ทางรุ่งหรือทางตัน: โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ
excerpt
บทความนี้เป็นการสรุปข้อค้นพบสำคัญของ Muthitacharoen & Burong (2023) ซึ่งนำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของคนไทยในภาคเศรษฐกิจในระบบ โดยงานศึกษานี้เน้นความสนใจที่รายได้จากการจ้างงานซึ่งเป็นรายได้หลักของแรงงานไทย และใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปี 2018) โดยคณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ประมาณการการเลื่อนชั้นรายได้ (income mobility) ในระยะปานกลาง และวิเคราะห์ความแตกต่างในการเลื่อนชั้นตามเพศ อายุ และประเภทการจ้างงาน ทั้งนี้ “รายได้” ในงานศึกษานี้หมายถึง รายได้จากการจ้างงาน (earnings) เท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงรายได้จากทรัพย์สินและการลงทุน (capital income) และรายได้จากการประกอบธุรกิจ (business income)
การเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจ หมายถึง โอกาสที่คนจะขยับขึ้นไปอยู่บนชั้นรายได้ที่สูงขึ้นหรือเปลี่ยนไปอยู่ในชั้นรายได้ที่ต่ำลง การทำความเข้าใจโอกาสการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในห้วงเวลาหลังวิกฤตโควิด 19 ที่ได้ทิ้งรอยแผลเป็นถาวรต่อความเหลื่อมล้ำของไทย เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสะท้อนความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส และเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างสังคมที่ผู้คนมีความหวังในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่สังคมมีการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้ยาก อาจสะท้อนข้อจำกัดของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และทรัพยากรอื่น ๆ เป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ทวีความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการศึกษาเรื่องการเลื่อนชั้นรายได้ของประเทศไทย คือ การเข้าถึงข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้สูง โดยทั่วไปการศึกษาความเหลื่อมล้ำที่ใช้ข้อมูลการสำรวจ (survey data) มักจะพบปัญหาการเข้าถึงครัวเรือนรายได้สูง และการรายงานรายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง (Ravallion, 2022) ในบริบทของประเทศไทย งานศึกษาความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่ใช้การสำรวจรายได้รายครัวเรือน และมักจะพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ตัวอย่างงานศึกษาของไทย เช่น Kilenthong (2016), Sondergaard et al. (2016), Wasi et al. (2019) และ Lekfuangfu et al. (2020)
เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว งานศึกษานี้จึงใช้ฐานข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปี 2018) โดยมุ่งศึกษาภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจของแรงงานในระบบของไทย ซึ่งคณะผู้วิจัยเน้นความสนใจไปที่รายได้จากการจ้างงาน ซึ่งเป็นรายได้หลักของแรงงานไทย และมีโอกาสที่จะมีปัญหาการหลบเลี่ยงรายได้น้อยกว่ารายได้ประเภทอื่น ๆ เช่น รายได้จากการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ผู้อ่านควรตีความผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อจำกัด โดยข้อได้เปรียบสำคัญคือ การครอบคลุมถึงรายได้ของผู้มีรายได้สูง ซึ่งมักจะขาดหายไปในข้อมูลที่มาจากการสำรวจต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลผู้ยื่นแบบภาษีฯ นี้ก็มีข้อจำกัดสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่
- ฐานข้อมูลนี้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจในระบบหรือผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้ฯ และไม่ได้ครอบคลุมเศรษฐกิจนอกระบบ
- รายได้หลายประเภทไม่ได้รับการรายงานในการยื่นแบบ ภงด. 90/91 เนื่องจากระบบภาษีของไทยได้ยกเว้นหรือให้สิทธิประโยชน์ภาษีแก่รายได้บางประเภท เช่น กำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และรายได้เงินปันผล
ดังนั้น ผลการศึกษานี้จึงไม่ได้สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำและการเลื่อนชนชั้นทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งหมด แต่จะเป็นภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้จากการจ้างงาน และผู้ที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจในระบบเท่านั้น
ในส่วนของเครื่องมือวิจัย งานศึกษาวิเคราะห์วิวัฒนาการของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยใช้ 3 เครื่องชี้วัด ได้แก่ Gini coefficients, variance of log earnings และ mean log deviation ซึ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำโดยเน้นที่ส่วนที่แตกต่างกันของการกระจายรายได้ ในส่วนของประมาณการการเลื่อนชั้นรายได้ในระยะปานกลาง งานวิจัยได้สร้าง transition matric และใช้ rank-rank regression ตามแนวทางของ Chetty et al. (2014) และ Carr & Wiemers (2022) รวมถึงการปรับ transition matric ให้สอดคล้องกับแนวทางของหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างประเทศเพื่อทำให้ผู้วางนโยบายสามารถเปรียบเทียบโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของไทยและของประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์ความแตกต่างในการเลื่อนชั้นตามเพศ อายุ และประเภทการจ้างงานอีกด้วย
