Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
PIER Blogblog
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
/static/0b46d3947ca1a5b98ae0ec4db719a488/e9a79/cover.png
14 กุมภาพันธ์ 2567
20241707868800000

หนี้ครัวเรือนส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ?

สุพริศร์ สุวรรณิก
หนี้ครัวเรือนส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ?

นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง (และสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ตามรูปที่ 1) เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกังวล เพราะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง เมื่อการก่อหนี้เร่งตัวขึ้นเร็วกว่ารายได้ และอาจก่อให้เกิดหนี้เสียลามไปทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ในแง่ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัย และไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก

รูปที่ 1: สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ที่มา : BIS Statistics, สำหรับข้อมูลไทยใช้ข้อมูล ธปท.

การทำความเข้าใจผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าว สามารถแยกพิจารณาผลกระทบออกเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่

  1. ช่องทางระดับหนี้ (debt level channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือ debt ratio โดยระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ครัวเรือนสามารถอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นได้ และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่มากขึ้น1
  2. ช่องทางภาระหนี้ (debt service channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ครัวเรือน หรือ debt service ratio โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน มีผลให้ครัวเรือนต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ที่ก่อนั้น แทนที่จะสามารถนำรายได้ไปใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการต้องลดการอุปโภคบริโภคในสินค้าจำเป็นหรือสินค้าไม่คงทน (non-durable goods) ซึ่งมักมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคทั้งหมด และจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

ในบริบทสากล มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ได้พยายามศึกษาผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และให้ผลที่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น

  • Lombardi et al. (2017) ศึกษาข้อมูลถึง 54 ประเทศรวมทั้งไทย ระหว่างปี 1990–2015 และได้ข้อสรุปว่า ในระยะสั้น (ภายในเวลา 1 ปี) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ส่งผลกระทบในทางบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP กลับส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ แทนที่จะสามารถนำรายได้นั้นไปบริโภค โดยผลกระทบทางลบต่อ GDP growth จะยิ่งรุนแรงขึ้น หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับสูงกว่า 80%
  • Drehmann et al. (2018) ได้ศึกษาข้อมูลประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 15 ประเทศ โดยได้ข้อสรุปว่าเมื่อมีการก่อหนี้ครัวเรือน การเพิ่มขึ้นของหนี้จะส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะมีอิทธิพลมากกว่าผลของภาระหนี้ที่ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยผลของช่องทางภาระหนี้มีลักษณะเป็นลูกระนาด (hump-shaped response) กล่าวคือ ภาระหนี้จะมีผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ 4–6 ปีหลังก่อหนี้ ซึ่งทำให้ในระยะยาว การชำระคืนหนี้จะมีอิทธิพลมากกว่าผลจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในที่สุด
  • งานวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวกับประเด็นนี้และมีผลการศึกษาสอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา คือ Tunc & Kilinc (2023)2 ซึ่งใช้ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 17 ประเทศ ระหว่างปี 1999–2019 และเน้นศึกษาช่องทางภาระหนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าภาระหนี้ส่งผลในทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางถึงยาว เพราะภายใต้รายได้ที่คงที่ ครัวเรือนจะปรับตัวโดยการลดรายจ่ายด้านอุปโภคบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับบริบทของไทยโดยเฉพาะ มีงานวิจัยที่ผ่านมา เช่น

  • Muthitacharoen et al. (2015) ได้ศึกษาข้อมูลของไทยระหว่างปี 2009–2013 และพบว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนของครัวเรือน ซึ่งยิ่งครัวเรือนมีภาระหนี้สูงขึ้น จะทำให้การบริโภคลดลงมากขึ้น
  • Suwanik & Peerawattanachart (2018) ศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยระหว่างปี 2000–2017 และได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับบริบทสากล กล่าวคือ ในระยะสั้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว (เกิน 4 ปี) เมื่อถึงจุดที่ครัวเรือนไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้สะท้อนจากงบดุลที่ตึงตัว การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยภาระหนี้ที่ต้องใช้คืนของครัวเรือน (debt overhang) เป็นสำคัญ

กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะของการให้ผลทางบวกในระยะสั้น แต่กลับส่งผลทางลบในระยะยาว ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือน

เอกสารอ้างอิง

Drehmann, M., Juselius, M., & Korinek, A. (2018). Going with the Flows: New Borrowing, Debt Service and the Transmission of Credit Booms (Working Paper No. 24549). National Bureau of Economic Research.
Lombardi, M. J., Mohanty, M. S., & Shim, I. (2017). The Real Effects of Household Debt in the Short and Long Run (BIS Working Paper No. 607). Bank for International Settlements.
Muthitacharoen, A., Nuntramas, P., & Chotewattanakul, P. (2015). Rising Household Debt: Implications for Economic Stability. Thailand and The World Economy, 33(3), 43–65.
Suwanik, S., & Peerawattanachart, K. (2018). Household Debt in SEACEN Economies. In M. T. Punzi (Ed.), Household Debt in SEACEN Economies. South East Asian Central Banks (SEACEN) Research.
Tunc, C., & Kilinc, M. (2023). Household Debt and Economic Growth: Debt Service Matters. Open Economies Review, 34(1), 71–92.

  1. การบริโภคภาคเอกชน (private consumption) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการวัดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP growth↩
  2. งานวิจัยนี้ยังศึกษาผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการว่างงานด้วย โดยพบว่าภาระหนี้ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ↩
สุพริศร์ สุวรรณิก
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email