Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/d1f314601e078bf633c003e7e161cf7e/41624/cover.jpg
24 พฤษภาคม 2567
20241716508800000

ทางรุ่งหรือทางตัน: โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ

โอกาสการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความหวังเพื่อการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
ทางรุ่งหรือทางตัน: โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ
excerpt

บทความนี้เป็นการสรุปข้อค้นพบสำคัญของ Muthitacharoen & Burong (2023) ซึ่งนำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของคนไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ โดยงานศึกษานี้เน้นความสนใจที่รายได้จากการจ้างงานซึ่งเป็นรายได้หลักของแรงงานไทย และใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปี 2018) โดยคณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ประมาณการการเลื่อนชั้นรายได้ (income mobility) ในระยะปานกลาง และวิเคราะห์ความแตกต่างในการเลื่อนชั้นตามเพศ อายุ และประเภทการจ้างงาน ทั้งนี้ “รายได้” ในงานศึกษานี้หมายถึง รายได้จากการจ้างงาน (earnings) เท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงรายได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (capital income) และรายได้จากการประกอบธุรกิจ (business income)

ความสำคัญและความท้าทายในการทำความเข้าใจโอกาสการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ

การเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ หมายถึง โอกาสที่คนจะขยับขึ้นไปอยู่บนชั้นรายได้ที่สูงขึ้นหรือเปลี่ยนไปอยู่ในชั้นรายได้ที่ต่ำลง การทำความเข้าใจโอกาสการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในห้วงเวลาหลังวิกฤตโควิด 19 ที่ได้ทิ้งรอยแผลเป็นถาวรต่อความเหลื่อมล้ำของไทย เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส และเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างสังคมที่ผู้คนมีความหวังในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่สังคมมีการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้ยาก อาจสะท้อนข้อจำกัดของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และทรัพยากรอื่น ๆ เป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ทวีความรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการศึกษาเรื่องการเลื่อนชั้นรายได้ของประเทศไทย คือ การเข้าถึงข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้สูง โดยทั่วไปการศึกษาความเหลื่อมล้ำที่ใช้ข้อมูลการสำรวจ (survey data) มักจะพบปัญหาการเข้าถึงครัวเรือนรายได้สูง และการรายงานรายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง (Ravallion, 2022) ในบริบทของประเทศไทย งานศึกษาความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่ใช้การสำรวจรายได้รายครัวเรือน และมักจะพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ตัวอย่างงานศึกษาของไทย เช่น Kilenthong (2016), Sondergaard et al. (2016), Wasi et al. (2019) และ Lekfuangfu et al. (2020)

เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว งานศึกษานี้จึงใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปี 2018) โดยมุ่งศึกษาภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของแรงงานในระบบของไทย ซึ่งคณะผู้วิจัยเน้นความสนใจไปที่รายได้จากการจ้างงาน ซึ่งเป็นรายได้หลักของแรงงานไทย และมีโอกาสที่จะมีปัญหาการหลบเลี่ยงรายได้น้อยกว่ารายได้ประเภทอื่น ๆ เช่น รายได้จากการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ ผู้อ่านควรตีความผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัด โดยข้อได้เปรียบสำคัญคือ การครอบคลุมถึงรายได้ของผู้มีรายได้สูง ซึ่งมักจะขาดหายไปในข้อมูลที่มาจากการสำรวจต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลผู้ยื่นแบบภาษีฯ นี้ก็มีข้อจำกัดสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่

  1. ฐานข้อมูลนี้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจในระบบหรือผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้ฯ และไม่ได้ครอบคลุมเศรษฐกิจนอกระบบ
  2. รายได้หลายประเภทไม่ได้รับการรายงานในการยื่นแบบ ภงด. 90/91 เนื่องจากระบบภาษีของไทยได้ยกเว้นหรือให้สิทธิประโยชน์ภาษีแก่รายได้บางประเภท เช่น กำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และรายได้เงินปันผล

ดังนั้น ผลการศึกษานี้จึงไม่ได้สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชนชั้นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งหมด แต่จะเป็นภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน และผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจในระบบเท่านั้น

ในส่วนของเครื่องมือวิจัย งานศึกษาวิเคราะห์วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยใช้ 3 เครื่องชี้วัด ได้แก่ Gini coefficients, variance of log earnings และ mean log deviation ซึ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำโดยเน้นที่ส่วนที่แตกต่างกันของการกระจายรายได้ ในส่วนของประมาณการการเลื่อนชั้นรายได้ในระยะปานกลาง งานวิจัยได้สร้าง transition matric และใช้ rank-rank regression ตามแนวทางของ Chetty et al. (2014) และ Carr & Wiemers (2022) รวมถึงการปรับ transition matric ให้สอดคล้องกับแนวทางของหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างประเทศเพื่อทำให้ผู้วางนโยบายสามารถเปรียบเทียบโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของไทยและของประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์ความแตกต่างในการเลื่อนชั้นตามเพศ อายุ และประเภทการจ้างงานอีกด้วย