งานศึกษาพบว่า Gini coefficients1 ในช่วงปี 2019–2018 เพิ่มขึ้นจาก 0.43 ในปี 2009 เป็น 0.45 ในปี 2018 (Panel A ในรูปที่ 1) และการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำนี้มาจากผู้ที่มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยคณะผู้วิจัยได้พิจารณาความเหลื่อมล้ำที่ส่วนล่างของการกระจายรายได้ (50th/20th percentile) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบรายได้ของคนฐานะปานกลางและคนที่ค่อนข้างยากจน และที่ส่วนบนของการกระจายรายได้ (90th/50th percentile) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบรายได้ของคนรวยและคนฐานะปานกลาง คณะผู้วิจัยพบว่าความเหลื่อมล้ำที่ส่วนล่างนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่ส่วนบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Panel B ในรูปที่ 1) นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่า Top 1% มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด จากราว 9% ในปี 2009 เป็น 11% ในปี 2018 (รูปที่ 2) ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับข้อค้นพบของ Jenmana (2018) และ Vanitcharearnthum (2019) ซึ่งใช้ข้อมูลตารางสถิติภาษี (tabulated tax data) และพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
งานศึกษาพบว่า ราว 35% ของแรงงานไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่ม decile รายได้เดิมในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2009–2018) (รูปที่ 3) ซึ่งระดับความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิม (earning persistence probability) นี้จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำสุด และกลุ่มรายได้สูงสุด (ราว 51% และ 69% ตามลำดับ) ทั้งนี้ ความน่าจะเป็นของการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมที่สูง หมายถึง โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ที่ต่ำ
คณะผู้วิจัยเปรียบเทียบโอกาสการเลื่อนชั้นของคนไทยเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ของต่างประเทศ เพื่อให้ผู้วางนโยบายเห็นภาพได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าหลักฐานจากประเทศต่าง ๆ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยสมบูรณ์ แต่งานศึกษาได้พยายามปรับปรุงความสามารถในการเปรียบเทียบ โดยการวิเคราะห์โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของไทยด้วยวิธีการและสมมติฐานเช่นเดียวกับที่ปรากฎในแต่ละงานศึกษาของต่างประเทศ ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่าแรงงานไทยมีระดับการเลื่อนชั้นรายได้ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์จากทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา (รูปที่ 4–5) ทั้งในแง่ของการเลื่อนชั้นโดยรวม (overall mobility) (รูปที่ 4) และการคงอยู่ในชั้นรายได้เดิมของกลุ่มรายได้สูงสุด 1% (top 1% persistence) (รูปที่ 5)
โอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น (upward mobility) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในมิติของเพศ ลักษณะการทำงาน และอายุ
งานศึกษายังพบว่า แรงงานหญิงมีโอกาสในการเลื่อนชั้นขึ้นต่ำกว่าแรงงานชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 6) ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวมีโอกาสการเลื่อนชั้นค่อนข้างสูง แต่โอกาสนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในระดับความเป็นทางการของงานภายในกลุ่มแรงงานในระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพการจ้างงาน โดยในด้านหนึ่งคืองานที่มีความเป็นทางการสูง (high-formality job) ผ่านสัญญาจ้างระยะยาวและการมีสวัสดิการการออมเพื่อการเกษียณ ในทางตรงกันข้าม งานที่มีความเป็นทางการต่ำ (low-formality job) มักขาดความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการที่เพียงพอ งานศึกษาพบโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามสถานภาพการจ้างงานนี้ กล่าวคือ แรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการสูงมีโอกาสเลื่อนชั้นขึ้นสูงกว่าแรงงานที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ข้อค้นพบนี้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงโอกาสสำหรับแรงงานกลุ่มเปราะบาง
ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้มีนัยสำคัญในวงกว้างต่อการวางนโยบาย 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก ผลการศึกษาพบว่า ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในภาคเศรษฐกิจในระบบเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเข้าใจแหล่งที่มาของความเหลื่อมล้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด19 กลายเป็นความเหลื่อมล้ำถาวร โดยผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องเพิ่มความเป็นธรรมให้แก่ระบบภาษี ทบทวนความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ของสิทธิประโยชน์ภาษีต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข การใช้เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่น ๆ
ประการที่สอง งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าโอกาสการเลื่อนชั้นรายได้ของแรงงานไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ของประเทศอื่น ๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในสังคมไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก รัฐบาลจึงควรยกระดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจนี้อย่างเร่งด่วน
ประการที่สาม ผลการศึกษาชี้ว่าแรงงานในกลุ่มที่มีลักษณะการจ้างงานแบบเป็นทางการต่ำ (low-formality job) มีโอกาสเลื่อนชั้นรายได้ขึ้น หรือการปีนบันไดรายได้ขึ้นในระดับต่ำมาก สะท้อนการขาดโอกาสของกลุ่มแรงงานเปราะบาง ซึ่งมักได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้น การเพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความคุ้มครองทางสังคมให้แก่แรงงานกลุ่มนี้จึงเป็นประเด็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่ง
เอกสารอ้างอิง
- Gini coefficient (สัมประสิทธิ์ Gini) เป็นเครื่องชี้วัดความเลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม มีค่าอยู่ในช่วง 0–1 โดยค่า 0 หมายถึงสังคมที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมทุกคน และค่า 1 หมายถึงสังคมที่มีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม หรือมีความเหลื่อมล้ำสูงสุด↩