Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/8c36149735ab6aef6866a7c4e4b06f8c/41624/cover.jpg
2 กรกฎาคม 2567
20241719878400000

ครัวเรือนไทยปรับตัวอย่างไรหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต

วิเคราะห์พฤติกรรมของพ่อหม้ายแม่หม้ายผ่านข้อมูลการสำรวจครัวเรือน
สายสวาท สมุทรประดิษฐ์
ครัวเรือนไทยปรับตัวอย่างไรหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต
excerpt

การศึกษานี้ประเมินผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรสในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย โดยพบว่า แม่หม้ายมีแนวโน้มที่ใช้เวลาร่วมกับลูกเพิ่มขึ้น โดยผันตัวจากการเป็นคนงานในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจหลังจากที่สามีเสียชีวิต ในทางกลับกัน พ่อหม้ายมีแนวโน้มที่จะหยุดทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือนแม่หม้ายมีรายได้จากเงินของขวัญเพิ่มมากขึ้นในปีที่สามีเสียชีวิต แต่รายได้ส่วนนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป

งานวิจัยที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

บทความนี้สรุปจากงานวิจัย เรื่อง "Surviving Loss: Coping Strategies among Widow Households in Thai Rural Areas" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ผู้เขียนยังอยู่ระหว่างการศึกษา ดังนั้น หากผู้อ่านต้องการนำเนื้อหาไปอ้างอิง โปรดคำนึงว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ดีและอาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคต

นักเศรษฐศาสตร์มีความสนใจเกี่ยวกับกลไกการรับมือในครัวเรือนต่อการมีรายได้ที่ลดลงหรือการว่างงานมาเป็นเวลานานแล้ว ในบรรดาความเสี่ยงต่าง ๆ ปัญหาสุขภาพของผู้มีรายได้หลักเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ครัวเรือนต้องเผชิญ หากระบบประกันสังคมไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวได้เพียงพอ การรับมือกับผลของความเสี่ยงนั้นอาจตกอยู่กับสมาชิกคนอื่นในครัวเรือนเอง

หลักฐานเชิงประจักษ์จากต่างประเทศ

งานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาผลกระทบของปัญหาสุขภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครัวเรือนที่มีต่อสมาชิกครัวเรือนคนอื่น ตัวอย่างเช่น Coile (2004) ได้ศึกษาผลกระทบของปัญหาสุขภาพที่มีต่อการตัดสินใจทำงานของคู่สมรสของผู้ที่ล้มป่วยลงในประเทศสหรัฐอเมริกา ตามหลักทฤษฎีแล้ว หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่สามารถออกไปทำงานเพื่อหารายได้และระบบประกันสังคมไม่สามารถบรรเทาผลกระทบนี้ได้ สมาชิกครัวเรือนคนอื่นอาจจำเป็นต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแทน อย่างไรก็ดี Coile (2004) ไม่พบหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าหลังจากที่สามีล้มป่วยลง ภรรยาจะกลายมาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเพราะระบบประกันสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถเยียวยาผลกระทบจากปัญหาสุขภาพในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพที่งานวิจัยดังกล่าวศึกษานั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรง ดังนั้น การที่ภรรยาไม่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของสามีจึงอาจเป็นเพราะทั้งคู่คาดว่าสามีจะสามารถกลับมาทำงานได้หลังจากฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยแล้ว ต่อมา Fadlon & Nielsen (2021) จึงได้ศึกษาผลของปัญหาสุขภาพทั้งแบบไม่ร้ายแรงและแบบที่ถึงแก่ชีวิตในประเทศเดนมาร์ก และพบว่าปัญหาสุขภาพที่ไม่ร้ายแรงไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานของคู่สมรสเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต แม่หม้ายจะทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าระบบประกันสังคมของเดนมาร์กอาจยังไม่สามารถเยียวยาการเสียรายได้ของครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ดี การศึกษาว่าการเสียชีวิตของผู้มีรายได้หลักส่งผลกระทบอย่างไรต่อครัวเรือนในบริบทของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OECD1 ยังมีค่อนข้างจำกัด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังไม่มีระบบประกันสังคมที่เข้มแข็งนัก นอกจากนี้ ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกำลังแรงงาน ส่งผลให้การเสียชีวิตของผู้สูงอายุอาจนำไปสู่การสูญเสียรายได้ของครัวเรือนอีกด้วย ดังนั้น การเสียชีวิตของสมาชิกในครัวเรือนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงยิ่งกว่าในประเทศกลุ่ม OECD แต่ในขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังพัฒนา สถาบันครอบครัว ระบบเครือญาติ หรือชุมชนอาจมีความเข้มแข็งกว่า และเข้ามาทดแทนระบบประกันสังคมของรัฐได้