ความเหลื่อมล้ำของรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ

งานศึกษาพบว่า Gini coefficients1 ในช่วงปี 2019–2018 เพิ่มขึ้นจาก 0.43 ในปี 2009 เป็น 0.45 ในปี 2018 (Panel A ในรูปที่ 1) และการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำนี้มาจากผู้ที่มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยคณะผู้วิจัยได้พิจารณาความเหลื่อมล้ำที่ส่วนล่างของการกระจายรายได้ (50th/20th percentile) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบรายได้ของคนฐานะปานกลางและคนที่ค่อนข้างยากจน และที่ส่วนบนของการกระจายรายได้ (90th/50th percentile) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบรายได้ของคนรวยและคนฐานะปานกลาง คณะผู้วิจัยพบว่าความเหลื่อมล้ำที่ส่วนล่างนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่ส่วนบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Panel B ในรูปที่ 1) นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่า Top 1% มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด จากราว 9% ในปี 2009 เป็น 11% ในปี 2018 (รูปที่ 2) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับข้อค้นพบของ Jenmana (2018) และ Vanitcharearnthum (2019) ซึ่งใช้ข้อมูลตารางสถิติภาษี (tabulated tax data) และพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

รูปที่ 1: ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (Earnings inequality) ในปี 2009–2018

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (Earnings inequality) ในปี 2009–2018

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)
รูปที่ 2: การกระจายของรายได้แบ่งตาม Earnings percentile (2009–2018)

การกระจายของรายได้แบ่งตาม Earnings percentile (2009–2018)

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)

โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสากล

งานศึกษาพบว่า ราว 35% ของแรงงานไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่ม decile รายได้เดิมในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2009–2018) (รูปที่ 3) ซึ่งระดับความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิม (earning persistence probability) นี้จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำสุด และกลุ่มรายได้สูงสุด (ราว 51% และ 69% ตามลำดับ) ทั้งนี้ ความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมที่สูง หมายถึง โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ที่ต่ำ

รูปที่ 3: โอกาสการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมในระยะปานกลาง (Medium-term earning persistence: probability of remaining in the same decile by starting decile: 2009–2018)

โอกาสการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมในระยะปานกลาง (Medium-term earning persistence: probability of remaining in the same decile by starting decile: 2009–2018)

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)

คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบโอกาสการเลื่อนชั้นของคนไทยเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ของต่างประเทศ เพื่อให้ผู้วางนโยบายเห็นภาพได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าหลักฐานจากประเทศต่าง ๆ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยสมบูรณ์ แต่งานศึกษาได้พยายามปรับปรุงความสามารถในการเปรียบเทียบ โดยการวิเคราะห์โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของไทยด้วยวิธีการและสมมติฐานเช่นเดียวกับที่ปรากฎในแต่ละงานศึกษาของต่างประเทศ ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่าแรงงานไทยมีระดับการเลื่อนชั้นรายได้ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์จากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา (รูปที่ 4–5) ทั้งในแง่ของการเลื่อนชั้นโดยรวม (overall mobility) (รูปที่ 4) และการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมของกลุ่มรายได้สูงสุด 1% (top 1% persistence) (รูปที่ 5)

รูปที่ 4: การเปรียบเทียบโอกาสการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมของไทยและต่างประเทศ (Probability of remaining in the same decile)

การเปรียบเทียบโอกาสการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมของไทยและต่างประเทศ (Probability of remaining in the same decile)

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)หมายเหตุ: งานศึกษาได้ปรับปรุงความสามารถในการเปรียบเทียบหลักฐานเชิงประจักษ์ไทยกับต่างประเทศ โดยวิเคราะห์โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของคนไทยตามวิธีการและสมมติฐานเดียวกับงานศึกษาของต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
รูปที่ 5: การเปรียบเทียบ top 1% persistence ของไทยและต่างประเทศ (Probability of remaining in the top 1%)

การเปรียบเทียบ top 1% persistence ของไทยและต่างประเทศ (Probability of remaining in the top 1%)

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)หมายเหตุ: งานศึกษาได้ปรับปรุงความสามารถในการเปรียบเทียบหลักฐานเชิงประจักษ์ไทยกับต่างประเทศ โดยวิเคราะห์โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของคนไทยตามวิธีการและสมมติฐานเดียวกับงานศึกษาของต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (upward mobility) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในมิติของเพศ ลักษณะการทำงาน และอายุ

