ค่าจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคม แยกตามภูมิภาคและอายุ
การกระจายตัวของค่าจ้างสามารถช่วยฉายภาพการกระจุกหรือกระจายตัวของงานในประเทศไทยได้ PIER Stat ชิ้นนี้นำเสนอภาพตัดขวางของค่าจ้างที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมได้รับในเดือนมกราคม 2566 แยกรายมิติภูมิภาคและอายุ
ในมิติภูมิภาค มีจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมมากที่สุดในกรุงเทพและปริมณฑล รองลงมาในภาคกลาง และน้อยที่สุดในภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนการกระจายของค่าจ้างนั้นมีสัดส่วนลูกจ้างที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาท/เดือนมากที่สุด ในกรุงเทพฯ รองลงมาภาคตะวันออก ส่วนภูมิภาคที่มีสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 7,800 บาท/เดือนมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ
caution
ภาพนี้แสดงค่าจ้างที่ถูกรายงานกับสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น รายได้ที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมได้รับจากแหล่งอื่น ๆ ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขนี้ ส่วนแรงงานที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ลูกจ้างที่ทำงานที่บ้านที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ หรือ ลูกจ้างภาคการเกษตร ป่าไม้และประมง ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม
ในมิติอายุ จากข้อมูลแบบตัดขวาง พบว่า กลุ่มลูกจ้างที่มีอายุสูงกว่าก็มีสัดส่วนที่มีรายได้สูงมากกว่าลูกจ้างในกลุ่มอายุน้อย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของสะสมทุนมนุษย์ที่เมื่อลูกจ้างมีอายุมากขึ้น ทำงานแล้วมีทักษะสูงขึ้น จะได้รับค่าจ้างสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ถึงแม้จะมีอายุมาก (45 ปีขึ้นไป) แต่ก็ยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 10,400 ต่อเดือน เป็นสัดส่วนกว่าประมาณร้อยละ 20 ในกรุงเทพฯ และกว่าร้อยละ 50 ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ การกระจายตัวของค่าจ้างก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่แตกต่างกันไปรายพื้นที่ อาทิ อุปสงค์ อุปทานของแรงงาน ภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ นโยบายภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และอำนาจการต่อรองของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจากภาพข้างต้นเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถบอกได้ว่าปัจจัยใดมีผลต่อการกระจายตัวของค่าจ้างในแต่ละภูมิภาคอย่างไร