Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/5d6e19a6591444da710904dce09115ec/41624/cover.jpg
18 กันยายน 2567
20241726617600000

นโยบายสาธารณะกับหนี้ภาครัฐ : ปัญหาการ “มองสั้น” ของรัฐไทย

การมองสั้นเชิงนโยบายเป็นอุปสรรคของการพัฒนา ถึงเวลาสร้างกลไกที่ผลักดันให้นักการเมืองมีวิสัยทัศน์ระยะยาว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของไทย
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
นโยบายสาธารณะกับหนี้ภาครัฐ : ปัญหาการ “มองสั้น” ของรัฐไทย
excerpt

บทความนี้วิเคราะห์ปัญหาการ "มองสั้น" ในนโยบายสาธารณะของไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความแพร่หลายของปัญหานี้ผ่านตัวอย่างนโยบายต่างๆ และสัญญาณอันตรายของการมองสั้นเชิงระบบที่ปรากฏในรูปแบบการขาดดุลการคลังเรื้อรัง ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงต้นทุนและค่าเสียโอกาสสำคัญของประเทศหากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป พร้อมวิเคราะห์สาเหตุและกลไกสถาบันที่เกี่ยวข้องผ่านการเปรียบเทียบกับแนวทางของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เสนอแนวทางการสร้างกลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพสำหรับประเทศไทย ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศที่เสริมพลังภาคประชาสังคมในการผลักดันนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

การมองสั้นในนโยบายสาธารณะไทย

การ "มองสั้น" ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ในกรณีของประเทศไทย หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาการมองสั้นนี้คือ นโยบายด้านภาษีของประเทศในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อย้อนกลับไป ในปี 1990 ธนาคารโลกได้จัดประเภทให้ 85 ประเทศเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หลังจากนั้นราวสามทศวรรษ มีเพียง 22 ประเทศที่สามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ในกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จนี้ ราวร้อยละ 55 เป็นเกาะขนาดเล็ก ร้อยละ 18 เป็นประเทศในทวีปยุโรปซึ่งได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และร้อยละ 14 เป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากทรัพยากรน้ำมัน เหลือเพียง 3 ประเทศที่มีโมเดลการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ ชิลี และอุรุกวัย

เมื่อพิจารณาพัฒนาการด้านภาษีของ 3 ประเทศนี้ พบว่ามีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้จากภาษี โดยสาธารณรัฐเกาหลีมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ทั้งชิลีและอุรุกวัยมีการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 20 ของ GDP (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของประเทศไทย พบว่ามีความแตกต่างอย่างน่าสนใจ นั่นคือรายได้จากภาษีของไทยลดลงจากร้อยละ 17 เหลือเพียงร้อยละ 16 ของ GDP ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกับสมมติฐานทั่วไปที่ว่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีการลดลงของเศรษฐกิจนอกระบบ ควรมีรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น

รูปที่ 1: รายได้ภาษี : รัฐบาลไทย vs. ประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

รายได้ภาษี : รัฐบาลไทย vs. ประเทศที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

หมายเหตุ: รวมรายได้ภาษีทั้งหมดและใช้ข้อมูลล่าสุดที่ครอบคลุมทุกประเทศที่มา: เรียบเรียงจาก อธิภัทร (2022) และใช้ข้อมูลล่าสุดจาก United Nation University (UNU)

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นี้คือ "ช่องว่างเชิงนโยบาย" หรือ policy gap ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสำคัญหลายครั้ง แต่แทบทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การลดภาระภาษีให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมและง่ายต่อการดำเนินการในทางการเมือง มีการปรับโครงสร้างภาษีสำคัญเพียงครั้งเดียวที่เป็นการเพิ่มรายได้ให้รัฐ นั่นคือการเปลี่ยนจากภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 1992 (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสำคัญในช่วง 1991–2024

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสำคัญในช่วง 1991–2024

หมายเหตุ: รวมรายได้ภาษีทั้งหมดและใช้ข้อมูลล่าสุดที่ครอบคลุมทุกประเทศที่มา: เรียบเรียงจาก อธิภัทร (2022)

ผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ในปัจจุบัน รายได้ของรัฐบาลไทยเพียงพอแค่สำหรับรายจ่ายประจำและการชำระหนี้เท่านั้น การลดลงของรายได้ภาษีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา "การมองสั้น" ในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังในการวางแผนพัฒนาประเทศในอนาคต การแก้ไขปัญหาการ "มองสั้น" นี้จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลไกในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นประเด็นหลักของบทความนี้

