สำรวจพฤติกรรมการลงทุนและถือครองคริปโทของครัวเรือนในสหรัฐฯ
“บิตคอยน์คือทองคำสำหรับพวกหนอนหนังสือ”
— สตีเฟ่น โคลแบร์ ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง
“แม้ผมจะมาสายสำหรับปาร์ตี้นี้ แต่ผมก็ยังเป็นผู้สนับสนุนบิตคอยน์”
— อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อนักธุรกิจรายใหญ่
“บิตคอยน์ก็เหมือนยาเบื่อหนูนั่นแหละ”
— วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า
“คริปโทเคอร์เรนซีคือเครื่องมือสำคัญในการเก็งกำไร”
— เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “คริปโท” เป็นประเด็นถกเถียงในวงการการเงินและเศรษฐศาสตร์มาอย่างยาวนาน และทำให้เกิดข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น “การเป็นหรือไม่ได้เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน” ความเห็นมีตั้งแต่มุมมองทางบวกไปจนถึงมุมมองทางลบถึงขั้นที่ว่าคริปโทคือยาพิษ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับคริปโทมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ต่างกับนักลงทุนรายย่อยที่มีมุมมองแตกต่างกันไปโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบ้างถือครองเพราะมองเห็นคุณค่าของการเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อ (inflation hedge) บ้างถือครองเพราะเห็นว่าจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต และบ้างก็ไม่ถือครองเลยเพราะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ หรือมองว่าคริปโทเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินไป หรือแม้กระทั่งคิดว่าคริปโทไม่มีคุณค่าในตัวของมันเอง
ล่าสุด มีงานวิจัย Weber et al. (2023) ที่ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนและถือครองคริปโทของครัวเรือนในสหรัฐฯ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยออกแบบคำถามทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพิ่มเติมเข้าไปในแบบสำรวจครัวเรือนโดยใช้ตัวอย่างซ้ำ (Nielsen Homescan Panel Survey) ที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 80,000 ครัวเรือนทั่วสหรัฐฯ (ซึ่งกลุ่มตัวอย่างใหญ่เพียงพอที่จะสะท้อนประชากรสหรัฐฯ ได้) และมีความถี่ในการสำรวจอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส โดยงานวิจัยนี้เพิ่มคำถามให้ครัวเรือนตอบเกี่ยวกับคริปโทตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2018 ถึงไตรมาส 3 ปี 2022 ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่น่าสนใจมีหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
- สมาชิกของครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโทในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นเพศชาย มีอายุน้อย ไม่ใช่คนผิวขาว1 และมีแนวคิดทางการเมืองเป็นเสรีนิยม (libertarian) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกของครัวเรือนที่ไม่ลงทุนและถือครองคริปโทเลย
ครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโทมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 12 ของครัวเรือนในสหรัฐฯ ทั้งหมด ณ สิ้นปี 2023 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยและแบบสำรวจอื่น ๆ โดยแม้ว่าครัวเรือนส่วนใหญ่จะรายงานว่าการถือครองคริปโทเป็นเพียงสัดส่วนเล็ก ๆ ในพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของครัวเรือน แต่กว่าร้อยละ 20 ของครัวเรือนเหล่านี้ มีสัดส่วนการลงทุนในคริปโท คิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของตน
ในช่วงเวลาที่สำรวจ ครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโทส่วนใหญ่มีความรู้สึกสบายใจในการถือครองคริปโทและหลายครัวเรือนต้องการถือคริปโทมากขึ้นอีกในอนาคต
บิตคอยน์เป็นคริปโทเคอร์เรนซีอันดับหนึ่งที่ครัวเรือนในสหรัฐฯ ถือครอง ขณะที่ครัวเรือนในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ถือครองบิตคอยน์เพียงประเภทเดียว แต่มักจะถือครองคริปโทหลาย ๆ ประเภทพร้อมกัน ซึ่ง Ether และ Dogecoin ได้รับความนิยมลดหลั่นกันมาตามลำดับ
เหตุผลสำคัญที่ครัวเรือนเข้าไปลงทุนและถือครองคริปโท คือ การคาดหวังผลตอบแทนสูงจากการลงทุน ตามมาด้วยการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงสำหรับพอร์ตการลงทุนของตนเอง นอกจากนี้ มีเหตุผลอื่น ๆ ในการลงทุนและถือครอง คือ เป็นเครื่องมือในการเก็บรักษามูลค่า (store of value) และป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคริปโทในวงการการเงิน
ในทางตรงกันข้าม ครัวเรือนที่ไม่ได้ลงทุนและถือครองคริปโทให้เหตุผล 2 ประการสำคัญว่าเป็นเพราะ (1) พวกเขาขาดความรู้เกี่ยวกับคริปโท และ (2) พวกเขามีมุมมองในทางลบต่อคริปโทในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น เป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินไป หรือมองว่าคริปโทไม่ได้สร้างคุณค่าใด ๆ ในพอร์ตการลงทุนของตนเอง
ครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโทมีมุมมองต่อผลตอบแทนที่คาดหวังได้ (expected return) สูงกว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ยังมองว่าคริปโทสามารถป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดีกว่า และเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยหรือปลอดภัยกว่า เมื่อเทียบกับมุมมองของครัวเรือนที่ไม่ได้ลงทุนในคริปโท
หากราคาคริปโทสูงขึ้น มักจะตามมาด้วยการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโท คือ การซื้อสินทรัพย์ถาวร (durable goods) เช่น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนมองการได้กำไรจากการลงทุนในคริปโทเสมือนเป็นการถูกลอตเตอรี่ สะท้อนจากพฤติกรรมการซื้อสินทรัพย์ถาวรหลังจากนั้น (ขณะที่การซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง) แตกต่างจากการมองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งระยะยาวของครัวเรือน (persistent increase in wealth) ซึ่งในกรณีนี้ ครัวเรือนจะมีการซื้อสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้อาจสะท้อนคุณสมบัติเฉพาะของคริปโทที่แตกต่างจากสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากความใหม่ของคริปโท และความรู้ความเข้าใจที่ยังมีไม่มากนักของครัวเรือนเกี่ยวกับมัน
นอกจากนี้ ตามที่ได้อธิบายข้างต้นว่า มีครัวเรือนจำนวนมากที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับคริปโท Weber et al. (2023) จึงพยายามตอบคำถามว่า “หากครัวเรือนได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคริปโท จะส่งผลให้ครัวเรือนลงทุนและถือครองคริปโทเพิ่มขึ้นหรือไม่” ด้วยวิธีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Control Trial: RCT) เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผลกัน (causal relationship) ได้มากที่สุด
ในวิธีการทดลองนี้ คณะผู้วิจัยแบ่งครัวเรือนที่ตอบแบบสอบถามออกเป็นกลุ่ม ๆ แบบสุ่ม โดยมีกลุ่มทดลอง (treatment group) ซึ่งได้รับข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังของคริปโท และกลุ่มควบคุม (control group) ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง ผลการศึกษาพบว่า การได้รับข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงปีก่อน ๆ ซึ่งมีผลตอบแทนเป็นบวกและอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ครัวเรือนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในคริปโท และผลการศึกษานี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มครัวเรือนที่ไม่ได้ลงทุนและถือครองคริปโทอยู่ก่อนและให้เหตุผลไว้ว่าขาดความรู้ความเข้าใจ ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในคริปโทหลังจากได้รับข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังที่เป็นบวก
กล่าวโดยสรุป Weber et al. (2023) ชี้ให้เห็นลักษณะของครัวเรือนที่ลงทุนและถือครองคริปโทในสหรัฐฯ เหตุผลที่ครัวเรือนได้ลงทุนและไม่ได้ลงทุนในคริปโท ซึ่งมีความแตกต่างกันไปและยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน และทำให้เห็นว่าคริปโทมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น ๆ โดยเฉพาะในความเชื่อที่ครัวเรือนมีให้กับมัน นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นกระบวนการการเกิดฟองสบู่ในราคาคริปโท (price bubble) สะท้อนจากผลการศึกษาที่พบว่า อัตราผลตอบแทนในระดับสูงของคริปโทในอดีตดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนในคริปโท ด้วยความคาดหวังว่าอัตราผลตอบแทนจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในอนาคตด้วย
เอกสารอ้างอิง
- อ้างอิงตามรายละเอียดของผลการศึกษาใน Weber et al. (2023) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาจากงานวิจัยอื่น ๆ ก่อนหน้า เช่น Bradford (2022) แม้ว่าในส่วนบทคัดย่อ (abstract) ของ Weber et al. (2023) จะระบุว่าเป็นคนผิวขาวก็ตาม↩