การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset): หลักฐานจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT)
excerpt
หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) โดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุป ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการจัดอบรมหรือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ควรใช้ความระมัดระวังในการนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตไปใช้ในการออกแบบนโยบาย
บทความ aBRIDGEd นี้ เป็นบทความที่ 6 ในชุดบทความ “หลักฐานเชิงประจักษ์จากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT): การประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทุนมนุษย์”
หลักการด้านกรอบความคิด (mindset) ได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการผลักดันให้การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) เป็นนโยบายเพื่อยกระดับผลลัพธ์ทางการศึกษาในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ ระดับรัฐ หรือระดับพื้นที่ (Rattan et al., 2015) ส่วนในประเทศไทย มีหลายหน่วยงานที่พยายามพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ควรจะต้องทำความเข้าใจที่มาและหลักฐานจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกรอบความคิดแบบเติบโต ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นนโยบายระดับชาติ
แนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังจากที่ศาสตราจารย์ Carol Dweck นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เผยแพร่ผลงานผ่านหนังสือชื่อ "Mindset: The New Psychology of Success" ในปี 2006 ซึ่งจำแนกกรอบความคิดออกเป็น 2 แบบ คือ
- กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลนั้นมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้ รวมถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเท
- กรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลนั้นมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้
ที่สำคัญ คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีแนวโน้มที่จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด
จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ถูกเผยแพร่ผ่านงานวิจัยของ Mueller & Dweck (1998) ที่ศึกษาผลของการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) ต่อผลการทดสอบระดับสติปัญญาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอายุระหว่าง 10–12 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) การทดลองแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงการทดสอบ (trial) 3 ช่วงและช่วงให้ข้อมูลสะท้อนกลับ 2 ช่วง โดยสลับกันระหว่างช่วงทดสอบและช่วงให้ข้อมูลสะท้อนกลับ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1
การทดลองนี้สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (control praise) กลุ่มที่เน้นความพยายาม (effort praise) กลุ่มที่เน้นความสามารถ (intelligence praise) โดยภายหลังจากการทำแบบทดสอบชุดแรก กลุ่มควบคุมจะได้รับทราบผลการทดสอบเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มที่เน้นความพยายามจะได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทของเขา ในขณะที่กลุ่มที่เน้นความสามารถจะได้รับทราบผลการทดสอบและได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นถึงความเก่งและความฉลาดของเขา หลังจากนั้นทั้งสามกลุ่มจะทำแบบทดสอบชุดที่ 2 ซึ่งมีความยากมากกว่าชุดแรก และทุกกลุ่มจะได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่บอกว่าทำได้แย่ลงและเป็นความล้มเหลว จากนั้นจึงทำแบบทดสอบชุดที่ 3
ช่วงที่ | กิจกรรม | รายละเอียด |
---|---|---|
1 | Trial 1 | ทำแบบทดสอบชุดแรกจำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับปานกลาง) |
2 | Feedback 1 | ได้รับการสะท้อนผลคะแนนจากช่วงที่ 1 โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับรายละเอียดที่แตกต่างกันคือ
|
3 | Trial 2 | ทำแบบทดสอบชุดที่ 2 จำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับสูง) |
4 | Feedback 2 | ได้รับการสะท้อนผลคะแนนจากช่วงที่ 3 โดยบอกทุกคนเหมือนกันหมดว่า ทำได้แย่ลงและเป็นความล้มเหลว |
5 | Trial 3 | ทำแบบทดสอบชุดที่ 3 จำนวน 10 ข้อ (ความยากระดับปานกลาง) |
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความสามารถ มีคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 3 ลดลงจากคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้ว่าข้อสอบชุดที่ 3 จะมีระดับความยากเท่ากับชุดแรกก็ตาม ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามมีคะแนนของแบบทดสอบชุดที่ 3 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังแสดงในรูปที่ 1 ผู้วิจัยได้สรุปผลว่า ประสบการณ์การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่แตกต่างกันในช่วง Feedback 1 ส่งผลให้การตอบสนองต่อข้อมูลสะท้อนกลับเชิงลบในช่วง Feedback 2 ที่บ่งชี้ถึงความล้มเหลวแตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มที่เคยได้รับข้อมูลสะท้อนกลับแบบเน้นความสามารถ เมื่อต้องเผชิญกับความล้มเหลว (จากข้อมูลสะท้อนกลับที่เป็นเชิงลบ) จะมุ่งมั่นตั้งใจน้อยลง ทำให้ได้คะแนนลดน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เคยได้รับข้อมูลสะท้อนกลับแบบเน้นความพยายาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความสามารถส่งผลให้เกิดกรอบความคิดแบบยึดติด และมีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ได้รับข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามที่ส่งเสริมให้มีกรอบความคิดแบบเติบโต ทำให้มีมุมมองต่อความสามารถและสติปัญญาของตนเองว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้ รวมถึงการลงมือทำอย่างตั้งใจและทุ่มเท กรอบความคิดที่แตกต่างกันนี้ส่งผลต่อการตอบสนองต่อความล้มเหลวที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อคะแนนในการทำแบบทดสอบที่แตกต่างกันในท้ายที่สุด