"การมองสั้น" ในบริบทนโยบาย หมายถึงการดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นผลระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวอย่างเพียงพอ ซึ่งมักจะมาจากนักการเมืองเป็นหลัก โดยมีตัวอย่างนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้นที่สำคัญ ดังนี้

  • มาตรการคืนภาษีสรรพสามิตรถคันแรก แม้จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในระยะสั้น แต่งานวิจัยของ Muthitacharoen et al. (2019) ชี้ว่าในระยะยาว โครงการนี้เพิ่มแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ
  • การพักชำระหนี้เกษตรกร Ratanavararak & Chantarat (2023) ชี้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2557–2566 มีการพักหนี้เกษตรกรถึง 13 มาตรการใหญ่ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการมียอดหนี้สูงขึ้น มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น และมีโอกาสกลับเข้าไปพักหนี้ซ้ำ สะท้อนถึงปัญหา moral hazard หรือกล่าวคือ นโยบายสร้างแรงจูงใจที่เป็นผลเสีย หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้เข้าร่วมเอง
  • การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แม้จะช่วยลดต้นทุนขนส่งในระยะสั้น แต่ในระยะยาว Del Granado et al. (2012) ชี้ว่านโยบายนี้ไม่ส่งเสริมการปรับตัวสู่การขนส่งที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่น่ากังวลคือ เรากำลังเห็นสัญญาณอันตรายของการมองสั้นเชิงระบบ ที่ปรากฏในรูปแบบของการขาดดุลการคลังเรื้อรัง ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประสบภาวะขาดดุลแทบทุกปี โดยขนาดของการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตอย่างมีนัยสำคัญนี้อาจสะท้อนถึงขนาดที่รุนแรงขึ้นของปัญหาการกำหนดนโยบายที่ขาดวิสัยทัศน์ระยะยาว (รูปที่ 3)

รูปที่ 3: ดุลการคลัง (% of GDP)

ดุลการคลัง (% of GDP)

หมายเหตุ: ดุลการคลังรวมถึงดุลงบประมาณและดุลนอกงบประมาณ และไม่รวมการกู้ยืมฉุกเฉินภายใต้กฎหมายพิเศษที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทำไมคนไทยต้องตื่นตัว : ผลกระทบของการมองสั้นต่ออนาคตของประเทศ

หากปล่อยให้การมองสั้นทางนโยบายดำเนินต่อไป เราจะต้องแบกรับต้นทุนสำคัญในระยะยาว โดยแบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ

การสูญเสียจุดแข็งด้านเสถียรภาพทางการคลัง

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศที่มีอันดับต่ำกว่าเราหนึ่งระดับ (BBB) พบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของไทยได้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับของประเทศเหล่านั้น (รูปที่ 4) ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญที่องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้ในการประเมิน มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกิน 10% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สถานการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่าภาคการคลังไม่ได้เป็นจุดแข็งของไทยเหมือนในอดีต ซึ่งชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อวินัยการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการระดมทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน

รูปที่ 4: หนี้สาธารณะและสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิ

หนี้สาธารณะและสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิ

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของ Fitch IMF และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้รัฐ

การขาดดุลการคลังเรื้อรังส่งผลให้รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 10% ของงบประมาณทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า (รูปที่ 5) การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะซ้ำเติมความยืดหยุ่นทางการคลังซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอยู่แล้ว เนื่องจากรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน เช่น ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าสวัสดิการ และการชำระหนี้ คิดเป็น 70% ของงบประมาณทั้งหมด ส่งผลอย่างมากต่อขีดความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรับมือต่อวิกฤตในอนาคต

รูปที่ 5: ภาระหนี้และรายจ่ายของรัฐที่ยากต่อการลดทอน

ภาระหนี้และรายจ่ายของรัฐที่ยากต่อการลดทอน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การติดอยู่ในวังวนของการมองสั้นเชิงนโยบาย ซึ่งสร้างผลกระทบที่กว้างขวางทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม

หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่าประเทศที่มีการใช้นโยบายประชานิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมองสั้นทางนโยบาย มักเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง (รูปที่ 6) ความสัมพันธ์นี้ชี้ว่าการมองสั้นเชิงนโยบายไม่เพียงส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังอาจทวีความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในทางกลับกัน ความเหลื่อมล้ำที่สูงก็อาจยิ่งกระตุ้นความต้องการนโยบายประชานิยมระยะสั้นมากขึ้น สร้างวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ที่ยากจะหลุดพ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดวงจรนี้ โดยการแก้ไขปัญหาการมองสั้นเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต

รูปที่ 6: ความเหลื่อมล้ำและความแพร่หลายของนโยบายประชานิยม

ความเหลื่อมล้ำและความแพร่หลายของนโยบายประชานิยม

หมายเหตุ:1) วัดความแพร่หลายของของนโยบายประชานิยมจากสัดส่วนคะแนนเสียง (%) ของพรรคประชานิยม 2) นิยามพรรคประชานิยมว่าเป็นพรรคที่ (ก) มักเน้นนโยบายระยะสั้นที่ดึงดูดใจประชาชนในทันที แต่อาจไม่ยั่งยืนทางการเงินหรือสถาบัน และ (ข) มีชื่อเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและสถาบันที่มีอยู่ซึ่งสนับสนุนความยั่งยืน และ 3) ข้อมูลของประเทศส่วนใหญ่มาจากช่วงปี 2016–2017 ขึ้นอยู่กับวันเลือกตั้งระดับชาติในประเทศยุโรปต่าง ๆ ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของ Stoetzer et al. (2023) , European Social Survey และ Standardized World Income Inequality Database

สาเหตุของการมองสั้นเชิงนโยบาย และกลไกสถาบันในต่างประเทศและไทย

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองมักจะมองสั้น? การตอบคำถามนี้ต้องพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่มุ่งผลระยะสั้น ในด้านอุปสงค์หรือความต้องการของประชาชน Guiso et al. (2017) ชี้ว่าความไม่เพียงพอของสวัสดิการและการขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐเป็นปัจจัยสำคัญ นั่นคือเมื่อประชาชนไม่มั่นใจในสภาพความเป็นอยู่และความเพียงพอของระบบสวัสดิการของรัฐ สาธารณชนก็มีแนวโน้มที่จะต้องการได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทันที จากนโยบายหาเสียงต่าง ๆ แนวโน้มนี้นำไปสู่การให้ความสำคัญต่อพันธะสัญญาของนักการเมือง ประชาชนมักจะให้น้ำหนักกับมาตรการที่ให้ผลประโยชน์ชัดเจนในระยะสั้น มากกว่านโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าให้ผลดีในระยะยาวแต่ไม่เห็นผลทันที (รูปที่ 7)

รูปที่ 7: อุปสงค์และอุปทานของนโยบายสาธารณะที่มุ่งผลระยะสั้น

อุปสงค์และอุปทานของนโยบายสาธารณะที่มุ่งผลระยะสั้น

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

ในด้านอุปทานหรือการตอบสนองของนักการเมืองและรัฐบาลนั้นมักถูกขับเคลื่อนโดยสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. วงจรการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้นักการเมืองต้องการนโยบายประเภท quick win โดยไม่สนใจผลกระทบระยะยาวเพียงพอ
  2. ความอ่อนแอของกลไกสถาบัน เมื่อสถาบันที่ควรทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เข้มแข็งพอ การดำเนินนโยบายระยะสั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย

ทั้งอุปสงค์และอุปทานนี้สร้างวงจรที่ทำให้การมองสั้นในนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหลายประเทศได้ประสบปัญหานี้เช่นกัน แม้แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ก็ยังจำเป็นต้องมีกลไกเชิงสถาบันเพื่อป้องกันผลลัพธ์ทางนโยบายที่ไม่พึงประสงค์ ในประเทศพัฒนาแล้ว จึงมักมีการออกแบบกลไกเพื่อสร้างธรรมาภิบาลทางการคลัง (fiscal governance) โดยประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก

องค์ประกอบแรกคือกฎการคลัง ซึ่งเป็นเกณฑ์ทางการคลังที่รัฐต้องยึดถือปฏิบัติ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่สร้างพันธสัญญา (commitment device) ให้แก่รัฐบาล เช่น การกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เช่น เกาหลีใต้และไทย หรือการกำหนดให้มีการจัดทำงบการคลังสมดุล (balanced budget) ในช่วงวาระของรัฐบาล เช่น สหราชอาณาจักรและสิงคโปร์ โดยกฎการคลังเกี่ยวกับงบการคลังสมดุลและหนี้สาธารณะได้ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประเทศต่าง ๆ (รูปที่ 8)

