Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/7b4d883f16c5af3f325e06fcb9c55cf2/e9a79/cover.png
18 กันยายน 2567
20241726617600000

หนี้: หลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความสมดุลระหว่างปัจจุบันและอนาคต

สาเหตุและทางแก้ "ปัญหาหนี้" เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
ฐิติ ทศบวรพิทวัส พูนผลกุล
หนี้: หลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความสมดุลระหว่างปัจจุบันและอนาคต
excerpt

"หนี้" เป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรระหว่างปัจจุบันและอนาคต ทำให้เรามีทรัพยากรที่สมดุลระหว่างเวลามากขึ้น แต่หากสร้างหนี้มากเกินไปก็จะนำไปสู่ "ปัญหาหนี้" ที่จะส่งผลให้คนหรือสังคมมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงในระยะยาว บทความนี้มองสาเหตุของปัญหาหนี้ในสองระดับ ระดับปัจเจก ที่มาจากทั้งการขาดความรู้และอคติเชิงพฤติกรรมที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด และระดับสังคม ที่เกิดจากสถาบันที่กำหนดโครงสร้างแรงจูงใจและข้อจำกัดที่ทำให้พฤติกรรมของปัจเจกในสังคมนั้นนำไปสู่สังคมที่ไม่ยั่งยืน สาเหตุจากทั้งสองระดับมีความเกี่ยวโยงกันเป็นวัฏจักร เพราะปัจเจกกำหนดสถาบันที่มากระทบต่อพฤติกรรมปัจเจกอีกทอดหนึ่ง ทางออกของ "ปัญหาหนี้" จึงไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องแก้ปัญหาในทั้งสองระดับไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการให้ความรู้ การใช้กลไกช่วยลดอคติเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการออกแบบสถาบันที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง และสิ่งที่ขาดไม่ได้เพื่อแก้ "ปัญหาหนี้" ให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนคือการคำนึงถึงคนรุ่นหลังและความตระหนักถึงว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อลูกหลานในอนาคตอย่างไร

“หนี้” กับ "ปัญหาหนี้"

การสร้าง "หนี้" หรือการกู้ยืม เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการโยกย้ายทรัพยากรระหว่างปัจจุบันและอนาคต ทรัพยากรดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินเสมอไป แต่รวมไปถึงทรัพยากรไม่ว่าจะในรูปสิ่งของ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น เสถียรภาพในระบบการเงิน โดยหนี้สามารถทำให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรระหว่างเวลามากขึ้นหากใช้อย่างเหมาะสม แต่ก็นำไปสู่การสร้างหนี้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากเท่าที่ควร

ตัวอย่างของหนี้ที่ใกล้ตัวเราทุก ๆ คนคือการโยกย้ายรายได้ตลอดช่วงชีวิต (รูปที่ 1) เมื่อวัยเด็กยังไม่มีรายได้ เมื่อเริ่มทำงานรายได้ค่อย ๆ สูงขึ้น และเมื่อสูงวัยรายได้ก็ปรับลดลงอีกครั้ง หากเราจำเป็นต้องกินต้องใช้ตามรายได้ที่มี ก็คงจะมีความสุขเฉพาะช่วงวัยทำงานและไม่มีอะไรกินในช่วงอื่น ๆ ของชีวิต “หนี้” จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรายังสามารถบริโภคและใช้ชีวิตก่อนที่จะเริ่มทำงาน สามารถซื้อบ้านตอนที่เรายังมีรายได้ไม่มาก ไปจนถึงสามารถลงทุนกับการศึกษาเพื่อให้มีทักษะหารายได้ที่สูงขึ้น ในช่วงหลังเกษียณ การออม (หนี้ที่ติดลบ) ก็ช่วยให้เราถ่ายโอนทรัพยากรจากวัยทำงานไปใช้ได้

ในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น ระดับประเทศ ภาครัฐสามารถกู้ยืมเงินอนาคตมาลดความผันผวนจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสามารถกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในระยะยาว ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า "หนี้" ทำให้คนหรือสังคมมีความสุขมากขึ้นได้ และหากใช้ในระดับที่เหมาะก็ไม่ได้กระทบต่อความยั่งยืนของตนเองหรือของระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

แต่หลายครั้งคนหรือสังคมมักก่อหนี้ที่มากเกินไปจนขาดความยั่งยืน นำไปสู่ “ปัญหาหนี้” ที่ส่งผลให้คนหรือสังคมมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงในระยะยาว โดยปัญหาหนี้ที่มีลักษณะที่สำคัญสองประการ

