ค่าแรงขั้นต่ำของไทยกำหนดโดย คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งหมด 15 คน
การบังคับใช้ค่าแรงขั้นต่ำมีครั้งแรกเมื่อปี 2516 สำหรับลูกจ้างทุกกลุ่มอาชีพ โดยแรกเริ่มบังคับใช้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ต่อมาได้มีการกำหนดใช้ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยในแต่ละจังหวัดมีอัตราต่างกันไป และค่าแรงขั้นต่ำค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นในปี 2555–2556 ที่ค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศที่อัตรา 300 บาท/วัน
และล่าสุดเมื่อ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้น แบ่งเป็น 9 อัตรา โดยมีอัตราสูงสุดที่ 354 บาท/วัน ที่ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต และอัตราต่ำสุดที่ 328 บาท/วัน ที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี