Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/575f4990655ca1599e03b8b018ea2c86/41624/cover.jpg
29 กันยายน 2566
20231695945600000

การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง

การตกลงเรื่อง "คุณค่า" และการให้บทบาทที่ชัดเจนต่อภาครัฐระดับท้องถิ่นจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย
วรเวศม์ สุวรรณระดา
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง
excerpt

การเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ที่ต้องคำนึงถึงการดูแลกลุ่ม “ผู้สูงวัยในปัจจุบัน” ควบคู่ไปกับการรองรับกลุ่ม “ผู้สูงวัยในอนาคต” โดยยึดหลักคิดที่มีผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลางและออกแบบบริบททางเศรษฐกิจสังคมต่าง ๆ ให้สอดรับ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุหลายระดับ เช่น การจัดทำแผนระดับชาติและกลไกบูรณาการงานผู้สูงอายุ แต่สังคมไทยยังมีความเห็นที่ไม่ลงตัวในการให้ “คุณค่า” ต่อแนวคิดต่าง ๆ เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานหรือการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่ง “คุณค่า” นี้เองที่เป็นหัวใจในการกำหนดทิศทางของนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นอกจากนี้ ไทยยังมีความไม่ชัดเจนในบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแนวทางการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพของไทย ความท้าทายเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามเพื่อนำพาผู้สูงวัยไทยไปสู่เป้าหมายคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

สถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันและอนาคต

จากข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฎร์เมื่อสิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของประชากรทั้งหมด กล่าวได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์ (aged society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันผลการคาดประมาณประชากรไปอีก 15 ปีชี้ว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมที่เรียกกันว่า super-aged society (สังคมสูงวัยระดับสุดยอด) โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมีลักษณะและชีวิตความเป็นอยู่ในมิติต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

ภาพรวมที่สำคัญจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 2564 (รูปที่ 1) พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60–69 ปี) ขณะที่ผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยผู้สูงอายุไทยยังคงมีความกระตือรือร้นและทำกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ อยู่ สะท้อนจากการประเมินสุขภาพ การติดสังคม สัดส่วนคนทำงาน และการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เป็นต้น ในด้านหลักประกันด้านรายได้ มีผู้สูงอายุมากกว่าหนึ่งในสามที่มีแหล่งรายได้หลักจากบุตรหรือจากคู่สมรส หนึ่งในห้าต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหลัก ขณะที่แหล่งรายได้จากเงินออมและบำเหน็จบำนาญมีสัดส่วนน้อย นอกจากนี้ เห็นได้ว่ามีข้อควรระวังด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลายด้าน คือ สถานการณ์การอยู่ลำพัง การอาศัยอยู่ในบ้านหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และ ผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในสภาพติดเตียง เป็นต้น

รูปที่ 1: สรุปสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย 2564
อายุ
มิติ
หมายเหตุ: บ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมหมายถึงบ้านที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ บันไดบ้านมีราวให้ยึดเกาะ ห้องน้ำ/ห้องส้วมมีราวให้ยึดเกาะ ห้องนอนอยู่ชั้นล่างหรือเป็นบ้านชั้นเดี่ยว ห้องน้ำ/ห้องส้วมอยู่ภายในบ้าน และมีส้วมแบบนั่งห้อยเท้า (อ้างอิงจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

ในอนาคตผู้สูงอายุจะมีลักษณะแตกต่างไปจากผู้สูงอายุในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร

การศึกษาของ Suwanrada et al. (2022) ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะบางประการของผู้สูงอายุในอนาคตที่พอจะคาดการณ์ได้จากข้อมูลสถิติในปัจจุบัน

ในภาพรวม เมื่อนำข้อมูลประชากรสูงอายุในปี 2563 และในปี 2583 (ซึ่งเป็นปีที่ประชากรรุ่นเกิดล้าน1เข้าสู่วัยชรา) มาเปรียบเทียบกัน พบว่าในปี 2583 จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เป็นผู้สูงวัยปลาย เพศหญิง จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป ครองโสดถาวร และไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ในกล่มผู้สูงอายุที่มีบุตรก็จะมีจำนวนบุตรที่มีชีวิตโดยเฉลี่ยลดลง นอกจากผู้สูงอายุในอนาคตจะมีแนวโน้มอายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ลักษณะการอยู่อาศัยและการมีบุตรเป็นหลักประกันมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างชัดเจน

ในภาพย่อย พบว่าประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะที่มีความเปราะบาง ทั้งด้านสุขภาพตามความเสื่อมถอยของอายุและด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย ผู้สูงอายุพิการและทุพพลภาพ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม
  2. ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง
  3. ผู้สูงอายุไร้บ้าน
  4. ผู้สูงอายุยากจนและจำเป็นต้องได้รับบริการดูแลผู้สูงอายุในสถาบันของรัฐ
  5. ผู้สูงอายุในกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะบุคคล
  6. ผู้สูงอายุ (และผู้ใกล้สูงอายุ) ที่ย้ายถิ่นย้อนกลับ
  7. ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ

ประชากรสูงอายุกลุ่มเฉพาะเหล่านี้จะต้องเผชิญความท้าทายอย่างน้อย 2 ประการ คือ

  1. ปัญหาพื้นฐานเช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั่วไป คือ ภาวะพึ่งพิงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุในกลุ่ม 80 ปีขึ้นไป ขณะที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอยู่อาศัยภายในครัวเรือนทำให้ขาดผู้ดูแลหลักหรือไม่มีผู้ดูแลผู้สูงอายุในอนาคต และ
  2. ความซับซ้อนของปัญหาผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะ เช่น ปัญหาสุขภาพที่อาจรุนแรงกว่าประชากรทั่วไป และเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาหรือถูกเลือกปฏิบัติ

การเตรียมการรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทยที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนภาคส่วนอื่นเพื่อเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

การเตรียมความพร้อมภาครัฐในระดับชาติ

หลังจากมีการปรับปรุงแนวทางการจัดทำแผนระดับชาติใหม่โดยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นแกนหลักในปี 2561 งานผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ถูกกระจายตัวในแผนระดับชาติที่ถูกแบ่งออกเป็นสามระดับ คือ

  • ระดับที่ 1: ยุทธศาสตร์ชาติ
  • ระดับที่ 2: แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565–2569
  • ระดับที่ 3: แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566–2580) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570)

นอกจากนี้งานผู้สูงอายุบางส่วนจะถูกผนวกไว้ในแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565–2580) ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเกิดแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแนวทางที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น

  • ข้อเสนอวาระปฏิรูปที่ 30: การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
  • มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุตามที่กระทรวงการคลังเสนอ2
  • สังคมสูงอายุ 6 Sustainable 4 Change และ
  • มาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน3

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ได้ริเริ่มการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการภายใต้ “แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” โดยมีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบแผนงานบูรณาการ

มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับชาติสามารถแบ่งได้เป็นมิติเศรษฐกิจ มิติสุขภาพ มิติสังคม หรือมิติสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย ดังสรุปในตารางที่ 1 เห็นได้ว่ามาตรการในบางมิติมีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น ประชากรสูงวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 มีหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือบำนาญข้าราชการ และความครอบคลุมสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาพรวมของประเทศสูงถึงร้อยละ 99.57 อย่างไรก็ดี มาตรการในอีกหลายมิติยังต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น สัดส่วนประชากรผู้มีบำนาญและ/หรือการออมเพื่อยามชราภาพยังมีเพียงแค่ 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงาน ขณะที่การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญยังเป็นไปด้วยความล่าช้า

ตารางที่ 1: สรุปมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมิติต่างๆ
มิติความครอบคลุมมาตรการ
เศรษฐกิจทั่วไป
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  • มาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ
  • มาตรการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ
เศรษฐานะ
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
คุณลักษณะอื่น
  • บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการท้องถิ่น
  • ประกันสงคม (ม.33, ม.39, ม.40)
  • กองทุนการออมแห่งชาติ
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
สุขภาพทั่วไป
  • ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ภายใต้ 3 ระบบหลัก)
  • หลักสูตรฝึกอบรม Care manager และ Caregiver หลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ
  • หลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
  • การควบคุมดูแลกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง
  • มาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุ
คุณลักษณะอื่น
  • ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบบูรณาการในพื้นที่
  • การเพิ่มสิทธิของผู้สูงอายุในการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง
  • การกำหนดบทบาท อปท. ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
  • อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น
สังคมทั่วไป
  • ธนาคารเวลา
  • ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)
  • โรงเรียนผู้สูงอายุ
  • การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ
คุณลักษณะอื่น
  • การจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • การดูแลผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (รัฐ) และสถานสงเคราะห์ (ถ่ายโอน อปท)
  • มาตรการสนับสนุนการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี
สภาพแวดล้อมทั่วไป
  • ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex)
เศรษฐานะ
  • มาตรการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ
  • มาตรการซ่อมแซมและสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ
หมายเหตุ: สรุปและปรับปรุงจากรูปที่ 4.2 ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ Suwanrada et al. (2022)