ลักษณะประการแรกคือ “ปัญหาหนี้” มีผลกระทบที่หลากหลาย กล่าวคือ ปัญหาหนี้บางอย่างเป็น “ปัญหาหนี้ในระดับปัจเจก” ที่คนก่อหนี้ต้องชดใช้เองในอนาคต เช่น การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในอนาคต หรือการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ทำให้ไม่มีเงินออมเพียงพอในอนาคต ขณะที่ปัญหาหนี้บางอย่างเป็น “ปัญหาหนี้ในระดับสังคม” ที่คนอื่นในอนาคตต้องมาชดใช้แทน เช่น หนี้สาธารณะที่สูงที่เป็นภาระของคนรุ่นหลังต้องจ่ายคืนและสร้างจำกัดของการดำเนินบทบาทของภาครัฐในอนาคต นอกจากนี้ ในบางครั้งปัญหาหนี้ก็ส่งผลต่อทั้งผู้ก่อหนี้เองและต่อคนในอนาคตด้วย เช่น หากครัวเรือนที่ก่อหนี้ไม่สามารถใช้คืนได้ในอนาคต ก็เป็นปัญหาให้ครัวเรือนดังกล่าวต้องเป็นหนี้และรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจนอาจจะไม่มีทางหลุดพ้นการเป็นหนี้ได้ ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนที่มีโอกาสเป็นหนี้เสียในระดับสูง ก็อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้

ลักษณะประการที่สอง คือ “ปัญหาหนี้” บางอย่างใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล อาจจะหลายสิบปี หรือหลายช่วงอายุคน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล อาจทำให้คนในปัจจุบันไม่ตระหนักหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าว เกิดเป็นปัญหาที่เรียกกันว่า “tragedy of the horizon” (Carney, 2015)

สาเหตุของ “ปัญหาหนี้”

แล้วปัญหาหนี้ดังกล่าวเกิดจากอะไร?

สาเหตุของ “ปัญหาหนี้” แบ่งกว้าง ๆ ได้สองระดับ คือ

  1. จากกระบวนการการตัดสินใจในระดับ ปัจเจก1 ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อปัจเจกนั้น ๆ ในระยะยาว
  2. จากเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในระดับ สังคม (เรียกว่า "สถาบัน") ที่ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจและข้อจำกัดในระดับปัจเจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสังคมที่ยั่งยืนในภาพรวม การตัดสินใจที่ทำให้ตัวปัจเจกเองมีความสุขที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่กำหนดโดยสถาบันจึงนำไปสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน 1: ในทางเศรษฐศาสตร์ เรามักเรียกกันว่า economic agent คือบุคคลหรือองค์กรที่ทำการตัดสินใจด้วยตนเอง

สาเหตุจากระดับปัจเจก

การเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของปัจเจก มักเป็นการเลือกเพื่อให้ตัวปัจเจกเองมีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดตลอดช่วงชีวิต แต่บางครั้งปัจเจกก็มีการเลือกผิด คล้ายกับสถานการณ์ที่เรามักพูดกันว่า "ถ้าให้กลับไปเลือกใหม่ได้จะไม่ทำแบบเดิมอีก" ซึ่ง “ปัญหาหนี้” จากสาเหตุระดับปัจเจกนี้เกิดได้จากทั้งการขาดความรู้และจากอคติเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น

  • การมองโลกในแง่ดีเกินไป (optimism bias) เช่น มองว่าตัวเราน่าจะยังมีสุขภาพที่ดีในอนาคตจึงไม่ดูแลการกินและการออกกำลังกาย หรือมองว่าในอนาคตน่าจะมีรายได้มากขึ้นจึงกู้ยืมเยอะกว่าที่ควรทำในปัจจุบัน
  • การขาดความรู้ขณะตัดสินใจทำให้ตัดสินใจผิด เช่น การเป็นหนี้บัตรเครดิตโดยที่ไม่เข้าใจเงื่อนไขและวิธีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยจนเป็นหนี้สินเกินตัว
  • การที่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้แม้ว่าเราจะมีความรู้เพียงพอ หลายครั้งเราก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าทางเลือกใดจะดีที่สุดเพราะความซับซ้อนของปัญหา เช่น การไม่รู้ว่าควรเก็บออมเงินหรือกู้เงินเท่าไหร่ถึงจะทำให้มีความสุขที่สุดในชีวิต เนื่องจากความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องรายได้และอายุขัย

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาหนี้ในระดับปัจเจกที่เกิดขึ้นบ่อยคือ present bias หรือการที่ปัจเจกให้ความสำคัญกับ “ตัวเองในปัจจุบัน” มากกว่า “ตัวเองในอนาคต” และเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกันตลอดช่วงเวลา (time inconsistent) (Ainslie, 1975) ซึ่งมักจะทำให้ปัจเจกไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ

