Metaverse: เหรียญสองด้านที่เราต้องตระหนักไว้
ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ Facebook เปลี่ยนตัวเองไปเป็นบริษัท Meta คำว่า “metaverse” หรือที่ราชบัณฑิตยสภาฯ ได้บัญญัติไว้เป็นภาษาไทยอย่างโก้เก๋ว่า “จักรวาลนฤมิต”1 ก็โด่งดังเป็นพลุแตกในทุกวงการ ทั้งแวดวงธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ศิลปะบันเทิง มิได้จำกัดแต่แวดวงเทคโนโลยีเท่านั้น สะท้อนจาก Google Search ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปลายปีที่แล้ว ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 1)2 แม้กระแสจะตกลงไปบ้างในช่วงหลัง แต่ก็ยังคงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่หลายบริษัททั้งยักษ์ใหญ่จนถึง startup ทั่วโลก กำลังเร่งพัฒนาไม่เว้นแม้ในประเทศไทย อาทิ Metaverse Thailand, T-Verse, Velaverse, Jakaverse, Translucia เป็นต้น
อันที่จริง ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับ metaverse ในบทความ “Metaverse โลกมายาเสมือนจริง” ไปแล้วตอนที่คำนี้โด่งดังมาก โดยได้ชี้ให้เห็นว่า metaverse ก็เหมือนทุกสิ่งในโลก นั่นคือ เป็นเหรียญสองด้าน มีทั้งด้านบวก อาทิ ในแง่การเป็นระบบนิเวศใหม่ (ecosystem) ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจและผู้คนมากมาย และด้านลบ อาทิ ในแง่มุมทางจิตวิทยาที่อาจทำให้ผู้คนตกอยู่ในโลกเสมือนจนลืมวันลืมคืน มาวันนี้ ผู้เขียนจึงขอขยายความเพิ่มเติมจากผลการศึกษาในงานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อทำให้เหรียญทั้งสองด้านชัดขึ้น โดยเฉพาะในด้านลบที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึงกันใน PIER Blog วันนี้ครับ
งานวิจัย เช่น Lee et al. (2021) ชี้ให้เห็นว่า การมี metaverse จะช่วยสร้าง ecosystem ใหม่ ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่จะมีมูลค่าเพิ่มจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนนี้ โดยจะมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ คู่ขนานไปกับผู้ผลิตและนักพัฒนาที่จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมาย และจะเข้ามาสร้างนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดระบบการเงินในโลก DeFi การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบดิจิทัล ตลอดจนการสร้างที่พักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้คนแบบเสมือนจริง เช่น การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่งแบบสามมิติก็เป็นได้ และยังอาจทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ เช่น นักกฎหมาย smart contract วิศวกร blockchain นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดงานในโลก Metaverse3
เพื่อคว้าโอกาสใหม่ ๆ ดังกล่าว ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องปรับตัวและโอบรับประโยชน์ให้มากที่สุดในเทคโนโลยีใหม่นี้ ที่จะเห็นได้ชัด เช่น การฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนแปลงทักษะ (upskill/reskill) เพื่อรองรับอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดข้างต้น ขณะที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็ควรวางกลยุทธ์ไว้ให้ดีว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี metaverse ได้อย่างไร เพราะยังสามารถนำเทคโนโลยี metaverse มาใช้ควบคู่กับการทำธุรกิจในโลกจริงได้ หรือจะลงทุนซื้อที่ดินในโลกเสมือนเพื่อการทำธุรกิจเองเลยก็ย่อมได้
อย่างไรก็ตาม มองไปในระยะยาวที่ metaverse พัฒนาอย่างเต็มที่และเป็นที่นิยมในสาธารณชนทุกหมู่เหล่าแล้ว metaverse ก็จะสร้างความท้าทายได้เช่นกัน นอกจากความท้าทายด้านบุคคลและสังคม เช่น ด้านจิตวิทยา ด้านสุขภาพกาย4 ดังที่ผู้เขียนได้เขียนในบทความครั้งก่อนแล้ว ยังสามารถส่งผลในอีก 2 ประการสำคัญ5 ได้แก่
ด้านจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: ทุกวันนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ๆ ท่าน ๆ หรือที่เรียกกันว่า digital footprint เป็นดั่งขุมทรัพย์ของโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว และไม่แตกต่างกันสำหรับ metaverse เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเจ้าของ metaverse ในการดึงดูดให้คนเข้าไปใช้งานมากและนานที่สุด โดย metaverse แต่ละแห่งก็จะมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเช่นกัน และอาจเกิดการใช้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นในทางที่เราไม่ได้ยินยอมได้ เช่น เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาไปข้างหน้าอีก อาจมีหลักฐานทางชีวภาพอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีแต่ลายนิ้วมือหรือการสแกนใบหน้าแบบในปัจจุบัน
