สูตรคำนวณสิทธิประโยชน์กองทุนชราภาพประกันสังคม: รายจ่ายที่ (จะ) มากกว่ารายรับ
บทความนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจรายรับรายจ่ายของกองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตรของประกันสังคม (กองทุนฯ)1 ผ่านการแสดงการคำนวณแบบง่าย ๆ โดยจะพยายามแสดงให้เห็นว่าทำไม “รายจ่าย” จึงจะค่อย ๆ สูงกว่า “รายรับ” หากกองทุนไม่ได้รับการปรับเปลี่ยน
กองทุนฯ ใช้รายรับจากเงินสมทบของผู้ประกันตนรุ่นปัจจุบันเพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนที่สูงอายุ (pay-as-you-go) โดยเราสามารถเขียนรายรับและรายจ่ายของกองทุนฯ แต่ละปีในแบบง่าย ๆ ได้ว่า
สูตรคำนวณรายรับและรายจ่ายของกองทุนฯ
รายรับ = (จำนวนผู้ประกันตนที่สมทบ x เงินสมทบของแต่ละคน) + ผลตอบแทนจากการลงทุน
รายจ่าย = จำนวนผู้ได้รับสิทธิประโยชย์ x มูลค่าสิทธิประโยชน์ของแต่ละคน
เห็นได้ว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่ารายรับเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่นั้น คือ
- จำนวนผู้ประกันตนเทียบกับผู้ได้รับสิทธิประโยชน์
- สูตรการคำนวณเงินเก็บสมทบและสิทธิประโยชน์
- ผลตอบแทนจากการลงทุน
ซึ่งกองทุนฯ จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้ง 3 ปัจจัย เพื่อรักษารายรับให้เพียงพอกับรายจ่าย และคำนึงว่าปัจจัยใดที่กองทุนสามารถปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ได้ โดยในบทความนี้มุ่งเน้นให้ผู้อ่านเข้าใจสูตรคำนวณซึ่งเป็นปัจจัยที่กองทุนฯ สามารถกำหนดและปรับเปลี่ยนได้ โดยจะแสดงให้เห็นว่าทำไมสูตรคำนวณปัจจุบันจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่จะทำให้รายจ่ายของกองทุนฯ ในอนาคตจะสูงกว่ารายรับ
รายรับของกองทุนฯ มาจากเงินสมทบจาก 3 ฝ่าย คือลูกจ้างในระบบ 3% นายจ้าง 3% รัฐบาล 1% รวมเป็น 7% โดยคิดจากเงินเดือนที่ไม่เกินเพดานเงินเดือนที่ 15,000 บาท นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังมีรายรับจากการนำเงินสมทบดังกล่าวไปลงทุน ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2019–2023) ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.27% ต่อปี
รายจ่ายของกองทุนฯ เป็นการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในรูปแบบของบำเหน็จหรือบำนาญ มีรายละเอียดดังนี้
- กรณีสมทบ 180 เดือน เงินบำนาญ = (20% + 1.5% x (จำนวนปีที่สมทบ-15 ปี)) x ค่าเฉลี่ยของเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย
- กรณีสมทบน้อยกว่า 180 เดือน แต่มากกว่า 12 เดือน จะได้เงินส่วนสมทบของตนเองและนายจ้าง
- กรณีส่งสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเพียงส่วนสมทบของตนเองกลับคืนไป
โดยอายุที่เริ่มขอบำนาญได้คือ 55 ปี และจะได้ไปตลอดชีวิต
แล้วสูตรรายรับรายจ่ายข้างต้นมีปัญหาอะไร?
สูตรดังกล่าวสัญญาที่จะจ่ายสิทธิประโยชย์สูงเกินกว่าที่น่าจะเป็นไปได้เมื่อเทียบกับรายรับที่มาจากผู้ประกันตนคนหนึ่ง ๆ2 บทความนี้จะวาดภาพช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายที่มาจากสูตรคำนวณ โดยยังไม่คำนึงถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยจะใช้วิธีการมองสองแบบ
วิธีนี้เหมือนเป็นการถามว่า หากกองทุนฯ ได้รับเงินสมทบแล้วนำไปลงทุน แล้วจ่ายบำนาญออกตามสูตรสิทธิประโยชน์ข้างต้น กองทุนฯ จะมีเงินเหลือเท่าไหร่เมื่อสิ้นอายุขัยของผู้ประกันตนแต่ละคน รูปที่ 2 แสดงดุลสุทธิดังกล่าว (ดุลค่าเป็นลบสะท้อนเงินที่ไม่เพียงพอ) ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามจำนวนปีที่สมทบ อายุขัย และเงินเดือน ซึ่งเห็นได้ว่ารายจ่าย (แถวที่ 2 จากซ้าย) มีระดับสูงกว่ารายรับรวม (แถวซ้ายสุด) อยู่มาก และจะสูงขึ้นสำหรับผู้ประกันตนที่สบทบนานขึ้น ส่งผลให้ดุลสุทธิของกองทุนต่อผู้ประกันตนที่ได้รับบำนาญคนหนึ่ง ๆ จะติดลบ ณ สิ้นอายุของผู้ประกันตนคนนั้น ๆ (แถวกลาง)