สมมติว่าเราต้องทำงานอะไรบางอย่างและต้องเลือกว่าจะทำวันนี้หรือพรุ่งนี้ หากเราให้ความสำคัญกับความสุขของตัวเองวันนี้ก็อาจจะเลือกใช้เวลาวันนี้กับการพักผ่อนและเลือกให้ตัวเองในวันพรุ่งนี้ทำงาน แต่เมื่อพรุ่งนี้มาถึง เราก็จะยังให้ความสำคัญกับตัวเองขณะนั้นและเลือกที่จะพักผ่อน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราจะไม่ทำอะไรที่ทำให้ “ตัวเองในปัจจุบัน” แย่ลง แม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้ “ตัวเองในอนาคต” ดีขึ้น ผลสุดท้าย คือเราไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองดีขึ้นเลย ตัวอย่างอื่น ๆ รวมไปถึง การออม การกิน การลงทุน หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น และในทางกลับกัน เราจะทำในสิ่งที่ “ตัวเองในปัจจุบัน” มีความสุขแม้อนาคตเราจะแย่ลง เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดย Frederick et al. (2002) ได้รวบรวมหลายงานศึกษาที่ชี้ว่าจริง ๆ แล้วคนเรามักมีพฤติกรรม present bias ในลักษณะนี้

สาเหตุจากระดับสังคม (สถาบัน)

นอกจากข้อจำกัดทางการตัดสินใจของปัจเจกแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งของ “ปัญหาหนี้” ก็คือปัจจัยที่เกิดจากกฎกติกา รวมไปถึงการบังคับใช้กฎกติกาเหล่านั้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ซึ่ง North (1990) เรียกสิ่งเหล่านี้รวม ๆ ว่า "สถาบัน" โดยข้อจำกัดเหล่านี้อาจเป็นแบบไม่เป็นทางการ เช่น ค่านิยมและขนบธรรมเนียม หรือเป็นทางการ เช่น กฎหมายและรัฐธรรมนูญ ก็ได้

สถาบันทำหน้าที่กำหนดโครงสร้างแรงจูงใจ (payoff functions) และข้อจำกัด (constraints) เปรียบเสมือนเป็นผู้สร้างกฎกติกาเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือลงโทษการกระทำต่าง ๆ ของปัจเจก ขณะที่ปัจเจกเองก็พยายามเลือกในสิ่งที่ทำให้ตนเองความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดภายใต้เกณฑ์แรงจูงใจหรือการลงโทษที่สถาบันสร้างขึ้น ดังนั้นสถาบันที่แตกต่างกันย่อมทำให้พฤติกรรมของปัจเจกในแต่ละสังคมแตกต่างกันด้วย สถาบันที่ไม่สามารถให้แรงจูงใจกับพฤติกรรมที่ยั่งยืน ไม่สามารถลงโทษพฤติกรรมที่ไม่ยั่งยืน หรือไม่สามารถคลายข้อจำกัดที่นำไปสู่การก่อหนี้เกินตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของปัจเจก ก็ย่อมส่งผลให้พฤติกรรมของปัจเจกในสังคมนั้นนำไปสู่ “ปัญหาหนี้ระดับสังคม” ต่อไป แม้การตัดสินใจของปัจเจกจะมีเหตุมีผลที่สุดแล้วก็ตาม

หากเราแบ่งสถาบันออกเป็นสามด้านตามนิยามของ North (1990) จะพอสามารถยกตัวอย่างปัญหาหนี้ทางสังคมที่เกิดจากสถาบันที่ไม่ดีได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • สถาบันเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาด (market failures) เช่น การขาดข้อมูลที่ครบถ้วน (information asymmetry) ในระบบการเงินที่ทำให้เกิดการกู้เกินตัวหรือการปฏิเสธสินเชื่อแก่คนบางกลุ่ม จนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ (imperfect competition) ทำให้การดำเนินธุรกิจขาดประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ, หรือผู้ผลิตที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบระยะยาว (externalities)
  • สถาบันสังคม เช่น ความไม่เสมอภาคด้านโอกาสและการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมภายใต้กฎหมายหรือเส้นสาย ทำให้คนบางกลุ่มไม่เชื่อว่าการลงทุนระยะยาวผ่านการศึกษาหรือการทำงานหนักจะช่วยให้พวกเขาก้าวหน้าขึ้นได้, การขาดโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่ดีทำให้คนไม่สามารถรับมือกับความผันผวนทางรายได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความจำเป็นต้องกู้ยืมโดยไม่มีทางเลือก, หรือการขาดการส่งเสริมความตระหนักรู้ ข้อมูล และความเข้าใจที่เพียงพอ ให้คนรู้ถึงผลของการตัดสินใจของตนเองต่ออนาคตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ในระดับปัจเจก
  • สถาบันการเมือง เช่น ระบบที่ทำให้นักการเมืองต้องมุ่งเน้นผลงานระยะสั้นเพื่อสร้างฐานคะแนนและเพิ่มโอกาสในการได้รับเลือกกลับมา ส่งผลให้มีนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้นโดยไม่คำนึงผลต่อความยั่งยืนระยะยาว (ตัวอย่างเช่น นโยบายรถคันแรกและนโยบายพักหนี้) ขณะที่นโยบายที่ดีในระยะยาวแต่ไม่เห็นผลในระยะสั้นกลับไม่ได้รับความสำคัญ (เช่น การเพิ่มรายได้รัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังหรือนโยบายด้านการศึกษา)
ปัญหาหนี้ในสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกมาอยู่ร่วมกัน

จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดปัญหาหนี้ในระดับสังคมเมื่อหลายปัจเจกอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยสามารถอธิบายได้ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 2 ข้อ คือ

  1. ปัจเจกให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าสิ่งที่เกิดไกลออกไปในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการลดค่า (discounting) สมมติว่าเราให้ค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นปีหน้าเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็น β\betaβ (สมมติค่า .95 เช่น ได้เงิน 100 บาทปีหน้า จะมีค่าเสมือนได้เงิน 95 บาทตอนนี้) สิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้าจะเหลือค่าเพิียง β100=0.006\beta^{100} = 0.006β100=0.006 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน (หรือเงิน 100 บาทจะมีค่าเพียง 60 สตางค์ ในวันนี้) ดังนั้น การตัดสินใจระดับปัจเจกที่ประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ (cost-benefit analysis) ก็ย่อมเน้นผลประโยชน์หรือต้นทุนที่เกิดขึ้นในระยะสั้นมากกว่าโดยไม่คำนึงผลระยะยาวมากนัก
รูปที่ 2: ภาพแสดงการให้มูลค่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเทียบกับปัจจุบัน

ภาพแสดงการให้มูลค่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตเทียบกับปัจจุบัน

  1. ปัจเจกที่อยู่ร่วมกันและเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมมักพยายามกอบโกยประโยชน์จากทรัพยากร ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป (tragedy of the commons) และทำให้คุณภาพชีวิตหรือความสุขของคนรุ่นหลังแย่กว่าคนรุ่นปัจจุบัน (Gordon, 2019) นอกจากนี้ การเลือกของคนมีชีวิตอยู่ในรุ่นปัจจุบันยังมักส่งผลลบกับคนในอนาคต (intergenerational externalities) แต่คนในอนาคตกลับไม่สามารถต่อรองหรือกำหนดสิ่งที่คนปัจจุบันทำได้
รูปที่ 3: ภาพแสดงการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปเมื่อปัจเจกอยู่ร่วมกัน

ภาพแสดงการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปเมื่อปัจเจกอยู่ร่วมกัน

ปัจเจก ↔\leftrightarrow↔ สถาบัน

หากย้อนกลับไปมองสาเหตุจากสองระดับ เห็นได้ว่าสาเหตุด้านสถาบัน (กฎกติกาที่สถาบันกำหนดหรือล้มเหลวที่จะกำหนด) มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของปัจเจกให้ไม่คำนึงถึงอนาคต ขณะเดียวกัน สถาบันก็ถูกกำหนดขึ้นจากปัจเจกในสังคม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมผ่านตัวแทนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตยที่กฎกติกาควรจะสะท้อนความต้องการของสังคม ถ้าปัจเจกในสังคมมี present bias ขาดความรู้ หรือมีอคติเชิงพฤติกรรมอื่น ๆ ก็อาจนำไปสู่การอยากมีสถาบันที่หล่อเลี้ยงพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาหนี้ในสังคม จนกลายเป็นวัฏจักร (รูปที่ 4)

รูปที่ 4: ภาพแสดงความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจก สังคม และสถาบัน

ภาพแสดงความเชื่อมโยงระหว่างปัจเจก สังคม และสถาบัน

ทางออกของ "ปัญหาหนี้"