รูปที่ 8: จำนวนประเทศที่มีกฎการคลังประเภทต่าง ๆ (2020)

จำนวนประเทศที่มีกฎการคลังประเภทต่าง ๆ (2020)

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของ Davoodi et al. (2022)

องค์ประกอบที่สองคือกลไกติดตามวินัยการคลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของสถาบันการคลังอิสระ (fiscal councils/independent fiscal institutions) เช่น Congressional Budget Office (CBO) ในสหรัฐอเมริกา และ Office of Budget Responsibility (OBR) ในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันราว 50 ประเทศทั่วโลกมีการจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระแล้ว และที่น่าสนใจคือสัดส่วนของประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 9)

รูปที่ 9: จำนวนประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระทั่วโลกแบ่งตามระดับการพัฒนา (1991–2021)

จำนวนประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระทั่วโลกแบ่งตามระดับการพัฒนา (1991–2021)

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของ Davoodi et al. (2022)

ภายใต้กลไกเพื่อสร้างธรรมมาภิบาลทางการคลังของประเทศพัฒนาแล้ว (รูปที่ 10) กฎการคลังทำหน้าที่กำหนดขอบเขตทางการคลัง และกลไกติดตามวินัยการคลังทำหน้าที่ประเมินวินัยการคลัง รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎการคลังของรัฐบาล ในประเทศได้ให้สถาบันการคลังอิสระเป็นกลไกติดตามวินัยการคลัง ซึ่งการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องไม่เพียงพิจารณาว่ารัฐบาลปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ว่าการกระทำของรัฐบาลนั้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎการคลังและหลักการความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวหรือไม่ นอกจากนี้สถาบันการคลังอิสระยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารผลการศึกษาด้านนโยบายสู่ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการกดดันต่อนักการเมืองให้คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง หน้าที่ของรัฐบาลในกลไกนี้คือการเปิดเผยข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอแก่การทำงานของกลไกติดตามวินัยการคลัง

รูปที่ 10: กลไกเพื่อสร้างธรรมาภิบาลทางการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว

กลไกเพื่อสร้างธรรมาภิบาลทางการคลังในประเทศพัฒนาแล้ว

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งของการกำกับวินัยการคลังก็คือ แนวโน้มของรัฐบาลที่มักจะประมาณการทางการคลังในแง่ดีเกินจริง (overoptimism) ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาษีอย่างมีนัยสำคัญ ความสามารถในการลดรายจ่ายของตนเอง ซึ่งส่งผลให้ในท้ายที่สุด รัฐไม่สามารถปฏิบัติตามกฎการคลังที่วางไว้ได้จริง หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่าสถาบันการคลังอิสระมีบทบาทสำคัญในการลดทอนการมองโลกในแง่ดีเกินจริงของรัฐบาล โดย Beetsma et al. (2019) แสดงให้เห็นว่า ในประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระ ความคลาดเคลื่อนในการประมาณการ (mean absolute forecasting error) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการคลังเบื้องต้น ต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีสถาบันดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด การที่ตัวเลขประมาณการมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นนี้ ส่งผลให้รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามกฎการคลังมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าตัวเลขการขาดดุลการคลังจะลดลงประมาณร้อยละ 1–1.5 ของ GDP ทั้งในกลุ่มตัวอย่างประเทศยุโรปและทั่วโลก หลักฐานเชิงประจักษ์นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันการคลังอิสระในการส่งเสริมวินัยทางการคลังของประเทศ

รูปที่ 11: หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสถาบันการคลังอิสระและวินัยการคลัง

หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสถาบันการคลังอิสระและวินัยการคลัง

หมายเหตุ: 1) สำหรับความคลาดเคลื่อนในการประมาณการ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด ซึ่งทุกประเทศมีกฎการคลัง ช่วงเวลาที่ศึกษาคือปี 1995–2015 การทดสอบ t-test เพื่อทดสอบความเท่ากันของค่าเฉลี่ยในสองกลุ่มถูกปฏิเสธที่ระดับนัยสำคัญ 1% ในทุกกรณี และ 2)งานวิจัยนิยามการปฏิบัติตามกฎ (Rule compliance) ว่าเป็นความแตกต่างระหว่างเพดานกฎการคลัง (F) และเครื่องชี้วัดที่เกี่ยวข้อง (F) ภายใต้กฎนั้น (F - F) โดยแสดงเป็น % ของ GDPที่มา: Beetsma et al. (2019)