การเตรียมความพร้อมภาครัฐในระดับพื้นที่

การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาประกอบด้วย การเกิดขึ้นของกลไกศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และโรงเรียนผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ การรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในรูปแบบชมรมผู้สูงอายุและการทำกิจกรรมทางสังคม การเกิดขึ้นของระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแบบบูรณาการในพื้นที่ภายใต้การบูรณาการการทำงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการส่วนกลาง และชุมชน และที่จะต้องเน้นย้ำ คือบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ4

การเตรียมความพร้อมผ่านภาคส่วนอื่น

นอกจากการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว รัฐบาลไทยมีมาตรการหนุนเสริมภาคส่วนอื่นให้มีส่วนร่วมในการสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัย โดยประกอบไปด้วย

  1. มาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ หรือการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ
  2. มาตรการให้เงินสนับสนุน เช่น การอุดหนุนภาคประชาสังคมเพื่อทำกิจกรรม หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการให้เงินอุดหนุนกับชมรมผู้สูงอายุ ชุมชน และองค์กรในระดับพื้นที่ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนในภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น
  3. มาตรการเชิงบังคับ/กฎหมาย เช่น การควบคุมดูแลกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง และมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง

ในส่วนของภาคเอกชนเองก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

  • ในภาคธุรกิจ มีตลาดสินค้าและบริการรวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ บริการรถรับจ้างสาธารณะเพื่อรับส่งผู้สูงอายุ บริการเช่าซื้ออุปกรณ์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
  • ในภาคตลาดการเงิน มีการออกผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ และประกันบำนาญ
  • ในภาคตลาดแรงงาน มีการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
  • ในภาคประชาสังคม มีชมรมผู้สูงอายุ และชุมชนมีบทบาทส่งเสริมให้มีกิจกรรมสังคมช่วยเหลือสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
  • ในภาคสื่อมวลชน มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมสูงวัยและผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้สูงอายุเองและครอบครัว รวมถึงประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น

การมุ่งสู่เป้าหมาย “การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง”

การพาผู้สูงวัยไทยไปสู่เป้าหมายคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงกลุ่ม “ผู้สูงอายุในปัจจุบัน” ไปพร้อมกับการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่ม “ผู้สูงอายุในอนาคต” ในปัจจุบันนั้น การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุบางเรื่องยังมีความก้าวหน้าไม่มากนัก ผู้เขียนจะขอสรุปประเด็นท้าทายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยแบ่งออกเป็น 5 ประการ

1. การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุของสังคมไทยโดยรวมกำลังมุ่งสู่เป้าหมาย “การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง” อยู่หรือไม่?

นโยบายที่เน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง คือนโยบายที่ประสานกันอย่างมีเอกภาพและไม่ทับซ้อนเพื่อบรรลุนิยามของคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ ซึ่งหากพิจารณาตามแผนระดับชาติของไทย5 พอจะกล่าวได้ว่าภาพของผู้สูงอายุที่สังคมไทยอยากเห็นมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม และผู้สูงอายุมีความคุ้มครองทางสังคมเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิต รวมถึงสังคมควรจะต้องใช้พลังของผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับแนวคิดคุณภาพชีวิตยามสูงวัยที่ดีอื่น ๆ6

“การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง” อาจจะต้องเพิ่มเติมการพิจารณาเชื่อมโยงกับ “มิติพื้นที่” เพื่อให้เห็นว่า “ภาพผู้สูงอายุที่อยากจะเห็น” จะสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่ได้อย่างไร คำถามเชิงนโยบายน่าจะต้องเปลี่ยนไปจาก “จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคมได้อย่างไร” เป็น “จะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนที่อาศัยในถิ่นที่อยู่ใด ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคมได้อย่างไร” การผนวกแนวคิด “มิติพื้นที่” เข้ามาในเป้าหมายจะสร้างสถานการณ์บังคับให้เกิดการสร้างความเชื่อมโยงหรือการบูรณาการระหว่างการขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่กับการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ และยึดโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาโดยมีผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง แนวคิดทางวิชาการที่มีความใกล้เคียงกับแนวทางลักษณะนี้คือ แนวคิด “ageing in place” หรือการสูงวัยในถิ่นเดิม ผู้สูงอายุลำพังหรือผู้สูงอายุกับครอบครัวจะสามารถใช้ชีวิตยามบั้นปลายในพื้นที่ ถิ่นที่อยู่ หรือชุมชนที่ตนเองคุ้นเคยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