เราเห็นแล้วว่าปัญหาหนี้มีสาเหตุจากทั้งระดับปัจเจกและจากสถาบัน และสองสาเหตุยังมีความเชื่อมโยงกันเป็นวงจร การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องทำไปทั้งสองระดับพร้อม ๆ กัน คือ ต้องให้ความรู้และออกแบบกลไกเพื่อลดอคติเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ ของปัจเจก ควบคู่ไปกับการออกแบบสถาบันเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจและคลายข้อจำกัดของปัจเจกที่อยู่ในสังคม เพื่อให้พฤติกรรมในระดับปัจเจกนำไปสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทางแก้ในระดับปัจเจก

มีกลไกหลายอย่างที่สามารถช่วยให้ปัจเจกก้าวข้ามอคติเชิงพฤติกรรม เช่น การใช้แรงจูงใจและการลงโทษ (carrot and stick) การใช้เครื่องมือสร้างเงื่อนไขผูกมัด (commitment device) ไปจนถึงการใช้กลไกที่ก้าวข้ามกระบวนการตัดสินใจของปัจเจก (bypass) เป็นต้น ซึ่งการใช้กลไกเหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ปัจเจกตัดสินใจอย่างมีความรู้และมีข้อมูลที่เพียงพอด้วย (informed decision making)

การใช้แรงจูงใจและการลงโทษช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมปัจเจก โดยการใช้แรงจูงใจเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี เช่น การให้รางวัลตัวเองหลังจากทำอะไรบางอย่างสำเร็จ ในทางกลับกัน การสร้างบทลงโทษก็สามารถช่วยให้ปัจเจกเลี่ยงทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้ เช่น การสัญญากับตัวเองว่าจะบริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่เราไม่ชอบทุกครั้งที่สูบบุหรี่

การใช้ commitment device เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาจาก present bias ในตอนต้นเราเห็นแล้วว่า present bias เกิดจากการที่เรามองตัวเองในอนาคตเป็นเหมือนคนอีกคนหนึ่ง ทำให้เกิดการผลักภาระหรือสิ่งที่ควรทำไปให้ตัวเราเองในอนาคต หลายงานศึกษาอธิบายว่าปัญหานี้เกิดจากปัญหาการควบคุมตนเอง (self-control) เช่น ควบคุมตนเองให้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ได้แม้จะตั้งใจเอาไว้แล้ว โดย Strotz (1973) กล่าวว่า commitment device จะช่วยให้เราสามารถทำสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นการสร้างข้อผูกมัด (binding) ให้เลือกพฤติกรรมที่เราคิดว่าเหมาะสมไว้ล่วงหน้า

จริง ๆ แล้ว commitment device เหล่านี้เห็นได้ทั่ว ๆ ไป เช่น ในการตัดสินใจถือครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย (Laibson, 1997) เพราะหากปัจเจกตัดสินใจถือสินทรัพย์เหล่านี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะขายออกไปได้ง่าย ๆ เหมือนเป็นการผูกมัดตัวเองว่าจะถือครองไปซักระยะหนึ่ง เช่น การซื้อกองทุน RMF ที่ไม่สามารถขายคืนได้จนกว่าปัจเจกจะถือไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี อีกตัวอย่างหนึ่ง คือโครงการ "Save More Tomorrow" ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการผัดวันประกันพรุ่งที่ทำให้คนเลื่อนการออมออกไป โครงการนี้ให้ผู้เข้าร่วมตกลงล่วงหน้าว่าจะนำเงินจากการขึ้นเงินเดือนในอนาคตไปใส่ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อการเกษียณอายุต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี (เท่ากับการขึ้นเงินเดือนรอบปี 4 ครั้ง) ผลของโครงการพบว่าอัตราการออมเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 13.6% ภายในระยะเวลา 40 เดือน (Thaler & Shefrin, 1981)

อีกกลไกหนึ่งคือการ bypass กระบวนการตัดสินใจของปัจเจกเพื่อเลี่ยงอคติเชิงพฤติกรรม ตัวอย่างกลไกลักษณะนี้คือการใช้การกำหนดค่าตั้งต้น (default option) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่ปัจเจกควรปฏิบัติ เพราะปัจเจกมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้ามากกว่าที่จะเปลี่ยนตัวเลือกไปทำสิ่งอื่น เช่น ในกรณีของการบริจาคอวัยวะในสหรัฐฯ การกำหนดค่าตั้งต้นให้เลือกบริจาคช่วยให้มีสัดส่วนผู้บริจาคมากขึ้น (Johnson & Goldstein, 2003) หรือการกำหนดค่าตั้งตนของอัตราการออมที่สูงในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทางแก้ในระดับสถาบัน