ผลการทดลองนี้ได้รับความสนใจจากนักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ส่งผลให้มีการวิจัยที่น่าสนใจเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่พยายามค้นหาแนวทางหรือวิธีการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) ได้พัฒนาวิธีการส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตที่สามารถนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาผลการเรียนตกต่ำและการเลิกเรียนกลางคันซึ่งทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน งานวิจัยดำเนินการทดลองสุ่มในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,594 คน จาก 13 โรงเรียน โดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มทดลองได้อ่านบทความที่ระบุถึงความยืดหยุ่นของสมอง (neuroplasticity) ซึ่งสามารถพัฒนาได้ผ่านการฝึกฝนเป็นเวลา 45 นาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้อ่านบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่และการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ เป็นเวลา 45 นาทีเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยพบว่า การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมอง สามารถพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตในนักเรียนและช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะเลิกเรียนกลางคันและหลุดออกจากระบบการเรียนมีเกรดเฉลี่ยในวิชาเรียนหลักสูงขึ้นได้ (รูปที่ 2) ทั้งนี้ งานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) ได้ถูกนำไปขยายผลในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 12,490 คน จาก 65 โรงเรียน และพบว่า การอบรมดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มผลการเรียนของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้ดีพอสมควร (Yeager et al., 2019)
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Delavande et al. (2019) ที่ทำการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ จำนวนประมาณสองพันคน โดยมีรายละเอียดของเนื้อหาการอบรมของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมคล้ายคลึงกับงานวิจัยของ Paunesku et al. (2015) แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการอ่านเป็นการดูคลิปวิดีโอเป็นเวลา 10 นาทีและเพิ่มการเขียนสรุปเนื้อหาสั้น ๆ จากคลิปวิดีโอว่าความสามารถเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ จำนวนทั้งสิ้น 6 ครั้งภายใน 3 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมองมีคะแนนประเมินตนเองเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มทดลองมีเกรดเฉลี่ย ทำกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) และเข้าเรียนมากกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตยังส่งผลต่อสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อีกด้วย (Perkins et al., 2021) ในขณะเดียวกัน การอบรมเพื่อพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตให้กับครูเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนับสนุนต่อกรอบความคิดแบบเติบโตและความเชื่อในกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนเกรด 6 และ 7 ในประเทศสหรัฐอเมริกา (กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน 1,996 คน และครู 50 คน) สามารถช่วยเพิ่มผลการเรียนโดยเฉลี่ยของนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำได้ถึง 0.27 เท่าของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Porter et al., 2022)
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่พบผลที่ขัดแย้งกับงานวิจัยข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Li & Bates (2019) ซึ่งนำกระบวนการวิจัยของ Mueller & Dweck (1998) ไปทดลองซ้ำกับนักเรียนในประเทศจีน จำนวน 190 คน แต่พบว่า การให้ข้อมูลสะท้อนกลับที่เน้นความพยายามและความทุ่มเทไม่มีผลต่อระดับผลการทดสอบ (รูปที่ 3) นักวิจัยจึงสรุปไว้ว่า ความเชื่อที่ว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนความเก่งหรือความสามารถผ่านความพยายามและทุ่มเทนั้นอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวหรือความก้าวหน้าในการเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคำถามสำคัญที่ว่า ผลของการอบรมเพื่อพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด งานวิจัยของ Orosz et al. (2017) แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการอบรมเพื่อพัฒนาจะส่งผลดีต่อกรอบความคิดแบบเติบโตและผลการทดสอบระดับสติปัญญา (IQ) ในระยะสั้น แต่เมื่อติดตามผลในระยะถัดไปกลับไม่พบผลต่อผลการเรียน (GPA) ของนักเรียนแต่อย่างใด นักวิจัยจึงสรุปว่า ผลของการอบรมดังกล่าวยังไม่คงอยู่ยาวนาน และยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ งานวิจัยของ Sisk et al. (2018) ที่สำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 273 ชิ้น พบว่า กรอบความคิดแบบเติบโตไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้ระบุไว้ ที่สำคัญ การจัดอบรมหรือการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตยังไม่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยทั่วไป แต่อาจมีผลเล็กน้อยต่อนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีผลการเรียนต่ำหรือกลุ่มนักเรียนที่ยากจน นักวิจัยจึงสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพียงพอที่สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การปฎิวัติกรอบความคิด (mindset revolution) จะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้จริง ในทำนองเดียวกัน งานวิจัยของ Burgoyne et al. (2020) ได้ย้ำเตือนว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตยังไม่ชัดเจนและอาจถูกนำไปกล่าวเกินจริง การนำแนวคิดเรื่องกรอบความคิดแบบเติบโตไปขยายผลจึงควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และที่สำคัญ ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจบทบาทของบริบทและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันต่อประสิทธิผลของการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
หลักฐานจากงานวิจัยที่ประเมินผลการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตโดยใช้การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจน ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่า การพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้บริบทหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้จริงหรือไม่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนมนุษย์ควรใช้ความระมัดระวังในการนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตไปใช้ในการออกแบบนโยบาย และที่สำคัญ ควรเริ่มจากการนำไปทดลองในบางพื้นที่พร้อมกับการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