รูปที่ 2: ภาพของคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง

ภาพของคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง

ที่มา: รูปที่ 2.2 ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ Suwanrada et al. (2022)

Suwanrada et al. (2022) ได้นำเสนอการตั้งเป้าหมาย “การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง” บนหลักคิด ageing in place มาผนวกกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุตามแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ 3 องค์ประกอบ อันได้แก่ ผู้สูงอายุกับการพัฒนา การสูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม ซึ่งได้ฝังแนวคิด healthy ageing, active ageing, productive ageing ไว้ในตัวด้วยดังรูปที่ 2 และหากพิจารณาว่าองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตที่ดีจะเกิดขึ้นจากบทบาทหน้าที่ของใคร ภาครัฐหรือภาคส่วนอื่น ๆ ก็จะเป็นการดึงบทบาทหน้าที่และความเชื่อมโยงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาบนแพลตฟอร์มของพื้นที่ให้เห็นชัดเจน

2. สังคมไทยจะตกลงกันเรื่อง “คุณค่า” กันอย่างไร?

“คุณค่า” ที่สังคมมีต่อประเด็นต่าง ๆ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนในสังคม หากสามารถทำให้เกิดข้อสรุปที่ได้การยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ ก็จะเป็นหัวใจในการกำหนดทิศทางนโยบายได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวโยงกับการสร้างความคุ้มครองทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นการดูแลผู้สูงอายุ เราทราบกันดีว่าในอนาคตครอบครัวไทยจะมีลูกกันน้อยลง ความยึดมั่นค่านิยมความกตัญญูกตเวที การทดแทนคุณบุพการีโดยการดูแล และความหมายของครอบครัวในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ปัจจุบันการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวอาจจะเป็นกระแสหลัก บางพื้นที่ชุมชนอาจจะเข้มแข็งพอที่จะช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ สำหรับหลายครอบครัวหรือหลายชุมชนอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นในอนาคต ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของ “คุณค่า” ในลักษณะนี้มีผลต่อการออกแบบนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามสูงวัยด้วยระบบบำนาญและการออมเพื่อยามชราภาพก็ขึ้นอยู่กับการให้ “คุณค่า” ด้วยเช่นกัน นโยบายเพื่อการสร้างหลักประกันดังกล่าวสามารถสร้างบนแนวคิด “คุณค่า” ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล (เน้นแนวทางการออมส่วนบุคคล) การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกันหรือหลักภารดรภาพ (ใช้แนวทางการประกันสังคม) แนวคิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สังคมไทยคงไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกแนวคิดสุดโต่ง แต่จะมีกระบวนการอย่างไรในการผสมผสาน บูรณาการ ให้น้ำหนัก และ/หรือจัดลำดับขั้นแนวคิดต่าง ๆ ที่เหมาะกับสภาพของสังคมในปัจจุบันและอนาคต ปรากฎการณ์หนึ่งที่สะท้อนความเห็นต่างใน “คุณค่า” ของสังคมในปัจจุบันคือการเกิดวิวาทะเกี่ยวกับการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอนาคตว่าจะไปในทิศทางใด ไม่แปลกที่สังคมใด ๆ จะมีการขัดแย้งระหว่างกันในการเลือกแนวทางระหว่างจัดสรรให้ผู้สูงอายุทุกคน (universalism) กับให้บางคน (targeting) แต่จะมีความแปลกที่ว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง แทบจะทุกพรรคเสนอทางเลือก “ให้ทุกคน” หรือ “คงสถานะเดิม” กับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ทางเลือก “ให้บางคน” กลับเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาสู่การปฏิบัติ

3. สังคมไทยจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพให้กับผู้สูงอายุด้วย “เงิน” หรือ “บริการ” หรือผสมผสานทั้งสองแนวทาง

บริการในที่นี้หมายถึง “บริการทางสังคม” (social services) ที่จัดให้กับผู้สูงอายุในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น บริการสุขภาพ บริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง บริการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ไปจนถึงบริการทางสังคมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการจัดสรรบริการทางสังคมเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุก ๆ มิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางสังคม มิติสุขภาพ และบางประเด็นของมิติทางเศรษฐกิจ ความท้าทายสำหรับสังคมไทยคือจะรักษาสมดุลระหว่างการให้ “เงิน” และการให้ “บริการทางสังคม” อย่างไร การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่รัฐจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยหนุนเสริมประเด็นเหล่านี้อย่างไร ภาพรวมของระบบการคุ้มครองทางสังคมของประเทศจะจัดระบบการคุ้มครองโดยตัวเงินและการคุ้มครองโดยบริการทางสังคมอย่างไร

4. การแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างกันของรัฐบาล พื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สังคมไทยจะให้รัฐบาลกลางขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุตามที่ดำเนินการมา หรือจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุภายในพื้นที่ หากเราสามารถทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ใน “การส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ระบุว่าคืออะไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมีอิสระในการตัดสินใจขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุขึ้นมาได้อย่างมีนัยสำคัญ7 ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยระดับสมบูรณ์และระดับสุดยอดมีประเด็นท้าทายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มอีกมากมาย การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ/หรือการกำหนดบทบาทหน้าที่ใหม่ตามประเด็นท้าทายดังกล่าวจึงมีความสำคัญ

ทั้งนี้ ทิศทางนโยบายในปัจจุบันด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอาจจะยังเป็นไปแบบขยักขย่อน โดยเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน รัฐบาลได้แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิของผู้สูงอายุในด้านการดูแลระยะยาวเมื่อตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง8 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น 1 ใน 6 หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว แต่รัฐบาลยังให้อำนาจหน้าที่กับเทศบาล อบต. กทม. และเมืองพัทยาเพียงแค่การจัดให้มีบุคลากรและค่าใช้จ่ายของบุคคลากรเพื่อทำหน้าที่การดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ และให้อำนาจ อบจ. ในการสนับสนุนการฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากรด้านดังกล่าว และอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่เทศบาล และ อบต. เท่านั้น ทั้งที่ภารกิจการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุในเชิงสังคมเป็นสิ่งที่ อปท. สามารถดำเนินการได้

5. การจัดหาแหล่งที่มาของเงินเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ

ประเทศไทยจะต้องรับมือกับทั้ง “ผู้สูงอายุในปัจจุบัน” ไปพร้อม ๆ กับการเตรียมความพร้อมให้กับประชากรทุกกลุ่มที่เหลือที่จะมาเป็น “ผู้สูงอายุในอนาคต” หลักคิดเกี่ยวกับการหาแหล่งที่มาของเงินคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ทั้งภาษีอากร (เพื่อจัดการปัญหาผู้สูงอายุในปัจจุบัน) และใช้การมีส่วนร่วมจ่ายของประชาชน (เพื่อเตรียมพร้อมประชากรวัยทำงานในปัจจุบันที่ยังมีเวลาเก็บออมสำหรับอนาคต) ข้อเสนอจำนวนมากเกี่ยวกับระบบบำนาญไทยในปัจจุบันกำลังให้น้ำหนักไปที่ “การให้มีบำนาญเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันโดยรัฐจัดสรร” แต่ต้องไม่ลืมว่า สังคมไทยยังมีผู้สูงอายุในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญด้วย บางคนกำลังจะเรียนจบ บางคนเริ่มทำงาน บางคนเริ่มสร้างครอบครัว บางคนอยู่ในวัยกลางคน ฯลฯ ถ้าตอนนี้เขามีอายุ 20 ปี เขามีเวลาถึง 45 ปีเพื่อสร้างหลักประกัน บัดนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสังคมไทยในการค้นหาแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อ “ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างรุ่น ผู้สูงอายุในปัจจุบัน vs ผู้สูงอายุในอนาคต” โดยการประนีประนอมเชิงนโยบายระหว่างการสร้างหลักประกันยามชราภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เน้นวิธีการแบบรัฐจัดสรรกับการผลักดันให้เกิดระบบบำนาญฯ แบบมีส่วนร่วมเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับผู้สูงอายุในอนาคต (Samphantharak et al., 2023)

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียามชราภาพ โดยเน้นผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลาง ได้แก่

