Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
PIER Blogblog
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
/static/9b1ab8bc72aad6565d0d7c3517a5ffc1/41624/cover.jpg
27 ธันวาคม 2565
20221672099200000

ตามติดการค้าโลกด้วยข้อมูลการเดินเรือ AIS (Automatic Identification System)

สุรศักดิ์ เจิดพสุพร
ตามติดการค้าโลกด้วยข้อมูลการเดินเรือ AIS (Automatic Identification System)

การขนส่งทางน้ำเป็นการขนส่งที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก UNCTAD (2022) รายงานว่าปริมาณการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 80% นั้นพึ่งพาการขนส่งทางน้ำ ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งบานปลายจนเกิดเหตุการณ์ปิดท่าเรือในทะเลดำซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้ากลุ่มธัญพืชออกจากยูเครน จนทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและภาวะเงินเฟ้อของราคาอาหาร เหตุการณ์นี้ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเดินเรือที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของโลก ซึ่งหากเรามีข้อมูลที่สามารถใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง หรือประเมินผลกระทบจากความผิดปกติของการเดินเรือได้ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสภาวะวิกฤตเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือของยูเครนได้ดีและรวดเร็วขึ้น ปัจจุบันมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการติดตามสถานะของการเดินเรือได้ คือ ข้อมูล AIS (Automatic Identification System) ซึ่งเป็นข้อมูลติดตามการเดินเรือแบบเรียลไทม์

รูปที่ 1: แผนภาพแสดงตำแหน่งปัจจุบัน (live map) ของเรือต่าง ๆ ในบริเวณทะเลดำ ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2022

แผนภาพแสดงตำแหน่งปัจจุบัน (live map) ของเรือต่าง ๆ ในบริเวณทะเลดำ ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2022

ที่มา: MarineTraffic

รูปที่ 1 แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งของเรือในจุดต่าง ๆ ในบริเวณทะเลดำ โดยลูกศรและวงกลมแต่ละรูปแสดงตำแหน่งของเรือแต่ละลำ ลูกศรหมายถึงเรือที่กำลังแล่นอยู่โดยมีทิศทางการแล่นตามการชี้ของลูกศร ส่วนวงกลมแสดงถึงเรือที่มีการจอดอยู่กับที่ ส่วนสีของลูกศรและวงกลมแสดงถึงประเภทของเรือ เช่น สีแดงหมายถึงเรือที่มีลักษณะเป็นถังสำหรับบรรทุกของเหลวหรือแก๊ส เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เป็นต้น และสีเขียวหมายถึงเรือที่บรรทุกสินค้าทั่วไป เช่น เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

ที่มาและความสำคัญของข้อมูล AIS

การเก็บข้อมูล AIS เกิดจากการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) กำหนดให้เรือเดินทางข้ามระหว่างประเทศที่มีขนาดระวางรวม (gross tonnage) เกินกว่า 300 MT (เมตริกตัน) เรือเดินทางในท้องถิ่นที่มีขนาดระวางรวมเกินกว่า 500 MT และเรือโดยสาร ต้องมีการรายงานข้อมูล AIS ของเรืออย่างสม่ำเสมอ (European Space Agency, 2022) โดยการส่งคลื่นวิทยุไปยังเครื่องรับสัญญาณซึ่งอยู่บนชายฝั่งในความถี่และรูปแบบที่กำหนด โดยข้อมูลที่ต้องรายงาน ได้แก่

  • ข้อมูลจำเพาะของเรือ เช่น ชื่อเรือ ประเภทของเรือ ขนาดของเรือ เป็นต้น ข้อมูลกลุ่มนี้กำหนดให้มีการรายงานทุก ๆ 6 นาที
  • ข้อมูลสถานะการเดินเรือ เช่น พิกัดปัจจุบัน ความเร็ว ทิศทางในการเคลื่อนที่ จุดหมายปลายทาง และสถานะการจอดเทียบท่าหรือทอดสมอ ระดับการกินน้ำ เป็นต้น ข้อมูลในกลุ่มนี้กำหนดให้รายงานทุก ๆ 2 วินาที ถึง 10 วินาที หากเรือกำลังเคลื่อนที่อยู่ และ ทุก ๆ 180 วินาทีหากเรือทอดสมออยู่

