เงินเฟ้อสูงในไทยจะยืดเยื้อหรือไม่? หาคำตอบจากเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ
ตั้งแต่ต้นปี อัตราเงินเฟ้อไทยเร่งตัวสูงขึ้นมากและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นมาก รวมไปถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ของไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงถึง 5.7% ซึ่งสร้างความกังวลใจแก่ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ดำเนินนโยบาย
หลายคนอาจสงสัยว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะยืดเยื้อหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงแค่การเพิ่มขึ้นชั่วคราว และแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในการตอบคำถามดังกล่าว เราจำเป็นต้องแยกองค์ประกอบของเงินเฟ้อออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่มาจากความผันผวนในระยะสั้น หรือจากปัจจัยชั่วคราว (temporary shocks) โดยส่วนมากมีสาเหตุจากความผันผวนของอุปทาน (supply disruption) เป็นหลักและมักเกิดขึ้นในบางสินค้า มิได้กระจายตัวในวงกว้าง เช่น โรคระบาดในสัตว์ ภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งเงินเฟ้อประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวและจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
- ส่วนที่สะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อ (underlying or trend inflation) ซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยมักจะเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนทำให้อุปสงค์ของการบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการที่ผู้คนในระบบเศรษฐกิจเริ่มปรับค่าคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (inflation expectation) สูงขึ้นจนนำไปสู่การเร่งขึ้นของค่าจ้างตลอดจนราคาสินค้าในวงกว้าง
การแยกเงินเฟ้อออกเป็น 2 ส่วนมีนัยอย่างมากต่อการตัดสินนโยบายการเงิน โดยสำหรับเงินเฟ้อส่วนแรก ผู้ดำเนินนโยบายสามารถเลือกที่จะมองผ่านได้และรอให้สถานการณ์ทางด้านอุปทานคลี่คลายไปเอง ในขณะที่ธนาคารกลางจะให้ความสำคัญในการตอบสนองต่อเงินเฟ้อส่วนที่สองมากกว่า เนื่องจากอาจนำไปสู่เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้น การประเมินว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเราสามารถใช้เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ ที่มีการขจัดความผันผวนในระยะสั้น และสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวมาช่วยประเมินได้
หากเราดูแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุด จะเห็นได้ว่า ธปท. ติดตามเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้ออยู่หลายตัว เพื่อให้สามารถประเมินแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อบางตัวอาศัยการตัดรายการสินค้าหรือบริการบางประเภทที่มีความผันผวนสูงออก (exclusion-based) อย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ที่ตัดสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน หรือเครื่องชี้ที่สร้างด้วยวิธี trimmed mean ที่เลือกตัดเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ราคาเปลี่ยนแปลงมากในแต่ละเดือนออกไป นอกจากนี้ ยังมี Sticky Price CPI Inflation ที่ตัดสินค้าหรือบริการที่มีการปรับราคาบ่อยกว่าปกติ1 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4.8 เดือน ต่อครั้ง
อย่างไรก็ดี เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่เป็น exclusion-based อาจสูญเสียข้อมูลที่สำคัญบางส่วนจากการตัดสินค้าหรือบริการบางประเภทออกจากการคำนวณ ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลจากสินค้าหรือบริการในตะกร้าได้ครบถ้วน แบบจำลองทางเศรษฐมิติจึงถูกนำมาใช้ในการสร้างเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ โดยการสกัดเอาปัจจัยร่วม (common component) ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อของแต่ละสินค้าและบริการรายย่อยออกมา2
จากรูปที่ 1 ซึ่งเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งหมดที่ ธปท. ติดตาม (พื้นที่แรเงาสีเทา)3 เราพบว่า แม้เครื่องชี้ต่าง ๆ จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินซึ่งกำหนดไว้ 1—3% ตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และการที่เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย สะท้อนว่าเงินเฟ้อไทยจะทยอยปรับลดลงในระยะข้างหน้า นอกจากนั้นแล้ว หากดูเครื่องชี้ Common Component CPI Inflation ซึ่งแสดงถึงการเคลื่อนไหวร่วมกันของอัตราเงินเฟ้อรายสินค้าในตะกร้าสินค้า พบว่ามีค่าไม่สูงมาก จึงสะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกลุ่มสินค้า ไม่ได้กระจายตัวไปทั้งตะกร้า ซึ่งนับว่าเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากความผันผวนระยะสั้น และนโยบายการเงินอาจยังไม่จำเป็นต้องตอบสนอง
ดังนั้น หากประเมินจากข้อมูลเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดแล้ว คาดว่าเงินเฟ้อในไทยจะไม่ยืดเยื้อ และจะคลี่คลายลงหลังความผันผวนด้านอุปทานหมดไป ยังไม่สะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ดี พัฒนาการของเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อได้อย่างเท่าทัน และนำไปสู่การตัดสินใจนโยบายที่เหมาะสมในอนาคต
การปรับราคาบ่อยกว่าปกติ อาจพิจารณาได้จากหลายเกณฑ์ เช่น ค่าเฉลี่ย (average) หรือค่ามัธยฐาน (median) ของความถี่ในการปรับราคาสินค้าหรือบริการแต่ละประเภท เป็นต้น↩
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องชี้ดังกล่าว โดยอาศัยข้อมูลราคาของสินค้าและบริการ 200 กว่ารายการเพื่อสกัดหา persistent and common component ของอัตราเงินเฟ้อผ่าน dynamic factor model นอกจากนี้ ผู้อ่านสามารถดูตัวอย่างของเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่อาศัยแบบจำลองทางเศรษฐมิติเพิ่มเติมได้ใน PIER Discussion Paper No. 51↩
เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อทั้ง 6 ชนิด ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักค่าเช่าบ้านและผลของมาตรการภาครัฐ
- เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อจากวิธี trimmed mean
- Sticky Price CPI Inflation
- ค่ามัธยฐานของอัตราเงินเฟ้อสินค้าและบริการรายย่อย และ
- Common Component CPI Inflation