การแก้ปัญหาหนี้ในระดับสังคมจำเป็นต้องเริ่มจากการออกแบบ "สถาบัน" ที่มีกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อควบคุมไม่ให้ปัจเจกที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่น จริง ๆ ทุกวันนี้เรามีกฎเกณฑ์ดูแลผลกระทบเชิงลบสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว เช่น การมีกฎว่าห้ามทำร้ายกัน ห้ามขโมยของ หรือ การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่สถาบันเหล่านี้ยังต้องคำนึงถึงสิทธิของปัจเจกรุ่นหลังที่ยังไม่เกิด ซึ่งควรมีสิทธิในทรัพยากรที่ไม่ถูกทำลายหรือเสื่อมถอยไปกว่ารุ่นปัจจุบัน (equity commitment to the future) เนื่องจากทรัพยากรไม่ได้เป็นของคนในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว (Padilla, 2002) หากสถาบันไม่สามารถสร้างเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ช่วยปกป้องทรัพยากรให้คนรุ่นหลังได้อย่างเพียงพอ ปัญหาหนี้ในระดับสังคมก็จะยังคงมีอยู่และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

สถาบันเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจึงมีความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ โดยสถาบันเศรษฐกิจที่ดีควรสามารถจัดการปัญหาตลาดที่ล้มเหลว (market failures) ได้ ซึ่ง Stiglitz & Rosengard (2015) อธิบายตัวอย่าง market failures ต่าง ๆ ไว้ เช่น

  1. ผลกระทบภายนอก (externalities): รัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากการกระทำที่มีผลกระทบต่อสังคมเพื่อให้แรงจูงใจสอดคล้องกับต้นทุนทางสังคม เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการปล่อยมลพิษ
  2. ตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (incomplete market): การให้บริการที่เอกชนไม่สามารถจัดหาด้วยตัวเอง เช่น ระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือการประกันรายได้จากการว่างงาน
  3. ความล้มเหลวของข้อมูล (information failures): การบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เช่น การกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  4. ปัญหาการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ (failure of competition): รัฐต้องมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

ในด้านของสถาบันสังคม การสร้างความยุติธรรมทางสังคม (social justice) จำเป็นต้องดำเนินการทั้งในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสินทรัพย์ รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางโอกาสและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ในขณะเดียวกัน การเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง จะช่วยให้บุคคลมีทักษะในการสร้างรายได้และสามารถตัดสินใจทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนและลดปัญหาหนี้ในระดับปัจเจกและสังคมในระยะยาว

ในด้านสถาบันการเมือง จำเป็นต้องมีกลไกที่สนับสนุนการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว เช่น การจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระ (independent fiscal institutions) เพื่อให้มีการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างโปร่งใสและยั่งยืน รวมไปถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการคลัง (fiscal rules) เช่น การจำกัดระดับหนี้สาธารณะต่อขนาดเศรษฐกิจหรือจำกัดการใช้จ่ายในแต่ละปีของรัฐ (รายละเอียดเพิ่มเติมใน Yared, 2019 และ Lledó et al., 2017) หรือในตัวอย่างของสิงคโปร์ที่รัฐบาลต้องรักษางบประมาณสมดุลในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่แต่ละรัฐบาลอยู่ในอำนาจ หรือการใช้กฎการคลัง เป็นต้น

ความท้าทายในการแก้ "ปัญหาหนี้" ระดับสถาบัน

ทั้งนี้ โจทย์การแก้ปัญหาหนี้ในระดับสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น

