คนไทยพร้อมแค่ไหนกับการเกษียณอายุ
คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการเกษียณอายุ หากพิจารณาความพร้อมของประชากรไทยจากดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (National Retirement Readiness Index: NRRI)1 พบว่า ในปี 2023 ดัชนี NRRI ของประชากรไทยมีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 49.30 (จากคะแนนเต็ม 100) ซึ่งปรับตัวลดลงจากปี 2020 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.70 ยิ่งไปกว่านั้น หากเราพิจารณาดัชนีย่อยที่สะท้อนความมั่นคงทางด้านการเงิน (F-IRR) ร่วมด้วย เราจะพบอีกว่า คนไทยมีความมั่นคงทางด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีย่อย F-IRR มีคะแนนเฉลี่ยเพียง 38.40 (ลดลงจากปี 2020 ที่มีค่าเฉลี่ยที่อยู่ 48 คะแนน) (Pisedtasalasai et al., 2023; Budsaratragoon et al., 2021) สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีความพร้อมต่อการเกษียณอายุลดลง
นอกจากนี้ เรายังพบสัญญานที่สะท้อนว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะวางแผนสำหรับเก็บออมเพื่อใช้ในยามชราน้อยลง จากการสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2018–2022 พบว่า ในปี 2022 มีคนเพียง 16% ที่วางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณและสามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนลดลงจากปี 2020 (18%) และ 2018 (19%) ในทางกลับกัน คนที่ยังไม่ได้คิดหรือวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณอายุเลยกลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 19% (จากเดิม 15% ในปี 2020 และ 17% ในปี 2018) (รูปที่ 1)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีก 3 ประการที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการเกษียณอายุของคนไทยจากข้อมูล (รูปที่ 2) ได้แก่
- กลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว (อายุ 61 ปีขึ้นไป) ที่สามารถเก็บออมได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 21–22 เมื่อเทียบกับคนในช่วงวัยเดียวกัน
- กลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บออมได้ตามแผนที่ตั้งใจ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42–47 เมื่อเทียบกับคนในช่วงวัยเดียวกัน
- สัดส่วนของคนในวัยใกล้เกษียณ (ช่วงอายุ 51–60 ปี) รวมถึงคนที่เกษียณอายุแล้ว ที่ยังไม่ได้คิดวางแผนเก็บออมเพื่อยามชราภาพเลย มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15–21 เมื่อเทียบกับกลุ่มคนในช่วงวัยเดียวกัน
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่าจุดเริ่มต้นของแผนเกษียณอายุที่ดีนั้นเริ่มต้นจากการมีพฤติกรรมทางการออมที่ดี แล้วที่ผ่านมาสถานการณ์การออมคนไทยเป็นเช่นไร…
ที่ผ่านมาเราพบว่า ผู้มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินในระดับที่เหมาะสมมีจำนวนลดลง (Bank of Thailand, 2022) จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2022 ผู้มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 22 ลดลงจากปี 2020 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 27 ในขณะที่จำนวนผู้มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่สามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนกลับมีสัดส่วนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 (ตารางที่ 1)
คำถาม: หากท่านต้องหยุดทำงานกะทันหันโดยไม่มีกำหนด ท่านคิดว่าเงินออมที่ท่านสะสมจากอดีตจนถึงปัจจุบันจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของท่านได้นานเท่าไหร่ (โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าเดิม) | |||
---|---|---|---|
ระดับเงินออมเผื่อฉุกเฉิน | ปี 2018 | ปี 2020 | ปี 2022 |
ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ | 44% | 33% | 28% |
น้อยกว่า 1 สัปดาห์ | 4% | 5% | 5% |
ไม่ถึง 3 เดือน | 20% | 25% | 32% |
ไม่ถึง 6 เดือน | 8% | 11% | 12% |
ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป | 24% | 27% | 22% |
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ยังนิยมเลือกเก็บออมเงินด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อนและ low risk - low return คนที่เลือกออมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนยังคงมีจำนวนน้อย จากการสำรวจในปี 2022 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มักเลือกเก็บออมเงินเป็นเงินสดและเงินฝาก มีคนส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้นที่เลือกเก็บออมผ่านการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างการลงทุนในพันธบัตร หุ้น หรือกองทุนรวม (Bank of Thailand, 2022)
สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระดับคะแนนทักษะทางการเงินและวิธีการเก็บออมของคนแต่ละกลุ่มจะพบว่า กลุ่มคนที่มีระดับทักษะทางการเงิน (financial literacy) สูงมีแนวโน้มที่จะเก็บออมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากกว่ากลุ่มคนที่มีระดับทักษะทางการเงินที่ต่ำกว่า (Bank of Thailand, 2022) (รูปที่ 3)
ทักษะทางการเงินจึงนับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนสามารถวางแผนการออม/การลงทุนภายใต้ตลาดที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมทักษะทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินส่วนตัว (personal finance) มีส่วนช่วยให้คนสามารถตัดสินใจและวางแผนทางการเงิน (Lusardi & Messy, 2023; Kaiser & Lusardi, 2024) รวมถึงวางแผนเกษียณ (Lusardi & Mitchell, 2007; Van Rooij et al., 2012) ของตนเองได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งเสริมทักษะทางการเงินในกลุ่มผู้ใหญ่ไม่ใช้เรื่องง่าย การฝึกอบรมผู้ใหญ่ในลักษณะ classroom-based setting และใช้ rules of thumb อาจไม่ตอบโจทย์ทุกครั้งเสมอไปเนื่องจากคนมีเป้าหมายและความต้องการที่แตกต่างกัน
คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการเกษียณ คนมีการวางแผนเก็บออมเพื่อการเกษียณล่าช้า การจะอาศัยแต่เบี้ยคนชราจากรัฐเพื่อยังชีพในบั้นปลายชีวิตคงไม่เพียงพอ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรับมือกับสังคมสูงวัยในอนาคต
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ตนเองเพื่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้จากการวางแผนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน เลือกออม/ลงทุนเพื่อการเกษียณด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ท้ายที่สุดแล้ว การเตรียมความพร้อมในการเกษียณก็คงเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ที่ต้องอาศัยวินัย ความสม่ำเสมอ และการวางแผนที่ดี เพื่อจะพาไปสู่ปลายทางที่เราสามารถออกแบบได้เอง
เอกสารอ้างอิง
- ดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ NRRI เป็นดัชนีที่สะท้อนความพร้อมในการเกษียณของประชากรในระดับบุคคล คลอบคลุมทั้งในมิติของความมั่นคงทางการเงิน (F-RRI) และความมั่นคงด้านสุขภาพ/คุณภาพชีวิต (Q-RRI) ดัชนี NRRI ถูกจัดทำขึ้นโดยภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Budsaratragoon et al., 2021)↩