การห้ามการเลือกปฏิบัติในประกาศรับสมัครงานช่วยเพิ่มความเท่าเทียมในตลาดแรงงานได้อย่างไร?
การกำหนดคุณลักษณะของผู้สมัคร เช่น เพศสภาพหรืออายุ ในประกาศรับสมัครงานเคยเป็นเรื่องปกติของการรับสมัครงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในทวีปยุโรป ก่อนที่จะถูกกำหนดให้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (Kuhn & Shen, 2023) อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวยังเป็นเรื่องถูกกฎหมายในอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย รวมถึงไทยด้วย โดย PIER Blog ล่าสุด ได้แสดงหลักฐานของการเลือกปฏิบัติในประกาศรับสมัครงานในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับผลลัพธ์ของนโยบายห้ามการเลือกปฏิบัติในประกาศรับสมัครงาน เนื่องจาก
- ต่อให้มีกฎหมายห้ามนายจ้างในการระบุเพศสภาพที่ต้องการในประกาศรับสมัครงาน นายจ้างก็อาจพิจารณารับเฉพาะผู้สมัครที่มีเพศสภาพตรงตามที่ต้องการ ทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือ
- ในกรณีที่นายจ้างมีความตั้งใจดีที่จะเพิ่มความหลากหลายในที่ทำงาน เช่น ต้องการรับพนักงานเพศหญิงเพิ่มขึ้นเนื่องจากพนักงานปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเพศชาย การห้ามระบุเพศสภาพในประกาศรับสมัครงานอาจให้ผลตรงข้าม เป็นต้น
งานวิจัยของ Kuhn & Shen (2023) ใช้กรณีศึกษาของ XMRC ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรับสมัครงานออนไลน์ในประเทศจีน ในการศึกษาผลกระทบของนโยบายภาครัฐที่ห้ามการเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงาน1 โดยก่อนปี 2019 นายจ้างสามารถระบุเพศสภาพของผู้สมัครที่ต้องการได้เมื่อประกาศรับสมัครงานออนไลน์บนแพลตฟอร์ม XMRC โดยสามารถเลือกเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือไม่ระบุ และผู้สมัครจะเห็นข้อความดังกล่าวในประกาศรับสมัครงานซึ่งรวมถึงตอนที่ค้นหา (search) งานที่เหมาะสม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 XMRC ได้ยกเลิกการระบุเพศสภาพของผู้สมัครที่ต้องการในประกาศรับสมัครงานโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทั้งนายจ้างและผู้สมัครทราบล่วงหน้า
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวช่วยลดการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงานได้จริง โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จและมาจากกลุ่มที่เคยถูกเลือกปฏิบัติในตำแหน่งงานที่ระบุเพศ เช่น ในกรณีของตำแหน่งงานที่เคยระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศชาย สัดส่วนของผู้สมัครเพศหญิงที่ได้รับการติดต่อจากนายจ้างต่อผู้สมัครที่ได้รับการติดต่อทั้งหมด2 เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% เป็นต้น โดย Kuhn & Shen (2023) อธิบายว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่
- จำนวนผู้สมัครของตำแหน่งงานที่เคยระบุเพศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นนี้เกือบทั้งหมดมาจากกลุ่มที่เคยถูกเลือกปฏิบัติ (gender-atypical group) เช่น สัดส่วนผู้สมัครเพศหญิงที่สมัครในตำแหน่งที่เคยระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศชาย เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 11%
- โอกาสที่ผู้สมัครกลุ่ม gender-atypical ที่เพิ่มขึ้นนี้จะได้รับการติดต่อกลับจากนายจ้างลดลงเพียงเล็กน้อย เช่น โอกาสที่ผู้สมัครเพศหญิงที่สมัครในตำแหน่งที่ระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศชายจะได้รับการติดต่อกลับลดลงจาก 87% มาอยู่ที่ 73%
- นโยบายดังกล่าวส่งผลให้นายจ้างได้รับใบสมัครจากผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ (matched qualifications) เพิ่มมากขึ้น
ผลการศึกษาดังกล่าวยังสะท้อนถึงทัศนคติของนายจ้าง โดยจากผลการศึกษาที่พบว่าจำนวนผู้สมัครจากกลุ่ม gender-atypical เพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่อัตราการได้รับการติดต่อกลับลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าการระบุเพศสภาพของผู้สมัครที่ต้องการในประกาศรับสมัครงาน ไม่น่าจะเกิดจากอคติของนายจ้างที่มองว่าผู้สมัครเพศหนึ่งมีผลิตภาพ (productivity) สูงกว่าผู้สมัครอีกเพศหนึ่ง3 แต่อาจเกิดจากค่านิยมหรือความเชื่อเดิม ๆ ว่าตำแหน่งงานบางตำแหน่งเหมาะกับพนักงานเพศใดเพศหนึ่งมากกว่า เป็นต้น
นอกจากนี้ Kuhn & Shen (2023) ยังพบว่าสัดส่วนของผู้สมัครเพศชายที่ได้รับการติดต่อในตำแหน่งงานที่เคยระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศหญิงนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าสัดส่วนของผู้สมัครเพศหญิงที่ได้รับการติดต่อในตำแหน่งงานที่เคยระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศชาย โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ตำแหน่งงานที่ระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศชายส่วนมากจะเป็นงานวิชาชีพที่ต้องการทักษะหรือคุณสมบัติเฉพาะด้าน จำนวนผู้สมัครเพศหญิงจึงไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากในระยะสั้น เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการสมัครงาน ตรงกันข้ามกับงานที่เคยระบุว่าต้องการผู้สมัครเพศหญิงที่เป็นงานเฉพาะด้านน้อยกว่า
โดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการห้ามการเลือกปฏิบัติในประกาศรับสมัครงานช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้สมัครงานกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติได้ อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวเพียงอย่างเดียวยังอาจช่วยแก้ปัญหาในมิติอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพได้ไม่มาก เนื่องจากตำแหน่งงานที่มีการระบุเพศของผู้สมัครที่ต้องการส่วนมากเป็นตำแหน่งงานระดับล่างที่จ่ายเงินเดือนไม่สูงนัก4
เอกสารอ้างอิง
- รัฐบาลจีนออกนโยบายห้ามการประกาศรับสมัครงานโดยระบุเพศสภาพของผู้สมัครที่ต้องการตั้งแต่ปี 2016 และกำหนดโทษปรับสำหรับแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาของการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวยังมีความแตกต่างกันระหว่างแพลตฟอร์ม โดย XMRC เริ่มถูกบังคับใช้นโยบายดังกล่าวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2019↩
- งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดตรงที่ผู้วิจัยทราบแต่เพียงว่าผู้สมัครแต่ละรายได้รับการติดต่อจากบริษัทหรือไม่ แต่ไม่ทราบว่าผู้สมัครรายใดบ้างที่ได้รับ job offer อย่างไรก็ดี เมื่อผู้วิจัยพิจารณาในมิติอื่น ๆ เช่น โอกาสที่ใบสมัครจะถูกอ่าน หรือโอกาสที่ผู้สมัครจะเลิกหางานบนแพลตฟอร์มหลังจากที่ได้รับการติดต่อจากบริษัท ก็ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกัน↩
- ถ้าหากการระบุเพศสภาพที่ต้องการเกิดจากอคติของนายจ้างจริง อัตราการได้รับการติดต่อกลับของผู้สมัครกลุ่ม gender-atypical น่าจะลดลงเป็นสัดส่วนกับจำนวนผู้สมัครกลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้น↩
- ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ณัฐพลและคณะ (2566) ที่พบว่าการระบุเพศของผู้สมัครที่ต้องการนั้น ส่วนมากพบในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะต่ำ↩