  1. เนื่องจากปัญหาเกิดจากหลายระดับและหลายสาเหตุ การแก้ไขปัญหาจึงต้องคิดแบบองค์รวมและไม่สามารถแก้ด้านใดเพียงด้านเดียว เช่น การแก้ปัญหาด้านการผูกขาดการแข่งขัน แต่หากขาดนโยบายดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น carbon tax) ก็ยังอาจกระทบต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว หรือการมี carbon tax แต่ไม่แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือความล้มเหลวของข้อมูลก็อาจจะทำให้คนตัวเล็กที่มีศักยภาพแต่เข้าไม่ถึงเงินทุนไม่สามารถอยู่ได้
  2. การปรับเปลี่ยนระบบเป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะทำให้สังคมโดยรวมดีและยั่งยืนขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นเรื่องสำคัญ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดผลที่ไม่คาดคิด เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอาจกระทบกับปัจเจกบางกลุ่มได้ อย่างบริษัทเล็กที่ขาดเงินทุนและผู้ที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เป็นต้น นอกจากนี้ การกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลระยะสั้น เพราะการปรับเปลี่ยนระบบมักหมายถึงระดับการบริโภคและความสุขเริ่มต้นที่ลดลงเพื่อให้เศรษฐกิจสังคมในภาพรวมยั่งยืนขึ้น
  3. สังคมสูงอายุ หมายถึงขอบเขตการตัดสินใจเฉลี่ยของคนจะสั้นลง ทำให้คนกลุ่มนี้หากไม่คำนึงถึงผู้อื่นในสังคมและไม่ตัดสินใจโดยยึดหลักความยั่งยืน ก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรมากเกินไป โดยศึกษาของ Parker (2012) และ Wolter et al. (2012) พบว่าครัวเรือนอายุน้อยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางการคลังกว่าครัวเรือนสูงอายุ สอดคล้องกับขอบเขตการตัดสินใจของครัวเรือนอายุน้อยที่สั้นกว่า
  4. การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจเกิดความล้มเหลวในการประสานงาน (coordination failure) ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าทุกประเทศจะตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีหรือมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไปพร้อม ๆ กันได้ ก็จะไม่มีประเทศใดยอมเริ่มต้นทำก่อน
  5. จำเป็นต้องมีการจัดการทางสถาบัน (institutional arrangements) ที่ช่วยให้กลไกต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย เช่น การมีหลักนิติธรรม (rule of law) ที่สามารถบังคับใช้กลไกต่าง ๆ ได้ การมีความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแล และการมีผู้นำหรือเจ้าภาพที่สามารถขับเคลื่อนกลไกเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผล

สิ่งจำเป็นในการแก้ “ปัญหาหนี้”

มาถึงตรงนี้ เราเห็นถึงทางแก้ต่าง ๆ ในระดับปัจเจกและระดับสถาบัน แต่หากย้อนกลับไป ต้องไม่ลืมว่าปัจเจกและสถาบันมีส่วนกำหนดซึ่งกันและกันเป็นวัฏจักร จาก Economics Box: ปัญหาหนี้ในสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกมาอยู่ร่วมกัน เห็นได้ว่าพฤติกรรมในระดับปัจเจกมีแนวโน้วที่จะนำไปสู่ปัญหาหนี้ในระดับสังคม ซึ่งปัจเจกเหล่านี้ก็ย่อมอยากมีสถาบันที่เอื้อให้หล่อเลี้ยงพฤติกรรมดังกล่าว

แล้วอะไรจะทำให้ปัจเจกอยากสร้างสถาบันที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้?

คำตอบประกอบไปด้วยสองส่วน

  1. การคำนึงถึงคนรุ่นหลัง หรือขอเรียกง่าย ๆ ว่า ความแคร์ (care) เพราะหากปัจเจกไม่แคร์แล้วก็คงจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับตัวเองในปัจจุบันมากที่สุดจนขาดความยั่งยืนระยะยาว จริง ๆ แล้วเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (development economics) อธิบาย "ความยั่งยืน" แบบกว้าง ๆ ว่า คนที่เกิดมาในอนาคตต้องมีคุณภาพชีวิตหรือความสุขในระดับที่เทียบเท่าหรือดีกว่าคนรุ่นก่อนหน้าไปเรื่อย ๆ (Howarth & Norgaard, 1993) พูดง่าย ๆ ก็คือ ลูกของเราจะต้องมีความสุขไม่น้อยกว่าเราเอง และหลานของเราก็จะต้องมีความสุขไม่น้อยกว่าลูกเรา เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อปัจเจกแคร์ จึงนำไปสู่สังคมที่แคร์ และนำไปสู่ผู้มีอำนาจการปกครองที่แคร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จึงจะเกิดสถาบันที่ดีขึ้นได้

  2. ความตระหนัก (aware) หากทุกคนแคร์แต่ขาดความตระหนักว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้ สิ่งไหนส่งผลดีหรือส่งผลเสียต่อตัวเราเองหรือลูกหลานในอนาคต ก็ไม่สามารถนำไปสู่การออกแบบสถาบันที่ให้แรงจูงใจและข้อจำกัดที่นำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนได้

บทสรุป

ปัญหาหนี้เกิดจากการยืมทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ในปัจจุบันมากเกินจุดสมดุลจนนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน ซึ่งเห็นได้ทั่วไปทั้งในระดับปัจเจก เช่น เป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนหรือหนี้สุขภาพ ไปจนถึงระดับสังคม เช่น ปัญหาหนี้สิ่งแวดล้อม ปัญหาหนี้การคลัง หรือปัญหาหนี้จากการลงทุนต่ำเพราะขาดการแข่งขัน

ปัญหาหนี้เหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ ในระดับปัจเจก มักเกิดจากการขาดความรู้และอคติเชิงพฤติกรรม และในระดับสังคมมักเกิดจากการที่สถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไม่สามารถออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจและข้อจำกัดให้ปัจเจกมีพฤติกรรมที่นำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

