้มเหลว (จากข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นเชิงลบ) จะมุ่งมั่นตั้งใจน้อยลง ทำให้ได้คะแนนลดน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคยได้รับข้อมูลสะท้อนกลับแบบเน้นความพยายาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความสามารถส่งผลให้เกิดกรอบความคิดแบบยึดติด และมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามที่ส่งเสริมให้มีกรอบความคิดแบบเติบโต ทำให้มีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้ รวมถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเท กรอบความคิดที่แตกต่างกันนี้ส่งผลต่อการตอบสนองต่อความล้มเหลวที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อคะแนนในการทำแบบทดสอบที่แตกต่างกันในท้ายที่สุด

รูปที่ 1: ผลคะแนนเปรียบเทียบของแบบทดสอบชุดที่ 1 (ก่อนได้รับการสะท้อนผลคะแนน) กับแบบทดสอบชุดที่ 3 (หลังได้รับการสะท้อนผลคะแนน)

ผลคะแนนเปรียบเทียบของแบบทดสอบชุดที่ 1 (ก่อนได้รับการสะท้อนผลคะแนน) กับแบบทดสอบชุดที่ 3 (หลังได้รับการสะท้อนผลคะแนน)

ที่มา: Mueller & Dweck (1998)

ผลการทดลองนี้ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ส่งผลให้มีการวิจัยที่น่าสนใจเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่พยายามค้นหาแนวทางหรือวิธีการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) ได้พัฒนาวิธีการส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตที่สามารถนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาผลการเรียนตกต่ำและการเลิกเรียนกลางคันซึ่งทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน งานวิจัยดำเนินการทดลองสุ่มในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,594 คน จาก 13 โรงเรียน โดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มทดลองได้อ่านบทความที่ระบุถึงความยืดหยุ่นของสมอง (neuroplasticity) ซึ่งสามารถพัฒนาได้ผ่านการฝึกฝนเป็นเวลา 45 นาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้อ่านบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่และการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ เป็นเวลา 45 นาทีเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยพบว่า การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมอง สามารถพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตในนักเรียนและช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะเลิกเรียนกลางคันและหลุดออกจากระบบการเรียนมีเกรดเฉลี่ยในวิชาเรียนหลักสูงขึ้นได้ (รูปที่ 2) ทั้งนี้ งานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) ได้ถูกนำไปขยายผลในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 12,490 คน จาก 65 โรงเรียน และพบว่า การอบรมดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มผลการเรียนของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้ดีพอสมควร (Yeager et al., 2019)

รูปที่ 2: ผลการเรียนเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการอบรมของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในวิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

ผลการเรียนเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการอบรมของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในวิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

ที่มา: Paunesku et al. (2015)

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Delavande et al. (2019) ที่ทำการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ จำนวนประมาณสองพันคน โดยมีรายละเอียดของเนื้อหาการอบรมของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมคล้ายคลึงกับงานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการอ่านเป็นการดูคลิปวิดีโอเป็นเวลา 10 นาทีและเพิ่มการเขียนสรุปเนื้อหาสั้น ๆ จากคลิปวิดีโอว่าความสามารถเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จำนวนทั้งสิ้น 6 ครั้งภายใน 3 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมองมีคะแนนประเมินตนเองเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มทดลองมีเกรดเฉลี่ย ทำกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) และเข้าเรียนมากกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตยังส่งผลต่อสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อีกด้วย (Perkins et al., 2021) ในขณะเดียวกัน การอบรมเพื่อพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตให้กับครูเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนับสนุนต่อกรอบความคิดแบบเติบโตและความเชื่อในกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนเกรด 6 และ 7 ในประเทศสหรัฐอเมริกา (กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน 1,996 คน และครู 50 คน) สามารถช่วยเพิ่มผลการเรียนโดยเฉลี่ยของนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำได้ถึง 0.27 เท่าของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Porter et al., 2022)

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่พบผลที่ขัดแย้งกับงานวิจัยข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Li & Bates (2019) ซึ่งนำกระบวนการวิจัยของ Mueller & Dweck (1998) ไปทดลองซ้ำกับนักเรียนในประเทศจีน จำนวน 190 คน แต่พบว่า การให้ข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามและความทุ่มเทไม่มีผลต่อระดับผลการทดสอบ (รูปที่ 3) นักวิจัยจึงสรุปไว้ว่า ความเชื่อที่ว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนความเก่งหรือความสามารถผ่านความพยายามและทุ่มเทนั้นอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวหรือความก้าวหน้าในการเรียน

รูปที่ 3: ผลคะแนนเปรียบเทียบของแบบทดสอบชุดที่ 1 (ก่อนได้รับการสะท้อนผลคะแนน) กับแบบทดสอบชุดที่ 3 (หลังได้รับการสะท้อนผลคะแนน) จากการทดลองซ้ำในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนจีน

ผลคะแนนเปรียบเทียบของแบบทดสอบชุดที่ 1 (ก่อนได้รับการสะท้อนผลคะแนน) กับแบบทดสอบชุดที่ 3 (หลังได้รับการสะท้อนผลคะแนน) จากการทดลองซ้ำในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนจีน

หมายเหตุ: รูปด้านซ้ายแสดงผลจากงานวิจัยของ Mueller & Dweck (1998) ในขณะที่รูปด้านขวาแสดงผลจากการทดลองซ้ำในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนจีนของ Li & Bates (2019)ที่มา: Li & Bates (2019)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำถามสำคัญที่ว่า ผลของการอบรมเพื่อพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด งานวิจัยของ Orosz et al. (2017) แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการอบรมเพื่อพัฒนาจะส่งผลดีต่อกรอบความคิดแบบเติบโตและผลการทดสอบระดับสติปัญญา (IQ) ในระยะสั้น แต่เมื่อติดตามผลในระยะถัดไปกลับไม่พบผลต่อผลการเรียน (GPA) ของนักเรียนแต่อย่างใด นักวิจัยจึงสรุปว่า ผลของการอบรมดังกล่าวยังไม่คงอยู่ยาวนาน และยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Sisk et al. (2018) ที่สำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 273 ชิ้น พบว่า กรอบความคิดแบบเติบโตไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้ระบุไว้ ที่สำคัญ การจัดอบรมหรือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตยังไม่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยทั่วไป แต่อาจมีผลเล็กน้อยต่อนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีผลการเรียนต่ำหรือกลุ่มนักเรียนที่ยากจน นักวิจัยจึงสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพียงพอที่สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การปฎิวัติกรอบความคิด (mindset revolution) จะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้จริง ในทำนองเดียวกัน งานวิจัยของ Burgoyne et al. (2020) ได้ย้ำเตือนว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตยังไม่ชัดเจนและอาจถูกนำไปกล่าวเกินจริง การนำแนวคิดเรื่องกรอบความคิดแบบเติบโตไปขยายผลจึงควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และที่สำคัญ ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจบทบาทของบริบทและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันต่อประสิทธิผลของการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตโดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่า การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้บริบทหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้จริงหรือไม่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ควรใช้ความระมัดระวังในการนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตไปใช้ในการออกแบบนโยบาย และที่สำคัญ ควรเริ่มจากการนำไปทดลองในบางพื้นที่พร้อมกับการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ

เอกสารอ้างอิง

Burgoyne, A. P., Hambrick, D. Z., & Macnamara, B. N. (2020). How Firm Are the Foundations of Mind-Set Theory? The Claims Appear Stronger Than the Evidence. Psychological Science, 31(3), 258–267.
Delavande, A., Del Bono, E., Holford, A., & Sen, S. (2019). Skills accumulation with malleable ability: Evidence from a growth mindset intervention. Unpublished Manuscript.
Li, Y., & Bates, T. C. (2019). You can’t change your basic ability, but you work at things, and that’s how we get hard things done: Testing the role of growth mindset on response to setbacks, educational attainment, and cognitive ability. Journal of Experimental Psychology: General, 148(9), 1640.
Mueller, C. M., & Dweck, C. S. (1998). Praise for intelligence can undermine children’s motivation and performance. Journal of Personality and Social Psychology, 75(1), 33.
Orosz, G., Péter-Szarka, S., Bőthe, B., Tóth-Király, I., & Berger, R. (2017). How not to do a mindset intervention: Learning from a mindset intervention among students with good grades. Frontiers in Psychology, 8, 311.
Paunesku, D., Walton, G. M., Romero, C., Smith, E. N., Yeager, D. S., & Dweck, C. S. (2015). Mind-set interventions are a scalable treatment for academic underachievement. Psychological Science, 26(6), 784–793.
Perkins, A. M., Bowers, G., Cassidy, J., Meiser-Stedman, R., & Pass, L. (2021). An enhanced psychological mindset intervention to promote adolescent wellbeing within educational settings: A feasibility randomized controlled trial. Journal of Clinical Psychology, 77(4), 946–967.
Porter, T., Catalán Molina, D., Cimpian, A., Roberts, S., Fredericks, A., Blackwell, L. S., & Trzesniewski, K. (2022). Growth-mindset intervention delivered by teachers boosts achievement in early adolescence. Psychological Science, 33(7), 1086–1096.
Rattan, A., Savani, K., Chugh, D., & Dweck, C. S. (2015). Leveraging mindsets to promote academic achievement: Policy recommendations. Perspectives on Psychological Science, 10(6), 721–726.
Sisk, V. F., Burgoyne, A. P., Sun, J., Butler, J. L., & Macnamara, B. N. (2018). To what extent and under which circumstances are growth mind-sets important to academic achievement? Two meta-analyses. Psychological Science, 29(4), 549–571.
Yeager, D. S., Hanselman, P., Walton, G. M., Murray, J. S., Crosnoe, R., Muller, C., Tipton, E., Schneider, B., Hulleman, C. S., Hinojosa, C. P., & others. (2019). A national experiment reveals where a growth mindset improves achievement. Nature, 573(7774), 364–369.
วีระชาติ กิเลนทอง
วีระชาติ กิเลนทอง
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
Topics: Education economicsDevelopment
Tags: program evaluationgrowth mindseteducation reform
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email