การศึกษาในกรณีของไทยโดยใช้ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนของ Townsend Thai data

งานวิจัยของ Samutpradit (2024) ได้ศึกษาผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรสในบริบทของประเทศไทย โดยใช้ชุดข้อมูลของ Robert Townsend ที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของครัวเรือนไทยในหลายจังหวัดตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา แม้ว่าการสำรวจอาจไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรไทยในระดับประเทศ แต่ข้อดีของข้อมุลชุดนี้คือมีโครงสร้างแบบพาแนล (panel structure) กล่าวคือมีการเก็บข้อมูลของครัวเรือนเดิมต่อเนื่องหลายปี ทำให้สามารถเปรียบเทียบพฤติกรรมของสมาชิกในครัวเรือนก่อนและหลังการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ข้อมูลชุดนี้ยังมีข้อมูลการทำงานของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะการอยู่อาศัยว่าอยู่ร่วมกับใครบ้าง และข้อมูลรายรับประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ศึกษากลไกการรับมือรูปแบบต่าง ๆ ของครัวเรือนเมื่อเกิดการเสียชีวิตของคู่สมรสได้

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้ชายและมีอายุ 51–70 ปี และมีคู่สมรสอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ในกลุ่มตัวอย่างนี้ พบว่าประมาณร้อยละ 93 และร้อยละ 89 ของสามีและภรรยายังคงทำงานอยู่ตามลำดับ โดยสามีมีแนวโน้มที่จะทำงานรับจ้างหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ ขณะที่ภรรยามีแนวโน้มที่จะทำงานเป็นคนงานของครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid family worker)

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเสียชีวิตของคู่สมรส ผู้วิจัยได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิด event-study design แบบ staggered treatment โดยใช้แบบจำลองที่เสนอโดย Borusyak et al. (2024) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนที่มีการเสียชีวิตของหัวหน้าครัวเรือนหรือคู่สมรสของหัวหน้าครัวเรือน กับกลุ่มควบคุมที่เป็นครัวเรือนที่คู่สมรสหัวหน้าครัวเรือนอยู่ในกลุ่มอายุเดียวกันแต่ไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น

พ่อหม้ายแม่หม้ายปรับตัวอย่างไรหลังคู่สมรสเสียชีวิต?

เมื่อพิจารณาไปที่ผลกระทบกรณีที่เกิดการเสียชีวิตของหัวหน้าครัวเรือน ผลวิจัยพบว่าหลังจากสามีเสียชีวิต แม่หม้ายมีแนวโน้มเป็นคนงานในครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างลดลงประมาณร้อยละ 28.3 และมีแนวโน้มเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้นประมาณร้อยละ 19.9 (รูปที่ 1) นอกจากนี้แม่หม้ายยังมีการรับลูกและญาติคนอื่น ๆ มาช่วยงานในครัวเรือน โดยมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ร่วมกับลูกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และลูกสาวมีแนวโน้มที่จะย้ายมาอยู่ร่วมกับแม่หลังจากที่พ่อเสียชีวิตมากกว่าลูกชาย อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาครัวเรือนที่ภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิต พบว่าพ่อหม้ายกลับมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงานมากขึ้น (รูปที่ 2)