เดิมข้อมูล AIS ถูกใช้ประโยชน์หลักในการเฝ้าติดตามความปลอดภัยในการจราจรทางน้ำ (IMO, 2022) แต่ด้วยความที่ข้อมูลเรือที่มีการรายงานเข้ามามีความถี่สูงมาก ข้อมูลนี้จึงอาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย รวมถึงอาจนำมาใช้พัฒนาเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในด้านการค้าระหว่างประเทศได้เช่นในการศึกษาของ Cerdeiro et al. (2020) ที่มีการพัฒนาแบบจำลองเพื่อประมาณการปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะจากข้อมูล AIS

การเข้าถึงข้อมูล AIS

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล AIS ที่เป็นข้อมูลดิบจากการเข้าร่วมการแข่งขัน UN Big Data Hackathon 2022 อย่างไรก็ดีข้อมูล AIS ที่ UN เตรียมไว้ให้ใช้ในการแข่งขันนี้เป็นข้อมูลที่ผู้จัดการแข่งขันซื้อมาและมีลิขสิทธิ์ ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้ แต่ UN ได้มีการเผยแพร่ผลลัพธ์จากการใช้ข้อมูล AIS ด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ใช้ในการศึกษาข้างต้นเป็นข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศในหมวดต่าง ๆ ในแต่ละวันที่ UN Comtrade Database

สำหรับข้อมูล AIS ที่เป็นข้อมูลดิบนั้นสามารถหาซื้อได้จากผู้ให้บริการด้านข้อมูลการเดินเรือ เช่น MarineTraffic และ ORBCOMM เป็นต้น สำหรับผู้อ่านที่สนใจใช้ข้อมูล AIS และมีความสนใจเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ อาจสามารถศึกษาข้อมูล AIS ทางเลือกที่ถูกเผยแพร่แบบไม่มีค่าใช้จ่ายได้จากเว็บไซต์ MarineCadastre.gov ทั้งนี้ข้อมูล AIS ทางเลือกจากเว็บไซต์ดังกล่าวนี้จะมีข้อจำกัด คือ มีเพียงข้อมูลการรายงานจากเรือซึ่งขณะที่เดินทางอยู่บริเวณโดยรอบประเทศสหรัฐฯ และมีการเผยแพร่ข้อมูลแบบที่ไม่ได้เป็นเรียลไทม์ โดย ณ เวลาที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ข้อมูล AIS ล่าสุดมีถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เท่านั้น ด้วยความล่าช้าและข้อจำกัดด้านพื้นที่ครอบคลุม ประโยชน์ในการใช้งานข้อมูลนี้จึงถูกลดทอนลง แต่ก็ยังถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ และอาจใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาข้อมูล AIS ได้ โดยสามารถดูตัวอย่างของการนำข้อมูล AIS ทางเลือกมาแสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้จากรูปที่ 2 ซึ่งเป็นข้อมูลตำแหน่งเรือที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ ในปี 2021 จุดแสงที่ปรากฎหมายถึงที่จุดดังกล่าวมีการรายงานข้อมูลเรือเข้ามาอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยสีของจุดแสงจะเปลี่ยนจากสีฟ้าและเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงถึงจำนวนเรือที่เคยผ่านจุดต่าง ๆ จากน้อยไปมากตามลำดับ

รูปที่ 2: แผนภาพจำนวนครั้งที่มีการรายงานตำแหน่งของเรือบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ ในปี 2021

แผนภาพจำนวนครั้งที่มีการรายงานตำแหน่งของเรือบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ ในปี 2021

ที่มา: AccessAIS

ข้อพึงระวังในการใช้ข้อมูล AIS

การใช้ข้อมูล AIS นั้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากผู้ให้บริการข้อมูล หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอาจมีข้อพึงระวังที่สำคัญ ดังนี้

  1. ข้อมูล AIS เป็นการรายงานข้อมูลแบบทางเดียว กล่าวคือ การรายงานข้อมูลจะไม่มีขั้นตอนการยืนยันผลของการส่งข้อมูลว่าข้อมูลไปถึงเครื่องรับอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ในบางกรณีอาจเกิดเหตุการณ์ที่เรือส่งข้อความรายงานข้อมูลออกไปแล้ว แต่สัญญาณขาดหาย หรือ ถูกสัญญาณอื่นแทรกซ้อน จนทำให้ข้อมูลไปไม่ถึงเครื่องรับ หรือ ข้อมูลอาจไปถึงเครื่องรับแต่ข้อมูลที่เครื่องรับอ่านค่าได้มีความผิดเพี้ยนไป รวมถึงอาจมีเหตุขัดข้องบางประการที่เครื่องส่งสัญญาณของเรือจนทำให้ไม่เกิดการส่งข้อมูลออกจากเรือ
  2. ข้อมูล AIS ในแต่ละพื้นที่อาจถูกจัดเก็บโดยผู้จัดเก็บข้อมูลหลายรายซึ่งมีการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกัน การรวบรวมข้อมูลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จึงอาจมีอุปสรรค
  3. ข้อมูลในบางรายการต้องพึ่งการใส่ข้อมูลด้วยคน อาจเกิดเหตุการณ์ที่คนรายงานข้อมูลอาจระบุข้อมูลผิดได้

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูล AIS ในปัจจุบันอาจมีปัญหาในด้านคุณภาพและความครบถ้วนของข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูลจึงอาจต้องมีการจัดการข้อมูลที่เหมาะสมก่อนที่จะนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยใช้ข้อมูล AIS ดิบนั้น ก็พบว่าข้อมูลอาจมีความไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น อาทิ

  1. ข้อมูลเรือมักขาดหายเป็นระยะ ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการที่เรืออยู่ห่างจากเครื่องรับสัญญาณบนชายฝั่งเกินกว่าระยะรับ-ส่งสัญญาณ
  2. เรือบางลำอาจไม่มีข้อมูลปรากฎให้เห็นเลย ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ทราบข้อมูลเรือทั้งหมดที่แล่นอยู่จึงไม่สามารถประเมินได้ว่ามีข้อมูลที่ขาดหายไปมากหรือน้อยเพียงใด
  3. สำหรับข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามามีข้อมูลบางรายการที่ลูกเรือเป็นผู้พิมพ์เอง ซึ่งบางครั้งอาจไม่น่าเชื่อถือ เช่น ชื่อจุดหมายปลายทาง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพบว่าข้อมูลที่เครื่องส่งสัญญาณออกมาจากระบบควบคุมของเรือได้โดยอัตโนมัติ เช่น วันเวลาที่ส่งข้อมูล ตำแหน่งพิกัด GPS ทิศทางของหัวเรือ และความเร็วของเรือ รวมถึงข้อมูลจำเพาะของเรือ เช่น ชื่อของเรือ และประเภทของเรือ ถือเป็นรายการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เอกสารอ้างอิง

Cerdeiro, D. A., Komaromi, A., Liu, Y., Saeed, M., & others. (2020). World seaborne trade in real time: A proof of concept for building AIS-based nowcasts from scratch.
European Space Agency. (2022). Sat-AIS - Satellite Automatic Identification System.
IMO. (2022). AIS transponders.
UNCTAD. (2022). Review of Maritime Transport 2022.
สุรศักดิ์ เจิดพสุพร
สุรศักดิ์ เจิดพสุพร
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email