สำหรับประเทศไทย เรามีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ได้สร้างกรอบวินัยการคลังเพื่อเป็นกลไกจัดการปัญหาการมองสั้นของนักการเมือง กรอบวินัยการคลังนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กฎการคลัง และการบริหารความเสี่ยงระยะยาว (รูปที่ 12) พ.ร.บ. นี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกรอบธรรมาภิบาลทางการคลัง โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับวินัยการคลังและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลัง

รูปที่ 12: กรอบวินัยการคลังของไทย

กรอบวินัยการคลังของไทย

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

กรอบวินัยการคลังนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกรอบธรรมาภิบาลทางการคลังของประเทศไทย โดยกรอบนี้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการกำกับวินัยการคลังและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย โดยให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการกำหนดกฎการคลังต่างๆ นอกจากนี้ ยังพยายามปิดช่องโหว่จากพฤติกรรมนักการเมืองในอดีต เช่น การกำหนดเพดานการชดเชยค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมกึ่งการคลัง การควบคุมงบกลาง และการก่อหนี้ผูกพัน ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการป้องกันนโยบายระยะสั้นที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายด้านวินัยการคลังที่สำคัญหลายประการ (รูปที่ 13) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา คือ

  1. การหาเสียงด้วยนโยบายที่อาจคุกคามเสถียรภาพการคลัง โดยในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา วงเงินนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่อยู่ที่ราว 7–10% ของ GDP (TDRI, 2023)
  2. การใช้ creative accounting เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดกฎการคลัง ซึ่งสร้างคำถามสำคัญต่อความยั่งยืนทางการคลัง ตัวอย่างเช่น การโยกย้ายงบประมาณที่รัฐจะใช้ชำระหนี้ที่ติดค้างกับสถาบันการเงินของรัฐจากกิจกรรมกึ่งการคลังต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
  3. การขาดเครื่องชี้นำทิศทางการคลังที่น่าเชื่อถือ โดยกรอบการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework: MTFF) มีการปรับเปลี่ยนถึง 4 ครั้งในรอบ 12 เดือน (กันยายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567) เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งสะท้อนถึงการขาดแผนการสร้างเสถียรภาพการคลังระยะยาวของประเทศ
รูปที่ 13: หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสถาบันการคลังอิสระและวินัยการคลัง

หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับสถาบันการคลังอิสระและวินัยการคลัง

หมายเหตุ: แสดงต้นทุนของนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้เงินมากที่สุด 3 นโยบายของ 3 พรรคการเมืองใหญ่ ที่มา: TDRI, FPO, ThaiPublica

ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความท้าทายเหล่านี้คือการที่ประเทศไทยขาด "กลไกติดตามวินัยการคลัง" ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้ภาคประชาสังคมไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิผล กลไกวินัยการคลังที่ดีในบริบทของไทยควรประกอบด้วย 3 คุณสมบัติ ได้แก่

  1. สามารถควบคุมวินัยของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ไม่จำกัดอิสระของรัฐบาลมากเกินไป คงอธิปไตยการดำเนินนโยบายการคลังแก่รัฐบาล
  3. มีกลไกที่ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมได้ (รูปที่ 14)
รูปที่ 14: กลไกติดตามวินัยการคลังที่ดีควรเป็นอย่างไร

กลไกติดตามวินัยการคลังที่ดีควรเป็นอย่างไร

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

จุดอ่อนสำคัญของกรอบการคลังปัจจุบันคือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่ติดตามวินัยการคลังของรัฐเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) นอกจากนี้สถาบันอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น สำนักงบประมาณของรัฐสภา (Thai PBO) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ต่างก็มีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ติดตามวินัยการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ (รูปที่ 15)

รูปที่ 15: สถาบันที่มีในปัจจุบันไม่สามารถติดตามวินัยการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถาบันที่มีในปัจจุบันไม่สามารถติดตามวินัยการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

เราจะสร้างกลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพในไทยได้อย่างไร

การวิเคราะห์ประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่า แรงผลักดันสำคัญที่นำมาสู่การจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระมักเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงคราม (55% ของทั้งหมด) (รูปที่ 16) อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) เกิดจากการที่สังคมเรียกร้องให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบทางการคลังมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีคือประเทศชิลี ซึ่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันนักการเมืองและนำไปสู่การจัดตั้ง Autonomous Fiscal Chile ในปี 2019

รูปที่ 16: แรงผลักดันให้เกิดสถาบันการคลังอิสระในต่างประเทศ

แรงผลักดันให้เกิดสถาบันการคลังอิสระในต่างประเทศ

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจาก fiscal councils ของประเทศพัฒนาแล้ว 20 ประเทศ

เมื่อพิจารณาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการเสริมพลัง (empower) ภาคประชาสังคมของไทยในการผลักดันนโยบายที่มองไกล (รูปที่ 17) สิ่งที่ทำให้สร้างความหวังคือ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องการยกระดับความรับผิดชอบของรัฐบาล เราเห็นความพยายามของหลายองค์กร เช่น WeVis ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101Pub) ThaiPBS Rocket Media Lab และศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ซึ่งอยู่ในช่วงกลางน้ำ ทำหน้าที่อย่างทุ่มเทในการวิเคราะห์และสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจผลกระทบที่รอบด้านของนโยบายต่าง ๆ แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีสถาบันการคลังอิสระ แต่การพัฒนาระบบนิเวศทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้แข็งแกร่งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างกลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพ และผลักดันนโยบายที่มองไกลในอนาคต

รูปที่ 17: ระบบนิเวศเพื่อเสริมพลังภาคประชาสังคมในการผลักดันนโยบายที่มองไกล

ระบบนิเวศเพื่อเสริมพลังภาคประชาสังคมในการผลักดันนโยบายที่มองไกล

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียน

บทสรุป

ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกการคลังที่สำคัญ ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 1.1% ต่อ GDP ในปัจจุบัน สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษภายในเวลาเพียง 3 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี (รูปที่ 18) สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายทั้งในด้านการติดกับดักรายได้ปานกลางและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หากเราไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันนี้ วิกฤตครั้งหน้าอาจเกิดขึ้นในจังหวะที่เราอ่อนแอที่สุด และต้นทุนในการแก้ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรง

เพื่อก้าวข้ามวังวนของการมองสั้นเชิงนโยบาย ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกำหนดนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว การพัฒนากลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและความยั่งยืนในระยะยาว

รูปที่ 18: ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะต่อ GDP (%)

ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะต่อ GDP (%)

ที่มา: การวิเคราะห์ของผู้เขียนจากข้อมูลของ CEIC และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เอกสารอ้างอิง

Beetsma, R., Debrun, X., Fang, X., Kim, Y., Lledó, V., Mbaye, S., & Zhang, X. (2019). Independent fiscal councils: Recent trends and performance. European Journal of Political Economy, 57, 53–69.
Davoodi, H., Elger, P., Fotiou, A., Garcia-Macia, M. D., Han, X., Lagerborg, A., & Lam, W. R. (2022). Fiscal rules and fiscal councils: Recent trends and performance during the COVID-19 pandemic.
Del Granado, F. J. A., Coady, D., & Gillingham, R. (2012). The unequal benefits of fuel subsidies: A review of evidence for developing countries. World Development, 40(11), 2234–2248.
Guiso, L., Herrera, H., Morelli, M., & Sonno, T. (2017). Demand and supply of populism (EIEF Working Paper No. 17/03). Einaudi Institute for Economics.
Muthitacharoen, A., Samphantharak, K., & Chantarat, S. (2019). Fiscal stimulus and debt burden: evidence from Thailand’s first-car-buyer tax rebate program. International Tax and Public Finance, 26(6), 1383–1415.
Ratanavararak, L., & Chantarat, S. (2023). ถอดบทเรียนมาตรการพักหนี้เกษตรกรไทย ช่วยเกษตรกรไทยได้จริงหรือ? (aBRIDGEd No. 18/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Stoetzer, L. F., Giesecke, J., & Klüver, H. (2023). How does income inequality affect the support for populist parties? Journal of European Public Policy, 30(1), 1–20.
TDRI. (2023). ข้อสังเกตเรื่องต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน: วิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต.. Thailand Development Research Institute.
อธิภัทร, ม. (2022). สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภาษีไทย. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อธิภัทร มุทิตาเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Topics: Public Economics
Tags: shorttermismfiscal sustainabilitypublic debt
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email