หนี้ครัวเรือนส่งผลอย่างไรต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ?
นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง (และสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ตามรูปที่ 1) เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกังวล เพราะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง เมื่อการก่อหนี้เร่งตัวขึ้นเร็วกว่ารายได้ และอาจก่อให้เกิดหนี้เสียลามไปทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ในแง่ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัย และไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก
การทำความเข้าใจผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าว สามารถแยกพิจารณาผลกระทบออกเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่
- ช่องทางระดับหนี้ (debt level channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือ debt ratio โดยระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ครัวเรือนสามารถอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นได้ และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่มากขึ้น1
- ช่องทางภาระหนี้ (debt service channel) ซึ่งมักสะท้อนจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ครัวเรือน หรือ debt service ratio โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน มีผลให้ครัวเรือนต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ที่ก่อนั้น แทนที่จะสามารถนำรายได้ไปใช้อุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการต้องลดการอุปโภคบริโภคในสินค้าจำเป็นหรือสินค้าไม่คงทน (non-durable goods) ซึ่งมักมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการบริโภคทั้งหมด และจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
ในบริบทสากล มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ได้พยายามศึกษาผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และให้ผลที่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น
- Lombardi et al. (2017) ศึกษาข้อมูลถึง 54 ประเทศรวมทั้งไทย ระหว่างปี 1990–2015 และได้ข้อสรุปว่า ในระยะสั้น (ภายในเวลา 1 ปี) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ส่งผลกระทบในทางบวกต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP กลับส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้มาใช้คืนหนี้ แทนที่จะสามารถนำรายได้นั้นไปบริโภค โดยผลกระทบทางลบต่อ GDP growth จะยิ่งรุนแรงขึ้น หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับสูงกว่า 80%
- Drehmann et al. (2018) ได้ศึกษาข้อมูลประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 15 ประเทศ โดยได้ข้อสรุปว่าเมื่อมีการก่อหนี้ครัวเรือน การเพิ่มขึ้นของหนี้จะส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะมีอิทธิพลมากกว่าผลของภาระหนี้ที่ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยผลของช่องทางภาระหนี้มีลักษณะเป็นลูกระนาด (hump-shaped response) กล่าวคือ ภาระหนี้จะมีผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีจุดสูงสุดอยู่ที่ 4–6 ปีหลังก่อหนี้ ซึ่งทำให้ในระยะยาว การชำระคืนหนี้จะมีอิทธิพลมากกว่าผลจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในที่สุด
- งานวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวกับประเด็นนี้และมีผลการศึกษาสอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา คือ Tunc & Kilinc (2023)2 ซึ่งใช้ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 17 ประเทศ ระหว่างปี 1999–2019 และเน้นศึกษาช่องทางภาระหนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าภาระหนี้ส่งผลในทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางถึงยาว เพราะภายใต้รายได้ที่คงที่ ครัวเรือนจะปรับตัวโดยการลดรายจ่ายด้านอุปโภคบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับบริบทของไทยโดยเฉพาะ มีงานวิจัยที่ผ่านมา เช่น
- Muthitacharoen et al. (2015) ได้ศึกษาข้อมูลของไทยระหว่างปี 2009–2013 และพบว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนของครัวเรือน ซึ่งยิ่งครัวเรือนมีภาระหนี้สูงขึ้น จะทำให้การบริโภคลดลงมากขึ้น
- Suwanik & Peerawattanachart (2018) ศึกษาหนี้ครัวเรือนไทยระหว่างปี 2000–2017 และได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับบริบทสากล กล่าวคือ ในระยะสั้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว (เกิน 4 ปี) เมื่อถึงจุดที่ครัวเรือนไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้สะท้อนจากงบดุลที่ตึงตัว การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยภาระหนี้ที่ต้องใช้คืนของครัวเรือน (debt overhang) เป็นสำคัญ
กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในลักษณะของการให้ผลทางบวกในระยะสั้น แต่กลับส่งผลทางลบในระยะยาว ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักให้ดี หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่เอื้อต่อการก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือน