การเปลี่ยนงานและการยื่นขอรับสิทธิประกันการว่างงานในช่วงก่อนและหลังวิกฤตโควิด
การเปลี่ยนงานและกลับเข้างานใหม่ของลูกจ้างนั้นเป็นเรื่องปกติของตลาดแรงงาน ธุรกิจที่ดำเนินการได้ดีก็มักจะมีการขยายขนาด ขณะที่ธุรกิจที่มีผลการดำเนินการไม่ดีหรือเริ่มเอาเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานก็อาจจะมีการลดจำนวนลูกจ้างลง บทความนี้จะขอเล่าถึงข้อเท็จจริงสามประการจากข้อมูลของลูกจ้างในระบบจากสำนักงานประกันสังคมในช่วงก่อนและหลังวิกฤตโควิด โดยเจาะไปที่กลุ่มลูกจ้างที่ออกจากบริษัทที่มีลูกจ้างออกจากงานพร้อมกันอย่างน้อย 50 คนในเดือนนั้น ๆ โดยคาดว่าการที่ลูกจ้างกลุ่มนี้ออกจากงานพร้อม ๆ กันน่าจะมาจากการปลดลูกจ้างครั้งใหญ่ของบริษัท (mass layoffs)1
ข้อที่ 1 อัตราการกลับเข้างานของลูกจ้างในระบบในปี 2023 กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้วโดยอัตราลูกจ้างที่กลับเข้ามาทำงานภายใน 1 ปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45
รูปที่ 1 แสดงอัตราการกลับเข้ามาทำงานในระบบของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวตามระยะเวลานับหลังจากออกจากงาน โดยลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ออกจากบริษัทที่น่าจะมาจากการปลดลูกจ้างครั้งใหญ่ ข้อมูลที่แสดงเป็นภาพจากเดือนกรกฎาคมของทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี 2018–2023
ในก่อนและหลังวิกฤตโควิด จำนวนลูกจ้างกลุ่มที่โดนปลดออกพร้อม ๆ กันมีประมาณ 160,000–190,000 คนต่อเดือน โดยสัดส่วนลูกจ้างที่สามารถกลับเข้ามาทำงานในระบบภายในเดือนแรกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 26–33 และสัดส่วนที่สามารถกลับเข้ามาภายใน 6 เดือน เพิ่มเป็นร้อยละ 44–46 อย่างไรก็ดี สัดส่วนการกลับเข้ามาในระบบของลูกจ้างไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักหลังจากนั้น นั่นคือ หากลูกจ้างออกจากตลาดแรงงานไปเกิน 6 เดือนแล้วนั้นโอกาสที่จะกลับเข้ามาในระบบค่อนข้างน้อย (ข้อมูลช่วงปี 2016–2017 ก็แสดงภาพคล้ายกัน)
ทั้งนี้ เส้นสีฟ้าที่อยู่ด้านบนสุด แสดงสัดส่วนการกลับเข้าระบบของลูกจ้างในปี 2021 ที่สูงกว่าปีอื่น ๆ ซึ่งน่าจะมาจากการที่มีลูกจ้างโดนปลดออกจากงานจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนั้น และน่าจะเป็นการปลดออกจากงานชั่วคราว และเมื่อดูว่าลูกจ้างที่กลับเข้ามาในระบบ กลับมาที่บริษัทเดิมหรือย้ายไปที่บริษัทใหม่ สัดส่วนลูกจ้างที่กลับเข้ามาในบริษัทเดิมในช่วงปี 2021 ก็คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนและหลังวิกฤตโควิดที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่กลับเข้ามาในระบบจะย้ายไปบริษัทใหม่ มีเพียงร้อยละ 15–20 ที่กลับมาที่บริษัทเดิม
ข้อที่ 2 แม้สัดส่วนลูกจ้างที่มีสิทธิได้เงินทดแทนจากโครงการประกันการว่างงานค่อนข้างคงที่ แต่หลังจากวิกฤตโควิด สัดส่วนลูกจ้างที่ขอรับสิทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งน่าจะมาจากการอนุญาตให้ผู้ว่างงานสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัว online ได้
โครงการประกันการว่างงานนั้นเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้เงินทดแทนการว่างงาน เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน และว่างงาน 8 วันขึ้นไป ในกรณีที่ออกจากงานโดยสมัครใจจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้าง และขอรับสิทธิในช่วงที่ว่างงานได้ไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้าง และขอรับสิทธิในช่วงที่ว่างงานได้ไม่เกิน 180 วัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ "ใคร ๆ ก็ไม่อยากว่างงานจริงหรือ: ภาพจากข้อมูลประกันสังคม")2
ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นสัดส่วนผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการว่างงานค่อนข้างคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 70–80 มาตลอด(เส้นสีส้ม) ขณะที่สัดส่วนผู้ที่มาขอรับสิทธิช่วงก่อนวิกฤตโควิดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 60 ในช่วงปี 2021 (เส้นสีเขียว) และลดมาเป็นร้อยละ 30 ในช่วงปี 2022–2023
ทั้งนี้ แม้แนวโน้มของการเข้าออกจากงานจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมแล้ว แต่การที่สัดส่วนผู้มาขอรับสิทธิเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ผู้ยื่นขอรับสิทธิต้องขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางานและมารายงานตัวที่สาขาของสำนักงานประกันสังคมตามกำหนดทุกเดือน แต่ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด สำนักงานประกันสังคมอนุญาตให้ผู้ว่างงานขึ้นทะเบียนและรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางานได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา
ข้อที่ 3 ลูกจ้างกลุ่มที่ออกจากงานในสัดส่วนที่สูงเป็นกลุ่มที่ค่าจ้างต่ำและอายุต่ำกว่า 30 ปี แต่ลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่ได้ยื่นขอรับสิทธิประกันว่างงานมากนัก
รูปที่ 3 แสดงการกระจายตัวของค่าจ้างสำหรับลูกจ้างกลุ่มต่าง ๆ ณ เดือนกรกฎาคม 2023 โดยแถวล่างสุดเป็นค่าจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ทั้งหมด ซึ่งประมาณร้อยละ 40 มีค่าจ้าง 15,000 บาทต่อเดือนหรือสูงกว่านั้น และมีเพียงร้อยละ 10 มีค่าจ้างต่ำกว่า 7,800 บาทต่อเดือน ภาพการกระจายตัวของค่าจ้างของบริษัทที่มีการปลดลูกจ้างออกจำนวนมากก็ยังใกล้เคียงกัน [2]
อย่างไรก็ดี หากเจาะไปดูเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ออกจากงานนั้น แถว [3]-[5] เกือบถึงร้อยละ 50 เป็นกลุ่มที่ค่าจ้างต่ำกว่า 7,800 บาท ซึ่งเป็นไปได้ว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานเป็นสัญญาจ้างชั่วคราวหรือผลิตภาพเริ่มต่ำกว่าค่าจ้างซึ่งใกล้เคียงกับค่าจ้างขั้นต่ำ ภาพการกระจายตัวของค่าจ้างของกลุ่มที่กลับเข้ามาและไม่กลับเข้ามาในระบบนั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกลุ่มที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการว่างงานและผู้ไม่มีสิทธิ แถว [6]-[7] และผู้ที่ยื่นขอรับประกันว่างงานและมีสิทธิแต่ไม่ได้มายื่นขอรับสิทธิ์ แถว [8]-[9] ก็จะเห็นว่า ลูกจ้างกลุ่มที่มีค่าจ้างต่ำยังมีแนวโน้มที่จะไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงานนานพอที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการว่างงาน และมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ยื่นขอรับสิทธิเงินทดแทนการว่างงาน นอกจากนี้ ในมิติของอายุ แม้ว่ากลุ่มลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 34 ของผู้ประกันตนทั้งหมด แต่กลับมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของกลุ่มที่โดนให้ออกจากงาน
บทความนี้ แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลวัตของตลาดแรงงานบางประเด็น ผู้ที่สนใจอาจจะสามารถศึกษาวิจัยต่อยอดได้ ตัวอย่างเช่นสาเหตุของการออกจากงานของกลุ่มลูกจ้างที่มีค่าจ้างต่ำและอายุน้อย การยื่นขอรับสิทธิประกันว่างงานในสัดส่วนที่น้อยของลูกจ้างบางกลุ่ม หรือผลของการรับสิทธิประกันว่างงานที่มากขึ้นต่อระยะเวลาว่างงานและสวัสดิภาพของแรงงาน
- จากข้อมูลประกันสังคม เราไม่สามารถทราบสาเหตุการออกจากงานที่แท้จริงได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการสมัครใจลาออกเอง นิยามของ mass layoff ที่ใช้ปรับมาจากนิยามของ US Bureau of Labor Statistics ซึ่งวัด mass layoff จากการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไปยื่นขอสิทธิประกันว่างงานภายใน 5 สัปดาห์↩
- แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด สำนักงานประกันสังคมได้ขยายสิทธิประโยชน์ประกันว่างงาน กรณีที่ออกจากงานโดยสมัครใจจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 45 ของค่าจ้าง และขอรับสิทธิได้ไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง และขอรับสิทธิได้ไม่เกิน 200 วัน และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ↩