รูปที่ 1: การเปลี่ยนแปลงอุปทานแรงงานของแม่หม้าย

การเปลี่ยนแปลงอุปทานแรงงานของแม่หม้าย

ที่มา: ดัดแปลงจากรูปที่ 6 ใน Samutpradit (2024)หมายเหตุ: รูปแสดงผลของการเสียชีวิตของสามีต่อความน่าจะเป็นที่แม่หม้ายจะทำงานเป็นคนงานของครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (ซ้าย) และทำงานเป็นเจ้าของธุรกิจของครัวเรือน (ขวา)
รูปที่ 2: การเปลี่ยนแปลงอุปทานแรงงานของพ่อหม้าย

การเปลี่ยนแปลงอุปทานแรงงานของพ่อหม้าย

ที่มา: ดัดแปลงจากรูปที่ 11 ใน Samutpradit (2024)หมายเหตุ: รูปแสดงผลของการเสียชีวิตของภรรยาที่มีต่อความน่าจะเป็นที่พ่อหม้ายจะทำงานในครัวเรือน (ซ้าย) และความน่าจะเป็นที่พ่อหม้ายจะออกจากกำลังแรงงานหรือเลิกทำงาน (ขวา)

ความแตกต่างในการตอบสนองด้านอุปทานแรงงานระหว่างพ่อหม้ายและแม่หม้ายอาจเป็นเพราะ

  1. ผู้หญิงและผู้ชายมีวิธีการรับมือกับความสูญเสียต่างกัน เช่น ผู้ชายอาจตอบสนองต่อความสูญเสียโดยการแยกตัวออกจากสังคม หรือ
  2. ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีรายได้หลักของครัวเรือนมากกว่าผู้หญิง และเมื่อผู้มีรายได้หลักเสียชีวิต สมาชิกครัวเรือนคนอื่นจึงต้องหาวิธีมารับมือกับรายได้ที่ลดลง

เพื่อตรวจสอบสมมติฐานนี้เพิ่มเติม ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาเพิ่มเติมไปที่ครัวเรือนที่แม่หม้ายเป็นผู้มีรายได้หลัก และพบว่าแม่หม้ายที่มีรายได้หลักมีแนวโน้มที่จะหยุดทำงานเช่นกันหลังจากคู่สมรสเสียชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานประการที่สอง

หลังจากที่ศึกษากลไกการรับมือจากภายในครัวเรือนแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ศึกษากลไกการรับมือจากภายนอกครัวเรือน เช่น การรับเงินของขวัญจากญาติมิตร2 หรือการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยพบว่าแม่หม้ายมีรายได้จากเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาทในปีที่สามีเสียชีวิต (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของรายได้จากเงินของขวัญนี้มีความแตกต่างกันระหว่างครัวเรือน โดยเงินของขวัญนี้จะสูงถึง 40,000 บาทสำหรับครัวเรือนของแม่หม้ายที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านขนาดเล็ก (หมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนต่ำกว่าค่ามัธยฐานในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเท่ากับ 168 ครัวเรือน) แต่ในหมู่บ้านขนาดใหญ่ แม่หม้ายได้รับเงินของขวัญเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นอาจอธิบายได้จากทั้งปัจจัยด้านอุปทานคือครัวเรือนในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่า และปัจจัยด้านอุปสงค์คือครัวเรือนแม่หม้ายในหมู่บ้านขนาดเล็กอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินของขวัญมากกว่า อย่างไรก็ตาม รายได้จากเงินของขวัญนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป (รูปที่ 3) นอกจากนี้ยังพบว่าเงินโอนหรือรายรับจากภาครัฐลดลง ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือจากภายนอกครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นเงินของขวัญจากญาติมิตร หรือรายได้จากภาครัฐไม่ได้มีความต่อเนื่องถาวร ดังนั้นแม่หม้ายจึงต้องพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลักหลังจากสามีเสียชีวิต

รูปที่ 3: การเปลี่ยนแปลงของรายได้ของขวัญในครัวเรือนแม่หม้าย

การเปลี่ยนแปลงของรายได้ของขวัญในครัวเรือนแม่หม้าย

ที่มา: ดัดแปลงจากรูปที่ 10 ใน Samutpradit (2024)หมายเหตุ: รูปแสดงการเปลี่ยนแปลงของรายได้ของขวัญในครัวเรือนแม่หม้าย (หน่วย: พันบาท)

เปรียบเทียบกับงานวิจัยในอดีต

งานวิจัยชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยหลายแขนง กลุ่มแรกเป็นงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานของครัวเรือน เมื่อผู้มีรายได้หลักตกงาน โดยทฤษฎีด้านอุปทานแรงงาน (labor supply) ทำนายว่าการทำงานของคู่สมรสจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ คู่สมรสประพฤติตัวเสมือนเป็นคนงานรอง (secondary worker) ในครัวเรือน แต่งานวิจัยส่วนใหญ่มักใช้การเลิกจ้างเป็นสาเหตุให้เกิดการว่างงานของผู้มีรายได้หลัก ซึ่งมักจะทำให้การวิเคราะห์ซับซ้อนขึ้น เนื่องจากการว่างงานที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว สำหรับงานวิจัยของ Samutpradit (2024) ถือว่าการเสียชีวิตเป็นสาเหตุการตกงาน ซึ่งเหมาะกับกรณีของประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่ ทำให้การเสียชีวิตนั้นเปรียบเสมือนกับการว่างงานถาวรและใช้ศึกษาถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมของคู่สมรสได้

งานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มงานวิจัยที่ศึกษากลยุทธ์การรับมือความเสี่ยง ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่ผลที่มีต่อการตัดสินใจทำงานของแรงงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบทบาทของการออมและกลไกการรับมือกับความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น บทบาทของลูก ญาติมิตร รวมไปถึงบทบาทของชุมชน (Jacoby & Skoufias, 1997; Rosenzweig & Wolpin, 1993; Fafchamps et al., 1998)

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มงานวิจัยที่ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของแม่หม้ายอีกด้วย แม้ว่าแม่หม้ายจะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรสูงอายุ (The LoomBa Foundation, 2016) แต่มีงานวิจัยอยู่ค่อนข้างน้อยที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของแม่หม้าย โดยงานวิจัยจำนวนหนึ่งศึกษาการใช้เวลาและกระบวนการปรับตัวหลังจากคู่สมรสเสียชีวิตในบริบทของกลุ่มประเทศ OECD (Utz et al., 2004; Bethencourt & Rios-Rull, 2009; Hahn et al., 2011; Hamermesh et al., 2021) เช่น Hamermesh et al. (2021) พบว่าแม่หม้ายใช้เวลาทำงานบ้านน้อยลง อยู่คนเดียวมากขึ้น เครียดน้อยลง แต่ก็มีความพึงพอใจในชีวิตน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจำนวนไม่มากนักที่ศึกษาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้าย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าแม่หม้ายส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ดำรงชีวิตด้วยเงินบำนาญมากกว่าที่จะอยู่ในกำลังแรงงาน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาว่าความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้ายเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากสามีเสียชีวิต ดังนั้น เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบทที่แตกต่างกันออกไป งานวิจัยของ Samutpradit (2024) จึงมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของแม่หม้ายในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งระบบบำนาญยังไม่มั่นคง และการทำงานตลอดชีวิต (lifetime employment) มีอยู่อย่างแพร่หลาย

