การบริโภคของครัวเรือนเมื่อความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น
การขยายตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศนั้นมักจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา เช่นในปัจจุบันเราไม่แน่ใจว่าสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจะรุนแรงและยืดเยื้อแค่ไหน การค้าโลกจะกลับมาขยายตัวได้ดีหรือชะลอลงต่อเนื่อง รวมไปถึงภาครัฐจะใช้จ่ายผ่านมาตรการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด
ในบางช่วงเวลา เช่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจะยิ่งสูงขึ้น รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างผลการคาดการณ์ของครัวเรือนต่อเศรษฐกิจในยุโรปผ่านการทำแบบสอบถามในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19 โดยจะเห็นได้ว่าครัวเรือนนั้นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2021 แตกต่างกันมากตั้งแต่ –30% ไปจนถึง +30% นักเศรษฐศาสตร์จึงให้ความสนใจกับการศึกษาผลกระทบของความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นต่อการบริโภคของครัวเรือน และการตัดสินใจลงทุนและจ้างงานของธุรกิจ
งานวิจัยของ Coibion et al. (2024) ได้ทำการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) กับครัวเรือนใน 6 ประเทศในทวีปยุโรป ได้แก่ เบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสเปน รวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ครัวเรือน โดยทดลองให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง1 เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพฤติกรรมการบริโภคและการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือน
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มทดลอง (treatment group) รับรู้ถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ครัวเรือนมีการตอบสนองต่อความไม่แน่นอนดังกล่าวโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคลงอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์และการดูแลร่างกาย (medical and personal care item) (เช่น ค่ายา แชมพู โคโลญจน์ บริการตัดผม) รวมถึงสินค้าและบริการด้านความบันเทิง (เช่น การเข้าชมภาพยนตร์ การเข้าใช้บริการฟิตเนส) นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายสำหรับรายการใช้จ่ายที่มีขนาดใหญ่ เช่น แพ็กเกจท่องเที่ยว เครื่องประดับที่มีราคาแพง อีกด้วย
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลงทุนของครัวเรือนเช่นกัน โดยครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะลดการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ กองทุนรวม และ cryptocurrency
ทั้งนี้ กลุ่มครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19 รวมไปถึงครัวเรือนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงในปริมาณมาก
งานวิจัยชิ้นนี้จึงชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคตกับผลลัพธ์ที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันผ่านพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนที่เปลี่ยนไป และเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายการเงินการคลังในการดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตซึ่งมักเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะมาตรการที่จะเข้าไปดูแลครัวเรือนกลุ่มเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนมากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ
เอกสารอ้างอิง
- สะท้อนจากค่าความแตกต่างระหว่าง worst case scenario และ optimistic case scenario ของการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ↩