ด้วยความซับซ้อนของปัญหาหนี้ ทำให้การแก้ต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันในสองระดับ โดยให้ความรู้และลดอคติเชิงพฤติกรรมของปัจเจก เช่น ผ่านการใช้ commitment device ให้ปัจเจกสามารถสร้างข้อผูกมัดเพื่อให้สามารถทำสิ่งที่ควรทำได้ และการออกแบบสถาบันที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของปัจเจกให้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังและคำนึงถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว รวมถึงช่วยลดโอกาสที่ปัจเจกจะต้องสร้างปัญหาหนี้โดยไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องเผชิญมีความท้าทายหลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาหนี้ด้านหนึ่งอาจส่งผลให้ปัญหาหนี้อีกด้านรุนแรงขึ้นจึงต้องคิดวิธีแก้แบบองค์รวม การดูแลผลกระทบระยะสั้นจากปัญหาหนี้ที่สะสมมาในอดีต การจัดการทางสถาบัน (institutional arrangements) ที่ช่วยให้กลไกต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและการยอมรับในสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของการตัดสินใจที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมแนวคิดที่คำนึงถึงคนรุ่นหลังและความตระหนักต่อปัญหา

การเริ่มต้นแก้ปัญหาหนี้ที่มีความซับซ้อนและมีหลายมิติคงต้องเริ่มจากการทำสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน โดยคำนึงว่าสิ่งเหล่านี้ต้องนำไปสู่การพัฒนาสถาบันในภาพรวมที่ดีขึ้น เมื่อเริ่มต้นได้อย่างเหมาะสมอาจช่วยขยายความตระหนักรู้ในวงที่กว้างขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาในลำดับที่มีความท้าทายขึ้นจากทั้งระดับปัจเจกและสังคมที่จะช่วยนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กิตติกรรมประกาศ

คณะผู้เขียนขอขอบคุณ ศ. ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ และ ดร.นฎา วะสี สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนบทความนี้

เอกสารอ้างอิง

Ainslie, G. (1975). Specious reward: a behavioral theory of impulsiveness and impulse control. Psychological Bulletin, 82(4), 463.
Carney, M. (2015). Breaking the tragedy of the horizon–climate change and financial stability. Speech given at Lloyd’s of London, 29, 220–230.
Frederick, S., Loewenstein, G., & O’donoghue, T. (2002). Time discounting and time preference: A critical review. Journal of Economic Literature, 40(2), 351–401.
Gordon, H. S. (2019). The Economic Theory of a Common-Property Resource: The Fishery. In Fisheries Economics, Volume I (pp. 3–21). Routledge.
Howarth, R. B., & Norgaard, R. B. (1993). Intergenerational transfers and the social discount rate. Environmental and Resource Economics, 3, 337–358.
Johnson, E. J., & Goldstein, D. (2003). Do defaults save lives? In Science (Vol. 302, pp. 1338–1339). American Association for the Advancement of Science.
Laibson, D. (1997). Golden eggs and hyperbolic discounting. The Quarterly Journal of Economics, 112(2), 443–478.
Lledó, V., Yoon, S., Fang, X., Mbaye, S., & Kim, Y. (2017). Fiscal rules at a glance. International Monetary Fund, 2–77.
North, D. C. (1990). Institutions, institutional change and economic performance (Vol. 332). Cambridge university press.
Padilla, E. (2002). Intergenerational equity and sustainability. Ecological Economics, 41(1), 69–83.
Parker, K. (2012). The big generation gap at the polls is echoed in attitudes on budget tradeoffs.
Stiglitz, J. E., & Rosengard, J. K. (2015). Economics of the public sector: Fourth international student edition. WW Norton & Company.
Strotz, R. H. (1973). Myopia and inconsistency in dynamic utility maximization. Springer.
Thaler, R. H., & Shefrin, H. M. (1981). An economic theory of self-control. Journal of Political Economy, 89(2), 392–406.
Wolter, K., Hansen, M., Campbell, A., & Ansolabehere, S. (2012). NORC Presidential Election Study: Americans’ Views on Entitlement Reform and Health Care.
Yared, P. (2019). Rising government debt: Causes and solutions for a decades-old trend. Journal of Economic Perspectives, 33(2), 115–140.
ฐิติ ทศบวร
ฐิติ ทศบวร
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
พิทวัส พูนผลกุล
พิทวัส พูนผลกุล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Public EconomicsBehavioral EconomicsWelfare Economics
Tags: debtsustainabilityexternalitiesmarket failures
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email