หลักประกันสินเชื่อของเกษตรกรไทย รูปแบบไหนควรถูกทบทวน?
เพียง 60% ของครัวเรือนเกษตรกรไทยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน (Attavanich et al., 2019) ในขณะที่กว่า 90% มีหนี้สิน และ 72% มีหนี้สินจากสถาบันการเงินในระบบ (Chantarat et al., 2023) บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาสำรวจกันว่าเกษตรกรไทยที่กู้ในระบบใช้อะไรเป็นหลักประกันเพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าถึงสินเชื่อ และผู้กู้ที่ใช้หลักประกันสินเชื่อที่แตกต่างกันนั้นมีลักษณะการผิดนัดชำระหนี้แตกต่างกันอย่างไร
จากข้อมูลเกษตรกรผู้กู้ตัวอย่าง 1 ล้านรายที่สุ่มจากฐานข้อมูลผู้กู้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ 31 มีนาคม 2566 เราสามารถแบ่งลักษณะการใช้หลักประกันสินเชื่อของเกษตรกรไทยออกเป็น 4 ลักษณะหลักคือ
- การใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน (collateralized loan) ซึ่งประกอบไปด้วย อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ทางการเงิน และผลผลิตทางการเกษตร เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง สลากออมทรัพย์ เงินฝาก
- การใช้คนค้ำประกันในรูปแบบหนึ่งคนกู้หลายคนค้ำ (personal guaranteed loan) โดยมีคนได้เงินกู้เพียงแค่หนึ่งคนในหนึ่งสัญญา ส่วนผู้ค้ำประกันที่เหลือเป็นเพียงผู้ค้ำและไม่ได้มีการเบิกเงินกู้ออกไปด้วย
- การใช้การค้ำประกันแบบร่วมกันค้ำทุกคน (joint liability loan) หรือเรียกว่าสินเชื่อกลุ่ม ซึ่งเกษตรกรรวมกลุ่มกันมากู้ แต่ลักษณะจะต่างจาก (2) ตรงที่ทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกัน และทุกคนมีสิทธิเบิกเงินกู้ในส่วนของตัวเองออกไป โดย ธ.ก.ส. ได้มีการใช้กลไกสินเชื่อกลุ่มเกษตรกรมานานกว่า 30 ปี พร้อม ๆ กับ microfinance ในต่างประเทศที่ใช้กลไกนี้ในการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ภายใต้สมมุติฐานว่า เมื่อเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันมากู้และจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ร่วมกัน (joint liability) จะสามารถสร้าง “กลไกกลุ่ม” จากความรู้จักและความสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิก ในการคัดกรองผู้กู้ที่มีคุณภาพมาร่วมกู้ (screening) ในการดูแลตรวจสอบการใช้เงินกู้และการคืนเงินของสมาชิกภายในกลุ่มกันเอง (monitoring) ตลอดถึงในการบังคับชำระหนี้ของสมาชิกในกลุ่ม (enforcement) ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกทุกคนได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักประกันอื่น (Ghatak & Guinnane, 1999) ซึ่งงานวิจัยในอดีตที่สำคัญอย่าง Siamwalla et al. (1990) ก็ได้เคยยกย่องกลไกสินเชื่อกลุ่มของ ธ.ก.ส. ว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญที่ได้ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่เกษตรกรต้องกู้ทุกปี และได้รวมสินเชื่อที่มีการค้ำประกันด้วยสิทธิเข้าไปด้วย เช่น สิทธิการเช่า สิทธิการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ประมาณ 0.1% ของบัญชีสินเชื่อที่มีการค้ำด้วยสิทธิ
รูปที่ 1a แสดงสัดส่วนของเกษตรกรผู้กู้แยกตามลักษณะของการใช้หลักประกันสินเชื่อ และโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งพบว่า ในภาพรวม ผู้กู้เกษตรกรไทยมีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมากที่สุด (56% ของผู้กู้) ตามมาด้วยกลุ่มที่มีสินเชื่อที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน (53% ของผู้กู้) กลุ่มที่มีสินเชื่อที่ใช้หนึ่งคนกู้หลายคนค้ำ (43% ของผู้กู้) และมีเพียง 15% ของผู้กู้ที่ยังใช้สินเชื่อกลุ่ม
ครึ่งหนึ่งของผู้กู้เกษตรกรไทยมีการใช้หลักประกันหลายประเภทในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยจาก 100% ของผู้กู้เกษตรกร เราพบว่า กลุ่มที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำที่สุด (5% ในรูป 1b) คือกลุ่มที่มีเพียงสินเชื่อที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน (19% ของผู้กู้) ตามมาด้วยกลุ่มที่มีทั้งสินเชื่อที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน ร่วมกับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันหรือสินเชื่อที่ใช้หนึ่งคนกู้หลายคนค้ำ (รวมเป็น 28% ของผู้กู้ แสดงโดยตัวเลขสีเทา) และโอกาสผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวสำหรับกลุ่มที่มีเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และ/หรือสินเชื่อที่ใช้หนึ่งคนกู้หลายคนค้ำเท่านั้น (รวมเป็น 38% ของผู้กู้ แสดงโดยตัวเลขสีดำ)
และที่น่าสนใจก็คือ ผู้กู้ที่มีสินเชื่อกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ไม่ได้มีสินทรัพย์อื่นเป็นหลักประกัน กลับเป็นกลุ่มที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด (แสดงโดยตัวเลขสีแดง) และอาจสูงเกิน 40% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่มีเพียงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพียงอย่างเดียวไปกว่าเท่าตัว (โอกาสผิดนัดชำระหนี้ 21%)
สถิติเบื้องต้นนี้ก็นำมาซึ่งคำถามว่าสินเชื่อกลุ่มที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันให้เกษตรกรไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ในอดีต ยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ในการคัดกรองคุณภาพผู้กู้ ในการตรวจสอบและบังคับชำระหนี้? แล้วสินเชื่อกลุ่มยังมีบทบาทในการช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงสินเชื่อมากน้อยเพียงใด? และควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร? เป็นคำถามสำคัญสำหรับการศึกษาในเชิงลึกต่อไป