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในครัวเรือนหลังจากที่สมาชิกในครัวเรือนเสียชีวิต โดยพบว่าแม่หม้ายผันตัวจากการเป็นคนทำงานในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ส่วนพ่อหม้ายมีแนวโน้มที่จะเลิกทำงาน นอกจากนี้แม่หม้ายยังมีแนวโน้มที่จะรับลูกและญาติคนอื่นมาอยู่ในครัวเรือนและทำงานในธุรกิจของครอบครัวด้วยกันหลังจากสามีเสียชีวิตด้วย ผลการศึกษายังพบว่าถึงแม้เงินของขวัญจากญาติมิตรจะเพิ่มขึ้นในปีที่มีการเสียชีวิต แต่รายได้ส่วนนี้ไม่ได้มีความต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป นอกจากนี้การศึกษานี้ไม่พบหลักฐานว่าแม่หม้ายพึ่งพาเงินจากภาครัฐมากขึ้นหลังจากที่สามีเสียชีวิต ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า ครัวเรือนไทยรับมือความเสี่ยงโดยพึ่งพาสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก คำถามที่ว่าภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ในการช่วยเหลือครัวเรือนให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเสียชีวิตของสมาชิกครัวเรือน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยและศึกษากันต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Bethencourt, C., & Rios-Rull, J.-V. (2009). On the Living Arrangements of Elderly Widows. International Economic Review, 50(3), 773–801.
Borusyak, K., Jaravel, X., & Spiess, J. (2024). Revisiting Event-Study Designs: Robust and Efficient Estimation. The Review of Economic Studies, rdae007.
Coile, C. (2004). Health Shocks and Couples’ Labor Supply Decisions. National Bureau of Economic Research.
Fadlon, I., & Nielsen, T. H. (2021). Family Labor Supply Responses to Severe Health Shocks: Evidence from Danish Administrative Records. American Economic Journal: Applied Economics, 13(3), 1–30.
Fafchamps, M., Udry, C., & Czukas, K. (1998). Drought and Saving in West Africa: Are Livestock a Buffer Stock? Journal of Development Economics, 55(2), 273–305.
Hahn, E. A., Cichy, K. E., Almeida, D. M., & Haley, W. E. (2011). Time Use and Well-being in Older Widows: Adaptation and Resilience. Journal of Women & Aging, 23(2), 149–159.
Hamermesh, D., Myck, M., & Oczkowska, M. (2021). Widows’ Time, Time Stress and Happiness: Adjusting to Loss. National Bureau of Economic Research.
Jacoby, H. G., & Skoufias, E. (1997). Risk, Financial Markets, and Human Capital in a Developing Country. The Review of Economic Studies, 64(3), 311–335.
Rosenzweig, M. R., & Wolpin, K. I. (1993). Credit Market Constraints, Consumption Smoothing, and the Accumulation of Durable Production Assets in Low-income Countries: Investments in Bullocks in India. Journal of Political Economy, 101(2), 223–244.
Samutpradit, S. (2024). Surviving Loss: Coping Strategies among Widow Households in Thai Rural Areas (Discussion Paper No. 213). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
The LoomBa Foundation. (2016). World Widows Report 2016.
Utz, R. L., Reidy, E. B., Carr, D., Nesse, R., & Wortman, C. (2004). The Daily Consequences of Widowhood: The Role of Gender and Intergenerational Transfers on Subsequent Housework Performance. Journal of Family Issues, 25(5), 683–712.

  1. OECD ย่อมาจาก The Organization for Economic Co-operation and Development ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้ว↩
  2. หมายถึงเงินโอนจากญาติและเพื่อน ซึ่งรวมถึงเงินได้รับในพิธีทางศาสนา เช่น งานศพ และงานแต่งงาน↩
สายสวาท สมุทรประดิษฐ์
สายสวาท สมุทรประดิษฐ์
University of Tokyo
Topics: Labor and Demographic EconomicsDevelopmentHealth Economics
Tags: family structurelabor supplyelderly population
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email