หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤติแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?
ในทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขยอดหนี้รวมของครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับสูง และโตเร็วเป็นลำดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน จากข้อมูลสินเชื่อในระบบจากเครดิตบูโร คนไทย 25 ล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรไทย) มีหนี้ในระบบ มีมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนมากถึง 527,000 บาท และ 1 ใน 5 กำลังมีหนี้เสีย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565)
ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ร่วมกันสร้างงาน scrollytelling เรื่อง "หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤติแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม?" ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อคนในวงกว้าง ถึงความน่ากังวลของปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้นตอของปัญหา แนวทางที่จะแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ตลอดถึงช่องทางและตัวช่วยต่าง ๆ สำหรับประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ในขณะเป็นหนี้ และเมื่อมีปัญหาหนี้ โดยหวังว่าความรู้ความเข้าใจจากงานชิ้นนี้จะนำไปสู่การสานต่อแนวนโยบายแก้หนี้ที่ตรงจุดและยั่งยืนของผู้ทำนโยบายและสถาบันการเงิน ช่วยจุดประกายการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดถึงช่วยให้ประชาชนทั่วไปมีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้ของตนเองได้
เมื่อเรามาเจาะลึกลงไปว่าหนี้ของคนไทยอยู่ในสินเชื่อประเภทใดและอยู่กับผู้กู้กลุ่มไหน และมีคุณภาพอย่างไร จะพบว่าหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกังวล เพราะ
หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ (non-productive loan) โดย 69% ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) ซึ่งมักเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต และยังมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ทำให้มีภาระผ่อนต่อเดือนที่สูง ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงใกล้เคียงกับไทย แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างรายได้หรือความมั่งคงได้
หนี้ส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้ ปัจจุบันคนไทยกว่า 5.8 ล้านคนกำลังมีหนี้เสีย (ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2565) โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุดและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 ส่วนเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงที่สุด สุ่มเสี่ยงที่จะชำระหนี้ไม่ได้ หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ยหรือบางส่วน ทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากปัญหาหนี้
หากมองจากตัวลูกหนี้ ปัญหาหนี้อาจเกิดจากการขาดวินัยทางการเงิน ขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงินและการบริหารจัดการหนี้ ขาดเงินทุนและรายได้ หรือแม้แต่การขาดภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจทำให้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งกับรายได้และรายจ่าย ส่งผลให้ครัวเรือนมีปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่ลูกหนี้ แต่ยังเกี่ยวพันกับองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น สถาบันการเงินและกลไกให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ แก้ตรงจุด และอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ลูกหนี้ ควรสำรวจความพร้อมและความจำเป็นก่อนมีหนี้ วางแผนด้านการเงินและทำความเข้าใจสินเชื่อที่จะกู้ เมื่อเป็นหนี้แล้วควรมีวินัยในการจ่ายหนี้ตรงเวลาตามเงื่อนไข ไม่จ่ายแค่ขั้นต่ำ เมื่อเริ่มจ่ายหนี้ไม่ได้ก็หาวิธีแก้ปัญหาจากช่องทางและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มี
สถาบันการเงินผู้ให้กู้ เป็นเจ้าหนี้ที่รับผิดชอบ ปล่อยสินเชื่อที่เหมาะกับลูกหนี้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน สร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้จ่ายและไม่สะสมหนี้ และช่วยลูกหนี้ที่เสี่ยงจะติดกับดักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้ก่อนขึ้นศาล
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันพัฒนากลไกการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหา ให้ความรู้ทางการเงิน ปรับปรุงฐานข้อมูลสินเชื่อให้สะท้อนความสามารถในการจ่ายหนี้ได้แม่นยำขึ้นโดยไม่ลดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมไปถึงการแก้ปัญหาด้านรายได้ให้มีเพียงพอและมั่นคง และปรับปรุงระบบสวัสดิการรัฐให้เข้าถึงได้ ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ
ทราบหรือไม่
ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย "แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน" ขึ้น เพื่อเป็นจุดตั้งต้นให้ทุกภาคส่วนใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนร่วมกัน