งานศึกษายังพบว่า แรงงานหญิงมีโอกาสในการเลื่อนชั้นขึ้นต่ำกว่าแรงงานชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 6) ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวมีโอกาสการเลื่อนชั้นค่อนข้างสูง แต่โอกาสนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในระดับความเป็นทางการของงานภายในกลุ่มแรงงานในระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพการจ้างงาน โดยในด้านหนึ่งคืองานที่มีความเป็นทางการสูง (high-formality job) ผ่านสัญญาจ้างระยะยาวและการมีสวัสดิการการออมเพื่อการเกษียณ ในทางตรงกันข้าม งานที่มีความเป็นทางการต่ำ (low-formality job) มักขาดความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการที่เพียงพอ งานศึกษาพบโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามสถานภาพการจ้างงานนี้ กล่าวคือ แรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการสูงมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นสูงกว่าแรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ข้อค้นพบนี้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงโอกาสสำหรับแรงงานกลุ่มเปราะบาง

รูปที่ 6: โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (Upward mobility) ในมิติเพศ ลักษณะการจ้างงาน และอายุ (Probability of moving up at least two deciles in the 10-year period)

โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (Upward mobility) ในมิติเพศ ลักษณะการจ้างงาน และอายุ (Probability of moving up at least two deciles in the 10-year period)

ที่มา: Muthitacharoen & Burong (2023)

บทสรุปและนัยเชิงนโยบาย

ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้มีนัยสำคัญในวงกว้างต่อการวางนโยบาย 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก ผลการศึกษาพบว่า ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในภาคเศรษฐกิจในระบบเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเข้าใจแหล่งที่มาของความเหลื่อมล้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด19 กลายเป็นความเหลื่อมล้ำถาวร โดยผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องเพิ่มความเป็นธรรมให้แก่ระบบภาษี ทบทวนความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ของสิทธิประโยชน์ภาษีต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การใช้เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่น ๆ

ประการที่สอง งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ของประเทศอื่น ๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในสังคมไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก รัฐบาลจึงควรยกระดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจนี้อย่างเร่งด่วน

ประการที่สาม ผลการศึกษาชี้ว่าแรงงานในกลุ่มที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำ (low-formality job) มีโอกาสเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น หรือการปีนบันไดรายได้ขึ้นในระดับต่ำมาก สะท้อนการขาดโอกาสของกลุ่มแรงงานเปราะบาง ซึ่งมักได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้น การเพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความคุ้มครองทางสังคมให้แก่แรงงานกลุ่มนี้จึงเป็นประเด็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่ง

เอกสารอ้างอิง

Carr, M. D., & Wiemers, E. E. (2022). The decline in long-term earnings mobility in the US: Evidence from survey-linked administrative data. Labour Economics, 78, 102170.
Chetty, R., Hendren, N., Kline, P., & Saez, E. (2014). Where is the land of opportunity? The geography of intergenerational mobility in the United States. The Quarterly Journal of Economics, 129(4), 1553–1623.
Jenmana, T. (2018). Democratisation and the emergence of class conflicts: Income inequality in Thailand, 2001-2016.
Kilenthong, W. (2016). Finance and inequality in Thailand. Thammasat Economic Journal, 34(3), 60–95.
Lekfuangfu, N., Piyapromdee, S., Porapakkarm, P., & Wasi, N. (2020). Myths and Facts about Inequalities in Thailand (Discussion Paper No. 144). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Muthitacharoen, A., & Burong, T. (2023). Climbing the Economic Ladder: Earnings Inequality and Intragenerational Mobility among Thai Formal Workers (Discussion Paper No. 196). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Ravallion, M. (2022). Missing top income recipients. The Journal of Economic Inequality, 20(1), 205–222.
Sondergaard, L., Luo, X., Jithitikulchai, T., Arin, T., Poggi, C., Lathapipat, D., & others. (2016). Getting back on track: reviving growth and securing prosperity for all. Bangkok: World Bank Thailand, 158.
Vanitcharearnthum, V. (2019). Top income shares and inequality: Evidences from Thailand. Kasetsart Journal of Social Sciences, 40(1), 40–46.
Wasi, N., Paweenawat, S. W., Devahastin Na Ayudhya, C., Treeratpituk, P., & Nittayo, C. (2019). Labor Income Inequality in Thailand: the Roles of Education, Occupation and Employment History (Discussion Paper No. 117). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

  1. Gini coefficient (สัมประสิทธิ์ Gini) เป็นเครื่องชี้วัดความเลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม มีค่าอยู่ในช่วง 0–1 โดยค่า 0 หมายถึงสังคมที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมทุกคน และค่า 1 หมายถึงสังคมที่มีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม หรือมีความเหลื่อมล้ำสูงสุด↩
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Labour market
Tags: income mobilityincome and consumptionintragenerational earnings mobilityinequality
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email