  1. รัฐบาลควรสร้างกลไกและ/หรือพื้นที่เพื่อแสวงหาจุดที่ลงตัวให้กับความเห็นภายในสังคมที่แตกต่างกันในเรื่องของการให้ “คุณค่า” ซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางของนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายบำนาญ และ/หรือนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงวัย

  2. รัฐบาลควรทบทวนการผลักดันให้มีคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกประสานนโยบายสำหรับการพิจารณาภาพใหญ่ของหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต จัดทำนโยบายบำนาญและการออมเพื่อยามชราภาพในภาพรวมให้เกิดความสอดคล้องระหว่างกัน ประสานระบบบำนาญและการออมเพื่อยามชราภาพที่มีอยู่หลายระบบภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่เชิงวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในอนาคตแก่คณะรัฐมนตรี

  3. การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุผ่านแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 ในอนาคต ทั้งส่วนที่เป็นแผนระยะยาวและระยะปานกลาง ควรจะต้องเชื่อมโยงมิติของพื้นที่เข้ากับภาพของผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ในแผนฯ ภายใต้แนวคิดสูงวัยในถิ่นเดิมหรือ ageing in place “ผู้สูงอายุทุกคนที่อาศัยในถิ่นที่อยู่ใด ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” การขับเคลื่อนในลักษณะนี้จะหนุนเสริมทั้งในด้านการมองผู้สูงวัยเป็นศูนย์กลางและการบูรณาการระหว่างมิติตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ และมิติพื้นที่เข้าด้วยกัน

  4. รัฐบาลควรผลักดันท้องถิ่นด้านการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย ในระยะสั้นสิ่งที่ทำได้ทันที คือการทำให้บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ” มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลสามารถดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

เอกสารอ้างอิง

Samphantharak, K., Tosborvorn, T., Suwanik, S., Chantarat, S., Paweenawat, A., Poapongsakorn, N., Wasi, N., Manprasert, S., Kilenthong, W., Witvorapong, N., Attavanich, W., Mahasuweerachai, P., Pitidol, T., Jenmana, T., Jitsuchon, S., Srisangnam, P., Thampanishvong, K., Limmeechokchai, B., Suwanrada, W., … Tangkitvanich, S. (2023). 16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด (aBRIDGEd No. 09/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Suwanrada, W., Pothisiri, W., Chimmamee, M., Buathong, T., & Bangkaew, B. (2022). การทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

  1. เป็นคำที่นักประชากรศาสตร์ (เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณปราโมทย์ ประสาทกุล) ใช้เรียกประชากรที่เกิดช่วงปี 2506–2526 ซึ่งมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ถึงปีละประมาณมากกว่า 1 ล้านคน↩
  2. ประกอบด้วย มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุ มาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การกำหนดให้มีการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และให้มีคณะกรรมการระบบบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ↩
  3. คุณภาพผู้สูงอายุ 4 มิติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านสภาพแวดล้อม และบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในแต่ละด้าน↩
  4. 6 บทบาทหน้าที่ของ อปท. มีทั้งบทบาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และฉบับแก้ไขต่าง ๆ บทบาทหน้าที่การถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบทบาทหน้าที่ที่ดำเนินการจากการริเริ่มการแนะนำโดยหน่วยงานราชการส่วนกลาง และบทบาทหน้าที่ในลักษณะความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ/ภาคส่วนอื่น ล่าสุดตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563–2565 มีแผนที่ในการถ่ายโอนภารกิจของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) การสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี งานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย (ทั้งหมดเป็นภารกิจเดิมของกรมกิจการผู้สูงอายุ) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ทยอยถ่ายโอนต่อเนื่องจากแผนฯเดิมและแผนฯใหม่ให้ อปท.ที่มีความพร้อม) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น↩
  5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) ซึ่งได้ปักหมุดประเด็นผู้สูงอายุไว้ในหมุดหมายที่ 9 เป้าหมายที่ 2 คนทุกช่วงวัยได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566–2580) ซึ่งได้ให้ภาพของผู้สูงอายุที่สังคมไทยปรารถนาไว้ว่า “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม”↩
  6. เช่น แนวคิด healthy ageing, active ageing, productive ageing, successful ageing และแนวคิดในแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ↩
  7. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 50 (7) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 67 (6)↩
  8. มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546↩
วรเวศม์ สุวรรณระดา
วรเวศม์ สุวรรณระดา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Public EconomicsLabor and Demographic EconomicsPolitical Economy
Tags: quality of lifesocial protectionaging in place
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email