นอกจากนี้ “การขโมยตัวตน (identity theft)” ก็เป็นประเด็นท้าทายที่ต้องตระหนักไว้อย่างยิ่ง เพราะลองจินตนาการดูว่า ลำพังการทำธุรกรรมใด ๆ ระหว่างตัวตนสมมติบน metaverse ก็ตรวจสอบได้ยากอยู่แล้วว่า คนที่เราทำธุรกรรมด้วยเป็นคนที่ใช้บัญชีนั้น ๆ อยู่จริงหรือไม่ การใช้เทคโนโลยี เช่น VR deep fake avatars ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างตัวตนสมมติบนตัวตนสมมติของเราอีกทอดหนึ่ง ย่อมเปิดโอกาสให้เกิดการขโมยตัวตนกันได้ง่ายขึ้นไปอีก และเอื้อให้มิจฉาชีพสวมรอยเพื่อการทำธุรกรรมบางอย่างที่อาจต้องใช้ credibility ของผู้ขาย เช่น การปลอมตัวเป็น avatar ของศิลปินชื่อดังเพื่อขายงานศิลปะในโลก metaverse เป็นต้น
ความเสี่ยงในการลงทุนและเกิดภาวะฟองสบู่แตก: ดังที่ ผศ. ดร.วรประภา นาควัชระ และ รศ. ดร.คณิสร์ แสงโชติ ได้อธิบายไว้ใน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/20226 ว่า เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น คนจะสนใจและตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนั้น ๆ มาก ตลอดจนการสร้างความคาดหวังที่เกินจริง ตาม Gartner Hype Cycle7 เพราะในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีใครสามารถทราบถึงศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ ได้ ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่งก่อน ให้เทคโนโลยีนั้น ๆ ได้รับการสร้างและมีการใช้งานจริงไปสักพัก ผู้คนจึงจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ใช้ทำอะไรได้ดี และใช้ทำอะไรไม่ได้ดี มีโอกาสและความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนั้น ๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง
โดยเราสามารถนำ Gartner Hype Cycle นี้มาพิจารณาการลงทุนในที่ดินของ metaverse เช่น การสร้างดัชนีราคาที่ดิน (LAND NFT) ใน The Sandbox โดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) และวัดให้แม่นยำขึ้นโดยใช้ดัชนีราคาที่ดินแบบใช้ราคาของที่ดินผืนเดิมที่มีการซื้อขายซ้ำ (Repeat Sales Index)8 ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2019 ถึงมกราคม 2022 พบว่า ราคาที่ดินเพิ่มสูงถึงกว่า 12 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของที่ดินในโลกจริง และมีข้อสังเกตสำคัญว่าจากข้อมูลที่เผยแพร่เราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีการปั่นหรือสร้างราคาอันเกินจริงหรือไม่ นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของ Metaverse เมืองใหม่ ๆ อาจทำให้ราคาของที่ดินในเมืองที่สร้างมาก่อนปรับลดลง และราคาที่ดินที่สูงเกินไปอาจมีความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่แตกได้
ผู้เขียนยอมรับว่ามีโอกาสมากมายที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี metaverse ดังที่ได้กล่าวข้างต้น เราไม่ควรปิดกั้นและควรใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเตรียมพร้อมพัฒนาตนเองไว้ให้ดี แต่ขณะเดียวกัน นอกจากมนุษย์เราต้องเป็นผู้พัฒนา ควบคุมและใช้เทคโนโลยี ไม่ให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเราแล้ว ในแง่ของการเป็นนักลงทุนก็จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนจะลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอครับ!
- จักรวาลนฤมิตรเป็นการผสมคำระหว่าง “จักรวาล” ที่แปลว่า ขอบเขตหรือปริมณฑล กับ “นฤมิต” ที่แปลว่า สร้างหรือทำ ซึ่งโดยส่วนตัว ผู้เขียนชื่นชอบคำบัญญัติใหม่นี้มากเพราะทำให้เห็นภาพชัดเจน นั่นคือ จักรวาลหรือโลกที่มนุษย์อย่างเรา ๆ สร้างขึ้น หรือโลกเสมือนนั่นเอง↩
- ที่จริงแล้ว คำว่า metaverse ปรากฎในนวนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1992↩
- ผู้เขียนได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ The key ไขการเมืองเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเป็นรายการของสถาบันพระปกเกล้า ออกอากาศทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 และ สถานีโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 สามารถเข้าชมการให้สัมภาษณ์ย้อนหลังได้ที่นี่↩
- ข้อมูลจาก BDMS อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/160632↩
- ดัดแปลงและขยายความเพิ่มเติมจาก Mystakidis, S. (2022). Metaverse. Encyclopedia, 2(1), 486–497.; Nakavachara, V., & Saengchote, K. (2022) Is Metaverse LAND a Good Investment? It Depends on Your Unit of Account! (Discussion Paper No. 172). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research. และ Wang, Y., Su, Z., Zhang, N., Liu, D., Xing, R., Luan, T. H., & Shen, X. (2022). A survey on metaverse: Fundamentals, security, and privacy. arXiv preprint arXiv:2203.02662.↩
- สามารถเข้าชมการบรรยายย้อนหลังได้ที่นี่↩
- สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Gartner Hype Cycle↩
- การวัดดัชนีราคาที่ดินโดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) มีจุดอ่อนคือ ที่ดินที่ถูกซื้อขายในแต่ละช่วงเวลาอาจจะไม่ใช่ที่ดินผืนเดียวกัน หากต้องการดูว่าที่ดินผืนเดิมได้รับการซื้อขายด้วยราคาที่สูงขึ้นจริงหรือไม่ ควรสร้างดัชนีราคาที่ดินโดยใช้ราคาของที่ดินผืนที่มีการซื้อขายซ้ำเท่านั้น (Repeat Sales Index)↩