เราอาจจะถามต่อว่า แม้รายรับของกองทุนฯ จะน้อยกว่ารายจ่าย แต่การที่กองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนสร้างรายรับเพิ่มเติมได้จะช่วยให้มีเงินเพียงพอหรือไม่ ข้อมูลสองแถวด้านขวามือของรูปที่ 2 สะท้อนดุลสุทธิของกองทุนฯ โดยสมมติให้สามารถนำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนที่ 3.27% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจริงระหว่าง 2019–2023) โดยผู้ประกันตนที่สมทบจนถึงอายุ 55 ปี (เช่นกลุ่มคนที่ทำงานในระบบอยู่แล้วเมื่อเริ่มจัดตั้งกองทุนฯ) หมายถึงกองทุนจะมีเวลาลงทุนสั้นกว่า และมีดุลสุทธิที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับผู้ประกันตนที่สมทบตั้งแต่อายุ 25 ปี (เช่น กลุ่มคนที่เริ่มทำงานหลังมีการจัดตั้งกองทุนฯ แล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้บางส่วนย้ายออกไปทำงานนอกระบบเมื่ออายุมากขึ้น) เห็นได้ว่าแม้จะคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน ดุลสุทธิของกองทุนฯ ยังคงติดลบ ณ สิ้นอายุขัยของผู้ประกันตนที่ได้รับบำนาญ
แบบที่ 2 วัดจากผลตอบแทนที่กองทุนฯ ต้องได้รับเพื่อให้สามารถจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันต้นได้พอดีจนสิ้นอายุขัย (Internal Rate of Return: IRR)
วิธีนี้เป็นการคำนวณว่ากองทุนฯ จะต้องมีผลตอบแทนเท่าใดเพื่อที่จะทำให้เงินที่ได้รับจากการสมทบเพียงพอต่อภาระที่ต้องจ่ายบำนาญพอดี รูปที่ 3 แสดงผลตอบแทนดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนแปลงตามจำนวนปีที่สมทบ อายุขัย และเงินเดือน เทียบกับผลตอบแทนจริงเฉลี่ย 5 ปีซึ่งอยู่ที่ 3.27% ต่อปี ภาพซ้ายแสดงกรณีที่ผู้ประกันตนสมทบจนถึงอายุ 55 ปี ภาพขวาแสดงกรณีที่สมทบตั้งแต่อายุ 25 ปี
IRR ของผู้ประกันตนที่สมทบตั้งแต่อายุ 25 ปี จะปรับสูงขึ้นตามปีที่สมทบ เป็นผลจากมูลค่าบำนาญต่อปีที่สูงขึ้นและจากการที่กองทุนฯ จะมีเวลาในการนำเงินไปลงทุนที่สั้นลงระหว่างการสิ้นสุดการสมทบและก่อนเริ่มจ่ายสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ประกันตนที่สมทบถึงอายุ 55 ปี การที่สมทบนานขึ้นกองทุนฯ จะมีระยะเวลาในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ IRR ปรับลดลง ทั้งนี้ ในทุกกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญ กองทุนจำเป็นต้องลงทุนสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่ผ่านมามากเพื่อให้กองทุนมีเงินเพียงพอในการจ่ายสิทธิประโยชน์ตามที่สัญญาไว้
จากทั้งสองวิธีข้างต้น เราเห็นได้ว่ายิ่งคนสมทบนาน (กรณีเริ่มสมทบตั้งแต่อายุน้อย) และมีอายุขัยนานขึ้น ยิ่งทำให้เงินกองทุนไม่เพียงพอ เห็นแบบนี้แล้ว เมื่อเรามองว่าในกองทุนฯ มีผู้ประกันตนลักษณะดังกล่าวนับล้านคนที่กองทุนสัญญาจะจ่ายผลตอบแทนตามสูตรข้างต้น เราคงจะจินตนาการผลจากสูตรคำนวณเงินสมทบและการให้สิทธิประโยชน์ต่อภาพของความไม่ยั่งยืนของกองทุนได้ไม่ยากนัก3 สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับระบบประกันสังคมได้ใน Wasi et al. (2020)
เอกสารอ้างอิง
- บทความนี้สมมติว่ารายรับเข้ากองทุนถูกใช้สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ชราภาพทั้งหมดเพื่อให้ง่ายกับการทำความเข้าใจ↩
- ยกเว้นเสียแต่กองทุนจะมีจำนวนผู้ประกันตนในอนาคตเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในบริบทสังคมสูงวัยของไทย หรือหากกองทุนฯ มีการปรับเพดานเงินสมทบและเงินเดือนของผู้ประกันตนในอนาคตมีการปรับสูงขึ้นมาก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Wasi et al. (2021))↩
- ในปัจจุบัน ผู้ประกันตนในกองทุนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่สมทบเงินเข้ากองทุน และยังมีสัดส่วนคนที่ได้รับบำนาญไม่มากนัก กองทุนจึงยังอยู่ได้ และปัญหาดังกล่าวจะเห็นชัดและรุนแรงขึ้นในอนาคต↩