เสียงนั้นสำคัญไฉน? บทบาทของน้ำเสียงในการสื่อสารนโยบายการเงิน
ภาพสร้างโดย DALL-E 2
Ben Bernake อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เคยกล่าวไว้ว่า การสื่อสารที่ดีนั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการทำนโยบายการเงิน (monetary policy) ที่มีประสิทธิภาพ แล้วก็มีงานวิจัยหลายชิ้น (Gurkaynak et al., 2004; Cieslak & Schrimpf, 2019; Ehrmann & Talmi, 2020) ที่แสดงให้เห็นว่า ตลาดการเงินนั้นได้รับผลกระทบ ไม่เพียงเฉพาะจากตัวนโยบายการเงินของธนาคารกลางเท่านั้น แต่คำพูดที่ใช้ในการสื่อสารตัวนโยบายเองก็ส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ในตลาดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในการสื่อสารที่ดีนั้น คำพูดที่เลือกใช้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ภาษากายและน้ำเสียงของผู้พูดนั้น อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพของการสื่อสารมากว่าคำพูดเสียอีก (Mehrabian, 1981) แล้วในการสื่อสารนโยบายทางการเงินล่ะ น้ำเสียงของผู้พูดมีอิทธิพลมากแค่ไหน? อย่างไร?
เพื่อตอบคำถามนี้ Gorodnichenko et al. (2023) จึงได้พัฒนา deep learning model เพื่อจับความรู้สึกที่อยู่ในน้ำเสียงของประธานธนาคารกลาง สหรัฐฯ (Ben Bernanke, Janet Yellen, และ Jerome Powell) ในการตอบคำถาม Q&A Session ใน Federal Open Market Committee (FOMC) meetings ระหว่างช่วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2011 จนถึงเดือนมิถุนายน 2019 แล้วทำการศึกษาว่าน้ำเสียงที่ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ ใช้ในการตอบคำถามนั้น มีผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอย่างไร
Gorodnichenko et al. (2023) พบว่า หลังจากที่ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบาย การเปลี่ยนแปลงของ Forward Guidance และโทนของเนื้อหาที่สื่อสาร (non-vocal sentiment) แล้วนั้น น้ำเสียงเชิงบวกของประธานธนาคารกลางฯ ในช่วง Q&A session มีผลให้ตลาดเคลื่อนตัวไปในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ โดยการทำให้น้ำเสียงเพิ่มไปในเชิงบวก 1 ขั้น (1 Standard Deviation) สามารถเพิ่ม S&P 500 returns ได้ประมาณ 0.75% ซึ่งมีผลเทียบเท่ากับการเปลี่ยนแปลง Forward Guidance (การชี้นำทิศทางนโยบาย) ไป 1 ขั้น (1 Standard Deviation)
ผลการศึกษานี้ แนะนำว่าการที่ธนาคารกลางจะสื่อสารนโยบายที่มีประสิทธิภาพ มีความซับซ้อนมากกว่าแค่การอ่านข้อความและสุนทรพจน์ตามที่เตรียมไว้ล่วงหน้าเท่านั้น