ประเทศต่าง ๆ เริ่มจ่ายบำนาญกันอายุเท่าไหร่?
pensionable age คือ อายุที่เริ่มมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ซึ่งจะถูกกำหนดไว้ชัดเจนในระบบบำเหน็จบำนาญแต่ละระบบ โดยสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์เต็มเมื่ออายุถึงเกณฑ์ และในบางระบบอาจให้สิทธิประโยชน์บางส่วนกรณีที่สมาชิกขอรับบำเหน็จบำนาญล่วงหน้า ซึ่ง pensionable age นี้จะแตกต่างจากอายุเกษียณ (retirement age) หรืออายุที่แรงงานหยุดทำงาน ในบางประเทศหรือบางสาขาอาชีพ อายุเกษียณอาจถูกกำหนดไว้ชัดเจนในสัญญาหรือในกฎหมาย แต่หลายครั้งอายุเกษียณก็ขึ้นกับการตัดสินใจของแรงงานบนปัจจัยต่าง ๆ เอง เช่น ปัจจัยด้านสุขภาพหรือมูลค่าเงินออมของแรงงานคนนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่แรงงานบางคนอาจเกษียณก่อนที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญ หรือแรงงานบางคนอาจได้รับบำเหน็จบำนาญแต่ยังทำงานอยู่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี การเริ่มได้รับเงินบำเหน็จบำนาญก็คงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระทบต่อการตัดสินใจเกษียณเช่นกัน
ประเทศต่าง ๆ มักให้เหตุผลการปรับ pensionable age ด้วยสองเหตุผลหลัก ๆ คือ
- เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบบำเหน็จบำนาญ และ
- เพื่อเพิ่มระดับบำเหน็จบำนาญให้เพียงพอต่อการดำรงชีพมากขึ้น (OECD, 2011)
เพื่อให้เข้าใจสองเหตุผลนี้ได้ง่าย ๆ ลองเทียบระบบบำเหน็จบำนาญเป็นกระปุกออมสิน โดยเทียบว่าคนสะสมเงินในกระปุกช่วงที่ยังทำงานอยู่ และนำเงินที่ออมออกมาใช้ในช่วงหลังเกษียณ หากเราให้คนนำเงินออกมาใช้ได้เร็ว (pensionable age ต่ำ) ก็จะต้องแบ่งเงินใช้เป็นเวลานานและใช้ได้น้อยในแต่ละเดือน แต่หากเราให้คนนำเงินออกมาใช้ได้ช้าลง (pensionable age สูง) ก็จะแบ่งเงินใช้ต่อเดือนได้มากขึ้น ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า แม้ pensionable age เท่าเดิม แต่หากอายุขัย (life expectancy) เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้เงินเฉลี่ยต่อเดือนน้อยลงด้วยเช่นกัน
รูปที่ 1 แสดงการเปลี่ยนแปลงของ pensionable age (ของเพศชาย) ของแต่ละประเทศในกลุ่ม OECD1 ช่วงปี 1949 ถึงปี 2020 โดยหากพิจารณาประมาณ 30 ปีหลัง ค่าเฉลี่ย pensionable age ในประเทศกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 62.7 ปี ในปี 1989 มาอยู่ที่ 64.4 ปี ในปี 2020 ทั้งนี้ อายุขัยเฉลี่ยหลัง pensionable age ก็ยังปรับสูงขึ้นจาก 16.2 ปี มาเป็น 18.1 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งก็หมายถึงว่าคนมีอายุไขเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของ pensionable age
โดยจากประเทศในกลุ่ม OECD ทั้งหมด เห็นได้ว่ากลุ่มประเทศที่เพิ่ม pensionable age มีจำนวนมากที่สุดถึง 14 ประเทศ ตามมาด้วยประเทศที่ไม่มีการปรับ pensionable age จำนวน 6 ประเทศ (ส่วนใหญ่คงที่อยู่ที่ 65 ปี) และมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ปรับลด pensionable age (ส่วนใหญ่ลงมาอยู่ที่ 65 ปี)
รูปที่ 2 แสดง pensionable age ในปี 2020 ของกลุ่มประเทศ OECD (สีส้ม) และประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ไม่อยู่ใน OECD (สีน้ำเงิน) โดยเรียงลำดับจาก pensionable age สูงไปหาต่ำ โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ไม่อยู่ใน OECD อยู่ที่ 59.5 ปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 64.4 ปี
pensionable age เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเสถียรภาพและความเพียงพอของระบบบำเหน็จบำนาญ แต่การจะนำมาใช้หรือไม่ และใช้เท่าไหร่ คงต้องพิจารณาถึงอีกหลาย ๆ มิติควบคู่กันด้วย ทั้ง
- ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน เช่น โครงสร้างประชากร พฤติกรรมการทำงาน พฤติกรรมการออกจากตลาดแรงงาน สัดส่วนแรงงานนอกระบบ และ
- เครื่องมือทางเลือกต่าง ๆ เช่น การปรับสูตรคำนวณบำเหน็จบำนาญ การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญให้มีความสอดคล้องกัน เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Organisation for Economic Co-operation and Development↩