“Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร?
หลายคนคงเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน เช่น อากาศที่ร้อนกว่าปรกติ ฝนตกไม่ตรงฤดูกาล หรือสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นหนึ่งในผลจากปรากฏการณ์โลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่นานาชาติต่างให้ความสำคัญและมีการร่วมกันตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อที่จะชะลอหรือหยุดปรากฏการณ์โลกร้อน
ล่าสุด ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 261) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศได้เข้าร่วมเพื่อสร้างพันธสัญญาในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสและให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “carbon neutrality” ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “net zero emissions” ภายในปี 2065
"Carbon neutrality" หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น
ส่วน "Net zero emissions" หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า net zero emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
ทั้งนี้ net zero emissions คล้ายกับ carbon neutrality แต่เป็นมิติที่กว้างกว่าแค่การปล่อยคาร์บอน คือ พิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น (สามตัวหลัก ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O) จึงเห็นได้ว่าความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเป้าหมายเริ่มต้นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ โดยมาก net zero emissions เป็นเป้าหมายที่ตั้งในระดับประเทศ หรือหากเป็นเป้าหมายระดับองค์กรตามคำนิยามที่เห็นพ้องกันต้องมีการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำปลายน้ำ จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน
การบรรลุเป้าหมาย carbon neutrality นั้นอาจเป็นเป้าหมายระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ สามารถทำได้โดยการ "ลด" และ "ชดเชย" (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ซึ่งมาตรการ "ลด" การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การลดหรือละกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น (เช่น กิจกรรมโลจิสติกส์) การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น หรือการใช้พลังงานสะอาดเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม เป็นต้น และหากยังมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ ก็ "ชดเชย" หรือ offset คาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่น เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต2 เป็นต้น
ส่วนการบรรลุเป้าหมาย net zero emissions นั้นโดยมากเป็นเป้าหมายระดับประเทศ และหลังจากความพยายาม "ลด" การปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถทำได้แล้ว กิจกรรมในบางอุตสาหกรรมก็อาจยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ก็ให้ใช้ มาตรการ "กำจัด" ก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การปลูกพืชคลุมดินเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรเพื่อเพิ่มการตรึงคาร์บอนในดิน หรือใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนที่ดักจับและกักเก็บโดยตรง3
- "โลกร้อน: การประชุม COP26 ในกลาสโกว์ตกลงอะไรกันได้บ้าง"↩
- คาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิในการปล่อยคาร์บอนซึ่งได้รับการรับรองว่ามีการดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด สำหรับในประเทศไทย จะเป็นปริมาณเทียบเท่าของการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับการรองรับจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อ "ชดเชย" ในตลาดคาร์บอนในประเทศไทยยังเป็นภาคสมัครใจและมีขนาดเล็กอยู่ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่่ http://carbonmarket.tgo.or.th/↩
- 6 Ways to Remove Carbon Pollution from the Sky | World Resources Institute↩